ถือเป็น "ธรรมเนียมปฏิบัติ" ไปแล้วสำหรับการแข่งขันมหกรรมกีฬาระดับนานาชาติ ที่ภาครัฐบาลของแต่ละประเทศจะต้องประกาศเงินอัดฉีดเพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับนักกีฬาของตนเอง
"ซีเกมส์ ครั้งที่ 25" ที่นครเวียงจันทน์ ประเทศลาว ก็ไม่ต่างกัน แม้เป็นการขับเคี่ยวเพียงแค่ 11 ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ทุกเหรียญทองล้วนมีความสำคัญต่อการแย่งชิงความเป็นหนึ่งในการแข่งขัน จึงมีการแจกเงินโบนัสเพื่อกระตุ้นนักกีฬากันเป็นเรื่องปกติ
สำหรับนักกีฬาไทยนั้น ทางรัฐบาลไทยอัดฉีดเงินรางวัลผ่าน "กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ" โดยเหรียญทองได้รับ 2 แสนบาท, เหรียญเงิน 1 แสนบาท และเหรียญทองแดง 5 หมื่นบาท ซึ่งสมาคมจะได้ส่วนแบ่งด้วย 30 เปอร์เซ็นต์จากเงินรางวัลทั้งหมด ขณะที่โค้ชได้รับส่วนแบ่ง 20 เปอร์เซ็นต์
ซีเกมส์ครั้งที่แล้ว "โคราชเกมส์" ที่จังหวัดนครราชสีมาเป็นเจ้าภาพเมื่อ 2 ปีก่อนนั้น ไทยได้ 183 เหรียญทอง 123 เหรียญเงิน 103 เหรียญทองแดง รวมแล้วทางรัฐบาลต้องจ่ายเงินโบนัสให้นักกีฬาไปทั้งสิ้น 191.4 ล้านบาท
ส่วนประเทศอื่นๆ ก็มีการอัดฉีดนักกีฬ่าเช่นกัน เพียงแต่มากน้อยต่างกันเท่านั้น อาทิ
เงินอัดฉีดของคู่กันกับมหกรรมกีฬา
"ลาว" เจ้าภาพจัดการแข่งขันที่ตั้งเป้าไว้ 5 เหรียญทอง ทางรัฐบาลเตรียมอัดฉีดเงินรางวัลให้เหรียญทองละ 30 ล้านกีบ (120,000 บาท) ส่วนเหรียญเงินและทองแดงได้รับ 20 ล้านกีบ (8 หมื่นบาท) และ 15 ล้านกีบ (6 หมื่นบาท) ตามลำดับ
ขณะที่ภาคเอกชนก็เข้ามาร่วมอัดฉีดหลายราย เพราะทางรัฐบาลลาวให้คำมั่นว่าจะลดภาษีให้หากเข้ามาสนับสนุน
"ฟิลิปปินส์" ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน 251 คน ใน 22 ชนิดกีฬา ตั้งเป้าไว้สูงถึง 64 เหรียญทอง ซึ่งถือว่าสูงมากจากที่เคยส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขันที่โคราช 600 คน ได้มาทั้งสิ้น 42 เหรียญทอง แต่หากทำได้สำเร็จจะอัดฉีดเงินรางวัลเหรียญทองละ 3 แสนเปโซ (222,000 บาท)
"อินโดนีเซีย" อัดฉีดเงินรางวัลให้นักกีฬารวม 500 ล้านรูเปีย (18.55 ล้านบาท) สำหรับนักกีฬาที่ส่งเข้าร่วมการแข่งขันทั้งสิ้น 320 คน นอกจากนี้ ยังมีสวัสดิการอื่นๆ ให้กับนักกีฬาที่อยู่ต่างประเทศแล้วกลับมารับใช้ชาติด้วย โดยจะได้รับเงินช่วยเหลือหลังจากเลิกเล่นไปแล้ว เหรียญทอง 1,500 เหรียญสหรัฐ (49,500 บาท), เหรียญเงิน 1,000 เหรียญสหรัฐ (33,000 บาท) และเหรียญทองแดง 750 เหรียญสหรัฐ (24,750 บาท)
"กัมพูชา" ส่งนักกีฬาเข้าร่วมชิงชัยเหรียญทอง 19 ชนิดกีฬา และมีถึง 7 ชนิดที่ส่งนักกีฬาไปเก็บตัวฝึกซ้อมที่เวียดนาม ประเทศเพื่อนบ้านนานกว่า 1 เดือน ประกอบด้วย มวยปล้ำ, ชัตเติลค็อก, กรีฑา, คาราเต้โด, มวย, วอลเลย์บอลชายหาด และฟุตบอล ส่วนเทควันโดส่งไปซ้อมถึงประเทศต้นตำรับเกาหลีใต้ โดยซีเกมส์ครั้งก่อนได้เหรียญรางวัลมาทั้งสิ้น 18 เหรียญ ซึ่งครั้งนั้นเหรียญทองได้รับเงินโบนัส 24 ล้านรีล (192,000 บาท), เหรียญเงิน 16 ล้านรีล (128,000 บาท) และเหรียญทองแดง 8 ล้านรีล (64,000 บาท) ส่วนโค้ชได้เงินเท่ากับนักกีฬาที่ทำผลงานได้ดีที่สุดในทีม และผู้ช่วยโค้ชรับส่วนแบ่งเป็น 70 เปอร์เซ็นต์จากที่โค้ชได้รับ
"มาเลเซีย" หวังไว้ 30-35 เหรียญทอง จาก 21 ชนิดกีฬาที่ส่งนักกีฬาเข้าร่วมการแข่งขัน ซึ่งลดลงจากเมื่อครั้งที่แข่ง "โคราชเกมส์" ครึ่งต่อครึ่ง เพราะลาวบรรจุกีฬาแค่ 25 ชนิดเท่านั้น ขณะที่โคราชแข่งถึง 43 ชนิดกีฬา โดยตั้งเงินอัดฉีดล่อใจนักกีฬาไว้เหรียญทองละ 68,000 ริงกิต (680,000 บาท)
"เวียดนาม" ส่งนักกีฬามากถึง 430 คน ในซีเกมส์ครั้งนี้ นอกจากจะอัดฉีดเงินรางวัลเหรียญทองละ 30 ล้านด่อง (54,000 บาท) แล้ว แต่ละสหพันธ์กีฬายังมีเงินอัดฉีดให้นักกีฬาของตัวเองต่างหากด้วย ทั้งกีฬาฟุตบอล, วอลเลย์บอล, ยิงปืน และเซปักตะกร้อ โดยตั้งเป้าติดอยู่ใน 3 อันดับแรกของตารางเหรียญรางวัลให้ได้เหมือนที่ผ่านมา
"สิงคโปร์" จะให้เงินอัดฉีดเฉพาะนักกีฬาที่คว้าเหรียญทองได้เท่านั้น โดยในประเภทบุคคลจะมีเงินรางวัล 10,000 เหรียญสหรัฐ (330,000 บาท) สำหรับเหรียญทองแรก ส่วนเหรียญทองที่สองและสามจะได้รับเงินเหรียญละ 5,000 เหรียญสหรัฐ (165,000 บาท) ขณะที่ผู้ชนะในประเภททีมจะได้รับทองละ 15,000 เหรียญสหรัฐ (495,000 บาท) และทีมได้รับ 30,000 เหรียญสหรัฐ (990,000 บาท)
แม้ว่าเงินอัดฉีดของแต่ละประเทศจะมากน้อยต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลากหลายประการ แต่ถึงกระนั้น เงินรางวัลก็ช่วยให้นักกีฬามีแรงจูงใจในการรับใช้ทีมชาติด้วยอีกทางหนึ่ง
...ถือเป็น "ของคู่กัน" ทุกยุคทุกสมัยของการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ