ช้างศึกได้อะไรมากกว่าคำว่า แชมป์
ความอิ่มเอิบใจยังไม่ทันจางหายไปจากหัวใจลูกหนังของแฟนบอลชาวไทย หลังจากที่เพิ่งสร้างรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และความสุขใจให้กับแฟนบอลชาวไทย ที่กระชากแชมป์ฟุตบอลถ้วยพระราชทาน คิงส์คัพ กลับมาสู่อ้อมกอดแผ่นดินสยามได้สำเร็จในรอบ 9 ปี ทั้งที่โทรฟี่อันมีเกียรติและสำคัญยิ่งนี้บังเกิดและแข่งขันในประเทศไทยแท้ๆ
แต่ก่อนเราเคยชินกับการผูกปีได้แชมป์เสมอมา หรืออย่างน้อยก็ไม่เคยว่างเว้นยาวนานขนาดนี้ ทำให้คนไทยทุกคนต่างมีความกระหายและต้องการให้ถ้วยใบโตนี้ได้วกกลับมาสู่แผ่นดินเกิดอีกครั้ง และในวินาทีที่ "กัปตันอุ้ม" ธีราทร บุญมาทัน ได้สัมผัสและชูถ้วยทรงเกียรติเหนือศีรษะ เสมือนทุกสิ่งอย่างที่อัดอั้นและติดค้างในส่วนลึกของคนไทยได้ถูกเติมเต็มอย่างสมบูรณ์ในที่สุด
แม้ทัวร์นาเมนต์นี้จะถูกจัดตามลำดับความสำคัญในแง่ของการแข่งขันเป็นเพียง "FRIENDLY MATCH" หรือทัวร์นาเมนต์อุ่นเครื่องธรรมดาทั่วไป ซึ่งแต่ก่อนไม่เถียงเพราะถูกวางโปรแกรมไว้ในช่วงต้นปีมาตลอด และการได้แชมป์หรือแข่งก็ไม่มีผลในแง่ของคะแนนหรือแรงกิ้งฟีฟ่าแต่อย่างใด
ทว่าครั้งนี้ต่างออกไป สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญและมองไปที่ระบบและโปรแกรมหลักตามฟีฟ่ามากขึ้น ส่งผลให้เลื่อนการจัด "คิงส์คัพ" มาเป็นช่วงกลางปีและให้สอดคล้องต่อ "ฟีฟ่าเดย์" นั่นทำให้ทีมชาติไทยจะได้มีคะแนนแรงกิ้งด้วย
ที่สำคัญในปี 2559 นี้ รายการนี้กลับยิ่งทวีความสำคัญยิ่งขึ้น เพราะ "คิงส์คัพ" ในปีนี้นับว่าเป็นครั้งที่ 44 ซึ่งประจวบเหมาะกับการที่กาลเวลาเวียนมาบรรจบครบรอบ 100 ปีของการก่อตั้ง สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย พอดิบพอดี ฉะนั้นคงไม่มีครั้งไหนที่จะเหมาะสมต่อการคว้าโทรฟี่อันทรงเกียรตินี้เท่าปีนี้อีกแล้ว
แต่ที่มากกว่าการคว้าแชมป์นั่น มันมีปัจจัยและนัยยะซุกซ่อนเอาไว้หลายอย่าง ที่ชัดเจนและเป็นเป้าหมายสำคัญของทีมชาติไทยในการแข่งรายนี้ก็คือ การลองทีมก่อนทัวร์นาเมนต์ใหญ่ ซึ่งจะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจาก ฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก โซนเอเชีย รอบ 12 ทีมสุดท้าย
ที่ทีมชาติไทยอยู่ในกลุ่มสุดหิน หรือ "กรุ๊ป ออฟ เดธ" ในสายบี ร่วมกับ ออสเตรเลีย, ญี่ปุ่น, ซาอุดิอาระเบีย, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และ อิรัก ซึ่งโปรแกรมจะฟาดแข้งกันในช่วงปลายปีถึง 5 เกมด้วยกัน โดยเฉพาะ 2 เกมแรกต้องเจอกับงานช้าง เนื่องจาก "ช้างศึก" ต้องประเดิมสนามในการบุกไปเยือน "เศรษฐีน้ำมัน" ซาอุดิอาระเบีย ในวันที่ 1 กันยายน แล้วต่อด้วยกลับมาเฝ้าบ้านรับมือ "ซามูไร" ญี่ปุ่นในวันที่ 6 กันยายนต่อเนื่องเลย
แน่นอนว่าเราต้องวางแผนโปรแกรมการอุ่นเครื่องให้มากและเหมาะสมที่สุดเพื่อความพร้อมในการรับมือมหาอำนาจของทวีปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และจากรายชื่อในกลุ่มเรานั้นต้องเผชิญหน้ากับทีมจากย่านตะวันออกกลางถึง 3 ทีม ดังนั้นอย่าได้แปลกใจว่าทำไมเราถึงเชิญคู่ต่อสู้มาร่วมศึก "คิงส์คัพ" ถึง 3 ทีม
นั่นเป็นเพราะว่าต้องการประลองทีม ศึกษา สเกาต์ และเก็บข้อมูลมาให้มากที่สุด เนื่องจากสไตล์การเล่นของเหล่าทีมอาหรับนั้นคล้ายคลึงกันมาก จะแตกต่างไปบ้างในบางจุด และที่เราต้องให้ความสำคัญกับทีมกลุ่มอาหรับนี้มากที่สุด ไม่ต้องสงสัยเลยครับ เพราะมันคือจุดแปรเปลี่ยนในการเข้ารอบหรือตกรอบได้เลยของทีมชาติไทยในการเซิ้งแข้งกันรมแล้วก็ทั้งหมด 6 เกม
ไม่ใช่เราไม่ให้ความสำคัญหรือดูแคลน ญี่ปุ่น และ ออสเตรเลีย เลยหรืออย่างไร นั่นเป็นเพราะหากเทียบชั้นและศักดินากันแล้ว "ซามูไร" กับ "จิงโจ้" ดีกรีแลัศักยภาพสูงสุดหรือพูดง่ายๆเป็นเต็งจ๋าของกลุ่มและอยู่สูงต่อเรามากนั่นเอง แต่ไม่ใช่เราจะเอื้อมไม่ถึงแต่ตามหลักความเป็นจริง โอกาสในการพิชิตชัยนั้นน้อยกว่ากลุ่มทีมอาหรับเท่านั้น
หาก "ช้างศึก" ต้องการสานฝันและอยู่ในเส้นทางการคว้าตั๋ว "เวิลด์คัพ" ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ให้ได้ เราต้องดีพอในการคว่ำและทำได้เหนือกว่า 3 ทีมจากอาหรับนี้ ส่วน "ซามูไร" กับ "จิงโจ้" เราต้องแชร์แต้มมาให้ได้มากที่สุด
ฉะนั้นการเจอกับ ซีเรีย และ จอร์แดน ของทีมไทยในศึก "คิงส์คัพ" สำคัญอย่างยิ่งยวด แม้จะเป็นเกมกระชับมิตร และทั้งสองทีมไม่ได้อยู่ในสายเดียวกับเรา แต่อยู่กลุ่มเอในรอบ 12 ทีมสุดท้ายก็ตาม แต่ประโยชน์จากการลองทีมลองฝีเท้าด้วยกันนั้นคุ้มค่ามาก
ชัยชนะที่ได้มาอาจไม่สำคัญเท่าการรู้ข้อมูล สไตล์การเล่น ศักยภาพนักเตะ และจุดแข็งจุดอ่อน ซึ่งมันเป็นประสบการณ์ชั้นดีที่กลุ่มสตาฟฟ์และนักเตะจะเรียนรู้ในการแข่งขันครั้งนี้ให้มากที่สุด เสียดายอย่างเดียวคือเราไม่ได้มีโอกาสได้เจอกับ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ หรือ "ยูเออี" เลย แม้พวกเขาจะส่งชุดผสมระหว่างชุดใหญ่กับดาวรุ่งมาก็ตาม เหมือนกับกลัวทีมไทยจะล้วงตับซะอย่างนั้น
ซึ่งตรงข้ามกับ "ขุนพลช้างศึก" ที่จัดเต็มเนื่องจากแข่งในบ้านเราและเป้าหมายสูงสุดคือการคว้าแชมป์ แต่ก็เอาเถอะเราไม่กลับเสียเปรียบหรอกครับ การวางแผนของโค้ชก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งแต่ไม่ใช่ทั้งหมดในเกม เพราะโค้ชวางแผน แต่ตัวผู้เล่นมากกว่าที่จะทำได้ดีแค่ไหนในสนามจริง ฉะนั้นมันต้องสอดประสานกัน
หลักฐานชัดเจนไม่ต้องคิดไกลเลยครับ เกมนัดแรกของไทยกับซีเรีย นั่นชัดเจนเลยโดยเฉพาะ 45 นาทีหลังที่อยู่ดีๆ นักเตะไทยก็เกิดสภาวะ "ช้อต" ขึ้นมาเสียดื้อๆ โดยไร้สาเหตุ ทั้งที่ครึ่งแรกยังเล่นอย่างกับพระเอกบุกเอาๆ จนได้ประตูนำถึง 2-0 แต่กลับสวนทางในครึ่งเวลาหลังจนต้องเสีย 2 ประตูแบบไม่น่าให้อภัย ยังดีที่เป็นแค่เกมอุ่นเครื่อง ถ้าเป็นแมตช์ทางการคงจะเสียดายเอามากๆ ฉะนั้นดีแล้วละครับ เราจะได้รู้ก่อนว่าต้องทำเช่นไร หากสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นจริง
ขนาดกุนซืออย่าง "ซิโก้” เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง ยังงงไม่หายถึงการหลุดฟอร์มของแข้งไทย แก้เกมก็แล้ว กระตุ้นก็แล้ว เปลี่ยนตัวก็แล้ว ก็ยังเรียกสมาธิและทรงบอลของนักเตะไทยกลับมาไม่ได้ เชื่อว่าทุกคนที่ชมเกมนั้นคิดเหมือนกันเลยก็คือ ถ้าเวลายังไม่หมดเรามีโอกาสโดนอีกลูกแน่นๆ รูปเกมแบบนั้นบอกได้คำเดียว "รอโดน"
ปัญหาแรกที่ชัดเจนที่สุดคือแนวรับต้องแก้ไขโดยด่วน การคุมแนวรับยังไม่นิ่งเท่าไร ยังดีที่ "เจ้าตอง" กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์ ยังคงเป็น "กวินบินได้" โชว์ฟอร์มเซฟกระจาย และเป็นคนเดียวที่เล่นได้ตามมาตรฐานของตัวเอง
อีกสิ่งที่ต้องปรับปรุงคือการเข้าทำที่ต้องเพิ่มความเด็ดขาดมากกว่านี้ ความหลากหลายนั้นถือว่าโอเคแล้ว แต่จังหวะสุดท้ายต้องเฉียบขาดแบบ "ตีงูต้องตีให้ตาย" อย่าปล่อยให้มาแว้งกัดในภายหลัง ยิงได้ยิงไปเลยเอาให้ขาดให้คู่แข่งหงอ 3-4 ประตูโน่นถึงจะชัวร์ว่าชนะ คู่แข่งระดับเอเชียไม่ใช่อาเซียนที่จะมาปล่อยเกมให้เขามีกำลังใจกลับมาทวงประตูคืน
อีกจุดคือแผนการเล่นหรือแผนสำรองต้องมีเตรียมเอาไว้ยามเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน กรณีที่ "แพลนเอ" ใช้ไม่ได้เราต้องมี "แพลนบี หรือ "ไม้ตาย" จากที่เห็นในเกมกับ ซีเรีย พอครึ่งหลังเราเห็นว่าสกอร์เริ่มขาด "โค้ชซิโก้" เริ่มทยอยเปลี่ยนตัวหลักออก ให้โอกาสแข้งสำรองสัมผัสเกมบ้างซึ่งมันก็ไม่ผิด แต่พอลงไปแล้วเล่นไม่ได้ แทนที่จะเป็นประโยชน์กลับกลายเป็นผลดีต่อคู่แข่งเล่นง่ายขึ้นเยอะ เพราะไปขู่คู่แข่งไม่ได้ เก็บบอลและสร้างสรรค์เกมไม่ได้เลย
4 ประสานในแนวรุกที่ทีมไทยจะขาดไปไม่ได้ ชนาธิป สรงกระสินธ์, เกริกฤทธิ์ ทวีกาญจน์, มงคล ทศไกร และ ธีรศิลป์ แดงดา ลองคิดดูครับถ้าเกิดนัดกันบาดเจ็บลงเล่นไม่ได้พร้อมกันหมด แล้วเราจะอยู่ในสภาพอย่างไร ขาดไปคนสองคนพอทำเนา แต่ถ้าเปลี่ยนยกชุดนี่เล่นไม่ได้เลย การบ้านที่น่าคิดของ "โค้ชซิโก้"
แต่จุดดีที่เราเห็นจากเกมกับ ซีเรีย ก็คือ สภาพจิตใจและความนิ่งในการยิงจุดโทษของนักเตะไทย ผู้เขียนเองยอมรับเลยว่าต้องซูฮกให้เครดิตไปเต็มๆ เราไม่เคยเห็นมานานแล้วว่าแข้งไทยยิงจุดโทษได้ดีและนิ่งมาก จิตใจของแต่ละคนนับถือเลย แม้มันจะบีบหัวใจแฟนบอลบ้างก็ตาม แต่ทุกคนกลับคิดว่าเราได้เปรียบและมีอะไรอยู่ลึกๆในจิตใจว่าเราไม่แพ้แน่
ส่วนเกมกับ จอร์แดน นั้นต้องชมเลยว่าเราแก้เกมพลิกฟอร์มกลับมาเล่นดีตามมาตรฐาน แม้จะไม่เลิศเลอเหนือกว่าแบบชัดเจน แต่มันก็แสดงให้เห็นว่าเราสู้ได้สบาย และไม่เป็นลูกล้อเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไปแล้ว
อีกประมาณ 3 เดือนก่อนถึงนัดแรกกับ ซาอุดิอาระเบีย ถือว่าช่วงเวลาที่เหมาะสมไม่มากไม่น้อยจนเกินไป ที่ทีมชาติไทยพอจะเตรียมทีม วางแผน ล้วงลึกข้อมูลคู่แข่ง และเซ็ตระบบให้ดี ฉะนั้นจุดด้อยจุดเสียที่ออกมาให้เห็นในศึก "คิงส์คัพ" นี้ออกมาเยอะๆดีแล้วครับ เราจะได้หาทางแก้ไขปรับปรุงได้ทันเวลา ดีกว่าจะมาเก็บกระมิดกระเมี้ยนกลัวเผยไต๋ให้คู่แข่ง จนไม่กล้าทำอะไรลองทีม ลองระบบ ลองผู้เล่นใหม่ๆ เลย เราจะเสียประโยชน์และเวลามากกว่า
นอกจากประโยชน์ในแง่ของการลองทีมอุ่นเครื่องกันแล้ว ยังมีผลพลอยได้ที่สำคัญที่ไทยลืมเลือนและละเลยมาเป้นเวลายาวนานจนเสียนิสัยก็คือ ระบบคะแนนของ "ฟีฟ่าแรงกิ้ง" ที่ช่วงหลังเรามักจะอุ่นเครื่องในทีมระดับเท่ากันหรือด้อยกว่ามาตลอด หรือไม่ก็เตะกันในวันที่ไม่ใช่ "ฟีฟ่าเดย์" พูดง่ายๆ อยากเตะก็จัดกันเองโดยไม่ดูหลักสากลอะไรเลย
ถึงเวลาต้องปรับระบบและโปรแกรมของโครงสร้างทีมชาติไทยและรายการในประเทศกันใหม่หมด อย่างที่ปัจจุบันกำลังทำอยู่ถูกต้องแล้วครับ และที่เราจะได้ประโยชน์เต็มๆ คือการเชิญคู่แข่งที่มีศักยภาพที่สูงกว่าเรามาฟาดแข้ง นั่นสิครับถึงจะเป็นผลดี เราจะได้พัฒนาขีดความสามารถของตัวเอง
รวมถึงหากเก็บชัยได้คะแนนก็เพิ่มเป็นทวีคูณ เห็นมั้ยครับมีแต่ได้กับได้ จากที่เห็นชัดเจนว่า ณ ขณะนี้ "ขุนพลช้างศึก" เราได้คืนสู่สภาพของ "จ้าวอาเซียน" อย่างที่ควรจะเป็น และขยับอันดับมาถึง 117 ของโลกกันแล้ว เชื่อว่าสองเกมที่เราคว้าชัยในศึก "คิงส์คัพ" คะแนนจะพุ่งขึ้นอีกมาก และในไม่ช้าโอกาสติด "ท็อป 100" ไม่ไกลเกินเอื้อมแน่นอน
-Gongto-
ขอขอบคุณ cheerball.com/news/main/view/36183
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!