บางคนอดสงสัยไม่ได้ว่า สนามฟุตบอลที่ใหญ่มหึมา แต่มีคนเข้าชม 'โหรงเหรง' เป็นอย่างไร? 'เดอะ การ์เดี้ยน' หนังสือพิมพ์เมืองผู้ดี จึงรวบรวมข้อมูลของเจ้าของสนามที่มีสถิติผู้ชมบอลถ้วยบอลลีกชวนปาดเหงื่อมาฝากกัน ณ ที่นี้...
ด้วยเหตุผลเดียวคือเพื่อเพิ่มรายได้จากการขายบัตรเข้าชมการแข่งขัน ด้วยเหตุนี้จึงมักมีการข่าวคราวสถิติผู้ชมแน่นสนามมาให้ได้ยินอยู่เป็นระยะๆ
แต่ก็มีบางคนที่อดสงสัยไม่ได้ว่า แล้วถ้าเป็นเรื่องตรงข้าม ทั้งที่สนามใหญ่มหึมา แต่มีคนเข้าชม "โหรงเหรง" บ้างล่ะ? ว่าแล้ว เดอะ การ์เดี้ยน หนังสือพิมพ์เมืองผู้ดีจึงทำการรวบรวมข้อมูลของเจ้าของสนามที่มีสถิติผู้ชมบอลถ้วยบอลลีกชวนปาดเหงื่อมาฝากกัน ณ ที่นี้ทันที...
10.โยโกฮาม่า มารินอส - ว่าง 51,207 ที่นั่ง
หนึ่งในสโมสรของเจลีกแห่งนี้ มีสนามเหย้าชื่อ โยโกฮาม่า อินเตอร์เนชั่นแนล สเตเดียม (หรือ "นิสสัน สเตเดียม") ที่ใช้มาตั้งแต่ปี 1998 แต่ถึงจะมีความจุเต็มที่ถึง 72,372 แต่พอเอาเข้าจริงๆ ผลการสำรวจยอดผู้เข้าชมเฉลี่ยต่อนัดกลับมีเพียง 19,165 คน บวกลบกันแล้วเท่ากับว่าสนามแห่งนี้จะว่างเฉลี่ยถึง 51,207 ที่นั่งเลยทีเดียว
9.เอฟซี อัมสเตอร์ดัม - ว่าง 64,500 ที่นั่ง
สนามเหย้า โอลิมปิค สเตเดียม ของสโมสรตั้งอยู่ในเมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ ช่วงต้นปี 1977 สนามแห่งนี้ได้รับเกียรติให้จัดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลคัพวินเนอร์สคัพ ระหว่าง ฮัมบูร์ก กับ อันเดอร์เลชต์ ซึ่งมีแฟนบอลจากทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลเข้าไปชมเต็มความจุ 66,000 ที่นั่ง แต่หลังจากนั้น ในเดือนกันยายนปีเดียวกัน ตอนที่เจ้าของสนามอย่างเอฟซี อัมสเตอร์ดัม ลงเตะกับ เอฟซี ทเวนเต้ และปราชัย 1-3 กลับมีคนเข้าไปให้กำลังใจทั้ง 2 ทีม รวมกันแล้วเพียง 1,500 คนเท่านั้น
8.ยูเวนตุส - ว่าง 68,763 ที่นั่ง
ใครจะไปเชื่อว่าทีมใหญ่ชื่อก้องยุโรปอย่างยูเว่จะมีวันที่หันไปเจออัฒจันทร์โหรงเหรงกับเขาด้วย! แต่อันนี้ต้องหมายเหตุไว้ก่อนว่าไม่นับพวกแมตช์ที่ถูกลงโทษห้ามให้ผู้ชมเข้าสนาม (ซึ่งเกิดขึ้นเป็นระยะๆ ในอิตาลี) นะจ๊ะ แต่ถึงอย่างนั้นก็เคยมีสถานการณ์น่าท้อเกิดขึ้นจริงๆ ในเกมโคปป้า อิตาเลีย ฤดูกาล 2001-2002 ซึ่งยูเวนตุสเปิดสนาม สตาดิโอ เดลเล อัลปี ความจุ 69,000 ที่นั่ง รับ ซามพ์โดเรีย ซึ่งไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่านัดนั้นมีคนไปดูสนามแค่เพียง 237 คนเท่านั้นเอง
7.แฮร์ธ่า เบอร์ลิน - ว่าง 73,000 ที่นั่ง
เนื่องด้วยราวทศวรรษที่ 80 ทีมแฮร์ธ่า เบอร์ลิน ทำผลงานไม่ค่อยดีนัก ถึงกับหล่นไปอยู่ลีกา 2 ในปี 1986 ทำให้แฟนบอลเริ่มเซ็งและไม่ค่อยมีแรงไปเชียร์ถึงขอบสนามเท่าไร ทำเอา โอลิมปิค สเตเดียม มีคนเข้าไปนั่งแค่ราว 1,800 คน ทั้งที่รองรับได้จริงๆ ถึง 74,800 คนแท้ๆ
6.ทีมสำรองโบรุสเซีย ดอร์มุนด์ - ว่าง 79,028 ที่นั่ง
สถิตินี้ต้องถือว่าเกิดขึ้นเพราะความ "บังเอิญ" โดยแท้ เรื่องของเรื่องก็คือเมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ทีมสำรองของโบรุสเซีย ดอร์ตมุนด์ ต้องเล่นเกมเหย้าพบกับ วัปแปร์ทาล ในเกมลีกท้องถิ่น ดิวิชั่น 3 ฝั่งเหนือของเยอรมนี ซึ่งตามปกติจะใช้สนามเก่าหรือไม่ก็สนามซ้อมของสโมสรซึ่งมีอัฒจันทร์จุคนได้สูงสุด 22,000 ที่นั่งเป็นสถานที่แข่งขัน แต่เอาเข้าจริงๆ วันนั้นดันมีลมแรงจัดจนสนามเหล่านี้ที่ไม่ได้เป็นสเตเดียมรับมือไม่ไหว จึงจำเป็นต้องไปใช้สนาม เวสต์ฟาเลนสเตเดียน ความจุ 80,708 ที่นั่งของทีมหลักแทน ดังนั้น เมื่อเจ้าของตั๋วทีมเล็กๆ ทั้งสองรวม 1,680 คน เข้าไปนั่งในนั้น จึงทำให้มันโหรงเหรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ
5.ทอร์ปีโด มอสโก - ว่างกว่า 80,000 ที่นั่ง
อันนี้เป็นประสบการณ์ตรงจากแฟนบอลชาวรัสเซียคนหนึ่งซึ่งเล่าว่า สนาม ลุซนิกี้ สเตเดียม ของสโมสรอันเป็นที่รักของเขาจุคนได้มากถึง 84,000 เศษๆ แต่ปรากฏว่า 2 ฤดูกาลที่ผ่านมา กลับมีแฟนบอลยอมเสียงตังค์เข้าไปนั่งดูในสนามเพียงแค่ราว 3,000-4,000 คน ไม่สมกับความยิ่งใหญ่ของสนามเลยแม้แต่นิดเดียว
4.อิสตันบูล บีบีเอส - ว่างกว่า 81,000 ที่นั่ง
เมื่อวันที่ 9 ธันวาคมปีที่แล้ว ในเกมซุปเปอร์ลีกของตุรกี ระหว่างทีมอิสตันบูล บีบีเอส เจ้าถิ่น กับ เกนเคลอร์เบอร์ลิกี้ ที่สนาม อตาเติร์ก โอลิมปิค สเตเดียม แฟนบอลคนหนึ่งซึ่งฟังถ่ายทอดสดทางวิทยุบอกว่า เขาอดเกาหัวแกรกไม่ได้ตอนคนพากย์บอกว่าจากความจุสนาม 81,283 ที่นั่ง เขาเห็นคนนั่งอยู่แค่ 6 คนเท่านั้น! เอาเข้าจริงๆ จากรูปที่นำมาเป็นหลักฐาน นับแฟนบอลในภาพได้ประมาณ 200 กว่าคน แต่นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะทำให้สโมสรเล็กๆ จากตุรกีติดอันดับสูงๆ (ที่ไม่ค่อยน่าภูมิใจ) นี้
3.ลีดส์ ยูไนเต็ด กับ สตุ๊ทการ์ท - ว่างกว่า 90,000 ที่นั่ง
หลายคนอาจสงสัยว่า ทั้งที่อันดับอื่นๆ เขามีชื่อทีมที่เป็นเจ้าของสถิติแค่ทีมเดียว แต่ไหงในอันดับนี้ถึงมีติดโผมาทีเดียว 2 ทีม เรื่องมีอยู่ว่า ในศึกแชมเปี้ยนส์ลีก รอบแรก นัดที่สอง ระหว่างทั้ง 2 ทีม เมื่อปี 1992 ทีมสตุ๊ทการ์ทส่งผู้เล่นที่คุณสมบัติผิดกฎลงสนาม ทำให้ยูฟ่าปรับสตุ๊ทการ์ทแพ้ในเกมนั้น ทำให้รวมผล 2 นัด 2 ทีมเสมอกัน 4-4 ต้องเตะเพลย์ออฟกัน และยูฟ่าเลือกสนามกลางอย่าง คัมป์นู ของ บาร์เซโลน่า เป็นสังเวียนเตะ โดยมีแฟนบอลเข้าชมประมาณ 7,400 คน เนื่องด้วยตอนนั้นคัมป์นูยังไม่ได้ปรับอัฒจันทร์ให้เป็นที่นั่งทั้งหมดจึงไม่สามารถระบุความจุที่แน่นอนได้ คะเนว่าน่าจะเฉียดๆ แสน ซึ่งหมายความว่าที่ว่างในวันนั้นจะต้องมี 90,000 ที่นั่งเป็นอย่างน้อยแน่ๆ
2.เนคาซ่า - ว่างกว่า 118,000 ที่นั่ง
เนื่องด้วยสนามฟุตบอลหลายแห่งในทวีปอเมริกาใต้มีขนาดค่อนข้างใหญ่ และบางที่จุผู้ชมได้เป็นตัวเลขถึง 6 หลัก จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจถ้าวันนึงสนามมันจะว่างเป็นหลักแสนขึ้นมา! เช่นที่สนาม แอซเทก้า สเตเดียม ความจุ 120,000 ที่นั่งของสโมสรเนคาซ่าในเม็กซิโก ซึ่งถ้าวันไหนทีมนี้เกิดเจอโปรแกรมแข่งขันนัดกลางสัปดาห์ กับสโมสรไกลปืนเที่ยงขึ้นมา จะนับ "ฝูงชน" ได้อย่างเก่งก็แค่ 2,000 คน เป็นหย่อมเล็กๆ บนอัฒจันทร์เท่านั้นเอง
1.เธมส์ แอสโซซิเอชั่น เอฟซี - ว่าง 119,531 ที่นั่ง
สถิตินี้ต้องย้อนหลังไปไกลถึงเดือนธันวาคม ปี 1930 กับสโมสรที่แม้แต่ชาวอังกฤษเองยังต้องขอให้ทวนซ้ำ เพราะชื่อไม่คุ้นหูแม้แต่นิดเดียว เท้าความกันสักนิดว่า เธมส์ แอสโซซิเอชั่น เอฟซี นั้น กำเนิดขึ้นมาในปี 1928 โดยเจ้าของสนาม เวสต์แฮม สเตเดียม (ซึ่งใช้แข่งรถหรือแข่งวิ่งสุนัข) ด้วยวัตถุประสงค์หลักเพื่อหารายได้เสริม แต่เธมส์ก็ทำผลงานในลีกท้องถิ่นได้ไม่เข้าตานัก หลังปิดฉากเป็นอันดับบ๊วยของลีกในฤดูกาล 1931-1932 เธมส์ก็หายไปจากสารบบลูกหนังเมืองผู้ดีทันที แต่ก่อนหน้าจะหายไป พวกเขาก็สร้างสถิติเกมลีกที่มีผู้ชมน้อยนิดที่สุดไว้ด้วยตัวเลข 469 คน ในนัดชนะ ลูตัน 1-0 แต่เนื่องจากสนามเวสต์แฮม สเตเดียม ไม่ได้ระบุความจุที่ชัดเจนเอาไว้ จึงมีการคะเนจำนวนที่นั่งและที่ยืนกันไปต่างๆ นานาระหว่าง 52,000-120,000 ซึ่งการ์เดี้ยนขอเลือกอย่างหลังให้เข้ากับสถิติ "ที่สุด" ของวันนี้นั่นเอง!