เกาะติด ยูโร 2008 โรมาเนีย & โปรตุเกส

 

โปรตุเกส : ลุ้นแทบตายในรอบคัดเลือก แต่จะไปได้สวยในรอบสุดท้าย



กลุ่ม A

โปรแกรมการแข่งขัน รอบแรก

7 มิ.ย.2008 โปรตุเกส - ตุรกี 01.45 น.
11 มิ.ย.2008 สาธารณรัฐเช็ก - โปรตุเกส 23.00 น.
15 มิ.ย.2008 สวิตเซอร์แลนด์ - โปรตุเกส 01.45 น.

ผลงานในรอบลีกเลือก กลุ่ม A
ลงเล่น 14 ชนะ 7 เสมอ 6 แพ้ 1 ยิงได้ 24 เสีย 10 คะแนน 27

6 กันยายน 2549, เยือน เสมอ ฟินแลนด์, 1-1
7 ตุลาคม 2549, เหย้า ชนะ อาเซอร์ไบจัน, 3-0
11 ตุลาคม 2549, เยือน แพ้ โปรแลนด์, 1-2
15 พฤศจิกายน 2549, เหย้า ชนะ คาซัคสถาน, 3-0
24 มีนาคม 2550, เหย้า ชนะ เบลเยี่ยม, 4-0
28 มีนาคม 2550, เยือน เสมอ เซอร์เบีย, 1-1
2 มิถุนายน 2550, เยือน ชนะ เบลเยียม, 2-1
22 สิงหาคม 2550, เยือน เสมอ อาร์เมเนีย, 1-1
8 กันยายน 2550, เหย้า เสมอ โปรแลนด์, 2-2
12 กันยายน 2550, เหย้า เสมอ เซอร์เบีย, 1-1
13 ตุลาคม 2550, เยือน ชนะ อาเซอร์ไบจัน, 2-0
17 ตุลาคม 2550, เยือน ชนะ คาซัคสถาน, 2-1
17 พฤศจิกายน 2550, เหย้า ชนะ อาร์เมเนีย, 1-0
21 พฤศจิกายน 2550, เหย้า เสมอ ฟินแลนด์, 0-0

ลุ้นระทึกถีงนาทีสุดท้ายกว่าจะได้ไปออสเตรี-สวิสฯ ในการลงเล่นรอบคัดเลือกฟุตบอลยูโร 2008 กลุ่ม A ซึ่งมีทีมในกลุ่ม 8 ทีม แม้จะพ่ายเพียงนัดเดียวจาก 14 แมตช์ เท่าโปรตุเกสก็มีผลงานลุ่ม ๆ ดอน ๆ ผ่านเข้ารอบมาเป็นที่สองของกลุ่มอย่างใจหายใจคว่ำตามหลังโปแลนด์แชมป์กลุ่ม

พวกเขาเริ่มต้นได้อย่างน่าผิดหวังด้วยการเสมอฟินแลนด์ 1-1 ในแมตช์ที่เหลือผู้เล่น 10 คน ตามด้วยการเอาชนะอาเซอร์ไบจัน 3-0 แต่กลับไปแพ้โปรแลนด์ 1-2 ในนัดที่ 3 แม้ว่าตลอดรอบคัดเลือก คริสเตียโน โรนัลโด จะทำผลงานได้โดดเด่น และยิงได้ 8 ประตู แต่ทีมก็ยังขาดความแน่นอน โดยเสมอกับเซอร์เบียที่ในบ้านและนอกบ้าน 1-1 เสมอกับโปแลนด์ในบ้าน 2-2 และที่น่าผิดหวังที่สุดคือออกไปเสมอกับอาร์เมเนีย ทีมซึ่งต่ำชั้นมากกว่า 1-1

หลังจบแมตช์ในบ้านเสมอกับเซอร์เบีย 1-1 โค้ชหลุยส์ เฟลิเป สโคลารี ถูก “แบน” ห้ามลงไปคุมทีมในสนาม 3 นัด ต้องให้ผู้ช่วย ฟลาวิโอ ไทไซรา ทำหน้าที่แทน แต่ทีมกลับเอาชนะได้ทั้ง 3 แมตช์ ทำให้เหลือนัดสุดท้ายต้องชิงดำกับฟินแลนด์เพื่อแย่งกันเป็นที่ 2 โดยโปรตุเกสได้เปรียบที่ได้เล่นในบ้าน และแค่เสมอก็จะได้เข้ารอบ การเล่นที่ปอร์โต เต็มไปด้วยความตื่นเต้นเร้าใจเพราะฟิตแลนด์สู้เต็มที่เพื่อจะเอาชนะ แต่ในที่สุดโปรตุเกสก็ยันเสมอไว้ได้ 0-0 และผ่านเข้ารอบสุดท้ายอย่างไม่น่าประทับใจนัก

ในฟุตบอลโลก 2006 โปรตุเกสผ่านเข้ารอบสุดท้ายได้อย่างยอดเยี่ยม โดยเข้าเป็นที่ 1 ลงเล่น 12 แมตช์ ชนะ 9 เสมอ 3 เล่นในบ้านชนะรวด 6 แมตช์ ยิงได้ 24 ประตู เสีย 2 ประตู มีคะแนนถึง 30 แต้ม ทิ้งห่างเพื่อนร่วมกลุ่มอย่าง สโลวาเกีย และรัสเซีย ซึ่งเสียเปรียบเทียบผลงานรอบคัดเลือกทุกทีมแล้ว โปรตุเกสทำคะแนนเฉลี่ยต่อแมตช์ได้ 2.5 เท่ากับอังกฤษ เป็นที่ 2 รองมาเนเธอแลนด์ที่ได้ 2.67 คะแนนต่อแมตช์

ในรอบสุดท้ายที่เยอรมัน โปรตุเกสชนะอังโกลา 1-0 ชนะอิหร่าน 2-0 และชนะเม็กซิโก 2-1 ผ่านเข้ารอบ 16 ทีมไปชนะเนเธอร์แลนด์ 1-0

ในรอบก่อนรองชนะเลิศ โปรตุเกสเข้าไปพบกับอังกฤษในแมตช์ที่พวกเราคงจะจำกันได้ดีว่า เวย์น รูย์นี ถูกไล่ออกและเกือบมีปัญหากับ คริสเตียโน โรนัลโด ซึ่งแม้อังกฤษจะยันเสมอได้ในเวลา แต่ก็พ่ายโปรตุเกสในการดวลจุดโทษ 1-3ทำให้โปรตุเกสเข้ารอบรองชนะเลิศไปพบกับฝรั่งเศส ซึ่งพวกเขาพ่ายไปอย่างหวุดหวิด 0-1 ต้องไปชิงที่ 3 ซึ่งพ่ายให้กับเจ้าภาพเยอรมนี 1-3 ได้แค่อันดับ 4

ในฟุตบอลยูโร 2004 โปรตุเกสในฐานะเจ้าภาพเปิดสนามพ่ายให้กับกรีซ 0-1 แต่กลับมาเอาชนะได้ทั้งรัสเซีย 2-0 และสเปน 1-0 ได้ที่ 1 ของกลุ่ม ในรอบก่อนรองชนะเลิศ พวกเขาพบกับอังกฤษโดยเสมอกันในเวลา 2-2 และเอาชนะได้ในการดวลจุดโทษ เข้ารอบรองไปชนะเนเธอร์แลนด์ 2-1

รอบชิงชนะเลิศที่สนาม เอสเตดิโอ ดา ลุซ โปรตุเกสต้องพบกับกรีซอีกครั้งหนึ่ง แต่พวกเขาไม่สามารถตามรอยเจ้าภาพยูโรครั้งก่อน ๆ ที่คว้าแชมป์ได้อย่าง สเปน 1964, อิตาลี 1968 และฝรั่งเศส 1984 เพราะพ่ายให้กับกรีซอีกครั้งด้วยประตูโทนของ อันเกลอส ชาริสเตอัส ในนาทีที่ 57

ก่อนหน้านั้นโปรตุเกส เคยเข้าถึงรอบรองชนะเลิศฟุตบอลยูโรมา 2 ครั้ง โดยในปี 1984 แพ้ฝรั่งเศสที่ สตาด เวโลโดรม ในมาร์กเซย์ 2-3 ในช่วงต่อเวลา และ 16 ปีต่อมาที่เบลเยียมในสนาม คิง โบควง กรุงบรัสเซลส์ พวกเขาก็พ่ายให้แก่ฝรั่งเศสอีกครั้งด้วยสกอร์ 1-2 ในช่วงต่อเวลาเหมือนเดิม

โปรตุเกสเคยเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลยูโรครั้งแรกปี 1984 และเข้ารอบสุดท้ายติดต่อกันมาถึงครั้งนี้ 4 ครั้ง ลงเล่นมาทั้งหมด 108 แมตช์ จาก 13 ครั้ง ชนะ 58 เสมอ 26 แพ้ 24 ยิงได้ 183 เสีย 98 ประตู

ข้อมูลจำเพาะของโปรตุเกส

กัปตันทีม : นูโน โกเมส
อันดับโลกล่าสุด : 8
ผลงานที่ดีที่สุดในยูโร : รองแชมป์ 2004
ผลงานในการแข่งขันรอบสุดท้าย : 1960 ถึง 1982 - ไม่ผ่านรอบคัดเลือก, 1984 - รอบเซมิไฟนัล, 1996 - รอบควอเตอร์ไฟนัล, 2000 - รอบเซมิไฟนัล,
2004 - รองแชมป์, 2008 - เข้ารอบสุดท้าย

กลยุทธ์ของโปรตุเกส

โค้ช หลุยส์ เฟลิเป สโคลารี ได้ใช้รูปแบบ 4-2-3-1 เป็นส่วนใหญ่ สำหรับการเล่นของโปรตุเกสที่ผ่านมา โดยใช้ประโยชน์จากผู้เล่นตำแหน่งปีกที่มีความสามารถมากอย่าง คริสเตียโน โรนัลโด, ซิเมา, ริคาร์โด ควาเรสมา และ นานี ที่สามารถเข้ามาทดแทนรุ่นพี่อย่าง หลุยส์ ฟิโก และ เปโดร เปาเลตตา ที่เลิกเล่นทีมชาติไปหลังฟุตบอลโลก 2006

ปีกฝีเท้าดีเหล่านี้ช่วยป้อนลูกงาม ๆ ให้กับศูนย์หน้าเดี่ยวได้มีโอกาสยิงประตูได้อยู่เสมอ ไม่ว่าจะใช้บริการของ นูโน โกเมซ, ฮูโก อัลไมดา หรือดาวรุ่งดวงใหม่อย่าง อาริซา มากูกูลา ซึ่งแจ้งเกิดอย่างเต็มตัวในรอบคัดเลือกกับคาซัคสถาน เมื่อเดือนตุลาคม 2550 โดยลงเป็นตัวสำรองในช่วงท้ายเกม และยิงประตูแรกให้โปรตุเกสได้เมื่อเหลือเวลาอีกเพียง 6 นาที ทำให้ทีมเอาชนะได้ในที่สุด 2-1

นอกจากนั้นปีกชั้นนำเหล่านี้ยังสามารถเสริมเข้าไปยิงประตูได้เสมอโดยเฉพาะ คริสเตียโน โรนัลโด ความหวังของทีม ที่ยิงได้ถึง 8 ประตู ในรอบคัดเลือกในแดนกลางนั้นที่ค่อนข้างแน่นอนก็คือ เดโก ในตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวรุก โดยมี ติอาโก และ เจา มูตินโญ เป็นตัวสำรองที่พร้อมจะทดแทนได้เสมอ ส่วนกองกลางที่เหลือ โปรตุดกสยังมีดาวรุ่งอย่าง มิเกล เวโลโซ และ ราอูล ไมเรเลส เข้ามาแย่งตำแหน่งกับรุ่นเก๋าอย่าง คอสตินญา และ มานิช

สโคลารี ยังปรับทีมเป็น 4-3-3 หรือ 5-4-1 ตามสถานการณ์และบางครั้งก็ใช้ 3-4-3 แบบที่เคยนำบราซิลเป็นแชมป์โลกมาแล้ว สำหรับแบ๊กค่อนข้างจะลงตัวที่ หลุยส์ มิเกล หรือ โฮเซ โบซิงวา แต่แบ๊กซ้ายนั้นทั้ง ฮอร์เก ริโบโร และ เปาโล เฟอร์ไรรา ยังทำได้ไม่ดีตลอดการเล่นรอบคัดเลือก และคงจะต้องชิงตำแหน่งกันจนนาทีสุดท้าย ส่วนกองหลังตัวกลางพวกเขามีทั้ง ริคาร์โด คาร์วัลโญ, จอร์จ อันดราเด, ริคาร์โด คอสตา, บรูโน อัลเวส, เปเป และ เฟอร์นันโด ไมรา ให้เลือก เหลือเพียงปัญหาแต่ว่าดาราเหล่านี้ล้วนมีปัญหาบาดเจ็บรบกวนอยู่เสมอ ดังนั้นความสมบูรณ์ของร่างกายในช่วงสุดท้ายคงจะเป็นตัวตัดสินตำแหน่งตัวจริงของทีม

     โค้ช : หลุยส์ เฟลิเป สโคลารี

     โค้ชผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ช่วยกู้ชีพให้แก่วงการฟุตบอลบราซิล ในยุคที่ทีมชาติตกต่ำ และพาทีมบราซิลผ่านเข้ารอบคัดเลือกฟุตบอลโลก 2002 ได้อย่างเฉียดฉิว แต่ด้วยสไตล์การพูดที่ดุดัน โผงผาง ทำให้ “บิ๊กฟิล” ไม่เป็นที่ชื่นชอบนักในบราซิล ดังนั้นหลังรอบคัดเลือก เมื่อเขาออกมาให้สัมภาษณ์ว่าทีมชาติบราซิลจะทำได้ดีขึ้นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายเกาหลี-ญี่ปุ่น และจะเข้าถึงรอบรองชนะเลิศเป็นอย่างน้อย กลับมีแต่คนปรามาสว่าไม่มีทางทำได้ แต่ผลคือเขาคุมทีมบราซิลไปจนถึงตำแหน่งแชมป์โลกอีกครั้งหนึ่ง โดยไม่เอา โรมาริโอ ร่วมทีมตามเสียงเรียกร้องของแฟนบอล แต่ใช้ “3 อาร์” โรนัลโด, โรนัลดินโญ และ ริวัลโด เป็นกำลังสำคัญในกองหน้า พิชิตเยอรมันลงได้ในรอบชิงชนะเลิศ

หลังจากนั้นเขาลาออกจากกาคุมทีมชาติบราซิล และต่อมาเข้ารับงานคุมทีมชาติโปรตุเกส และพาโปรตุเกสในฐานะเจ้าภาพเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ ยูโร 2004 แต่ท้ายที่สุดต้องอกหักพ่ายกรีซ 1-0 ได้แค่รองแชมป์

ในฟุตบอลโลก 2006 “บิ๊กฟิล” นำทีมโปรตุเกสไปได้สวย โดยเอาชนะได้ทั้งอังกฤษ และเนเธอร์แลนด์ ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศ แต่พ่ายต่อฝรั่งเศสอย่างน่าเสียดาย 1-0 นับเป็นผลงานดีที่สุดของทีมชาติโปรตุเกสนับจากยุคยูเซบิโอ ในปี 1966 เป็นต้นมา

สำหรับรอบคัดเลือกยูโร 2008 นี้ เขาพาทีมโปรตุเกสผ่านเข้ารอบสุดท้ายได้อย่างกระท่อนกระแท่น โดยเป็นที่สองรองจากโปแลนด์ โดยยันเสมอฟินแลนด์ในบ้าน 0-0 เฉือนคู่แข่งไปเพียงแต้มเดียว ทำให้ “บิ๊กฟิล” ต้องออกมาให้คำมั่นว่า โปรตุเกสจะพัฒนาขึ้นก่อนถึงรอบสุดท้ายในเดือนมิถุนายนนี้อย่างแน่นอน

สมัยเป็นผู้เล่นเขาไม่มีผลงานโดดเด่นนัก แต่หลังจากรับหน้าที่โค้ชตั้งแต่ปี 1982 “บิ๊กฟิล” ก็มีผลงานที่ดีมาโดยตลอด โดยพาทีมคว้าถ้วยโคปา ลิเบอร์ทาโดเรส 2 ครั้ง กับเกรมิโอในปี 1995 และพาลไมราสในปี 1999

ผู้เล่นดาราทอง : ยูเซบิโอ

หากให้แฟนบอลชาวไทยเลือกผู้เล่นที่ดีที่สุดในรอบ 50 ปี ของโปรตุเกสเชื่อว่าคงจะไม่มีใครไม่นึกถึง “เสือดำแห่งโมซัมบิค” ยูเซบิโอ อย่างแน่นอน

ยอดนักเตะผู้นี้ถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 25 มกราคม 1942 ในเขตมาฟาลาลา ของ ลูเรนโซ มาร์เควส เมืองหลวงของโมซัมบิค อาณานิคมของโปรตุเกสในทวีปอาฟริกา

โมซัมบิค ซึ่งอยู่ทางฝากตะวันออกของทวีปอาฟริกา เป็นแหล่งที่ส่งนักเตะฝีเท้าดีไปเล่นในโปรตุเกสมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ มาตาตู ตามด้วย มาริโอ โชลูนา และ ยูเซบิโอ ซึ่งเริ่มเล่นฟุตบอลใน ลูเรนโซ มาร์เควส ก็สามารถแสดงฝีเท้าได้โดดเด่น จนสามารถตามรุ่นพี่ไปเล่นในโปรตุเกสได้ โดยไปอยู่กับสโมสรเบนฟิกา สุดยอดทีมของโปรตุเกสตั้งแต่อายุเพียง 18 ปี

เขาเริ่มต้นแมตช์แรกกับเบฟิกาได้อย่างมหัศจรรย์ในการพบกับสโมสรซานโตสของบราซิล ที่สนาม ปาร์ค เดอ แปรงซ์ ในปารีส ฝรั่งเศส ซานโตส ซึ่งมียอดนักเตะอย่าง เปเล่, ซิโต, คูตินโญ และ เปเป ยิงนำไปก่อนถึง 5-0 เบนฟิกาจึงส่ง ยูเซบิโอ วับ 18 ลงสนาม และเขาสามารถทำแฮตทริก ยิงให้ทีมได้ 3 ลูก แม้ทีมจะแพ้แก่ซานโตส แต่ในตอนจบเกม เปเล่ ได้เข้ามาแสดงความยินดีกับ ยูเซบิโอ และทำนายว่าเขาจะเป็นนักเตะผู้ยิ่งใหญ่ต่อไปในอนาคต

ยูเซบิโอ เป็นผู้ที่มีความสุภาพอ่อนน้อมถ่อมตน และรักษาอุปนิสัยนี้ไว้โดยตลอดจนถึงปัจจุบัน เขาเล่าว่าเมื่อเขามาร่วมทีมเบนฟิกาใหม่ ๆ เขาชื่นชมและยกย่องรุ่นพี่อย่าง โฮเซ อากูอาส, มาริโอ โคลูนา, เจอมาโน, เดอ ฟิเกอราโด และโฮเซ ออกุสโต โดยเรียกพวกเขาว่า “ซินญอร์” แม้ในระหว่างการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลสโมสรยุโรปกับ รีล มาดริด ที่อัมสเตอร์ดัม ตอนที่เบนฟิกาได้ลูกฟรีคิกในครึ่งหลัง ยูเซบิโอ เข้าไปพูดกับ โคลูนา ว่า “ซินญอร์ มาริโอ ผมขออนุญาตเตะฟรีคิกลูกนี้เพื่อจะได้ทำประตูให้ทีม”

เหล่าซินญอร์ทั้งหลายเริ่มตระหนักว่า การมียูเซบิโออยู่ในทีม คือส่วนสำคัญในความสำเร็จของเบนฟิกา และหลังจากการครองแชมป์สโมสรยุโรป เป็นครั้งที่สองติดต่อกัน แต่เป็นครั้งแรกของยูเซบิโอ ด้วยชัยชนะเหนือ รีล มาดริด ในเดือนพฤษภาคม 1962 ปราการหลัง เฟอร์นานโด ครูซ ได้ออกมากล่าวชมว่า “ยูเซบิโอ คือสุดยอดนักเตะในทีมของเรา”

ยูเซบิโอ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของดาราฟุตบอลระดับโลกคนหนึ่ง เขามีทั้งพรสวรรค์ในการเล่นระดับโลก มีน้ำใจและความประพฤติเป็นนักกีฬา และมีเรื่องเด่นเกี่ยวกับตัวเขามากมาย เช่น การร้องไห้ที่สนามเวมบลีย์หลังจากแพ้อังกฤษ ตกรอบรองชนะเลิศ และการเล่นที่สุภาพ ความเร็วอันน่าอัศจรรย์ และการยิงประตูอันแม่นยำเฉียบขาด นอกจากนั้นเขายังเป็นนักเล่าเรื่องที่นำเอาสิ่งดี ๆ มาเล่าได้อย่างน่าประทับใจด้วย

“ตอนที่แฟนบอลดัตช์ แบกผมขึ้นบ่าที่สนามโอลิมปิกในอัมสเตอร์ดัม หลังจากเราเอาชนะ รีล มาดริด ได้ในปี 1962 ผมเสียวมากว่าจะตกลงมา ตอนนั้นผมใส่เสื้อของ ดิ สเตฟาโน ที่เพิ่งแลกกันมาอยู่ และคิดว่ามีบางคนพยายามจะคว้าเสื้อไป”

เขาได้รับการยกย่องจากผู้นำเผด็จการของโปรตุเกส แอนโตนิโอ เดอ โอลิไวรา ซาลาซาร์ ว่าเป็นสมบัติของชาติ “เสือดำ” ยิงประตูให้สโมสรเบนฟิกาได้เกิน 400 ประตู แต่หลังจากบาดเจ็บจนต้องผ่าตัดเข่าถึง 5 ครั้ง เขาก็ต้องยอมเลิกอาชีพนักเตะกับเบนฟิกา แต่ปัจจุบันก็ยังมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอยู่

ปัจจุบัน ยูเซบิโอ อายุ 65 ปีแล้ว เขาเป็นหนึ่งเดียวในวงการฟุตบอลโปรตุเกส ที่ได้รับการต้อนรับอย่างดีเสมอ ไม่ว่าจะไปที่ใดทั่วโลกเขาได้รับการยกย่องจากนักฟุตบอลรุ่นหลังอย่าง หลุยส์ ฟิโก และ รุย คอสตา และแฟนบอลจำนวนมากให้เป็น “เดอะ คิง”.

รายชื่อนักเตะทีมชาติโปรตุเกส ชุดฟุตบอลยูโร 2008 ที่ ออสเตรีย-สวิตเซอร์แลนด์



ผู้รักษาประตู : ริคาร์โด (รีล เบติส/สเปน), ควิม (เบนฟิกา),รุย ปาตริซิโอ (สปอร์ติง ลิสบอน)

กองหลัง : ริคาร์โด คาร์วัลโญ (เชลซี/อังกฤษ), เปเป (เรอัล มาดริด/สเปน), บรูโน อัลเวส (ปอร์โต), เฟอร์นานโด ไมรา (สตุตการ์ต/เยอรมนี), มิเกล (บาเลนเซีย/สเปน), ฮอร์เก ริเบโร (เบาวิสตา), โฮเซ โบซิงวา (เชลซี/อังกฤษ), เปาโล เฟอร์ไรรา (เชลซี/อังกฤษ)

กองกลาง : เปอตี (เบนฟิกา), มิเกล เวโลโซ (สปอร์ติง ลิสบอน), ราอูล ไมเรเลส (ปอร์โต), เจา มูตินโญ (สปอร์ติง ลิสบอน), เดโก (บาร์เซโลนา/สเปน)


กองหน้า : คริสเตียโน โรนัลโด (แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด/อังกฤษ), นานี (แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด/อังกฤษ), ริคาร์โด กวาเรสมา (ปอร์โต), ซิเมา ซาโบรซา (แอตเลติโก มาดริด/สเปน), นูโน โกเมส (เบนฟิกา), ฮูโก อัลไมดา (แวร์เดอร์ เบรเมน)/เยอรมนี), เฮลเดอร์ ปอสติกา (พานาธิไนกอส/กรีซ)


โรมาเนีย : กลับมาสู่เกมระดับโลกครั้งแรกในรอบ 8 ปี

กลุ่ม C

โปรแกรมการแข่งขัน
9 มิถุนายน 2551 โรมาเนีย-ฝรั่งเศส 18.00 น.
13 มิถุนายน 2551 โรมาเนีย-อิตาลี 18.00 น.
17 มิถุนายน 2551 โรมาเนีย-เนเธอร์แลนด์ 20.45 น.

ผลงานในรอบคัดเลือกยูโร 2008 กลุ่ม G
แข่ง 12, ชนะ 9, เสมอ 2, แพ้ 1, ได้ 26, เสีย 7, แต้ม 29

วัน/เดือน/ปี 2 กันยายน 2549, สถานที่ เหย้า, คู่แข่งขัน เสมอ บัลแกเรีย, สกอร์ 2-2
วัน/เดือน/ปี 6 กันยายน 2549, สถานที่ เยือน, คู่แข่งขัน ชนะ แอลเบเนีย, สกอร์ 2-0
วัน/เดือน/ปี 7 ตุลาคม 2549, สถานที่ เหย้า, คู่แข่งขัน ชนะ เบลารุส, สกอร์ 3-1
วัน/เดือน/ปี 24 มีนาคม 2550, สถานที่ เยือน, คู่แข่งขัน เสมอ เนเธอร์แลนด์, สกอร์ 0-0
วัน/เดือน/ปี 28 มีนาคม 2550, สถานที่ เหย้า, คู่แข่งขัน ชนะ ลักเซมเบิร์ก, สกอร์ 3-0
วัน/เดือน/ปี 2 มิถุนายน 2550, สถานที่ เยือน, คู่แข่งขัน ชนะ สโลวีเนีย, สกอร์ 2-1
วัน/เดือน/ปี 6 มิถุนายน 2550, สถานที่ เหย้า, คู่แข่งขัน ชนะ สโลวีเนีย, สกอร์ 2-0
วัน/เดือน/ปี 8 กันยายน 2550, สถานที่ เยือน, คู่แข่งขัน ชนะ เบลารุส, สกอร์ 3-1
วัน/เดือน/ปี 13 ตุลาคม 2550, สถานที่ เหย้า, คู่แข่งขัน ชนะ เนเธอร์แลนด์, สกอร์ 1-0
วัน/เดือน/ปี 17 ตุลาคม 2550, สถานที่ เยือน, คู่แข่งขัน ชนะ ลักเซมเบิร์ก, สกอร์ 2-0
วัน/เดือน/ปี 17 พฤศจิกายน 2550, สถานที่ เยือน, คู่แข่งขัน แพ้ บัลแกเรีย, สกอร์ 0-1
วัน/เดือน/ปี 21 พฤศจิกายน 2550, สถานที่ เหย้า, คู่แข่งขัน ชนะ แอลเบเนีย, สกอร์ 6-1

โรมาเนีย ได้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลที่ทัวร์นาเมนต์ใหญ่เป็นครั้งแรกหลังจากได้เข้ารอบสุดท้ายยูโร 2000 มาเมื่อ 8 ปีก่อน โดยครั้งนี้อยู่ในกลุ่ม G ซึ่งมีคู่แข่งสำคัญอย่าง เนเธอร์แลนด์ และบัลแกเรีย เท่านั้นหลังจากเล่นไป 10 จาก 12 เกม พวกเขาก็ได้คะแนนพอเห็นเข้ารอบสุดท้ายด้วยผลงานชนะ 8 เสมอ 2 ไม่แพ้ทีมใดเลย

ในนัดแรกพวกเขาเปิดบ้านรับการมาเยือนของบัลแกเรียและเสีย 2 ประตูในช่วงท้ายให้ทีมเยือนตีเสมอได้ 2-2 ผลงานนัดสำคัญคือการไปยันเสมอเนเธอร์แลนด์ 0-0 ที่ร็อตเตอร์ดัม และกลับมาเป็นเจ้าบ้านเฉือนคู่แข่ง 1-0 ที่คอนสแตนตา ด้วยประตูชัยของ คอร์นกอยอันและพิชิตลักเซมเบิร์ก ในนัดที่ 10 ด้วยประตูของพอลเรนติน เพเตร และซิเปรียน มาริกา แม้ว่านัดรองสุดท้ายแพ้บัลแกเรีย 0-1 แต่ก็ปิดท้ายได้อย่างสวยงามด้วยการถล่มแอลเบเนียถึง 6-1 เข้าเป็นที่ 1 ของกลุ่ม G

ผลงานในฟุตบอลโลก 2006

โรมาเนียเข้าเป็นที่ 3 ของกลุ่มในรอบคัดเลือก ตามหลังเนเธอร์แลนด์และสาธารณรัฐเช็ก อดไปรอบสุดท้ายที่เยอรมนี ด้วยผลงานชนะ 8 เสมอ 1 แพ้ 3 มีคะแนนห่างเนเธอร์แลนด์ทีมอันดับ 1 ถึง 7 คะแนนและตามหลังอันดับ 2 สาธารณรัฐเช็ก 2 คะแนน

ผลงานในฟุตบอลยูโร 2004

โรมาเนียเล่นรอบคัดเลือกในกลุ่มที่มี 5 ทีม ชนะ 4 เสมอ 2 แพ้ 2 เข้าเป็นอันดับ 3 ตามหลังเดนมาร์ก ทีมอันดับ 1 เพียงคะแนนเดียวและได้คะแนนเท่านอร์เวย์ และตกเป็นอันดับ 3 เพราะผลงานที่พบกันของทั้งสองทีม สู้ไม่ได้ ทำให้หมดโอกาสไปเล่นรอบสุดท้ายที่โปรตุเกสหลังจากตกรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก 2002 มาแล้ว

ในฟุตบอลยูโร 2000 ที่พวกเขาได้เข้ารอบสุดท้ายนั้น โรมาเนียเป็นที่ 1 ของกลุ่มในรอบคัดเลือก ด้วยผลงาน 24 คะแนน จาก 10 นัดในรอบสุดท้ายแม้จะอยู่ในสายหินร่วมกับเยอรมนี, อังกฤษ และ โปรตุเกส และเล่น 2 นัดแรก แพ้ 1 เสมอ 1 ได้เพียงคะแนนเดียว พวกเขากลับพลิกล็อกเอาชนะอังกฤษได้ในนัดที่ 3 ด้วยสกอร์ 3-2 จากลูกประตูชัยของ ยอน กาเนีย ในนาทีที่ 89 ได้เข้ารอบไปพบกับอิตาลี และพ่ายตกรอบไป 0-2 จากประตูของ ฟรานเชสโก ตอตติ และ ฟิลิปโป อินซากี

โรมาเนียเคยเข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลยูโรมาแล้วเมื่อปี 1984 และ 1996 แต่ไม่พบกับชัยชนะเลยทั้ง 6 นัด เพิ่งจะมาชนะได้ครั้งแรกในนัดที่ 9 ปี 2000 เหนืออังกฤษนั่นเอง

นับจนถึงสิ้นสุดรอบคัดเลือกยูโร 2008 โรมาเนียลงเล่นฟุตบอลยูโรมาแล้ว 13 ครั้ง 105 นัดชนะ 52 เสมอ 27 แพ้ 26 ยิงได้ 191 เสีย 104 ประตู
กลยุทธ์การเล่นของโรมาเนีย

แม้ว่าโค้ช วิคเตอร์ ปีตูร์กา จะเป็นนักเตะกองหน้า แต่ในการคุมทีมชาติเขายึดวินัยและทีมเวิร์กเป็นหลัก โดยเน้นเกมรับที่แข็งแกร่ง ใช้กองกลางตัวรับ 2 คน อยู่หน้าแบ๊กโฟร์และเลือกใช้นักเตะตามสถานการณ์และคู่ต่อสู้ โดยเขาใช้นักบอลถึง 39 คน ลงเล่นในรอบคัดเลือกยูโร 2008 และยืนยันว่าทีมชาติโรมาเนียของเขาจะไม่ขึ้นกับนักเตะดาราคนหนึ่งคนใดโดยเด็ดขาด

ในตำแหน่งผู้รักษาประตู บ็อกดาน โลบอนต์ ถือว่าเป็นข้อยกเว้นเพราะโชว์ฟอร์มได้ดี จนเป็นตัวยืนมาตลอด แต่กองหลัง 4 คนข้างหน้าเขามีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ คาดว่าตัวหลักในรอบสุดท้ายนี้น่าจะมี โดริน โกยาน และ กาเบรียล ทามัส ซึ่งได้เปรียบเรื่องความสูงเป็น 2 เซ็นเตอร์แบ๊ก โดยดันกัปตันทีม คริสเตียน คิวู ขึ้นไปเป็นกองกลางตัวรับ แบ๊กขวาน่าจะเป็นคอสมิน คอนทรา และแบ๊กซ้ายเป็น รัซวาน รัตมิดฟิลด์ทางซ้ายน่าจะเป็นของ นิโคเล ดิกา แต่บางเกมที่ต้องการ ส่วนทางขวามี บาเนล นิโคลิตา และ ฟลอเรนติน เปเตร เป็นตัวเลือก ส่วนในแดนหน้า 2 ตัวหลักที่น่าจะได้ยืนคู่กันคือ อาเดรียน มูตู และ ซิเปรียน มาริกา ซึ่งช่วยกันยิงได้ถึง 11 ประตู ในรอบคัดเลือก

ในการกลับมาสู่สังเวียนแข้งระดับโลกของ “ผีดิบ” โรมาเนีย ในรอบ 8 ปี หนนี้ ค่อนข้างจะหนักหนาสากรรจ์ทีเดียว เพราะดันจับสลากอยู่ร่วมสายเดียวกันกับ ฝรั่งเศส, อิตาลี และ เนเธอร์แลนด์ ที่ว่ากันว่า เป็น “กลุ่มแห่งความตาย” ที่เพราะอีก 3 ทีมร่วมสายล้วนแล้วแต่เป็นทีมระดับพระกาฬของยุโรปและของโลกทั้งสามทีมเลยก็ว่าได้

ครั้งนี้ “ผีดิบ” ได้คะแนนกลับบ้านสัก 1 คะแนนก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว.

ข้อมูลจำเพาะโรมาเนีย

กัปตันทีม : คริสเตียน คิวู
อันดับโลกล่าสุด : อันดับ 13
ผลงานที่ดีที่สุดในยูโร : รอบก่อนรองชนะเลิศ (2000)
ผลงานในการแข่งขันฟุตบอลยูโร รอบสุดท้าย : 1960 ถึง 1980 - ไม่ผ่านรอบคัดเลือก, 1984 - รอบแรก, 1988 ถึง 1992 - ไม่ผ่านรอบคัดเลือก, 1996 - รอบแรก, 2000 - รอบก่อนรองชนะเลิศ, 2004 - ไม่ผ่านรอบคัดเลือก, 2008 - เข้ารอบสุดท้าย

     โค้ช : วิคเตอร์ ปีตูร์กา

     วิคเตอร์ ปีตูร์กา เคยพาทีมชาติโรมาเนีย ผ่านรอบคัดเลือกมาแล้วในยูโร 2000 แต่เขาไม่มีโอกาสได้คุมทีมลงเล่นรอบสุดท้ายเพราะถูกปลดออกในเดือนธันวาคม 1999 เนื่องจากการขัดแย้งกับผู้เล่นรุ่นเก๋าในทีมหลายคน

    เขาได้กลับมาคุมทีมชาติอีกครั้งแทน แองเจล ยอร์ดาเนสคู ในเดือนธันวาคม 2004 แต่ไม่สามารถพาทีมผ่านรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก 2006 ไปเล่นรอบสุดท้ายได้ อย่างไรก็ดีเขาแก้ตัวได้สำเร็จในการพาโรมาเนียผ่านรอบคัดเลือกไปเล่นที่สวิตเซอร์แลนด์-ออสเตรีย

ปีตูร์กา เกิดเมื่อ 8 พฤษภาคม 1956 และเล่นฟุตบอลกับทีม ยูนิเวอร์ซิเตต ไครโอวา, ดินาโม สลาตินา, แพนดูรี ลิกนิทูล ตาร์กู จิอู และ เอฟซี โอลท์ ก่อนจะได้มาอยู่กับ สเตอัว บูคาเรสต์ ทีมที่ดีที่สุดของโรมาเนีย 6 ปีที่สเตอัว บูคาเรสต์ เขาร่วมทีมคว้าแชมป์ยูโรเปี้ยนคัพในปี 1985/86 ตามด้วยยูฟ่าซูเปอร์คัพ 86 และรองแชมป์ยูโรเปี้ยนคัพ 1988/89 หลังจากนั้นจึงได้ออกนอกประเทศในวัย 33 ปี ไปเล่นกับ ลองส์ ในฝรั่งเศส

แม้ว่าในทีมชาติโรมาเนีย เขาจะทำได้แค่ 6 ประตู จาก 13 แมตช์ แต่ในระดับสโมสรเขาทำได้ถึง 165 ประตู จาก 301 แมตช์

หลังจาก 2 ปีในฝรั่งเศส เขากลับบ้านในปี 1991 มาเป็นผู้ช่วยโค้ชให้สเตอัว บูคาเรสต์ และเลื่อนขึ้นเป็นโค้ชใหญ่ในปี 1992 แต่ได้เป็นหัวหน้าโค้ชเต็มตัวกับยูนิเวอร์ซิเตต ไครโอวา ในปี 1994 และ 1995 ก่อนจะได้โอกาสเข้าคุมทีมชาติโรมาเนียอายุต่ำกว่า 21 ปี และเลื่อนขึ้นคุมทีมชุดใหญ่ในเดือนกรกฎาคม 1998 และหลังจากถูกปลดออกเมื่อธันวาคม 1999 เขาก็กลับมาคุม สเตอัว บูคาเรสต์ และพาทีมคว้าแชมป์ลีก ปี 2000/01 ได้ทันที.

ดาราทอง : จอร์จี ฮากี

จอร์จี ฮากี เคยกล่าวไว้ว่า “ฟุตบอลคือชีวิตของผม ทำให้ผมได้เป็นอย่างทุกวันนี้ ผมจึงต้องตอบแทนให้แก่ฟุตบอลอย่างเต็มที่”

เขาเป็นผู้มีพรสวรรค์ในการเล่น สามารถควบคุมลูกฟุตบอลได้ราวนักมายากล และมีฝีเท้าอันโดดเด่นตั้งแต่เยาว์วัย ทำให้เขาได้ติดทีมชาติเยาวชนโรมาเนียมาตลอด ตั้งแต่ทีมต่ำกว่า 16 ปี 17 ปี และ 18 ปี โดยที่ในช่วงนี้เขาเรียนอยู่ที่ โรงเรียนสอนฟุตบอล ลูเซียฟารุล ร่วมกับเพื่อนในทีมเยาวชนด้วยกันอีกหลายคน

หลังจากเริ่มเล่นฟุตบอลอาชีพกับทีม ฟารุล คอนสแตนตา ได้ไม่นาน ฮากี วัย 18 ปี ก็ถูกดึงไปอยู่กับ สปอร์ตุล สติวเดนเทสซ์ ในบูคาเรสต์ เมื่อปี 1983 3 ปี กับสปอร์ตุล เขายิงได้ 58 ประตู ใน 108 นัด และนับเป็นช่วงเวลารุ่งโรจน์ของ ฮากี อย่างแท้จริง โดยเขาถูกเรียกตัวเข้าติดทีมชาติชุดใหญ่ภายใต้การคุมทีมของ เมอร์เซีย ลูเชสคู ตั้งแต่สิงหาคม 1983 ในนัดมิตรภาพกับนอร์เวย์ แม้ จะเริ่มต้นนัดแรกด้วยการเสมอ 0-0 แต่ตลอด 17 ปีต่อมา เขาคือตัวยืนในทีมชาติ ได้ลงเล่นเป็นสถิติสูงสุดของโรมาเนีย 125 แมตช์ ยิงได้ 35 ประตู เป็นสถิติดาวยิงสูงสุดของทีมชาติโรมาเนียด้วย

ในเดือนตุลาคม 1985 ลูเชสคู ก็สร้างเซอร์ไพร้ส์ด้วย การมอบตำแหน่งกัปตันทีมชาติให้ ฮากี ในวัยเพียง 20 ปี ในเกมรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก 1986 กับไอร์แลนด์เหนือ และนั่นคือครั้งแรกจาก 65 ครั้ง ที่เขาสวมปลอกแขนกัปตันทีมชาติ เขาได้เล่นในฟุตบอลโลก 3 ครั้ง และฟุตบอลยูโร 3 ครั้ง และแม้จะจบแมตช์ระดับชาติ ด้วยการถูก “ใบแดง” ไล่ออก ในการเจอกับทีมชาติอิตาลี แต่ก็ไม่ทำให้เสียหายต่อชื่อเสียง และผลงานอีกยาวนานของเขาแต่อย่างใด

ในระดับสโมสร เขาร่วมทีมสเตอัว บูคาเรสต์ คว้าแชมป์ลีกโรมาเนีย 3 ครั้ง โรมาเนียคัพ 2 ครั้ง แชมป์ยูโรเปี้ยนคัพ 1 ครั้ง ยูฟ่าซูเปอร์คัพ 1 ครั้ง ก่อนจะออกไปผจญภัยค้าแข้งในต่างแดนนานถึง 11 ปี หลังฟุตบอลโลก 1990 ฮากี ย้ายไปเล่นกับ รีล มาดริด ในสเปน ด้วยค่าตัวราว 4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และย้ายไปร่วมงานกับโค้ช ลูเชสคู ที่เบรสชา อิตาลี ในปี 1992 หลังจากผลงานอันโดดเด่นในฟุตบอลโลก 1994 เขาได้กลับไปเล่นในสเปนอีกครั้งกับบาร์เซโลนา ซึ่งคุมทีมโดยวีรบุรุษฟุตบอลของ ฮากี นั่นคือ โยฮัน ครอยฟ์ ในปี 1996 ฮากี วัย 31 ปี ย้ายไปเล่นกับกาลาตาซารายในตุรกี โดยที่หลายคนวิจารณ์ว่าคงเป็นช่วงสุดท้ายของอาชีพนักบอลของเขาแล้ว แต่เขากลับสร้างผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมและอยู่กับทีมอีกถึง 5 ปี ก่อนจะแขวนสตั๊ดในเดือนเมษายน 2001 ด้วยวัย 36 ปี เขามีความรักและผูกพันกับกาลาตาซารายมากจนกล่าวว่า “กาลาตาซารายคือบ้านที่สองของผม รองจากโรมาเนีย”

หลังเลิกเล่นฟุตบอลอาชีพ เขาหันมาจับงานโค้ช โดยเริ่มงานคุมทีมชาติโรมาเนียในช่วงสั้น ๆ ก่อนไปคุมทีมเบอร์ซาสปอร์ และกาลาตาซารายในตุรกี แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก เขากลับมาคุมทีมโปลีเทคนิกา ทิมิโซรา ในโรมาเนีย เมื่อพฤศจิกายน 2005 และทำผลงานได้ดี จนถูกดึงไปคุมทีมสเตอัว บูคาเรสต์ ในปีถัดมา และสามารถพาสเตอัว บูคาเรสต์ ผ่านรอบแบ่งกลุ่มยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีก 2006/07 ได้สำเร็จ

จอร์จี ฮากี ลงเล่นฟุตบอลอาชีพทั้งในบ้านและต่างแดนรวมกันถึง 550 แมตช์ ที่กาลาตาซาราย ในตุรกี แฟนบอลเรียกเขาว่า “เดอะสุลต่าน” และในโรมาเนียเขาได้รับสมญาว่า “เดอะ คิง”.

รายชื่อ 23 นักเตะโรมาเนียชุดลุยยูโร 2008 ที่ออสเตรีย-สวิตเซอร์แลนด์

ผู้รักษาประตู

เบอร์ 1, ชื่อ บ็อกดาน โลบอนต์, สโมสร ดินาโม บูคาเรสต์
เบอร์ 23, ชื่อ เอดูอาร์ด สแตนซิโอยู, สโมสร ซีเอฟอาร์ คลูจ
เบอร์ 12, ชื่อ มาริอุส โปปา, สโมสร โปลิเตห์นิกา ทิมิโซอารา

กองหลัง

เบอร์ 2, ชื่อ คอสมิน คอนทรา, สโมสร เกตาเฟ/สเปน
เบอร์ 4, ชื่อ กาเบรียล ทามัส, สโมสร โอแซร์/ฝรั่งเศส
เบอร์ 13, ชื่อ คริสเตียน ซาปูนารู, สโมสร ราปิด บูคาเรสต์
เบอร์ 15, ชื่อ โดริน โกยาน, สโมสร สเตอัว บูคาเรสต์
เบอร์ 14, ชื่อ โซริน กอยเนีย, สโมสร สเตอัว บูคาเรสต์
เบอร์ 17, ชื่อ คอสมิน โมติ, สโมสร ดินาโม บูคาเรสต์
เบอร์ 22, ชื่อ สเตฟาน ราดู, สโมสร ลาซิโอ/อิตาลี
เบอร์ 3, ชื่อ รัซวาน รัต ชัคเตอร์, สโมสร โดเนตส์ค/ยูเครน
เบอร์ 5, ชื่อ คริสเตียน คิวู, สโมสร อินเตอร์ มิลาน/อิตาลี

กองกลาง

เบอร์ 7, ชื่อ ฟลอเรนติน เปเตร, สโมสร ซีเอสเคเอ โซเฟีย/บัลแกเรีย
เบอร์ 8, ชื่อ พอล โคเดรีย, สโมสร เซียนา/อิตาลี
เบอร์ 6, ชื่อ มิเรล ราดอย, สโมสร สเตอัว บูคาเรสต์
เบอร์ 20, ชื่อ นิโคเล ดิกา, สโมสร สเตอัว สโมสร บูคาเรสต์
เบอร์ 16, ชื่อ บาเนล นิโคลิตา, สโมสร สเตอัว บูคาเรสต์
เบอร์ 19, ชื่อ อาเดรียน คริสเตีย, สโมสร ดินาโม บูคาเรสต์
เบอร์ 11, ชื่อ รัซวาน โคซิส, สโมสร โลโคโมทีฟ มอสโก/รัสเซีย

กองหน้า

เบอร์ 10, ชื่อ อาเดรียน มูตู, สโมสร ฟิออเรนตินา/อิตาลี
เบอร์ 9, ชื่อ ซิเปรียน มาริกา, สโมสร สตุตการ์ต/เยอรมนี
เบอร์ 21, ชื่อ ดาเนียล นิคูเล, สโมสร โอแซร์/ฝรั่งเศส
เบอร์ 18, ชื่อ มาริอุส นิคูเล, สโมสร อินเวอร์เนสส์/สกอตแลนด์


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์