เมื่อวันที่ 17 พ.ย. เอเอฟพีรายงานเรื่องราวการสร้างประวัติศาสตร์และสถิติมากมายของ ยูซึรุ ฮานิว เจ้าชายแห่งวงการฟิกเกอร์สเก็ตญี่ปุ่น วัย 23 ปีในพย็องชังเกมส์ 2018 หลังผงาดคว้าเหรียญทองฟิกเกอร์สเกต ชายเดี่ยวโอลิมปิก ฤดูหนาว ที่เมืองพย็องชัง ประเทศเกาหลีใต้
กว่าจะมาถึงวันที่ “เบิ้ลเหรียญทอง” เจ้าชายนักสเกต Yuzuru Hanyu บาดเจ็บทั้งกายและใจ!!
เริ่มจากสร้างสถิติเป็นนักกีฬาชายคนแรกในรอบ 66 ปีที่คว้าเหรียญทองได้สองสมัยติดต่อกัน นับจากนักกีฬาทีมชาติสหรัฐ ดิก บัตทอน ทำไว้ในปี 1948 ต่อด้วยปี 1952 ต่อมาเหรียญที่พิชิตนี้ยังเป็นเหรียญทองที่ 1,000 ของโอลิมปิก ฤดูหนาว นับจากเริ่มต้นปี 1924
ฮานิวซังยังเพิ่งหายจากอาการบาดเจ็บข้อเท้าอย่างรุนแรง 1 เดือนก่อนการแข่งขันกลับทำผลงานเกินคาด ทำคะแนนรวมสูงถึง 317.85 คะแนน ทิ้งขาดเพื่อนร่วมชาติอย่าง โชมะ อูโนะ ที่ได้ 306.90 คะแนน และเหรียญทองแดงเป็น ฮาเบียร์ เฟอร์นันเดซ จากสเปน 305.24 คะแนน
"ผมโล่งมากที่ได้มาสเกตที่นี่ เพราะมีแฟนๆ จำนวนมาก สนับสนุนผม ผมโชคดีมาก และรู้สึกซาบซึ้งใจที่ข้อเท้าของผมที่ทำให้มีกลับมามีวันนี้ได้ ทุกอย่างมันยากลำบากจริงๆ ผมแทบไม่ได้สเกตเลยในช่วงก่อนหน้านี้ แต่พอแข่งผมกระโดดได้อย่างที่อยากทำด้วยความมุ่งมั่น และมันดีเลย" เจ้าชายนักสเกตกล่าว
แฟนกีฬาที่ตามมาเชียร์จากญี่ปุ่นต่างโยนตุ๊กตาหมีพูห์กว่าร้อยตัวเป็นการแสดงความยินดีกับฮานิว ซึ่งฮานิวจะนำกลับไปทุกครั้ง และคราวนี้ต้องใช้รถเก๋งถึงสองคันในการขนกลับเพื่อนำไปบริจาคให้กับเด็กด้อยโอกาส และครั้งนี้เขาจะนำไปให้เด็กๆ ในเกาหลี
เมื่อครั้งนักกีฬาหนุ่มพิชิตเหรียญทองในโอลิมปิกที่โซชี เกมส์ 2014 ที่รัสเซีย ทำให้มีแฟนๆ เพิ่มขึ้นจำนวนมาก และในปีเดียวกันนั้นเกิดเหตุการณ์ที่สาวๆ ใจเสียไปตามๆ กัน เมื่อเกิดอุบัติเหตุถึงขั้นเลือดตกยางออกบนลานสเกต ระหว่างการวอร์มในการแข่งขันคัพ ออฟ ไชน่า ที่นครเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน จนฮานิวซังต้องเดินทางกลับประเทศในสภาพนั่งรถเข็น
เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันเสาร์ที่ 8 พ.ย. ระหว่างการวอร์มร่างกายของนักกีฬา จังหวะที่ฮะนิวจะกระโดดหมุนตัวแต่ชนกับเหยียน ฮั่น นักกีฬาจีน ทั้งคู่นอนลงไปนอนกองกับพื้นน้ำแข็ง ฮานิวบาดเจ็บที่กรามและเย็บแผลที่ศีรษะ
แต่จากนั้นทีมนักกีฬาปล่อยให้ฮานิวลงไปสเกตต่อ ทำให้สหพันธ์สเกตแห่งญี่ปุ่น JSF ถูกแฟนๆ ตำหนิอย่างหนัก งานนี้ฮานิวต้องออกโรงมาขอโทษด้วยตนเอง ว่า "ผมขอโทษด้วยสำหรับปัญหาและความวิตกกังวลทั้งหมดที่มาจากผม"
ไม่เพียงประสบการณ์การบาดเจ็บจากการซ้อมและเล่นสเกตเท่านั้น ฮานิวยังมีประสบการณ์ฝันร้ายจากเหตุแผ่นดินไหวก่อสึนามิครั้งรุนแรงเมื่อวันที่ 11 มีนาคม ปี 2011 ด้วย
ช่วงเวลานั้นฮานิวซ้อมอยู่ในลานสเกตที่เซนได บ้านเกิดและเมืองที่ได้รับผลกระทบรุนแรงมากที่สุดแห่งหนึ่งในเหตุการณ์ครั้งนั้น ตอนนั้นลานน้ำแข็งแตกอยู่ใต้เท้าและกำแพงห้องซ้อมก็ถูกเขย่ารุนแรง
"ผมอยู่ใจกลางแผ่นดินที่ได้รับผลกระทบ ไฟฟ้า แก๊ส ประปา ชะงักไปหมด มันเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากมาก และมีคนที่ลำบากและเผชิญเหตุร้ายแรงกว่าผมอีกมาก เป็นกลุ่มคนที่ถูกสึนามิ และผลกระทบที่กัมมันตรังสีรั่วออกมาจากโรงไฟฟ้า" ฮานิวเล่า
หลังจากเหตุการณ์นั้นฮานิวกลัวว่าจะเสียการเป็นนักกีฬาสเกตไป จึงย้ายไปฝึกที่กรุงโตเกียว กระทั่งคว้าเหรียญโอลิมปิกที่โซชีได้สำเร็จ ตอนนั้นมีนักข่าวยิงคำถามเรื่องเหตุการณ์แผ่นดินไหวด้วย แต่ชายหนุ่มสะเทือนใจจนไม่รู้จะตอบอย่างไรได้แต่น้ำตาไหล ผิดกับครั้งนี้ที่พอจะพูดได้แล้ว
"สี่ปีก่อนที่ผมได้เหรียญทอง ผมพูดได้แค่ฮัลโหลกับผู้ที่ประสบภัย ตอนนั้นพวกเขายิ้มรับให้ผมเยอะมาก บางทีตอนนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบอาจยิ้มให้ผมมากขึ้นก็ได้" เจ้าชายนักสเกตกล่าว
ที่มา khaosod