นับเป็นความภูมิใจของชาวเอเซียอย่างแท้จริง ที่อย่างน้อยก็มีดาวเตะจากทวีปแห่งนี้อย่าง ชินจิ คางาวะ ซึ่งได้รับความชื่นชม ยกย่อง และยอมรับในฝีเท้าเพิ่มขึ้น แม้ปี 2010 จะไม่ใช่ช่วงเวลาที่น่าประทับใจนักของตัวแทนวงการลูกหนังเอเชียนที่ไปค้าแข้งยังแผ่นดินยุโรป มาร์ก้า หนังสือพิมพ์สเปน ลงข่าวเองเลยว่าล่าสุดคางาวะมีชื่ออยู่ในรายชื่อบัญชีของ โชเซ่ มูรินโญ่ กุนซือชาวโปรตุกีสแห่งค่าย ราชันชุดขาว เรอัล มาดริด เรียบร้อยแล้ว เพราะเขาคือจอมทัพคนสพคัญที่ช่วยให้ เสือเหลือง โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ครองแชมป์ครึ่งฤดูกาลแรกศึกบุนเดสลีกา 2010-11 แบบไร้คู่แข่ง ทั้งๆก่อนหน้านี้ไม่กี่เดือนมิดฟิลด์วัย 21 ปี ไม่มีชื่อติดทีมชาติญี่ปุ่น ชุดลงเตะฟุตบอลโลก 2010 รอบสุดท้าย และเพิ่งย้ายมาลงเตะในลีกยุโรปเพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น แถมไม่ได้อยู่กับสโมสรระดับยิ่งใหญ่มากมาย ต้องยอมรับว่าก่อนหน้านี้ดอร์ทมุนด์มีลุ้นอย่างมากก็แค่ติด 5 อันดับแรกของลีกเยอรมัน เพราะศักยภาพโดยรวมยังสู้อีกหลายสโมสรไม่ได้ การซื้อ-ขายนักเตะช่วงปิดฤดูกาลที่ผ่านมาก็เป็นข้อบ่งบอกอย่างดี เพราะนำเข้าพวกดาวรุ่งเป็นส่วนใหญ่ หนึ่งในนั้นคือคางาวะ แต่หลายคนคงเข้าใจทันทีเมื่อเห็นฟอร์มการเล่นของหนุ่มจากเมืองโกเบรายนี้ ว่าทำไมแฟนบอลเพื่อนร่วมชาติหลายคนถึงได้ประท้วงเพราะไม่มีชื่อของเขาร่วมทัพ ซามูไร ไปเตะที่แอฟริกาใต้ช่วงกลางปี เพราะ 17 นัดในบุนเดสลีกา เขาซัด 8 และจ่ายอีก 1 ประตู ส่วนยูโรป้า ลีก 6 เกม ยิงได้อีก 2 ลูก คงไม่ใช่เรื่องเกินเลยถ้าเราจะบอกว่าคางาวะคือดาราเอเซียที่น่าจับตามองมากสุดในปี 2010 และอาจได้แชมป์บุนเดสลีกาไปครองช่วงกลางปีหน้า จากเด็กที่เคยมีค่าตัว 350,000 ยูโร (ราว 13.6 ล้านบาท) กลายเป็นนักเตะถนัดทั้ง 2 เท้าที่มีค่าตัวหลายล้านยูโรเรียบร้อยแล้ว นักเตะญี่ปุ่นอีกคนหนึ่งขยับค่าตัวของตนเองขึ้นมาหลายล้านในปีนี้คือ ไคซีเกะ ฮอนดะ นักเตะตำแหน่งเดียวกัน แต่อยู่กับ ซีเอสเคเอ มอสโก ยักษ์ใหญ่แห่งรัสเซีย เมื่อเดือนมกราคามที่ผ่านมา เขาย้ายจาก เฟเฟเฟ เฟนโล่ สโมสรเล็กๆของฮอลแลนด์ มาด้วยค่าตัว 6 ล้านยูโร (ราว 234 ล้านบาท) เพราะมีดีกรีนักเตะยอดเยี่ยมของจูปิแลร์ ลีก ฤดูกาล 2008-09 โดย 28 เกมในพรีเมียร์ลีกหมีขาว ดาวเตะวัย 24 ปีทำได้ 4 จ่ายอีก 4 ประตู ส่วนยูโรป้า ลีก 5 นัด เจ้าตัวซัด 1 จ่าย 3 ลูก แม้ดูไม่เปรี้ยงปร้างเท่าคางาวะแต่ก็ยังเป็นแกนหลักของสโมสรร่วมกับตัวทีมชาติรัสเซียอย่าง อลัน ซาโกเยฟ กับ พาเวล มามาเยฟ เพื่อนร่วมชาติของคางาวะ กับฮอนดะ รายอื่น ก็ไม่มีใครฉายแววเด่นตลอดปี 2010 มาโกโตะ ฮาเซเบะ มิดฟิลด์ เฟาเอฟแอล โวล์ฟสบวร์ก, อัตซึโตะ อูชิดะ ฟูลแบ๊ก เอฟเซ ชาลเก้ 04 มีผลงานดาดๆไม่ต่างจาก ยูโตะ นางาโตโมะ กับ ทาคายูกิ โมริโมโตะ สองกองหน้า เอซี เชเซน่า และ คาตาเนีย กัลโช่, ไดซึเกะ มัตซึอิ จอมทัพ ทอม ทอมส์ค ส่วน ไดโกะ โคบายาชิ กองกลาง อิรัคลิส เธสซาโลนิกิ, เซอิชิโร่ มาคิ ดาวยิง อัมคาร์ เพิร์ม, คิโชะ ยาโนะ หัวหอก เอสเซ ไฟร์บวร์ก รวมถึง ไอจิ คาวาชิม่า ผู้รักษาประตู ลีแอร์ส แอสกา แทบไม่มีใครด้วยซ้ำว่ามาอยู่ในลีกสูงสุดของยุโรป เกาหลีใต้ก็ส่งออกนักเตะมายุโรปหลายราย ดังสุดคือ พาร์ค ชี ซอง ดาวเตะอเนกประสงค์ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด หลังกลายเป็นชาวเอเซียคนแรกที่เล่นนัดชิงชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก และได้แชมป์พรีเมียร์ลีก อังกฤษ 3 สมัยซ้อน (2007-09) แต่ปี 2010 ฟอร์มยังไม่ค่อยนิ่ง เตะลีกเมืองผู้ดี 10 นัดในฤดูกาล 2010-11 (นับถึงเกมกับ อาร์เซน่อล) แต่อยู่ครบ 90 นาที 4 เกม ถูกเปลี่ยนออกอีก 4 หน รวม 688 นาที แม้ยิง 4 จ่าย 1 ก็ตาม จะดีหน่อยคือลีก คัพ เพราะยิง 2 จ่าย 2 จากการเตะ 2 แมตช์ แต่ยังคงเป็นตัวจริงของ ปีศาจแดง ลำบากเหมือนเดิม ที่สหราชอาณาจักรยังมีนักเตะเกาหลีใต้อีก 3 ราย แต่ฟอร์มการเล่นธรรมดามาก ทั้ง ชา ดู รี กับ กี ซองยอง สองสมาชิก กลาสโกว์ เซลติก แห่งสกอตติช พรีเมียร์ลีก และ อี ชอง ยอง จอมทัพ โบลตัน วันเดอเรอร์ส ในลีกอังกฤษ ถ้าจะมีให้ชื่นใจ แถมฟอร์มสูสีกับคางาวะหน่อยคงเป็น พาร์ค ชู ยัง ดาวเตะ อาแอส โมนาโก ของลีก เอิง ฝรั่งเศส เพราะซัด 6 ประตูจาก 17 นัด เป็นตัวจริงถึง 16 หน ไม่เคยโดนเปลี่ยนออก เกือบทุกสกอร์ที่ทำได้ก็มีความสำคัญ เช่นเป็นประตูชัยในเกมชนะ แอฟเซ โซโชซ์ หรือช่วยให้เสมอ โอเชเซ นีซ, ชิรงแดงส์ บอร์กโดซ์ กับ โอลิมปิก มาร์กเซย ชู ยัง วัย 25 ปี ใช้ประสบการณ์ให้เป็นประโยชน์ เพราะเขาอยู่โมนาโก 2 ปีแล้ว แถมติดทีมชาตินานถึง 5 ปีแล้ว ถ้ายังแจ้งเกิดไม่ได้ อาจต้องกลับบ้าน เพราะสถิติที่ผ่านมายังไม่ถือว่าดีสำหรับนักเตะเกมรุก เพราะเตะลีกสูงสุดฝรั่งเศส 75 แมตช์ ทำได้ 19 ประตู แต่ส่วนใหญ่แข้งเกาหลีใต้จะฟอร์มตกกันหมด ไม่ว่าจะเป็น คิม นัม อิล มิดฟิลด์ ทอม ทอมส์ค, ซุค ฮุน ชุน จาก อาแจ๊กซ์ อัมสเตอร์ดัม, ฮี นัม แต ดาวรุ่ง แอฟเซ วาล็องเซียงส์ รวมถึง ซอน เฮือง มิน กองหน้าวัย 18 ปีของ ฮัมบูร์ก เอสเฟา ส่วนเกาหลีเหนือพยายามบุกตลาดสวิตเซอร์แลนด์ กับเยอรมัน แม้ต้องเริ่มต้นจากลีกระดับรองๆ แต่บางรายมีโอกาสแจ้งเกิดด้วย เช่น ชอง เตเซ กลายเป็นนักเตะโสมแดงคนแรกในลีกอาชีพเมืองเบียร์ ยิงไป 8 ประตู จากการลงเตะลีกาสองกับ เฟาเอฟแอล โบคุ่ม 16 นัด ช่วงหลังยึดตำแหน่งตัวจริงได้แล้ว เพราะไม่ทำสกอร์เองก็จ่ายให้เพื่อนได้ยิง โอมานมีนักเตะในพรีเมียร์ลีกกับเขาเช่นกัน คือ อาลี อัล ฮับซี่ ผู้รักษาประตูตัวจริงของ โบลตัน วันเดอเรอร์ส แม้ต้นสังกัดฟอร์มไม่ค่อยสม่ำเสมอ แต่เขาลงเล่นรวมทุกรายการ 18 นัด เสีย 21 ประตู ซึ่งถือว่าไม่เลวร้าย แต่ไม่โดดเด่น อิหร่านมีนักเตะในลา ลีกา สเปน 2 ราย มาซูด โชจาอี กับ ยาวัด เนคูนัม สังกัด เซอา โอซาซูน่า ในฐานะตัวจริงทั้งคู่ รายหลังลงเล่น 12 เกม ยิงไป 2 ประตู อีกคนทำได้เท่ากันจาก 11 นัด นอกจากนั้นมีแข้งอิหร่านในลีกสมัครเล่นเยอรมัน 8 คน สำหรับ อิรัก ส่ง บัสซิม อับบาส แบ๊กซ้าย ไปค้าแข้งกับ คอนยาสปอร์ ในซูเปอร์ลีก ตุรกี และลงสนามเป็นตัวจริงต่อเนื่อง แต่คงคาดหวังอะไรจาก อันมาร์ อัลมูบารากี หัวหอกวัย 19 ปี ที่อยู่กับ เฮราเคิ่ลส์ อัลเมโล่ ในลีกฮอลแลนด์ ค่อนข้างยาก จีนกระจายดาวรุ่งไปทั่วโลก ล่าสุดอยู่ในซูเปอร์ลีกา โปรตุเกส 3 ราย คือ ตง ฟางโจว (ปอร์ติโมเนนส์), กัง หวาง (ไบร่า มาร์) กับ จาง เฉิงตง (ยูนิอัว ไลเรีย) จูปิแลร์ โปร ลีก เบลเยียม, ซูเปอร์ลีกา เซอร์เบีย, เอ ลีกา ลิทัวเนีย รวมถึงบุนเดสลีกา เยอรมัน มีลีกละคน ได้แก่ หวัง หยาง (แชร์กล์ บรูช), เฉิง มูยี่ (ซลาติบอร์ โวดา ซูโบติก้า), เจ้า หลิว (เอฟเค ซูดูว่า) และ เห่า จุนหมิน (เอฟเซ ชาลเก้ 04) แต่อนาคตของพวกเขาไม่ค่อยจะดีนัก แถมเกือบทั้งหมดเหลือสัญญากับต้นสังกัดอีกครึ่งปีเท่านั้น ปีนี้เวียดนามมาค้าแข้งในเยอรมัน 5 คน เป็นดาวรุ่งทั้งหมด อยู่ในทีมชุดเยาวชนของสโมสรที่ยังพอคุ้นชื่อบ้างอย่าง ดินาโม เดรสเดน, เอฟเซ เอเนอร์กี้ ค็อตบุส กับ โร้ท ไวส์ แอร์ฟวร์ต เป็นต้น ส่วนฟิลิปปินส์อยู่ในเยอรมันคนเดียว เป็นดาวรุ่งวัย 18 ของ เอฟเซ อิงโกลสตัดท์ อยู่จูปิแลร์ ลีก 1 รายคือ เจสัน เด ยองก์ มิดฟิลด์ เบเฟ ฟีนดัม ระวังว่าพวกนี้จะเรียนรู้วิธีฝึกสอนเด็กของยุโรป และพัฒนาตัวเองจนกลับมาเป็นกำลังสำคัญของทีมชาติ ออสเตรเลียมีนักเตะค้าแข้งในยุโรปเพียบ แต่อายุเยอะทั้งนั้น เช่น ทิม เคฮิลล์ กองกลาง เอฟเวอร์ตัน ซึ่งมีผลงานดีสุด และค่าตัวปัจจุบันสูงสุด ก็อายุ 31 ปีแล้ว ขณะที่อยู่พรีเมียร์ลีก อังกฤษ อีก 5 คนคือ มาร์ค ชวาร์เซอร์ (38 ปี, เอฟซี ฟูแล่ม), เบร็ตต์ เอเมอร์ตัน, วินเซนโซ่ เกรลล่า (31 ทั้งคู่, แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส ทั้งคู่), แบร็ด โจนส์ (28, เอฟซี ลิเวอร์พูล) กับ เดวิด คาร์นี่ย์ (27, เอฟซี แบล็คพูล) ที่อยู่เอเรดิวิซี่ ฮอลแลนด์ นำโดย เบร็ตต์ โฮลแมน (26, อาเซ็ต อัล์คมาร์), เจมส์ ฮอลแลนด์ (21, อาเซ็ต อัล์คมาร์) รวมถึง ไมเคิ่ล ซุลโล่ (22, เอฟเซ อูเทร็คท์) ในซูเปอร์ลีก ตุรกี มีทั้ง แฮร์รี่ คีเวลล์, ลูคัส นีลล์ (32 ทั้งคู่, กาลาตาซาราย อิสตันบูล ทั้งคู่) และ ไมล์ เยดินัค (26, เกนเคลอร์บีร์ลิกี้ อันคาร่า) ขณะ มิทเชลล์ ลังเกรัค (22, โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์) อยู่ในบุนเดสลีกา เยอรมัน พวกนี้ถึงแม้ติดทีมชาติหมดแล้ว แต่อนาคตกับสโมสรไม่แน่นอน เพราะส่วนใหญ่เป็นแค่สำรอง
ชินจิ คางาวะ (ซ้ายสุด) โดดเด่นเหนือใครในบรรดาแข้งเอเซียปี 2010
พาร์ค ชู ยัง ทำผลงานได้น่าพอใจกับโมนาโกในฤดูกาลปัจจุบัน
พาร์ค ชี ซอง ฤดูกาลใหม่ไปเพียงแค่ 10 นัด ส่วนใหญ่นั่งสำรอง
แม้ตัวจะเล็ก แต่ ชอง เตเซ (กลาง) ก็เอาตัวรอดได้ในการเตะลีกาสอง
เห่า จุนหมิน เริ่มมีโอกาสลงสนามให้ชาลเก้น้อยลงเรื่อยๆ
ทิม เคฮิลล์ กลายเป็นอันดับ 1 ของบรรดาแข้งออสซี่ในยุโรป
คางาวะ - ความภูมิใจของเอเซียในปี 2010
หน้าแรกTeeNee ที่นี่กีฬา พูดคุยเรื่องฟุตบอลและกีฬาต่าง ๆ sport คางาวะ - ความภูมิใจของเอเซียในปี 2010
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!