เมื่อวันที่ 17 ต.ค. สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ได้จัดการเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลฯ คนใหม่ พร้อมด้วยสภากรรมการฯ รวมทั้งสิ้น 19 ตำแหน่ง ที่โรงแรมโกลเด้น ทิวลิป ซอฟเฟอริน พระราม 9 ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้ใช้ธรรมนุญใหม่ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) เข้ามาดำเนินการ มีผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกสมาคมฯ 2 คน คือ "บังยี" นายวรวีร์ มะกูดี อดีตนายกสมาคมฯ 3 สมัย กับ "บิ๊กกร๊อง" นายวิรัช ชาญพานิชย์ อดีตผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติไทย ซึ่งครั้งนี้มีผู้แทน สโมสรสมาชิกที่มีสิทธิ์ลงคะแนน (โหวตเตอร์) จำนวน 72 เสียง โดยมีคณะกรรมการการเลือกตั้งนายกสมาคมฟุตบอลฯ (กกต.) ที่มี พล.ต.ต.พิสุทธิ์ พุ่มพิเชษฐ์ เป็นประธาน กกต. พร้อมด้วยผู้แทนจาก ฟีฟ่า ร่วมสังเกตุการณ์ ท่ามกลางสื่อมวลชนจากทุกแขนงมาร่วมรายงานข่าวกว่า 100 ชีวิต เลยทีเดียว
โดยในเวลา 12.00 น. ผศ.วิวัฒน์ชัย กุลมาตร ประธานคณะกรรมการอุทธรณ์การเลือกตั้งนายกสมาคมฯ พร้อมด้วยคณะกรรมการอีก 2 คน
ได้เปิดแถลงผลการยื่นอุทธรณ์ของ 6 สโมสร คือ ระยอง ยูไนเต็ด,, นนทบุรี เอฟซี, พังงา เอฟซี, ตรัง เอฟซี, สุรินทร์ ซิตี้ และ ลูกอีสาน การบินไทย โดยคณะกรรมการพิจารณาแล้ว มีมติ 2-1 ระยอง ยูไนเต็ด ให้สิทธิ์โหวตเป็นของ นายพินิจ ศศิดินทร์, นนทบุรี เอฟซี ให้สิทธิ์ นายกานต์ จันรัตน์, พังงา ให้สิทธิ์ นายก่อแก้ว พิกุลทอง, ตรัง เอฟซี ให้สิทธิ์ นายธัญญา โพธิ์วิจิตร และสุรินทร์ ให้สิทธิ์ นายนิรันดร์ กัลยานมิตร ซึ่งภายหลังได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นนายสุนทร มีสุวรรณ ซึ่ง กกต.และคณะกรรมการอุทธรณ์ ให้การรับรอง ขณะที่ การบินไทย ลูกอีสาน ซึ่งคณะกรรมการสโมสรสร ลงนามขอสละสิทธิ์ แต่ กกต.ให้สิทธิ์อุทธรณ์ ก่อนจะมอบสิทธิ์ให้นายอนุชา ไชยเทศ ทำให้การเลือกตั้งกลับมาครบ 72 เสียง อีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้นในเวลา 14.00 น.นั้น ได้เกิดความวุ่นวายระหว่างการลงทะเบียนเพื่อรับบัตรเลือกตั้ง
โดย นายวิรัช กล่าวว่า มีการสวมสิทธิ์เกิดขึ้นที่ 5 เสียง คือ ระยอง ยูไนเต็ด, นนทบุรี เอฟซี, ตรัง เอฟซี, พังงา เอฟซี, ลูกอีสาน เอฟซี และสุรินทร์ เอฟซี โดยเฉพาะในรายหลังสุดมี นายสุนทร มีสวรรณ เป็นผู้ลงคะแนน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับสโมสรแต่อย่างใด มิหนำซ้ำคณะกรรมการอุทธรณ์ดังกล่าวไม่ใช่ชุดที่ได้ตกลงกันไว้แต่กลับเป็นคนที่ นายองอาจ ก่อสินค้า เลขานุการ กกต. ลงชื่อมอบอำนาจ ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าไม่ชอบธรรมนัก อย่างไรก็ตาม ทาง กกต. ก็ยังยึดการมอบสิทธิ์ตามเดิมที่คณะกรรมการอุทธรณ์ฯ พิจารณาไปก่อนหน้านี้ ซึ่งก็ได้สร้างความไม่พอใจให้กับทางฝั่งของนายวิรัชเป็นอย่างมาก
จากนั้นในเวลา 15.45 น. กกต. ได้เชิญผู้ที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้งทั้ง 72 คน เข้าห้องประชุม เพื่อทำการลงคะแนนโหวตลับ
โดยจะเลือกนายกสมาคมฯ 1 ตำแหน่ง เป็นอันดับแรก ต่อด้วยเลือกอุปนายกสมาคมฯ 5 ตำแหน่ง และปิดท้ายที่สภากรรมการ อีก 13 ตำแหน่ง ตามลำดับ ซึ่ง กกต.ไม่อนุญาตให้ผู้ที่ได้สิทธิ์เข้าห้องประชุมพกพาเครื่องมือสื่อสารเข้าแต่อย่างใด ขณะที่ สื่อมวลชน ก็อนุญาตให้เฉพาะช่างาภาพโทรทัศน์และช่างภาพหนังสือพิมพ์เข้าเก็บภาพมารายงานข่าวประมาณ 10 นาที ก่อนจะเชิญออกจากห้องประชุม ซึ่งผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่าระหว่างารลงคะแนนเลือกตั้งนั้น นายวิรัช ไม่ได้เข้าห้องประชุมเพราะว่าไม่มีสิทธิ์เนื่องจากไม่ได้เป็น 1 ใน 72 เสียง ขณะที่ นายวรวีร์ ที่เป็น 1 ใน 72 เสียง ที่มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้ง เนื่องจากมาในฐานะผู้แทนสโมสรบีอีซี เทโรศาสน นั้นสามารถเข้าไปนั่งในห้องประชุมได้นั่นเอง
นายก่อแก้ว พิกุลทอง ประธานสโมสรพังงา เอฟซี กล่าวหลังจากการร่วมลงคะแนน ว่า ก่อนลงคะแนนทาง กกต.ได้ชี้แจงทำความเข้าใจกับทางนายวิรัชแล้ว
ซึ่งลงคะแนนเลือกตั้งภายในห้องประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ส่วนการที่ตนได้เป็นประธานสโมสรพังงา เพราะว่าเพื่อนสนิทชวนไปร่วมงาน จริงๆ ก็ไม่ได้บริหารงานด้านฟุตบอลเป็นหลัก แต่จะช่วยเรื่องการหาสปอนเซอร์ ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่าเข้าไปดูเกมในสนามแค่นัดเดียวเพราะปกติไม่ได้ชอบกีฬาอยู่แล้ว แต่จะติดตามผลการแข่งขันมากกว่า ส่วนการมาเลือกตั้งในวันนี้ก็มาตามหน้าที่ ตามระเบียบที่สมาคมฟุตบอลฯ ว่าไว้ เพราะตนเป็นคนยึดตามกฎระเบียบ การหย่อนบัตรครั้งนี้คิดว่าส่วนตัวได้เลือกคนที่เหมาะสมเข้าไปทำหน้าที่แล้ว
ภายหลังการลงคะแนนโหวตเลือกตั้งซึ่งใช้เวลาร่วม 2 ชั่วโมง จึงจะแล้วเสร็จ
จากนั้นได้เข้าสู่ขั้นตอนของการนับคะแนนท่ามกลางการลุ้นละทึกของกองเชียร์ทั้งสองฝ่ายตลอดจนสื่อมวลชนที่เกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด ผลปรากฎว่า ในส่วนของตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย นายวรวีร์ ได้รับคะแนนเสียง 42 คะแนน ส่วน นายวิรัชได้ 28 คะแนน จาก 72 เสียง โดยมีบัตรเสีย 2 ใบ ส่งผลให้นายวรวีร์ ได้ตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลเป็นสมัยที่ 4 ติดต่อกัน