ทำไม อาร์แซน เวนเกอร์ จึงเป็นอัจฉริยะ?

อาร์แซน เวนเกอร์ ยอดกุนซือชาวฝรั่งเศส ดูเหมือนว่าเขาจะเกิดมาเพื่อคุมทีม อาร์เซน่อล บางทีหลังจากที่เขาอำลาอาชีพกุนซือไปแล้ว เราอาจจะรู้จักเขาในนามของ อาร์เซน่อล เวนเกอร์ (ฮา) ... ไม่มีผู้จัดการทีมคนไหนอีกแล้วในประวัติศาสตร์ของทัพ ปืนใหญ่ ที่จะพาทีมประสบความสำเร็จได้ขนาดนี้ภายใต้งบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด



เดวิด ดีน รองประธานสโมสรในขณะนั้น คงต้องเสียสติอยู่แน่ๆ ถึงได้ค้นพบและคว้าตัววิศวกรไฟฟ้าผู้มีดีกรีการศึกษาระดับปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์ มาสืบทอดตำแหน่งกุนซือแทนที่ บรูซ ริอ็อก ในปี 1996 แต่ผู้ชายคนที่แทบไม่มีใครในเกาะอังกฤษรู้จักเขาเลยในตอนนั้น ได้กลับกลายเป็นอัจฉริยะที่พา อาร์เซน่อล เข้าสู่ช่วงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในประวัติศาสตร์
 

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา อาร์เซน่อล ยังคว้าแชมป์ไม่ได้เลยสักรายการเดียว แต่ในช่วงเดียวกันนี้เองที่ อาร์เซน่อล ได้ย้ายบ้านมายังสนามแห่งใหม่ความจุ 60,000 ที่นั่ง ซึ่งมีผู้ชมเต็มความจุสนามทุกเกม และมียอดจองสมาชิกตั๋วรายปีอีกกว่า 35,000 ราย สโมสรยังเข้ารอบชิงชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ในปี 2006 และยังผ่านเข้ารอบน็อกเอ้าท์ได้ตลอด 7 ฤดูกาลล่าสุด แต่ที่ยอดเยี่ยมกว่านั้นคือ เวนเกอร์ สร้างทีมจากงบประมาณที่มีอย่างจำกัด และยังได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในทีมที่เล่นฟุตบอลสวยงามที่สุดในเกมลูกหนังยุคปัจจุบัน
 

นอกจากผลสัมฤทธิ์ในสนามแล้ว อะไรที่ทำให้ เวนเกอร์ เป็นอัจฉริยะการวางแผนเกมฟุตบอล? คงต้องหยิบยกข้อมูลต่างๆ มาพูดคุยกัน โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ transferleague.co.uk ระบุว่า ระหว่างปี 1992 ถึงปี 2010 หรือช่วงที่ก่อตั้งพรีเมียร์ลีกแล้ว เชลซี ใช้เงินในตลาดนักเตะคิดเป็นมูลค่าสุทธิ (จำนวนเงินที่ใช้ซื้อนักเตะ - จำนวนเงินที่ได้จากการขายนักเตะ) 381 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 1.8 หมื่นล้านบาท (นั่นพอจะเทกโอเวอร์ แบล็คเบิร์น โรเวอร์ส ได้ 8 รอบ) ขณะที่ทีมใหญ่อื่นๆ อย่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้, ลิเวอร์พูล และ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ใช้ไป 428 ล้านปอนด์ (ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท), 188 ล้านปอนด์ (ประมาณ 9 พันล้านบาท) และ 135 ล้านปอนด์ (ประมาณ 6.5 พันล้านบาท) ตามลำดับ
 

อาร์เซน่อล ใช้เงินในตลาดนักเตะช่วงเดียวกันนี้คิดเป็นมูลค่าสุทธิ 35 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1.7 พันล้านบาท) เฉลี่ยแล้วไม่ถึง 2 ล้านปอนด์ (ประมาณ 96 ล้านบาท) ต่อฤดูกาล ซึ่งยังน้อยกว่า แอสตัน วิลล่า, เอฟเวอร์ตัน, ซันเดอร์แลนด์, เบอร์มิ่งแฮม ซิตี้ หรือแม้แต่ เวสต์บรอมวิช อัลเบี้ยน ส่วนคู่อริร่วมกรุงลอนดอนเหนืออย่าง ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ ซื้อขายนักเตะสุทธิไป 192 ล้านปอนด์ (ประมาณ 9.2 พันล้านบาท) แต่พวกเขาเพิ่งได้ผ่านเข้าไปเล่นยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ในฤดูกาลนี้ นอกจากนี้ ถ้านับเฉพาะข้อมูลตั้งแต่ปี 2003 เป็นต้นมา มีเพียงแค่ อาร์เซน่อล, วีแกน แอธเลติก และ แบล็คเบิร์น จากทั้ง 20 ทีมพรีเมียร์ลีกฤดูกาลนี้ ที่มีตัวเลขซื้อขายนักเตะสุทธิเป็นบวก
 

ถ้าลองพิจารณาในแง่ของการใช้จ่ายของผู้จัดการทีมแต่ละคน โชเซ่ มูรินโญ่ ใช้จ่ายในตลาดนักเตะเป็นมูลค่าสุทธิ 134 ล้านปอนด์ (ประมาณ 6.4 พันล้านบาท) ในช่วงที่คุม เชลซี ระหว่างปี 2004-2007 ขณะที่ เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ใช้จ่ายสุทธิไป 135 ล้านปอนด์ (ประมาณ 6.5 พันล้าน) ส่วน เวนเกอร์ ใช้จ่ายสุทธิไปเพียง 25 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1.2 พันล้านบาท) หลายคนอาจมองว่าเงินที่ทั้ง เซอร์ อเล็กซ์ และ มูรินโญ่ ใช้ไปนั้น คุ้มค่าเมื่อเทียบกับความสำเร็จที่ทีมได้มา แต่จากตัวเลขที่ เวนเกอร์ ใช้จ่ายไป เทียบกับผลงานที่เขาทำได้ แชมป์พรีเมียร์ลีก 3 สมัย แชมป์เอฟ เอ คัพ 4 สมัย ในจำนวนนี้เป็นดับเบิ้ลแชมป์ 2 สมัย ก็น่าจะเพียงพอให้ยอมรับกับความสามารถทางการค้าของเขา
 

ต้องยอมรับว่า คู่ปรับตัวฉกาจของ เวนเกอร์ คงหนีไม่พ้น เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ของ แมนฯ ยูไนเต็ด แน่นอนว่าถ้าวัดกันที่จำนวนแชมป์ เซอร์ อเล็กซ์ เหนือกว่าอย่างชัดเจน แต่ถ้ามองในแง่การนำความสำเร็จมาสู่สโมสร เซอร์ อเล็กซ์ ใช้เวลา 7 ปี กว่าจะสามารถพา ยูไนเต็ด คว้าแชมป์ลีกได้ ส่วน เวนเกอร์ พา อาร์เซน่อล คว้าดับเบิ้ลแชมป์ในฤดูกาล 1997-98 หลังจากสโมสรไม่ได้คว้าแชมป์ลีกมานานถึง 7 ปี และฤดูกาลนั้นยังถือเป็นการคุมทีมเต็มฤดูกาลปีแรกของเขาอีกด้วย
 

ถ้ามองในมุมของการซื้อผู้เล่นเสริมทัพ แม้ทัพ ปีศาจแดง จะมีการปั้นผู้เล่นดาวรุ่งอยู่เป็นระยะ ตั้งแต่สมัย ไรอัน กิ๊กส์, พอล สโคลส์, เดวิด เบ็คแฮม จนมาถึงรุ่นล่าสุดอย่าง ดาร์รอน กิ๊บสัน, เฟเดริโก้ มาเคด้า หรือ กาเบรียล โอแบร์กต็อง แต่ บรมกุนซือชาวสกอตต์ มักจะซื้อนักเตะที่ได้รับการยอมรับแล้วมาเสริมทัพอยู่บ่อยครั้งเช่นกัน อย่างเช่น ไมเคิ่ล คาร์ริค, อันโตนิโอ วาเลนเซีย, โอเว่น ฮาร์กรีฟส์, รุด ฟาน นิสเตลรอย, ฮวน เซบาสเตียน เวรอน, ดิมิทาร์ เบอร์บาตอฟ, ริโอ เฟอร์ดินานด์ และ เวย์น รูนี่ย์ ซึ่งแต่ละคนมีค่าตัวไม่ต่ำกว่า 15 ล้านปอนด์ (ประมาณ 720 ล้านบาท) และมีหลายรายที่ไม่ต่ำกว่า 25 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1.2 พันล้านบาท) ขณะที่ อาร์เซน่อล มี อังเดร อาร์ชาวิน เพียงคนเดียวที่มีค่าตัวเกิน 15 ล้านปอนด์
 

ขณะเดียวกัน แมนฯ ยูไนเต็ด ยังมีนักเตะค่าตัวแพงอย่าง เวรอน, ดีเอโก้ ฟอร์ลัน และ หลุยส์ ซาฮา ที่มีชีวิตค้าแข้งที่ดีขึ้นหลังย้ายออกจากถิ่นโอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ไปแล้ว ขณะที่ฝั่ง อาร์เซน่อล แทบไม่มีนักเตะคนไหนเลยที่มีชีวิตค้าแข้งดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หลังย้ายออกจากทีมของ เวนเกอร์ ไป อาจมีแค่บางคนเท่านั้นที่ไปได้ดีกับทีมใหญ่บางทีม คนส่วนใหญ่คงให้การยอมรับว่าสายตาการมองศักยภาพนักเตะของ เวนเกอร์ นั้นไม่เป็นสองรองใคร อาจมีบ้างที่ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร อย่าง ฟรานซิส เจฟเฟอร์ส หรือ จุนอิจิ อินาโมโตะ แต่ก็ถือว่าไม่ได้เสียหายมากนักกับงบประมาณที่จ่ายไป
 

การบริหารจัดการทีมของ อาร์แซน เวนเกอร์ ทำให้ อาร์เซน่อล ขยับขึ้นมาอยู่ใน 5 อันดับแรกของทีมที่มีรายได้ต่อปีสูงที่สุดของโลกอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แถมยังมีฐานแฟนบอลขยายกว้างขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงกำไรต่อปีที่สูงกว่า 50 ล้านปอนด์ (ประมาณ 2.4 พันล้านบาท) และยังมีกลุ่มนักเตะอนาคตไกลที่มากพรสวรรค์และกระหายชัยชนะอยู่มากมาย ทำให้อนาคตของ เดอะ กันเนอร์ส ยังคงสดใสไปอีกหลายปี และเป้าหมายที่จะกลับมาคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกอีกครั้งคงอยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม และ เวนเกอร์ คงจะเป็นคนที่อาภัพที่สุดคนหนึ่งที่วงการลูกหนังเคยพบเจอมาแน่นอน หากเขาไม่สามารถชูถ้วย ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ได้ในขณะที่คุม อาร์เซน่อล
 

ยอดกุนซือเฟร้นช์แมน คงไม่ได้อยู่คุม อาร์เซน่อล ไปอีกเป็น 10 ปี แต่เชื่อเหลือเกินว่าความสำเร็จของสโมสรในยุคต่อๆ ไป คงต้องขอบคุณรากฐานที่กุนซืออัจฉริยะคนนี้ได้วางไว้ และตัวเขาเองก็เชื่อมาตลอดว่าเขาได้พา อาร์เซน่อล เดินมาถูกทางแล้ว เชื่อว่าทีมจะยิ่งใหญ่ได้ด้วยการเล่นฟุตบอลที่สวยงามโดยไม่ต้องทุ่มเงินมหาศาล เชื่อในความฝันท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และที่สำคัญที่สุดคือการพัฒนานักฟุตบอลให้มีพรสวรรค์ถึงขีดสุดตลอดเส้นทางที่ทอดยาวไปสู่อนาคต



     บ่อน้ำร้อน


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์