วิทยา เลาหกุล..นักเตะที่เก่งที่สุดของไทย
ผมเขียนถึงนักบอลนอกมาหลายคน
คนแรกที่เขียนถึง คือนักเตะคนโปรด Kenny Dalglish หรือ King Kenny ของเดอะคอป
วันนี้ อยากเขียนถึงนักฟุตบอลไทย คนที่ผมชอบมากที่สุด และส่วนตัว ผมถือว่าเก่งที่สุด
แน่นอนว่า คำว่าเก่งที่สุด อาจจะวัดยาก ไม่ว่าจะเป็นระดับไหน?
นักเตะระดับโลกหลายคนยอดเยี่ยมมาก แต่ไม่มีแชมป์ติดมือ จะถือว่าเก่งไหม?
เธียร์รี่ อองรี เคยเป็นทั้งแชมป์โลกและแชมป์ยูโร แต่ในระดับสโมสร ไม่เป็นแชมป์ยุโรป ขณะที่สตีเฟ่น เจอร์ราร์ด เคยชูถ้วยแชมเปี้ยนส์ลีก แต่ไม่เคยเป็นแชมป์พรีเมียร์
ส่วนไรอัน กิ๊กซ์ น่าเสียดายที่ไม่มีโอกาสแม้กระทั่งร่วมเตะฟุตบอลโลก เพราะเลือกจะเล่นทีมชาติเวลส์ ทั้งที่ตอนเป็นนักเรียน เล่นทืมนักเรียนอังกฤษ
นักเตะไทยคนที่ผมจะเขียนถึง และผมยกย่องว่าเก่งที่สุด คือวิทยา เลาหกุลครับ
เป็นนักเตะไทยคนแรกที่ไปเล่นบอลอาชีพในยุโรป คือในบุนเดสลีกา ประเทศเยอรมนี และเคยปะทะฝีเท้ากับ คาร์ล ไฮซ์ รุมเมนิกเก้...อดีตกัปตันทีมชาติเยอรมนี มาแล้วครับ
หากพูดถึงนักเตะอาชีพของไทย ต้องย้อนไปเมื่อปี 2516 โดยเอกไชย สนธิขัณฑ์ คือนักฟุตบอลทีมชาติไทยคนแรกที่ไปเล่นฟุตบอลในต่างแดน โดยไปเล่นที่ฮ่องกง ซึ่งในช่วงนั้นมีฟุตบอลอาชีพ ตามธรรมเนียมเมืองขึ้นของอังกฤษ
เอกชัย ไปเล่นให้กับสโมสรแรงเยอร์ และเป็นการเปิดทางให้นักเตะไทยขึ้นเครื่องไปพิสูจน์ฝีเท้าตามอีกหลายคน เช่น ชัชชัย พหลแพทย์ ประพนธ์ ตันตริยานนท์ ที่ไปเล่นในสโมสร โซโก้
สโมสรไซโก้ ถ้าจำไม่ปิด เจ้าของคือ อนันต์ กาญจนพาสน์(อึ้ง จง เปา) ที่กลับมาเมืองไทยหลายปีก่อนในสถานะเจ้าของบางกอกแลนด์ ผู้สร้างเมืองทองธานี อันลือชื่อ หลังจากที่ตระกูลกาญจนพาสน์ อพยพไปจากเมืองไทยไปตั้งรกรากที่ฮ่องกงในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลา พร้อมขายหุ้นธนาคารนครหลวงไทยให้กับตระกูลมหาดำรงกุล
ส่วนวิทยา เลาหกุล สร้างชื่อในฐานะนักเตะอาชีพที่ญี่ปุ่น ก่อนบินไปเยอรมนี
วิทยา เลาหกุล เกิดเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2497 เป็นชาวลำพูน
ในวัยเด็ก ในครอบครัวที่ยากจน วิทยาต้องวิ่งไปกลับหลายสิบกิโลเมตร เพื่อไปดูรายการโทรทัศน์ที่นำเทปฟุตบอลอังกฤษมาฉาย โดยนักเตะที่วิทยาชื่นชอบมากคือบ๊อบบี้ มัวร์ กัปตันทีมชาติอังกฤษชุดแชมป์โลก ในสังกัดเวสต์แฮม ยูไนเด็ด และนอร์แมน ฮันเตอร์ กองกลางเท้าหนักของลีดส์ ยูไนเต็ด
วิทยา เป็นที่รู้จัก จากการแข่งขันกีฬาเขตแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 7 เมื่อปี 2516 ซึ่งจัดขึ้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อทีมฟุตบอลเขต 5 จังหวัดลำพูน คว้าเหรียญทอง และผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำทัวร์นาเมนต์นั้น ก็คือกองกลางทีมเขต 5 ที่ชื่อวิทยา เลาหกุล
ฝีเท้า ในวัยแค่ 18 ปีเศษ ทำให้เขาถูกเรียกตัวมาทดสอบฝีเท้าที่กรุงเทพฯ และติดทีมนักเรียนไทยชุดอายุ 18 ปี ที่มีวิวิธ ธิโสภา เป็นโค้ช และนำทีมนักเรียนไทยไปคว้าแชมป์ฟุตบอลนักเรียนชิงแชมป์แห่งเอเชีย ที่ประเทศไต้หวัน
ถนนลูกหนังของนักเตะที่คนทั้งประเทศรู้จักในชื่อเฮง เปิดแล้ว
วิทยา เลาหกุล เริ่มต้นเล่นฟุตบอลในสังกัดสโมสรฮากกา ก่อนจะย้ายไปเล่นและสร้างชื่อที่สโมสรราชประชานุเคราะห์ ของ หม่อมลูกหนัง พล.ต.ต.ม.ร.ว.เจตจันทร์ ประวิตร
เพื่อนร่วมทีมสมัยของวิทยา คือ เชิดศักดิ์ ชัยบุตร, เทพพิทักษ์ จันทร์สุเทพ, ชาญวิทย์ ผลชีวิน, สมพร จรรยาวิสุทธิ์
วิทยา ติดทีมชาติชุดใหญ่ ในการแข่งขันฟุตบอลเอเชี่ยนคัพ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2518 ในเกมที่ทีมไทยชนะทีมอินโดนีเซีย 3 - 1 ส่วนประตูแรกในนามทีมชาติ วิทยาทำได้เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2518 นัดอุ่นเครื่องที่ทีมชาติไทยไปแพ้ทีมเลบานอน 1 - 2
เกียรติยศแรกในทีมชาติของวิทยา เกิดขึ้นในเดือนธันวาคม 2518 เมื่อนักเตะที่ผู้สื่อข่าวสายกีฬาของไทยเรียกว่า ฮาล์ฟอังกฤษ ช่วยให้ทีมชาติไทยครองเหรียญทองกีฬาเซียพเกมส์(ปัจจุบันคือซีเกมส์) แบบทีมเดียวเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี (แหลมทอง ครั้งที่ 3 ในปี 2508 ทีมไทยครองแชมป์ร่วมกับทีมพม่า)
ผู้ที่ตั้งฉายาวิทยาว่า เจ้าเฮง คือสุชิน กสิวัตร นักเตะทีมชาติรุ่นพี่และเพื่อนร่วมห้องสมัยนั้น
เส้นทางเป็นนักเตะอาชีพของวิทยา เกิดขึ้นจากการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานควีนส์คัพ ในปี 2521 ซึ่งสโมสรยันมาร์ดีเซล ของญี่ปุ่น ซึ่งนำทีมโดย ดาราเอเชีย คูนิชิเกะ กามาโมโต้ มาร่วมและคว้าแชมป์ไปครอง ได้ติดต่อขอซื้อตัว ดาราควีนส์สตาร์ จากสโมสรราชประชา คือ วิทยา เลาหกุล
ตอนนั้น ฟุตบอลในญี่ปุ่นเป็นฟุตบอลลีกกึ่งอาชีพ และเริ่มมีการดึงนักเตะดังไปร่วมโปรโมท
วิทยา ที่สื่อญี่ปุ่นเรียกว่าเฮงซัง ลงสนามให้ทีมยันมาร์ดีเซล นัดแรก พบกับทีมฟูจิต้า และเสมอกัน 0 - 0
ส่วนแมทช์ที่สร้างชื่อของเขาในญี่ปุ่น คือเอ็มเพอร์เร่อร์ คัพ(เอฟเอคัพญี่ปุ่น)รอบรองชนะเลิศ ซึ่งมีการถ่ายทอดสดไปทั่วประเทศญี่ปุ่น ที่ทีมยันมาร์ ดีเซล พิชิตทีมฟูรูกาว่า ไปแบบหืดจับ 2 - 1 โดยวิทยาเป็นผู้ยิงประตูชัย
2 ปีในดินแดนซากุระ วิทยาได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 11 นักเตะยอดเยี่ยมประจำฤดูกาล, ดาวซัลโวสูงสุด 6 ประตู และทำสกอร์ในดิวิชั่นของญี่ปุ่น รวมทั้งสิ้น 14 ประตู
วิทยาข้ามขั้นในปี 2524 เมื่อเขาตัดสินใจเซ็นสัญญาเป็นนักเตะสโมสรแฮร์ธ่า เบอร์ลิน (HERTHA BSC.) ทีมในบุนเดสลีกา ประเทศเยอรมันตะวันตก(ในตอนนั้น) และเป็นนักฟุตบอลคนแรกของไทยกับลีกอาชีพของทวีปยุโรป
แน่นอนว่า นักเตะใหม่ต้องเป็นตัวสำรอง ซึ่งหลังจากนั่งอยู่ในซุ้มม้านั่งตัวสำรองนาน 5 นัด วิทยาก็ได้ลงสนามเกมแรก ที่สนามโอลิมปิกนครเบอร์ลิน โดยมีแฟนลูกหนังเข้าชมกว่า 40,000 คน ในเกมแฮร์ธ่า เบอร์ลิน พบ ดุสเซสดอร์ฟ
นักเตะทีมชาติในสังกัดเฮอร์ธ่า เบอร์ลิน ที่วิทยาเล่นคู่ด้วยในตอนนั้น คือ วูล์ฟกัง เครฟ
หน้าที่ของวิทยา ตามคำสั่งของจอร์เก้น บัวร์ โค้ชของทีม คือให้ประกบ โธมัส อัลลอล์ฟ นักเตะทีมชาติเยอรมัน และสามารถทำผลงานได้ดี เกมจึงจบโดยแฮร์ธา เบอร์ลิน ชนะไปท่วมท้น 4-1
ประวัติของสโมสร ในช่วงที่วิทยาลงสนาม เขาเคยปะทะแข้งกับสุดยอดนักเตะโลกลูกหนังเมืองเบียร์ หลายคน เช่น เบิร์น ชูสเตอร์ (ปัจจุบันคือกุนซือรีล มาดริด), ไบรเนอร์ บอนฮอฟ (ปัจจุบันคือผู้ช่วยกุนซือทีมชาติเยอรมนี), เคล้าส์ ฟิชเชอร์ (ศูนย์หน้าชุดแชมป์โลก 1990)
วิทยาถูกยกย่องจากนักข่าวของเยอรมัน โดยเรียกว่า ไทยบูม (THAI BOOM)
วิทยาเล่นให้กับ แฮร์ธ่า เบอร์ลิน ในบุนเดสลีกา รวม 30 แมตช์
ชื่อเสียงของวิทยา ทำให้สโมสรนาโปลีของอิตาลี ขอซื้อตัวจากแฮร์ธา เบอร์ลิน แต่เจ้าตัวไม่สนใจย้ายถิ่น และเมื่อแฮร์ธา ตากไปเล่นลีกา 2 วิทยากลับตัดสินใจย้ายไปเล่นอยู่ในทีมลีกา 3 คือซาร์บรุ๊คเค่น และช่วยให้ทีมก้าวขึ้นสู่ลีกา 2 ได้สำเร็จ
วิทยาเล่นให้กับ ซาร์บรุ๊คเค่น รวม 52 แมตช์ และยิงได้ 8 ประตู และใช้เวลาว่างเรียนวิชาลูกหนัง จนได้รับประกาศนียบัตรขั้นโปร ไลเซ่น (เป็นโค้ชบุนเดสลีกาได้ทันที)
วิทยา เดินทางกลับมาเมืองไทยหลังไปเล่นบอลในต่างแดนนาน 6 ปี
สถานะของเขาในทีมชาติ คือกัปตันทีมชุดคว้าแชมป์ซีเกมส์ ครั้งที่ 13 ในปี 2528 ก่อนจะแขวนสตั๊ด หลังรับใช้ชาติมากว่า 100 นัด และทำประตูในนามทีมชาติ 20 ประตู
แต่ชีพจรลงเท้าอีกครั้ง..และเขากลับไปถิ่นแจ้งเกิด ประเทศญี่ปุ่น
นั่นคือ เมื่อเจลีก เกิดขึ้นในญี่ปุ่น เฮงซัง ได้รับการทาบทามให้ไปรับตำแหน่งโค้ชสโมสรมัตสึชิตะ (ปัจจุบันคือสโมสรพานาโซนิก กัมบะ) และสามารถนำทีมครองแชมป์หลายรายการ เช่น เอ็มเพอร์เร่อร์ คัพ (F.A. CUP),
รวมทั้งชนะเลิศควีนส์คัพ โดยชนะสโมสรทหารอากาศ ที่มี ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน เป็นดาราของทีมไปแบบคนประทับใจทั้งสนามศุภฯด้วยสกอร์ 4 - 3 พร้อมดึงเอา 2 นักเตะดาวรุ่งทีมชาติไทยในตอนนั้น คือนที ทองสุขแก้ว และรณชัย สยมชัย เข้าเสริมทีมในฤดูกาลต่อมา
ผลงานยอดเยี่ยมของวิทยา ทำให้สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น เสนอให้ช่วยทำทีมระดับเยาวชน แต่เจ้าตัวเลือกกลับบ้านและรับงานคุมสโมสรธนาคารกรุงเทพ พร้อมนำทีมคว้าแชมป์ไทยแลนด์ลีก ครั้งที่ 1 เป็นทีมแรก และก้าวขึ้นเป็นเฮดโค้ชทีมชาติไทย ในปี 2539 ด้วยการคว้าเหรียญทองซีเกมส์ ครั้งที่ 19 ปี 2540 ที่ประเทศอินโดนีเซีย
น่าเสียดายที่วงการฟุตบอลไทย ไม่มีที่ให้วิทยา
เพราะแม้จะมีชื่อเสียง แต่วิทยาก็มีชื่อเสีย โดยเฉพาะในเกมที่เขาคุมทีมชาติไทยในการแข่งขันฟุตบอลไทเกอร์คัพ ที่เวียดนาม เพราะในนัดสุดท้ายรอบแรกที่เจอกับอินโดนีเซีย ก็เป็นเกมอัปยศ เมื่อนักเตะอินโดนีเซีย ยิงเข้าประตูตัวเองเพื่อให้แพ้ทีมไทย เพราะกลัวว่าจะต้องไปเจอเวียดนามเจ้าภาพในรอบรองชนะเลิศ
ในฐานะโค้ชทีมชาติไทย วิทยา ถูกสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชีย(เอเอฟซี) ลงโทษห้ามยุ่งเกี่ยวกับฟุตบอล ระดับชาติหลายปี
การ เป็นคนบ้าบอล ทำให้วิทยาเคยลงสมัครเป็นยายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย แข่งกับวิจิตร เกตุแก้ว..ซึ่งแน่นอนว่า คนบ้าบอลที่จริงจังเกินไป ไม่ได้รับการคัดเลือก
วิทยา จึงตัดสินใจไปจากเมืองไทย..อีกครั้ง โดยกลับไปญี่ปุ่น เพื่อคุมทีมโตโตริ
โตโตริ เป็นทีมในดิวิชัน 3 ของญี่ปุ่น โดยเซ็นสัญญาเป็นเวลา 3 ปี โดยรับค่าตอบแทนกว่า 40 ล้านบาท นั่นคือมีสัญญาทำงานช่วงแรก 3 ปี ได้รับค่าเหนื่อยเดือนละ 1,350,000 บาท
ทีแรกผมปฏิเสธเขาไปแล้ว เพราะทางสโมสรชลบุรี โดยคุณสนธยา คุณปลื้ม ให้เท่ากับที่โตโตริให้ แต่ทางนั้นเขาต้องการผมจริงๆ เพราะเห็นผลงานตอนผมนำทีมกัมบะ คว้าแชมป์เอ็มเพอร์เรอร์สคัพ เมื่อปี 1990 แล้วอีกอย่างผมก็ต้องการพิสูจน์ว่าฝีมืออย่างผม ทีมในญี่ปุ่นต้องการจริงๆไม่ใช่แค่สร้างกระแสหรือโม้ เป้าหมายที่เขาวางไว้คือ 3 ปี ต้องขึ้นเจลีกให้ได้ วิทยากล่าว
ผมต้องการอัพเกรดตัวเอง ความจริงผมอยู่ที่ไหนก็ได้ที่มีฟุตบอล แต่อยู่เมืองไทยก็มีอยู่เท่านี้ ไม่มีอะไรดีขึ้นเลย โดยเฉพาะโครงสร้าง ผมไปคุยกับเพื่อนๆ แอฟริกา หรือตะวันออกกลาง เขาบอกว่าโครงสร้างเขาไม่ดี แต่เราไม่ใช่แค่ไม่ดี เราไม่มีโครงสร้างเลย วิทยากล่าว
สมัยผมไปเล่นในเยอรมนี ประเทศแถบสแกนดิเนเวีย อย่าง นอร์เวย์, ฟินแลนด์บอลยังสู้เราไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่ตอนนี้คงไม่ต้องบอกนะ เพราะอย่าว่าแต่ระดับนั้นเลย แค่อาเซียน อีกไม่นาน สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, ลาว ก็จะแซงเราแล้ว
วิทยาชอบทำทีมเด็ก
ไม่ว่าจะประเทศไหนในโลก เยาวชนต้องมาก่อน ต่อด้วยระบบสร้างโค้ช แต่เราไม่ใช่ บอลไทยพุ่งเป้าไปที่ชุดใหญ่เท่านั้น เพราะเป็นที่สนใจ แต่เยาวชน ไม่เคยเหลียวแล อย่างตอนผมทำทีมชลบุรี ผมก็สร้างระดับเยาวชนให้แน่น ก่อนต่อยอดไปสู่ชุดใหญ่
โค้ชทีมชาติชุดใหญ่ ผมไม่เอาครับ พออาจารย์ชาญวิทย์ ผลชีวิน ลาออก มีคนยกชื่อผมขึ้นมา แต่ผมไม่เอาอีกแล้ว ผมชอบทำบอลเด็ก
วิทยา เลาหกุล แสดงความมั่นใจว่า วันหนึ่งหากเขาได้เป็นนายกสมาคมฟุตบอล เขาจะรื้อระบบทั้งหมด เน้นทำทีมเยาวชน และไม่กลัวเรื่องเอกชนจะไม่สนับสนุนด้วย
“ตอน นี้ผมทำอะไรไม่ได้ ขอไปเพิ่มฝีมือตัวเองที่ญี่ปุ่นก่อน ไปคนเดียวนี่แหละครับ ครอบครัวผมเป็นครอบครัวที่แปลก มีกัน4 คนพ่อ, แม่, ลูก ไม่อยู่ด้วยกัน ผมไปญี่ปุ่น ลูกสาวอยู่ฝรั่งเศส ลูกชายอยู่สหรัฐ ภรรยาผมไม่ชอบหนาว ขออยู่ประเทศไทย แต่ผมก็ไม่เหงานะ ขอให้มีฟุตบอลก็พอ ผมอยู่ได้ กับครอบครัว ถ้าคิดถึงก็โทรหากัน”
นี่คือวิทยา เลาหกุล นักฟุตบอลที่ผมยกย่องว่าเก่งที่สุด ที่เมืองไทย..เคยมี
แต่เมืองไทย ไม่เคยดูแล เขาจึงเว้นวรรคตัวเองกับฟุตบอลไทยไปคุมเอสซี โตโตริ ซึ่งมียูจิ มิซูกูจิ อดีตผู้จัดการทีมมัตสึชิตะ ในเจลีก ที่วิทยาเคยเป็นเฮดโค้ช และเชื่อฝีมือ จึงดึงตัวไปช่วยคุมทีม
แลกธงกับมาร์ค ฮิวก์ กัปตันทีมแมนฯยู