วงการลูกหนังเมืองผู้ดีได้รับข่าวฮือฮา เมื่อศึกพรีเมียร์ชิป ผุดไอเดียปฏิวัติลีกด้วยการดึง กลาสโกว์ เซลติก และ กลาสโกว์ เรนเจอร์ส 2 ยักษ์ใหญ่แห่งสกอตแลนด์มาร่วมโม่แข้ง รวมถึงปรับโครงสร้างใหม่โดยการแบ่งเป็น 2 ดิวิชัน
สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า เหล่าประธานสโมสรแห่งลีกสูงสุดของอังกฤษได้มีการประชุมร่วมกันที่กรุงลอนดอนเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 23 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งวาระสำคัญอยู่ที่การอภิปรายถึงการปฏิรูปโครงสร้างลีกใหม่ ซึ่ง ฟิล การ์ทไซด์ บอสใหญ่ของ โบลตัน วันเดอเรอร์ส เสนอให้แบ่งศึกพรีเมียร์ลีกออกเป็น 2 ดิวิชัน โดยให้แต่ละดิวิชันมี 18 สโมสร
ขณะเดียวกันในที่ประชุมยังได้ยกประเด็นนำ กลาสโกว์ เซลติก และ กลาสโกว์ เรนเจอร์ส ยอดทีมแห่งสกอตติช พรีเมียร์ลีก เข้ามาร่วมฟาดแข้งในลีกสูงสุดของอังกฤษรูปแบบใหม่ด้วย ซึ่งทั้งหมดจะมีการหาข้อสรุปกันในการประชุมสามัญประจำปีของสมาคมฟุตบอลลีกอังกฤษ และสกอตแลนด์ ในเดือนมิถุนายนนี้ แม้ในเบื้องต้นจะขัดแย้งข้อบังคับของ สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ที่ไม่อนุญาตให้สโมสรลงเล่นในลีกนอกประเทศของตัวเองก็ตาม
อย่างไรก็ตาม วิลเลียม เกลลาร์ด ผู้อำนวยการฝ่ายประชมสัมพันธ์ของ ยูฟ่า ได้ออกมาเผยผ่านทางสำนักข่าวบีบีซี สกอตแลนด์ ตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมาว่าข้อบังคับดังกล่าวอาจได้รับการยกเว้น หากสมาคมฟุตบอลลีกและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย พรีเมียร์ลีก, สมาคมฟุตบอลอังกฤษ, สกอตติช พรีเมียร์ลีก, สมาคมฟุตบอลสกอตแลนด์ และสมาคมฟุตบอลลีกแห่งอังกฤษ มีมติเห็นชอบร่วมกัน
ทว่า แผนดังกล่าวอาจไม่ได้รับความเห็นชอบโดยเฉพาะจากบิ๊กโฟร์ของพรีเมียร์ลีกอย่าง แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล, เชลซี และ อาร์เซนอล เช่นเดียวกับทีมกลุ่มบนของตารางอย่าง แอสตัน วิลลา, เอฟเวอร์ตัน และ ท็อตแนม ฮอตสเปอร์ นอกจากนี้ สโมสรกลางตารางอาจได้รับผลกระทบอย่างหนักในส่วนของค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดที่ส่อเค้าลดลง อันเนื่องมาจากมีทีมเข้ามาแชร์ส่วนแบ่งเพิ่มขึ้น
กระนั้น การเข้ามาสร้างสีสันในพรีเมียร์ลีกของ “ม้าลายเขียว-ขาว” และ “เดอะ ไลท์บลูส์” อาจช่วยปลุกกระแสของลีกให้คึกคักยิ่งขึ้นทั้งในส่วนของแฟนบอลที่จะแห่กันเข้าไปชมเกมในสนามมากขึ้น และบรรดาสถานีโทรทัศน์ที่จะเพิ่มโปรแกรมถ่ายทอดสดทางจอแก้ว
ไม่เพียงเท่านี้ ในแผนของ การ์ทไซด์ ยังครอบคลุมถึงการดูแลสถานภาพทางการเงินของสโมสรในพรีเมียร์ลีก ดิวิชันล่าง ให้สามารถยืนหยัดต่อไปอย่างยั่งยืนได้ โดยปัจจุบันทีมที่ตกชั้นสู่ เดอะ แชมเปียนชิป จะได้รับเงินช่วยเหลือเป็นเวลา 2 ปี ปีละ 11.5 ล้านปอนด์ (ประมาณ 609.5 ล้านบาท) ซึ่งเฉพาะไอเดียท้ายสุดนี้ต้องการเสียงรับรองจากเหล่าประธานสโมสรในศึกพรีเมียร์ลีก 2 ใน 3 คือ 14 จากทั้งหมด 20 เสียงจึงจะสามารถดำเนินการได้
ขอขอบคุณเนื้อข่าวคุณภาพดีโดย lentee