แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สุดยอดสโมสรที่รวยที่สุดในโลก
มีคำถามว่า ทำไมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดถึงกลายเป็นสโมสรฟุตบอลที่รวยที่สุดในโลก...คำตอบก็คือ นอกจากผลงานความสำเร็จของทีมตลอดระยะเวลากว่าทศวรรษที่ผ่านมา กลยุทธ์การทำมาร์เก็ตติ้งของทีม ถือเป็นโมเดลที่หลายๆ สโมสรฟุตบอลทั่วโลก ต่างพยายามเจริญรอยตามกัน
การตลาดสร้างความยิ่งใหญ่
สโมสรแมนฯยู ครองอันดับรวยที่สุดในโลกติดต่อมา 8 ปี เพิ่งจะเสียแชมป์ ให้ รีล มาดริด จากสเปน เมื่อปี 2005 เพียงปีเดียว ได้กลับมาทวงคืนแชมป์ได้ในปี 2006 โดยวัดจากมูลค่าสโมสรมีมากถึง1,453 เหรียญสหรัฐ หรือ 4.6 หมื่นล้านบาท แซงรีล แมดริดที่มีมูลค่า 1,036 ล้านเหรียญฯไปอย่างขาดลอย โดยแมนยูฯสามารถทำรายได้ 310 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 1 หมื่นล้านบาท
ความรวยแบบก้าวกระโดดของแมนฯยูเริ่มขึ้นเมื่อ 17 ปีก่อน เปิดฉากด้วยการนำสโมสรเข้าตลาดหุ้นเป็นแห่งแรกในอังกฤษเมื่อปี 1991 ทำให้สามารถระดมทุนได้มาก จากนั้นจึงแตกไลน์ธุรกิจอื่นๆ ที่ใช้ประโยชน์จากแบรนด์ความเป็นปิศาจแดง หรือที่ทั่วโลกเรียกว่า พวก Red Devil ที่โยงกับกลุ่มแฟนคลับนับล้าน เช่นธุรกิจบัตรเช่าซื้อผ่อนสินค้า Man U. Leasing ทำเงินจากดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม
ในปี 1998 การขับเคลื่อนการผลิตสื่อมีเดียของสโมสร ด้วยการเปิดธุรกิจเคเบิลทีวี 24 ชั่วโมงคือ MUTV สื่อเต็มรูปแบบทั้งในอังกฤษและยิงขึ้นดาวเทียมไปทั่วโลก ได้ทั้งเงินจากโฆษณาและได้ทั้งสร้างแบรนด์ให้แกร่งขึ้นอีกด้วยการถ่ายทอดสด เทปการแข่งขันเก่าๆ ตำนานซูเปอร์สตาร์ ชีวิตนักเตะดังปัจจุบัน ฯลฯ
โมเดลการขยายตลาดของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด นับเป็นทีมแรกๆ ที่ขยายตลาดอย่างจริงจังไปทั่วโลก เปิดหน้าร้านขายเสื้อ หมวก ถ้วย พวงกุญแจ เทปการแข่งขัน ไปทั่วโลกโดยเฉพาะอเมริกาและเอเชีย เช่นในอเมริกานั้นก็ไปร่วมดีลกับทีมเบสบอลยักษ์ใหญ่ Newyork Yankees ในปี 2001 ที่นอกจากจะแบ่งข้อมูลการตลาดกับรายชื่อสมาชิกกัน ยังแบ่งปันสปอนเซอร์ให้กันเพื่อผลทางการโฆษณาที่กว้างขึ้นและแน่นอนว่าเก็บเงินจากเอเจนซี่หรือเจ้าของสินค้าได้มากขึ้นด้วย
วิธีการบุกตลาดโลกสร้างรายได้ที่ผ่านมา ล้วนเป็นผลงานของ ปีเตอร์ เคนยอน ประธานบริหารคนเก่าของแมนยูฯที่ทำให้ โรมัน อับราโมวิช ทุ่มดึงตัวไปบริหารเชลซีเมื่อปี 2004 ก็เพราะหวังจะ รวยอินเตอร์ ตามรอยแมนฯยูบ้างนั่นเอง
นอกจากนี้ปัจจัยสำคัญคือแมนฯยูนั้นมีสนามที่ใหญ่ที่สุด จุคนได้มากที่สุดในพรีเมียร์ลีกก็คือ สนาม Old Trafford ซึ่งล่าสุดจุได้ 76,000 แล้ว ซึ่งการขยายครั้งล่าสุดในปี 2006 นั้นต่อเติมไปอีก 8 พันที่นั่ง และหนึ่งในสามเป็นที่นั่งชั้นระดับ Executive ที่แพงระยับสำหรับผู้ชมระดับบน เรียกว่าสร้างรายได้ให้กับสโมสรมากมายมหาศาล
การพัฒนาสนามฟุตบอล เป็นกลยุทธ์สำคัญของแมนฯยู จึงมีแผนการต่อเติมขยายสนามแทบจะทุกปี เพราะรายได้สัดส่วนมากที่สุดลำดับแรกๆ ก็คือรายได้ค่าตั๋ว และเป็นตัวกำหนดบรรยากาศในสนามว่าจะมันส์หรือจะกร่อยด้วย
อย่างไรก็ดี จะไปไม่ถึงเป้าหมายเลย ถ้าทีมไม่มีผลงานที่โดดเด่นในสนาม พร้อมๆ กับการก่อเกิดซูเปอร์สตาร์ของทีม ตั้งแต่ปี 1991 แมนฯยู ประเดิมเส้นทางความสำเร็จด้วยแชมป์บอลถ้วยยุโรป Cup Winner's Cup ในปี 1992 จากนั้นก็ก้าวขึ้นไปเป็นแชมป์พรีเมียร์ลีกในยุคของพ่อมด ไรอัน กิ๊กส์ (Ryan Giggs) และเอริค คอนโตนา (Eric Cantona) สตาร์ฝรั่งเศสที่โด่งดังและมีเสน่ห์
ก่อนที่จะมาถึงยุคของเดวิด เบคแฮม (David Beckham) ที่พาแมนฯยูดังสุดๆ ไปทั่วโลกและขยายตลาดไปสู่กลุ่มแฟนบอลสาวๆ และทีมก็ก้าวถึงจุดสุดยอดได้ 3 แชมป์หรือ Tripple Champ ในปี 1999 คือแชมป์พรีเมียร์ลีก แชมป์เอฟเอคัพ และแชมป์ยุโรป ยูฟ่าแชมเปี้ยนลีก ในปีเดียว และจนถึงทุกวันนี้แมนยูก็เป็นหนึ่งใน เต็งแชมป์ ทุกถ้วยและทุกปีกับสตาร์รุ่นใหม่อย่าง เวย์น รูนี่ ย์ และ คริสเตียโน โรนัลโด้
แมนฯยูนั้นก้าวขึ้นมาโดดเด่นได้ถูกจังหวะ คือหลังปี 1991 ซึ่งเป็นยุคที่ธุรกิจฟุตบอลขยายตัวแบบก้าวกระโดดและไปกว้างทั่วโลก ในขณะที่ลิเวอร์พูลที่ยิ่งใหญ่มาก่อนและนานกว่าคือในทศวรรษที่ 70 และ 80 นั้น ฟุตบอลยังอยู่แค่ในโลกของฟุตบอลยังไม่เป็นโลกธุรกิจเต็มตัว
ฝ่าแรงต้านเทกโอเวอร์...
มาสู่ยุคเปลี่ยนมือของแมนฯยู ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ในหลายๆ ดีลการขายสโมสร ทุนใหม่ที่เข้ามาได้เข้าช่วยแก้ปัญหาหรือพัฒนาในสิ่งที่ทีมกำลังขาด เช่นมาล้างหนี้ มาสร้างสนามใหม่ ให้เงินซื้อดารานักเตะดัง แฟนๆ จึงเปิดใจยอมรับ แต่กับทีมที่เพียบพร้อมอยู่แล้วและฐานะการเงินก็ไร้ปัญหาอย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เมื่อมัลคอล์ม เกลเซอร์ เศรษฐีอเมริกันเข้ามาซื้อกิจการในปี 2005 จึงต้องฝ่าแรงต่อต้านจากแฟนๆ ที่รุนแรง แต่สุดท้ายผลงานในสนามก็ช่วยให้เขาพ้นมรสุมนั้นมาได้
การเข้าซื้อทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดของเศรษฐีอเมริกันเมื่อสองปีก่อนนั้น สื่อ นักวิเคราะห์ และเหล่าแฟนบอลต่างพากันมองว่า แม้เขาจะเป็นเจ้าของทีมอเมริกันฟุตบอลเทมป้าเบย์ บัคคาเนียร์ในสหรัฐฯมานาน แต่ก็ไม่เคยรู้อะไรเกี่ยวกับฟุตบอล ไม่มีแผนพัฒนาทีมแมนฯยู จึงสรุปกันว่าเกลเซอร์เข้ามาเพื่อหากำไรจากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดล้วนๆ และจะไม่สนใจความรู้สึกแฟนบอลและไม่นำพาต่อประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของสโมสร
ที่สำคัญ เกลเซอร์ไม่ได้ใช้เงินของตัวเองทั้งหมด เขากู้เงินในนามส่วนตัวมาไม่น้อยเพื่อซื้อสโมสรจนได้เป็นหุ้นใหญ่หนึ่งเดียว แล้วหลังจากนั้นก็โอนหนี้ดังกล่าวเข้ามาเป็นภาระของแมนฯยูแทน
ความกลัวต่างๆ ได้ถูกแจกแจงเป็นหลายประเด็นลงในสื่อต่างๆ เช่นกลัวว่าตั๋วจะขึ้นราคา, กลัวว่าชื่อสนามจะถูกเปลี่ยนจาก Old Trafford เป็น Nike Stadium เพื่อหาเงินให้ได้มากขึ้น, กลัวสโมสรจะขายนักฟุตบอลดีๆ ออกไปหมดเพื่อล้างหนี้ที่โอนมาจากหนี้ส่วนตัวของเกลเซอร์ ฯลฯ
เกลเซอร์ไม่สนใจกระแสประท้วงนัก เขาตั้งลูกชายสองคนเข้ามาบริหารสโมสรต่อไป คือ โจเอล เกลเซอร์ เป็นประธานบริหารโดยมี เอวี เกลเซอร์ ลูกชายอีกคนเป็นผู้ช่วย ซึ่งรูปแบบนี้เองในปีนี้ก็เกิดขึ้นกับอีกสโมสรร่วมเมืองคือแมนเชสเตอร์ซิตี้ ที่มี พานทองแท้ ชินวัตร เป็นประธานบริหารคนใหม่ และมีพิณทองทา ชินวัตร เป็นเบอร์รองคอยช่วยงาน
กระแสประท้วงช่วงปี 2005 ถูกแสดงออกมาด้วยม็อบ การเผาตั๋วปีหน้าสนาม การชูป้ายในสนาม ร้อนถึงผู้จัดการทีมจอมเก๋าอย่าง เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ต้องออกมาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยโดยการันตีกับแฟนบอลว่าเขาเชื่อมั่นในการบริหารของครอบครัวเกลเซอร์ ซึ่งในที่สุดเกลเซอร์แทบไม่ได้เปลี่ยนแปลงทีมมากนัก ยกเว้นการขึ้นค่าตั๋วเพียงไม่กี่ % เท่านั้น โดยยกเรื่องในสนามให้เป็นหน้าที่ของเซอร์อเล็กซ์ทั้งหมด
หลังจากนั้นปีกว่า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดก็สร้างผลงานเข้าตาแฟนบอลด้วยฟอร์มการเล่นที่ดุดัน นักฟุตบอลรุ่นใหม่ที่ลีลาการเล่นเร้าใจอย่าง จอมสับขาหลอก คริสเตียโน่ โรนัลโด้ , ไอ้หนูมหัศจรรย์ เวย์น รูนี่ย์ และกองกลางจอมขยันจากเกาหลีใต้ ปาร์ค จีซอง ที่นอกจากจะเล่นดี ยังสร้างรายได้จากยอดขายเสื้อทีมและสินค้าแมนฯยูทั้งหลายในเกาหลีใต้ได้เป็นกอบเป็นกำ
ทุกวันนี้เสียงต้านจากแฟนบอลเงียบหายไปแล้ว เมื่อแมนฯยู ทำผลงานได้ถึงแชมป์พรีเมียร์ลีกและเกือบได้เข้าชิงแชมป์ยุโรปในยูฟ่าแชมเปี้ยนลีก ชาวเมืองแมนเชสเตอร์ต่างหากันไปสนใจข่าวใหม่ของทีมเสื้อฟ้าร่วมเมืองเดียวกันคือสโมสรแมนเชสเตอร์ซิตี้ ว่าเจ้าของใหม่อย่างทักษิณจะเจอกระแสต้านหรือแรงเชียร์ต่อไปในฤดูกาลนี้
สถิติสูงสุดรายได้ค่าสปอนเซอร์
แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทำสถิติได้เงินจากบริษัทประกัน AIG ในการโฆษณาทั้งบนอกเสื้อและป้ายบนสนามถึง 56.5 ล้านปอนด์ ในสัญญา 4 ปี (2006 ถึง 2010) แบ่งจ่ายปีละ 14.1 ล้านปอนด์ หรือ 987 ล้านบาท ถือเป็นรายได้อย่างมหาศาลทำสถิติสูงสุดในเกาอังกฤษ
นอกจากนี้แมนฯยูยังได้ค่าโฆษณาจาก Nike ให้นักกีฬาและสตาฟฟ์โค้ชใส่ (Official Sportswear) เป็นเงินถึง 302 ล้านปอนด์ ตลอด 13 ปี หรือปีละ 23.2 ล้านปอนด์ หรือ 1,600 ล้านบาทต่อปี เป็นสถิติสูงสุดในโลกกับค่าโฆษณาผ่านชุดกีฬา
Love illusion ความรักลวงตา เพลงที่เข้ากับสังคมonline
Love illusion Version 2คนฟังเยอะ จนต้องมี Version2กันทีเดียว
Smiling to your birthday เพลงเพราะๆ ไว้ส่งอวยพรวันเกิด หรือร้องแทน happybirthday