โค้ชลูกหนังกับปฏิบัติการ น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า

ขึ้นชื่อว่า "กีฬา" แม้จะแตกต่างในรายละเอียดอย่างไร ย่อมต้องมีความละม้ายคล้ายกันในบางประเด็น

โดยเฉพาะในเรื่องพื้นฐานอย่างการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของร่างกาย หลักโภชนาการ การนำวิทยาศาสตร์การกีฬาเข้ามาใช้ในการฝึกซ้อม และอื่นๆ อีกมากมาย

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากสตาฟฟ์โค้ชหรือทีมงานของทีมใดทีมหนึ่งจะไป "ดูงาน" หรือขอความรู้และคำแนะนำจากทีมอื่นๆ แม้จะข้ามชนิดกีฬากัน เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการสร้างทีมของตัวเอง

ยิ่งเป็นกีฬายอดนิยมอย่าง ฟุตบอล ด้วยแล้ว ยิ่งไม่ต้องห่วงเลยว่าจะต้องมีโอกาสได้พบปะแลกเปลี่ยนความรู้กับเพื่อนร่วมอาชีพต่างชนิดกีฬาไม่น้อยแน่นอน

ตัวอย่างล่าๆ ที่เพิ่งเป็นข่าวฮือฮาที่ออสเตรเลียคือเมื่อคราว ไบรอัน ร็อบสัน ตำนานลูกหนังของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และอดีตกุนซือ มิดเดิ้ลสโบรช์ เดินทางไปยังเมืองอเดเลด ประเทศออสเตรเลีย เมื่อเดือนเมษายน
เพื่อร่วมพิธีแต่งงานของลูกสาว เขาได้ใช้เวลาส่วนหนึ่งแวะไปชมการฝึกซ้อมของทีม ปอร์ท อเลเลด พาวเวอร์ สโมสรในออสเตรเลียน ฟุตบอล ลีก ของแดนจิงโจ้

ถึงจะใช้คำว่า "ฟุตบอล" เหมือนกัน แต่ "ฟุตบอล" ที่ชาวออสซี่นิยมกันคือ ออสเตรเลียน รูลส์ ซึ่งละม้ายคล้ายกีฬารักบี้และบวกกลิ่นอายของกีฬาฟุตบอลเข้าไปหน่อยๆ

ร็อบสันไปเยี่ยมชมการซ้อมแล้วไม่ไปดูเปล่าๆ ยังพูดคุยกับสตาฟฟ์โค้ชทีมพาวเวอร์เพื่อแนะแท็คติคการเล่นบางอย่างของกีฬาฟุตบอลที่น่าจะปรับใช้กับฟุตบอลออสเตรเลียน รูลส์ ได้ด้วย

ข้ามฝั่งกลับมาที่อังกฤษกันบ้าง
เมื่อเอ่ยถึงกุนซือที่นิยมนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับการคุมทีมพรีเมียร์ลีกมากที่สุดคงไม่พ้น แซม อัลลาไดซ์ ผู้จัดการทีม แบล๊คเบิร์น โรเวอร์ส ที่เคยสร้างชื่อมาตั้งแต่สมัยคุมทีม โบลตัน อยู่นาน 8 ปี

แฟนบอลเมืองผู้ดีย่อมคุ้นเคยกับภาพ บิ๊กแซม ยืนตะโกนโหวกเหวกอยู่ข้างสนามขณะสวมหูฟังเพื่อรับผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้ช่วยมาแก้เกมแบบปัจจุบันทันด่วน

การใช้หูฟังระหว่างคุมทีมแข่งขันนั้นถือเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับโค้ชอเมริกันฟุตบอลทั้งหลาย ซึ่งอัลลาไดซ์น่าจะได้ไอเดียนี้มาจากสมัยค้าแข้งกับทีม แทมปาเบย์ ราวดี้ส์ ในลีกลูกหนังอเมริกาเหนือ เมื่อปี 1983 นี่เอง

เนื่องจากทีมราวดี้ส์จะใช้สนามซ้อมร่วมกับทีม แทมปาเบย์ บั๊คคาเนียร์ส ทีมคนชนคนในลีกเอ็นเอฟแอล บิ๊กแซมจึงมีโอกาสสังเกตการณ์การฝึกซ้อมของเดอะ บ๊คส์ อยู่บ่อยครั้ง และได้ไอเดียเด็ดๆ มามากมาย

"พวกเขาทำงานกันเป็นมืออาชีพมากๆ ครับ มีทั้งนักกายภาพบำบัด หมอนวด นักโภชนาการ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา โค้ช แพทย์ ทุกคนมาช่วยกันดูแลนักกีฬาพร้อมๆ กัน แล้วเขาให้ความสำคัญกับเรื่องสภาพจิตใจของนักกีฬามากๆ เพราะถ้าใจไม่พร้อม ไม่มุ่งมั่น ก็ยากจะทำผลงานได้ดี อีกอย่างคือชาวอเมริกันบ้าเรื่องสถิติมาก แต่ในวงการฟุตบอลอังกฤษเพิ่งจะเก็บข้อมูลกันเป็นเรื่องเป็นราวเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง"

...แต่ไม่ใช่ฟุตบอลจะเป็นฝ่าย "รับ" มาอย่างเดียว เพราะย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว ตอนที่ทีมรักบี้ทีมชาตินิวซีแลนด์ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ ออลแบล๊คส์ เดินทางไปทัวร์แข่งขันที่ยุโรป พวกเขาได้แวะพักที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี เพื่อพบปะนักเตะซุปเปอร์สตาร์ของทีม เอซี มิลาน สโมสรดังแห่งกัลโช่ เซเรียอา

กิจกรรมระหว่างนักกีฬาด้วยกัน เช่น ดอน คาร์เตอร์ ดาวเตะออลแบล๊คส์สอน กาก้า สตาร์ชาวบราซิลของมิลานเตะลูกรักบี้ เป็นเรื่องของการออกสื่อ แต่ที่เกิดขึ้นเบื้องหลังฉากคือสตาฟฟ์โค้ชทีมรักบี้นิวซีแลนด์ได้แลกเปลี่ยนความรู้และข้อเสนอแนะดีๆ กับทีมแพทย์ของมิลาน โดยเชื่อกันว่าออลแบล๊คส์อาจจะขอคำแนะนำในเรื่องการถนอมร่างกายนักกีฬาซุปเปอร์สตาร์ให้มีอายุใช้งานยาวขึ้น เนื่องจากมิลานขึ้นชื่อเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว (ไม่เชื่อก็ลองดู เปาโล มัลดินี่ หรือ ฟิลิปโป้ อินซากี้ สิ)

พูดถึงออลแบล๊คส์แล้วก็มีเรื่องเล่าของ รอย คีน อดีตกัปตันทีมปีศาจแดงซึ่งเคยเดินทางไปถึงกรุงเวลลิงตันของนิวซีแลนด์เพื่อศึกษาวิธีการฝึกซ้อมของยอดทีมรักบี้แห่งแดนกีวีอันเป็นส่วนหนึ่งของการสอบใบอนุญาตโค้ชระดับสูงของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ก่อนจะเดินทางกลับอังกฤษเพื่อคุมทีม ซันเดอร์แลนด์ (และลุกจากเก้าอี้หลังจากนั้นไม่นาน

...นี่คือข้อเท็จจริงบางส่วนที่เกิดขึ้นเบื้องหลังโลกกีฬาโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวงการลูกหนังซึ่งบางครั้งก็ไปคาบเกี่ยวกับกีฬาอื่นๆ ทั้งในมุม "รับ" และ "ให้" เพื่อที่ทีมของตัวเองจะไปได้ไกลที่สุด ทำได้ดีที่สุด ด้วยไอเดียที่ต่างออกไปจากวิธีการเดิมๆ ที่เคยทำกันมานั่นเอง

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์