สร้างนักเตะเยาวชน ปัญหาใหญ่บอลไทย







วันนี้ขอเขียนถึงเยาวชนอันเป็นรากฐานของวงการฟุตบอลอาชีพครับ แม้ว่าต้นแบบบอลอาชีพของโลกอย่างยุโรปมุ่งเน้นสร้างนักเตะเยาวชนเพื่อป้อนสู่ทีมชุดใหญ่และถือว่าเป็นการผลิตนักฟุตบอลเพื่อให้เป็นฐานรองรับบอลอาชีพของพวกเขามาตลอด แต่เชื่อมั้ยครับว่าแม้จะทำขนาดนี้ก็ยังมีปัญหาเมื่อโลกฟุตบอลเกิดภาวะใหม่อันเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นตลอด 15 ปีที่ผ่านมานั่นคือ




ทีมใหญ่เน้น ซื้อมากกว่าสร้าง ดังนั้นนักเตะเยาวชนของหลายสโมสรจึงยากที่จะสอดแทรกตัวเองขึ้นมาเล่นได้ มองในแง่การแข่งขัน ถ้าดีจริง ก็สามารถแย่งตำแหน่งชุดใหญ่ได้ ถ้าไม่ก็ต้องย้ายออกไป มันเป็นหลักการธรรมชาติ เพียงแต่ว่าเมื่อมีการประเมินผลวงการฟุตบอลตัวเองตลอดเวลา




ปัญหาเกิดขึ้นกับวงการมากกว่า คงมีทีมหรือสองทีมที่มีเงินถุงเงินถังเท่านั้นที่มีโอกาสประสบความสำเร็จ ส่วนทีมส่วนมากล้มเหลวและแย่กว่านั้นกลับพบว่าหนี้สินพะรุงพะรังจากความพยายามเห็น ช้างขี้ ก็ขี้ตามช้าง เพราะหากไม่ซื้อมัวแต่ใช้เด็กก็ไม่ทันชาวบ้านเขา สรุปคือผลเสียจากการทุ่มซื้อมีมากกว่าการสร้าง และมันไม่ใช่แค่ในอังกฤษเท่านั้น เป็นเหมือนกันทุกประเทศ ทีมขนาดเล็กตายสนิทครับ ใครจะกล้าสร้างนักเตะขึ้นมาเพื่อให้เล่นทีมชุดใหญ่




เมื่อเล็งเห็นจุดนี้สหพันธ์ฟุตบอลยุโรปหรือว่า ยูฟ่า สรุปออกมาเป็น 2 ประเด็นใหญ่คือ




1 การซื้อทำให้เพดานค่าตัวและค่าจ้างสูงขึ้น ต่อมาเกิดภาวะหนี้สิน หนี้เสีย หลายทีมถูกตัดคะแนนเพราะ งบการเงินไม่ถึงเกณฑ์ หลายทีมกำลังจะถูกยุบสโมสรทิ้ง หลายทีมตกชั้นจากลีกสูงสุดไปเล่นระดับต่ำ เพราะนอกจากโดนตัดแต้มแล้วยังต้องขายนักเตะทิ้งยกทีม




2 นักเตะเยาวชนในชาติตัวเองไม่สามารถสอดแทรกขึ้นมาเล่นทีมชุดใหญ่ได้ สองปัญหาหลักทำให้วงการฟุตบอลได้รับผลกระทบ ชัดเจนมากขึ้นทุกวัน เราจะอ่านข่าวเห็นโดยตลอดว่ามันเกิดปัญหาจริงๆ หนี้สินบานตะไท โดยเฉพาะบอลอังกฤษนั้นชัดมาก ปัญหาข้อสองถูกวิเคราะห์แล้วเห็นตรงกันว่าวันนี้เด็กอังกฤษแทบไม่มีแจ้งเกิดบนเวทีพรีเมียร์ลีก มีแต่สตาร์ต่างชาติเดินชนกันให้ว่อนไปหมด หาทีมอย่าง แมนฯ ยูฯ, สเปอร์ส, วิลล่า ที่ใช้นักเตะอังกฤษเป็นแกนได้ยากครับ ผลคือทีมชาติอังกฤษมีนักเตะคุณภาพน้อยลงทุกวันทุกวัน




ปีนี้เป็นปีแรกที่มีการนำกฎใหม่ของพรีเมียร์ลีกคือให้ส่งรายชื่อได้ 25 คนเท่านั้นในทีมชุดใหญ่โดย 8 คนต้องผ่านการฝึกฟุตบอลในสมาคมฟุตบอลอังกฤษและเวลส์ อย่างน้อย 3 ปีก่อนถึงวันเกิดครบ 21 ปี อันเป็นการส่งเสริมให้นำเด็กฝึกหรือคนที่เล่นบอลในอังกฤษเลื่อนขึ้นมาเล่น จำกัดการซื้อลงเชื่อว่าอีก 3 ปีข้างหน้าทีมจะทุ่มเงินน้อยลงและมีเด็กเยาวชนนักเตะสอดแทรกมากขึ้น....




ปัญหาเหล่านี้ควรเป็นกรณีศึกษาให้วงการบอลไทยได้เรียนรู้ อันนี้ขึ้นอยู่กับผู้เกี่ยวข้องครับ ว่าติดตาม ศึกษาและมีประสบการณ์กับมันมากน้อยขนาดไหน วันนี้ผมขอเสนอกรณีศึกษาเกี่ยวกับการสร้างทีมเยาวชนอันเป็นผลผลิตของวงการฟุตบอลอาชีพมาฝากกันเพราะมันเกี่ยวข้องโดยตรงแล้วเวลานี้




คิดง่ายๆว่าสโมสรต้องมีทีมเยาวชน นำเม็ดเงินที่เข้าสโมสรลงไปใช้ในกิจกรรมนี้ เพื่อสร้างนักเตะขึ้นมาใช้งานครับ การลงทุนด้วยทีมเยาวชนเห็นผลช้าแต่เก็บเกี่ยวใช้ประโยชน์ได้ตลอด สำคัญต้องรอเวลาเพาะบ่ม การซื้อทำง่ายถ้าคุณมีเงิน แต่นั่นหมายถึงคุณต้องใช้เงินเยอะ




คิดตัวอย่างง่ายๆ ไมเคิ่ล เบิร์น ราคา 3 ล้านบาท เงินส่วนนี้คุณนำไปใช้พัฒนาทีมเยาวชนได้ facility หรือสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งสนาม, ที่พัก, อาหาร, เงินค่าจ้างเด็กเยาวชน ในวงเงิน 3 ล้านบาท ใช้กับเด็กได้เท่าไหร่




ยกตัวอย่างทีมใหญ่ในยุโรปจะมีทีมเยาวชนสองชุดคือ 16 และ 18 ปีสองชุดนี้ถูกผ่านการฝึกมาตั้งแต่อายุ 12-13 ปี จากนั้นก็ผลักดันตามกระบวนการจนถึงทีมชุดใหญ่ กลุ่มนี้จะทำให้ได้เด็กพรสวรรค์แบบว่าอายุ 16-17 เล่นทีมเยาวชนได้แว่บเดียวถูกโค้ชเรียกมาเล่นทีมชุดใหญ่




หลายคนแจ้งเกิดทันทีอย่าง ไรอัน กิ๊กส์ และ ไมเคิ่ล โอเว่น เป็นตัวอย่างชัดเจน ทะลุขึ้นมาเล่นทีมชุดใหญ่ได้เลย การมีเด็กท้องถิ่น มีนักเตะเยาวชนถูกสร้างและผลักดันขึ้นมานอกเหนือจาก ประหยัด เงิน ต้นทุนในการทำทีมบอลแล้ว สิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ความภูมิใจ ที่เกิดขึ้นในทีมระหว่างแฟนบอล, ทีม จะก่อให้เกิดความรู้สึกผูกพันเหนียวแน่น มันมีพลังแฝงที่จับต้องไม่ได้ มีคุณค่าและมูลค่า เหมือนลูกหลานของเราได้โอกาสเล่นบอล...อาชีพ ซึ่งแฟนบอลเมืองนอกเขาก็มีความรู้สึก ภูมิใจ ผูกพัน กับทีมเป็นพื้นฐานแบบนั้น


อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าสโมสรฟุตบอลเมืองไทยยังไม่ค่อยเห็นความสำคัญสักเท่าไหร่...อีกทั้งรัฐบาลเองก็ไม่เห็นความสำคัญครับ เพราะการสร้างนักเตะเยาวชนหมายความว่า นักเตะเยาวชนอายุตั้งแต่ 12-17 ก่อนเซ็นสัญญาอาชีพตามกฎหมายแรงงานยุโรป (18 ปีทำงานได้แล้ว) จะต้องมุ่งเน้นในการซ้อมบอลเป็นหลักครับ




หมายถึงเขาจะไม่ได้เรียนหนังสือเป็นเรื่องเป็นราวในโรงเรียนทั้ง สามัญศึกษา, อาชีวะ, ช่างกล อะไรพวกนี้ ครับ พวกเขาซ้อมบอลสัปดาห์ละ 3-4 วัน แข่งหนึ่งวัน พักหนึ่งวัน ด้วยต้องการให้มีสมาธิในการฝึกบอลอย่างเต็มที่ เห็นมั้ยครับ...แตกต่างจากบ้านเราสิ้นเชิงครับ




เด็กบ้านเราต้องเรียนหนังสือทั้งวันแล้วเย็นไปซ้อม....อย่างมาก 2 ชั่วโมง ลองคิดดูในหลักปฏิบัติว่ามันจะได้ผลอะไรขนาดไหนครับ เมื่อเทียบกับเด็กที่เอาแต่ซ้อมบอลตลอดเกือบทุกวัน  เด็กไทยที่เล่นกีฬาต้องบอกว่าชีวิตเหมือนตกนรกครับ ไหนจะอ่านหนังสือ ทำการบ้าน โน่นนี่นั่น....รวมทั้งซ้อมบอล, แข่งบอล จบข่าวครับ




ถามว่าแล้วเด็กฝรั่งไม่เรียนหนังสือหรือไง คำตอบมีอยู่แล้วครับเพราะรัฐบาลเขามองเห็นปัญหานี้มานานนับตั้งแต่มีบอลอาชีพเมื่อ 100 ปีก่อน คือนักเตะอายุระหว่าง 12-17 เป็นช่วง 5 ปี คือเทียบบ้านเรา ม.1 ถึง ม.6 ฝึกฟุตบอลเป็นหลักก็จริง แต่ฝึกวันละสองเวลาบ้างเวลาเดียวบ้าง แต่ตลอดสัปดาห์จะมีครูพิเศษที่ต้องมีใบวิชาชีพครู ผ่านการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการมาสอน วิชาหลักๆคณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, สังคม, อะไรต่างๆตามที่กระทรวงกำหนดให้เป็นจำนวนชั่วโมง




ถึงจุดสำคัญของชีวิตคือเมืออายุ 18 เด็กเหล่านี้ได้ชั่วโมงเรียนหรือเป็นหน่วยกิตตามกฎกระทรวงศึกษาอยู่แล้ว ถ้าเอาดีทางฟุตบอลไม่ได้....เห็นแล้วไปต่อไม่ไหว อาชีพนี้ไม่เหมาะกับเขา เด็กเยาวชนเหล่านี้สามารถเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยได้ ตามที่ตัวเองต้องการ




แน่นอนครับ...เด็กเหล่านี้คงไม่เลือกวิศวะหรือหมอหรอกครับ เพราะเขาไม่ได้เบนเข็มมาแบบนี้ตั้งแต่แรก ไม่ได้เน้น แต่เขาเรียนอะไรก็ได้ที่เหมาะกับความถนัดตัวเอง มหาวิทยาลัยในอังกฤษในยุโรปมีเยอะแยะครับ มีคอร์สต่างๆ มากมายทั้ง 3 เดือน 6 เดือนจนถึงปริญญาตรีครับ เด็กอายุ 18 ที่ยอมแพ้กับการเล่นบอลอาชีพ จะไปเรียนหนังสือในมหาวิทยาลัยแล้วก็ประกอบอาชีพตัวเองครับ




ถ้าวงการฟุตบอลอาชีพของเราอยากพัฒนาด้วยการสร้างผลผลิตใหม่ๆคือนักเตะเยาวชน ผมว่ากระทรวงศึกษาธิการต้องเข้ามามีส่วนร่วมโดยรัฐบาลต้องมีนโยบายนี้ผ่านลงมาที่กระทรวงด้วย หรือกระทรวงทำเรื่องขึ้นไป ประสานกันระหว่าง กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ดูว่า เด็กช่วง 5 ปีนี้จะจัดชั่วโมงเรียนและหน่วยกิตอะไรกันยังไงเพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับการสร้างนักเตะเยาวชน ที่จะต้องได้เรียนหนังสือด้วยนะครับ คิดไม่ออก..ก็ไปลอกฝรั่งมาดูแล้วปรับใช้ให้เข้ากับสังคมไทย




เฮ้อ...แค่ผมเขียนถีงเรื่องนี้จากประสบการณ์งานข่าวที่อังกฤษและในยุโรป ซึ่งผมตระเวนกับทีมสยามกีฬาทีวีตลอด 15 ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องยากและซับซ้อนมากครับ




คุณคิดว่าการสร้างบอลอาชีพและให้มีอาชีพเล่นฟุตบอลเนี่ย...มันทำกันง่ายๆอย่างนั้นหรือครับ อย่างที่ผมเคยเขียนไปนะครับ ส่งทีมบอลแข่ง ก็แบบหนึ่ง บริหารทีมฟุตบอล อันเป็นรูปแบบบริษัทจำกัดก็เป็นเรื่องที่ใหญ่กว่า แล้วการสร้างนักเตะเยาวชนอันเป็นฐานที่มั่นในการผลิตบุคลากรเพื่อวงการฟุตบอลในอนาคต


มันก็เป็นเรื่องใหญ่อีกแบบหนึ่งมากๆ ไม่ใช่แค่ทีมบอลเท่านั้น ทุกฝ่ายที่สำคัญในสังคมต้องมีส่วนร่วมครับ เขียนเพื่อกระตุ้นให้คิดกันครับ ไม่ใช่วิจารณ์ส่งเดช โดยไม่มีข้อมูลอะไรเลย ผมไม่ชอบใช้ความรู้สึกในการเขียนวิจารณ์ มันต้องมีข้อมูล, ความรู้ และ ประสบการณ์




ผมอยากเห็นเด็กไทยฝึกฟุตบอล มีทีมเยาวชนนักเตะเพื่ออนาคตของฟุตบอลอาชีพ คุณไม่มีทางปฏิเสธเรื่องนี้ได้และหากเรายังกั๊ก ลักลั่น เรียนเป็นหลักซ้อมหนักเป็นรอง เราก็จะได้นักเตะเยาวชนอย่างไม่สมบูรณ์ตามหลักการพัฒนาบอลอาชีพ




เรื่องนี้ซับซ้อนแน่...เพราะผู้ปกครองใครอยากเห็นลูกตัวเองเอาแต่ซ้อมบอลเป็นหลักแล้วเรียนเป็นรอง ใช้นับชั่วโมงเพื่อให้ครบตามเกณฑ์หากวันหนึ่งเล่นบอลไม่ได้ดีแล้วอยากกลับไปเรียน ผู้ปกครองส่วนใหญ่คงไม่เอาด้วยแน่ หากจะให้เอาแต่ซ้อมบอลโดยเรียนหนังสือไม่มาก




ซึ่งผมก็ไม่อยากบอกนะครับว่า การศึกษา ของไทยผิดพลาดต้องเยอะแยะ..เรียนทั้งวัน, เรียนพิเศษก็เรียน ไม่อยากจะบอกว่ามีอะไรดีขึ้นมาบ้าง...ก็เห็นยกพวกตีกัน ไล่กระทืบกัน เอาแต่เล่นเกม, ทำอะไรไร้สาระ อย่างไม่เป็นชิ้นเป็นอัน




เรื่องนี้มันไม่ใช่แค่บอลนะครับ มันเป็นสังคมเป็นชีวิต...เพียงแค่คิดว่าจะทำมันก็มีอุปสรรคแล้วใช่มั้ยครับ แต่ถ้าไม่ทลายมัน เราก็จะไม่พบกับเส้นทางที่ก้าวหน้า ยังเชื่อว่าเราทำได้ครับ...แต่ต้องลงมือทำให้จริงจัง ทุกฝ่ายเลยครับ 


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์