10 สุดยอดแข้งนำเข้าที่ยิ่งใหญ่ตลอดกาลของบุนเดสลีกา

10. คราสซิเมียร์ บาลาคอฟ - บัลแกเรีย (สตุ๊ตการ์ท 1995-2003)


ยอดกองกลางอัจฉริยะจากดินแดนโยเกตส์ ทำผลงานระดับมาสเตอร์พิซกับ สตุ๊ตการ์ท ตลอดระยะเวลา 8 ปี โดยเขาเป็นนักเตะกำลังสำคัญของ ม้าขาว มาตลอด เรื่องความสามารถเฉพาะตัวไม่ต้องพูดถึงไม่เป็นสองรองใครในยุคของเขา ที่สำคัญยังมีทีเด็ดอยู่ที่การปั่นฟรีคิกสังหารอีกต่างหาก บาลาคอฟ เป็นนักเตะที่ สตุ๊ตการ์ท ขาดไม่ได้ และยังช่วยทีมคว้าแชมป์เดเอฟเบ โพคาล ในปี 1997 จากนั้นนำทีมทะลุเข้ารอบชิงชนะเลิศ ยูโรเปี้ยน คัพ วินเนอร์ส คัพ 1998 แต่น่าเสียดายที่แพ้ เชลซี นอกจากนี้ จอมทัพผมหยิกหยอง ยังโชว์ฟอร์มได้อย่างสุดยอดช่วยให้ บัลแกเรีย คว้าอันดับ 4 ในศึกฟุตบอลโลก 1994 ด้วย



บาลาคอฟ ช่วยยิงประตูสำคัญๆ หลายต่อหลายลูกช่วยให้ สตุ๊ตการ์ท รอดจากการตกชั้นในฤดูกาล 2000-01 นอกจากนี้เขายังเกือบที่จะได้สัมผัสแชมป์ลีกเมืองเบียร์ในซีซั่น 2002-03 แต่น่าเสียดายที่จบแค่ตำแหน่งรองแชมป์ตามหลัง บาเยิร์น มิวนิค หลังจากที่โลดแล่นบนถนนสายลูกหนังมานานสุดท้ายเขาก็แขวนเกือกไว้บนหิ้งในปี 2003


9.บรูโน่ เพซไซย์-ออสเตรีย (ไอน์ทรัค แฟร้งค์เฟิร์ต 1978-1983, แวร์เดอร์ เบรเมน 1983-1987)


ในช่วงยุคแรกของบุนเดสลีกาเมื่อปี 1960 ไม่ค่อยมีนักเตะต่างชาติเดินทางมาค้าแข้งในเมืองเบียร์มากนัก โดย วิลลี่ ฮับเบิร์ต เป็นชาวออสเตรียคนแรกที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาทำมาหากินบนถนนสายลูกหนังเมื่อปี 1963 และจากนั้นเพื่อนร่วมชาติของเขาได้แก่ บรูโน่ เพซไซย์ ก็ได้เดินตามรอยเท้ารุ่นพี่ในอีก 15 ปีหลังจากนั้น เพซซี่ย์ ก็แสดงให้เห็นความเป็นสวีปเปอร์ชั้นยอดคนหนึ่งในโลก และ ดาวเตะแห่งลุ่มแม่น้ำดานู้บช่วยให้ทีมคว้าแชมป์ ยูฟ่า คัพ ในปี 1980 ไม่ใช่แค่ในระดับสโมสรเท่านั้น เพซไซย์ ยังทำผลงานได้ดีให้กับทีมชาติออสเตรียด้วย โดยเขายิงประตูเป็นว่าเล่นในนามทีมชาติ รวมทั้งลูกโหม่งมหาประลัยที่ชนะ อังกฤษ 4-3 ในเกมอุ่นเครื่อง เมื่อปี 1979


8. วีย์นตัน รูเฟอร์ - นิวซีแลนด์ (แวร์เดอร์ เบรเมน 1989-1995, ไกเซอร์สเลาเทิร์น 1997) 


มันนานมาแล้วก่อนที่บรรดานักเตะ ออล ไวท์ส จะทำผลงานได้อย่างสุดยอดไม่แพ้ และไม่ชนะทีมไหนเลยในศึกฟุตบอลโลก 2010 ที่ประเทศแอฟริกาใต้ แต่ขอบอกว่ามีนักเตะสายพันธุ์กีวีอีกคนที่สร้างชื่อเสียงในวงการลูกหนังเมืองเบียร์มานานแล้ว โดยดาวเตะวัยละอ่อนนาม รูเฟอร์ ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมลงเล่นให้ นิวซีแลนด์  3 เกมในศึกเวิลด์ คัพ 1982 สำหรับผลงานในระดับสโมสรต้องยอมรับว่าไม่ธรรมดาจริงๆเมื่อเขาเคยคว้าแชมป์บุนเดสลีกา 1 สมัย, เดเอฟเบ โพคาล 2 สมัย และ ยูโรเปี้ยน คัพ วินเนอร์ส คัพ 1 สมัย กับ แวร์เดอร์ เบรเมน ซึ่งเขาเป็นคนทำประตูในนัดชิงชนะเลิศด้วย


7. โทนี เยบัวห์ - กานา (ซาร์บรูคเค่น 1988-90, ไอน์ทรัค แฟร้งค์เฟิร์ต 1990-95, ฮัมบูร์ก 1997-2001)


จะว่าไปแล้ว ฮูลิโอ บายลอน เป็นนักเตะผิวสีคนแรกที่เดินทางมาค้าแข้งในลีกแดนไส้กรอก ตอนที่เข้าย้ายมาค้าแข้งกับ ฟอร์ทูน่า โคโลญจ์น เมื่อปี 1973 จากนั้นก็มีนักเตะผิวหมึกมากมายที่เดินตามรอยเท้าของเขามาเล่นในเยอรมัน และก็ไม่มีนักเตะคนไหนที่โดดเด่นเป็นสง่ามากไปกว่า โทนี่ เยบัวห์ ซึ่งทำผลงานได้อย่างสุดยอดนับตั้งแต่ครั้งแรกที่เล่นในบุนเดสลีกา หัวหอกเลือดกานา ต้องเจออุปสรรคเกี่ยวกับเรื่องการเหยียดสีผิวพอสมควรในช่วงแรกที่ค้าแข้งกับ แฟร้งค์เฟิร์ต แต่เพียงไม่นาเขาก็สามารถเอาชนะใจแฟนบอลได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกับโชว์ฟอร์มยิงประตูสำคัญๆ ให้กับทีมมากมาย


 


เก่งไม่เก่งไม่รู้แต่ผลงานสุดยอดดีแท้เพราะ เยบัวห์ จัดการคว้าตำแหน่งดาวซัลโวร่วมลีกสูงสุด 2 สมัยติดต่อกัน (กับอูล์ฟ เคียร์เท่น 1993 และ สเตฟาน คุนท์ซ 1994) กับ แฟร้งค์เฟิร์ต จนกระทั่งเขาฟอร์มตกในยุคของ จุ๊ปป์ ไฮย์เกส และย้ายไปค้าแข้งกับ ลีดส์ ยูไนเต็ด ในปี 1995 และก็ยังคงยิงประตูเป็นกอบเป็นกำเหมือนเดิม ก่อนที่จะกลับมาคว้าแข้งในเยอรมันอีกครั้งกับ ฮัมบูร์ก


6. เควิน คีแกน - อังกฤษ (ฮัมบูร์ก 1977-1980)


ใครจะไปเชื่อว่า โคเวนทรี ซิตี้ จะพลาดโอกาสครั้งสำคัญที่สุดของสโมสร หลังพวกเขาปฏิเสธดึงตัว เควิน คีแกน หัวหอกฝีเท้าจัดไปร่วมทีม เพื่อเพราะเขามีความสูงไม่โดนใจเท่านั้น แต่ขอบอกว่า ลิเวอร์พูล ไม่ได้ตาถั่วเนื่องจากเห็นแววเพชฌฆาตของนักเตะ และตัดสินใจดึงตัวมาเสริมทัพในถิ่นแอนฟลิด์ ซึ่งก็ไม่ผิดหวังเมื่อ คีแกน ซัดกระจุยนำ หงส์แดง ครองความเป็นเจ้าลูกหนังลีกเมืองผู้ดี ก่อยจะย้ายไปค้าแข้งกับ ฮัมบูร์ก ด้วยค่าตัวสูงละยิบในขณะนั้น 500,000 ปอนด์ (ราว 24 ล้านบาท) และก็เป็นการลงทุนที่ไม่ผิดหวัง แม้นักเตะจะต้องเจอกับความยากลำบากในซีซั่นแรกก็ตาม โดยโดนแบนจากการชกคู่แข่ง


 


อย่างไรก็ตาม คีแกน กลายเป็นผู้เล่นสำคัญช่วยให้ สิงห์เหนือ คว้าแชมป์ลีกซีซั่น 1978-79 และยังพาทีมคว้ารอบชิงชนะเลิศ ศึกยูโรเปี้ยน คัพ 1980 แต่น่าเสียดายที่พวกเขาแพ้ น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ โดย คีแกน ได้รับฉายาจากแฟนบอลเลือดด๊อยท์ชว่าเป็น ไอ้หนูพลังช้าง หรือ ไมตี้ เม้าส์ นอกจากนี้ คีแกน ได้รับรางวัลบัลลง ดอร์ 2 สมัยติดต่อกันปี 1978 และ 1979 ในช่วงที่ค้าแข้งต่างแดน และช่วงที่ผ่านมา เขายังเคยตกเป็นข่าวรีเทิร์นกลับมา ฮัมบูร์ก ในฐานะโค้ชด้วย


5. ฌอง-มารี พัฟฟ์ - เบลเยียม (บาเยิร์น มิวนิค 1982-88)


มารี พัฟฟ์ เป็นหนึ่งในผู้รักษาประตูที่ดีที่สุดในโลก โดยเขาย้ายมาเสาเฝ้าให้ บาเยิร์น ในปี 1982 และก็ไม่ผิดหวังเมื่อเขาช่วยป้องกันประตูให้ต้นสังกัดได้เป็นว่าเล่นจนกองหน้าคู่แข่งต้องส่ายหัวเพราะยากลำบากแสนเข็ญกว่าจะส่งลูกบอลผ่านมือ โกล์ชาวเบลเยียม ได้แต่ละลูก และผลงานของเขาก็ไม่ธรรมดาเมื่อนำ เสือใต้ คว้าแชมป์ลีก 3 สมัย และเดเอฟเบ โพคาล 2 สมัย โดย มารี-พัฟฟ์ กลายเป็นที่สนใจของช่างภาพและแฟนบอล สำหรับลีลาการป้องกันที่หวือหวา และมีปฏิกิริยาที่ฉับไหว ที่สำคัญเจ้าตัวได้รับการโหวตให้เป็นโกล์ที่ดีที่สุดในโลกปี 1987


 


มารี-พัฟฟ์ ผ่านการเล่นฟุตบอลโลก 2 สมัยที่สเปน ปี 1982 และอีก 4 ปีต่อมาที่เม็กซิโก ซึ่ง เบลเยียม คว้าอันดับ 4 มาครอง  อย่างไรก็ตาม เขาพลาดเสาเฝ้าให้บ้านเกินในศึกเวิลด์ คัพ 1978 หลังจากที่มีปัญหาเรื่องฟอร์มการเล่น ก่อนจะกลับมาอีกครั้งใน 4 ปีต่อมา และกลายเป็นตัวเลือกแรกมาตลอด ปัจจุบันเขาทำงานอยู่ในบ้านเกิดโดยมีรายการ De Pfaffs เรียลลิตี้ส่วนตัวทางทีวีในเบลเยียม


4. โจวานนี่ เอลแบร์ - บราซิล (สตุ๊ตการ์ท 1994-1997, บาเยิร์น มิวนิค 1997-2003, โบรุสเซีย มึนเชนกลัดบัค 2005)


หัวหอกเลือดบราซิเลียน สร้างชื่อให้กับตัวเองในลีกสวิตเซอร์แลนด์ ก่อนที่จะข้ามน้ำข้ามทะเลมาล่าตาข่ายให้ สตุ๊ตการ์ท ในปี 1994 โดยเขารวมพลังกับ บาลาคอฟ และ เฟรดี้ โบบิช จนได้รับฉายาว่า 3 ทหารเสือ เอล-บา-โบ โดย เอลแบร์ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการถล่มประตูด้วยการนำต้นสังกัดคว้าแชมป์เดเอฟเบ โพคาล ในปี 1997 และตัดสินใจแยกทางกับ ม้าขาว เพื่อไปสร้างตำนานให้ บาเยิร์น ซึ่งก็ไม่ผิดหวังเมื่อเขาเป็นนักเตะสำคัญในยุคกวาดชมป์เป็นว่าเล่นของ อ๊อตม่าร์ ฮิทต์เฟลด์ กุนซือจอมแท็คติก นอกจากนี้ เอลแบร์ กับ เคลาดิโอ ปิซาร์โร่ ยังร่วมแรงแข็งขันสร้างสถิติเป็นผู้เล่นต่างชาติที่ยิงประตูในลีกเยอรมันมากที่สุดถึง 133 ประตูด้วย


3. ชา บุม-กุน - เกาหลีใต้ (ดาร์มสตัดท์98 1978-79, ไอน์ทรัค แฟร้งค์เฟิร์ต 1979-83, ไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น 1983-89)


น้อยรายนักที่นักเตะจากเอเชียจะประสบความสำเร็จในบุนเดสลีกา แต่ขอบอกว่าชายคนนี้เป็นผู้เล่นที่ดีที่สุดในรอบศตวรรษของเอเชีย ที่ทำผลงานได้อย่างสุดยอดทั้งในเยอรมัน และวงการลูกหนังโลก จนกลายเป็นตำนานเลยทีเดียว เก่งขนาดไหนไม่ต้องบอกเพราะ เยอรมันตะวันตก เคยยื่นข้อเสนอมอบสัญชาติด๊อยท์ชให้กับ บุม-กุน มาแล้วซึ่งเขาสามารถลงเล่นในนามทัพ อินทรีเหล็กแทนที่จะเป็น เกาหลีใต้ แต่เลือดรักชาติมันเข้มข้นกว่าน้ำทำให้เขาตอบปฏิเสธความหวังดีไป


 


แต่จริงแล้ว บุม-กุน ซึ่งเป็นปะป๋าของ ชา ดู รี ดาวเตะ โสมขาว ชุดปัจจุบัน ไม่ใช่นักเตะเอเชียคนแรกในลีกเมืองเบีร์ โดยก่อนหน้านี้ ยาซูฮิโตะ โอคูเดระ เคยเดินทางมาซดเบียร์แกมไส้กรอกมาแล้ว และค้าแข้งอยู่กับ เอฟซี โคโลญจ์น, แฮร์ธ่า เบอร์ลิน รวมทั้ง แวร์เดอร์ เบรเมน ในช่วงระหว่างปี 1977-1986  สำหรับ ชา บุม-กุน  ต้องบอกว่าทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมตลอด 10ปีในบุนเดสลีกา โดยเขาได้รับเกียรติยศได้แก่แชมป์ ยูฟ่า คัพ 2 สมัย และ เดเอฟเบ โพคาล นอกจากนี้ บุม-กุน ยังช่วยสร้างกระแสความนิยมลีกเมืองเบียร์ให้กับพี่น้องแดนโสมขาวอีกด้วย


2. บิเซนเต้ ลิซาราซู - ฝรั่งเศส(บาเยิร์น 1997-2004, 2005-06)


ต้องบอกว่า ลิซาราซู คือนักเตะต่างชาติที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในบุนเดสลีกาเท่าที่เคยมีมาเลยก็ว่าได้ สไตล์การเล่นของฟูลแบ็กเลือดเฟร้นช์ นำชัยชนะมาสู่ เสือใต้ มามายตลอดช่วงเกือบทศวรรษเลยทีเดียว เขาคว้าแชมป์ลีก 6 สมัย, เดเอฟเบ โพคาล 5 สมัย และ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก 2001 โดย ลิซาราซู ย้ายจาก แอธเลติก บิลเบา ในปี 1997 ก่อนจะมุ่งหน้ามายังแคว้นบาวาเรีย และช่วยทีมประสบความสำเร็จเป็นว่าเล่น ก่อนจะถึงจุดอิ่มตัวย้ายกลับไปค้าแข้งในลีกบ้านเกิดกับ โอลิมปิก มาร์กเซย ในปี 2004 อย่างไรก็ตาม แค่ 6 เดือน ลิซ่าก็ทนคิดถึงกลิ่นไส้กรอกไม่ไหวก็เลยเก็บเสื้อผ้าย้ายมาเล่นให้ บาเยิร์น อีกครั้ง โดยสวมเสื้อหมายเลย 69


1. อลัน ซิโมนเซ่น - เดนมาร์ก(โบรุสเซีย มึนเช่นกลัดบัค 1972-79)


ในช่วงยุค 70 ไม่มีใครหน้าไหนสามารถแตะต้อง อลัน ซิโมนเซ่น กับ โบรุสเซีย มึนเชนกลัดบัค ได้เลย ด้วยทักษะชั้นเทพ ทำให้เขาสามารถช่วยทีม สิงห์หนุ่ม คว้าแชมป์ลีก 3 สมัยติดต่อกับ ยูฟ่า คัพ 2 สมัย และเป็นผู้เล่นที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดตลอดทศวรรษที่อยู่กับทีม นอกจากนี้เขายังได้รับรางวัลบัลลง ดอร์ ในปี 1977 ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ซิโมนเซ่น เป็นผู้เล่นที่ยิงประตูตีเสมอในเกมพบ ลิเวอร์พูล ศึกยูโรเปี้ยน คัพ 1977 แต่ลงท้ายด้วยความพ่ายแพ้ต่อ หงส์แดง 1-3 นอกจากนี้ ดาวเตะแดนโคนม ยังเป็นเจ้าของสถิติเพียงคนเดยวที่สามารถยิงประตูในเกมนัดชิงฯ ฟุตบอลถ้วยยุโรปได้ทุกรายการไม่ว่าจะเป็น ยูฟ่า คัพ, คัพ วินเนอร์ส คัพ และ ยูโรเปี้ยน คัพ ว่ากันว่า แฟนบอล สิงห์หนุ่ม ถึงขนาดโศกเศร้ากันระงมเมื่อรู้ข่าวว่าเขาตัดสินใจย้ายไปเล่นกับ บาร์เซโลน่า ในปี 1979 และนับจากวันนั้นถึงวันนี้ มึนเชนกลัดบัค ไม่เคยมีนักเตะที่ยิ่งใหญ่แบบ ซิโมนเซ่น อีกเลย


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์