เกาะติด ยูโร 2008 เช็ก& กรีซ

สาธารณรัฐเช็ก : จุดเด่นอยู่ที่ผู้รักษาประตูที่เหนียวหนึบและกองหลังที่แข็งแกร่ง

กลุ่ม A : สาธารณรัฐเช็ก, สวิตเซอร์แลนด์, โปรตุเกส, ตุรกี

โปรแกรมการแข่งขันของสาธารณรัฐเช็ก
7 มิถุนายน 2551 พบ สวิตเซอร์แลนด์
11 มิถุนายน 2551 พบ โปรตุเกส
15 มิถุนายน 2551 พบ ตุรกี

ผลงานในการแข่งขันรอบคัดเลือก กรุ๊ป D :
แข่ง 12, ชนะ 9, เสมอ 2, แพ้ 1, ได้ 27, เสีย 5, แต้ม 29

วัน/เดือน/ปี 2 กันยายน 2549, สถานที่ เหย้า, คู่แข่งขัน ชนะ เวลส์, ผล 2-1
วัน/เดือน/ปี 6 กันยายน 2549, สถานที่ เยือน, คู่แข่งขัน ชนะ สโลวาเกีย, ผล 3-0
วัน/เดือน/ปี 7 ตุลาคม 2549, สถานที่ เหย้า, คู่แข่งขัน ชนะ ซานมาริโน, ผล 7-0
วัน/เดือน/ปี 11 ตุลาคม 2549, สถานที่ เหย้า, คู่แข่งขัน เสมอ ไอร์แลนด์, ผล 1-1
วัน/เดือน/ปี 24 มีนาคม 2550, สถานที่ เหย้า, คู่แข่งขัน แพ้ เยอรมนี, ผล 1-2
วัน/เดือน/ปี 28 มีนาคม 2550, สถานที่ เหย้า, คู่แข่งขัน ชนะ ไซปรัส, ผล 1-0
วัน/เดือน/ปี 2 มิถุนายน 2550, สถานที่ เยือน, คู่แข่งขัน เสมอ เวลส์, ผล 0-0
วัน/เดือน/ปี 8 กันยายน 2550, สถานที่ เยือน, คู่แข่งขัน ชนะ ซานมาริโน, ผล 3-0
วัน/เดือน/ปี 12 กันยายน 2550, สถานที่ เหย้า, คู่แข่งขัน ชนะ ไอร์แลนด์, ผล 1-0
วัน/เดือน/ปี 17 ตุลาคม 2550, สถานที่ เยือน, คู่แข่งขัน ชนะ เยอรมนี, ผล 3-0
วัน/เดือน/ปี 17 พฤศจิกายน 2550, สถานที่ เหย้า, คู่แข่งขัน ชนะ สโลวาเกีย, ผล 3-1
วัน/เดือน/ปี 21 พฤศจิกายน 2550, สถานที่ เยือน, คู่แข่งขัน ชนะ ไซปรัส, ผล 2-0

เช็กทำได้ดี กับทุกที่ของยูโร รอบสุดท้าย

สาธารณรัฐเช็ก สามารถผ่านรอบคัดเลือกยูโร ได้ 4 ครั้งติดต่อกัน โดยในรอบคัดเลือกกรุ๊ป ดี คราวนี้ เป็นการแย่งตำแหน่งจ่าฝูงกันระหว่างสาธารณรัฐเช็ก กับ เยอรมนี โดยในครั้งแรกที่กรุงปราก เมื่อ 24 มีนาคม 2550 เช็ก พ่ายในบ้าน 1-2 จากสองประตูของ เควิน คูรานยี โดย มิลาน บารอส ทำให้เจ้าบ้านได้ 1 ประตู ทำให้เยอรมนีทิ้งห่างไปถึง 3 คะแนน เช็กกลับมาเอาชนะเยอรมนีได้ถึงถิ่นที่มิวนิกเมื่อ 17 ตุลาคม 2550 จาก 3 ประตูของ ลิบอร์ ซิออนโก, มาเร็ค มาเตยอฟสกี และ ยาโรสลาฟ บลาซิล ทำให้จบรอบคัดเลือกในฐานะอันดับหนึ่งเหนือเยอรมนี ในที่สุด

ในฟุตบอลโลก 2006 สาธารณรัฐเช็กผ่านรอบคัดเลือกมาอย่างฉิวเฉียด โดยได้อันดับ 2 ของกลุ่ม ตามหลังจ่าฝูง เนเธอร์แลนด์ ถึง 5 คะแนน และเหนือกว่าอันดับ 3 โรมาเนีย เพียงคะแนนเดียว ต้องไปเล่นเพลย์ออฟ กับทีมอันดับ 2 กับกลุ่มอื่น ๆ และเอาชนะนอร์เวย์ได้ 1-0 ทั้งเหย้าและเยือน แม้ว่ารอบสุดท้ายที่เยอรมนี พวกเขาจะออกตัวได้สวยงามด้วยการเอาชนะสหรัฐ ถึง 3-0 แต่กลับมาพ่ายต่อกานา และอิตาลี 0-2 ทั้ง 2 นัด ตกรอบไปอย่างน่าผิดหวัง

สำหรับฟุตบอลยูโร 2004 เช็กมีผลงานที่โดดเด่นมาก โดยในรอบคัดเลือก 8 แมตช์ พวกเขาชนะถึง 7 และ เสมอ 1 ครั้ง กับ เนเธอร์แลนด์ โดย 4 แมตช์ในนัดเหย้า ยิงได้ถึง 14 และเสียเพียง 1 ประตู และลงเล่นรอบสุดท้ายอย่างเหนือชั้นด้วยการชนะ 3 แมตช์รวดในรอบ แรกกับทีมชั้นยอดอย่างลัตเวีย 2-1, เนเธอร์แลนด์ 3-2 และเยอรมนี 2-1 ตามด้วยการพิชิตเดนมาร์กอย่างสบายมือ 3-0 ในรอบก่อนรองชนะเลิศ และสู้กับกรีซอย่างสนุกในรอบรองชนะเลิศจนถึงช่วงต่อเวลาพิเศษ ก่อนจะพ่ายไปอย่างหวุดหวิด ด้วยประตูซิลเวอร์โกล์ของ ตรายานอส เดลลาส ในนาทีที่ 105

ผลงานในอดีตสำหรับฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโรปนี้ เช็กทำได้ดีมาตลอดโดยได้เข้าชิงชนะเลิศในปี 1996 พวกเขาผ่านรอบแรกเป็นที่ 2 ในกลุ่มตามหลังเยอรมนี โดยเอาชนะได้ทั้งอิตาลีและรัสเซีย ในรอบแพ้สอง, รอบก่อนรองชนะเลิศ และรอบรองชนะเลิศ โดยที่พวกเขาเอาชนะได้ทั้งฝรั่งเศส และโปรตุเกส และสู้กับเยอรมนีได้อย่างสนุกในรอบชิงโดยเสมอกัน 1-1 ในเวลา 90 นาที ต้องต่อเวลาพิเศษโดยมีการนำกฎโกลเดนโกลมาใช้เป็นครั้งแรก และเช็กก็พ่ายไปในที่สุดด้วยประตูทองของ โอลิเวอร์ เบียร์ฮอฟ ในนาทีที่ 5 ของเวลาพิเศษ

ในปี 1976 ตั้งแต่ยังเป็นประเทศเชโกสโลวาเกีย พวกเขาได้เข้าชิงกับเยอรมนีที่กรุงเบลเกรด ยูโกสลาเวียและเสมอกัน 2-2 ต้องตัดสินด้วยการยิงลูกจุดโทษ ซึ่งเชโกสโลวาเกีย เอาชนะได้ 5-3 คว้าแชมป์ยูโรมาครองได้สำเร็จ หากนับรวมตั้งแต่เป็นเชโก สโลวาเกีย มาจนถึงแยกตัวเป็นสาธารณรัฐเช็ก จนสิ้นสุดรอบคัดเลือกยูโร 2008 พวกเขาลงเล่นฟุตบอลยูโรมาแล้ว 54 แมตช์ ชนะถึง 39 เสมอ 8 และแพ้เพียง 7 แมตช์เท่านั้น โดยยิงได้ 117 และเสียเพียง 37 ประตู หลังจากแยกประเทศออกมาเป็นสาธารณรัฐเช็ก พวกเขามีสถิติชนะ 25 เสมอ 6 และแพ้ 2 สำหรับรอบคัดเลือก 4 ครั้ง โดยได้ผ่านเข้ารอบสุดท้ายทั้ง 4 ครั้ง

กลยุทธ์การเล่นของทีม

หลังจากพ่ายแพ้ตกรอบแรกในฟุตบอลโลก 2006 เนื่องจากมีผู้เล่นบาดเจ็บจำนวนมาก คาเรล บรุคเนอร์ ได้ปฏิรูปทีมใหม่ โดยยังคงรักษาผู้เล่นแกนนำไว้เป็นหลักของทีม แต่การเลิกเล่นทีมชาติของยอดฝีมืออย่าง คาเรล โพบอร์สกี้ และ พาเวล เนดเวด ก็ทำให้บรุคเนอร์ ต้องปรับเปลี่ยน เทคนิคของทีมเป็นอย่างมาก

จุดเด่นของทีมเช็กชุดนี้ ก็คือ ปราการหลังอันแข็งแกร่ง ด้วยระบบแบ๊กโฟร์ ที่มี ดาวิด โรเซนัล เป็นผู้บัญชาการ และสุดยอดฝีมือผู้รักษาประตูอย่างปีเตอร์ เช็ก ของทีมเชลซี

ใน 4 กองหลังของทีม นอกจาก โรเซนาล แล้ว ก็น่าจะเป็น ราโดสลาฟ โควัค ยืนคู่ตรงกลาง โดยมี มาเร็ค แยนคูลอฟสกี เป็นตัวเลือกเบอร์หนึ่งในตำแหน่งแบ๊กซ้าย ส่วนแบ๊กขวามีตัวเลือกระหว่าง โทมัส อูฟาลูซี, ซเดเน็ค กรีเกอรา และ ซาดเน็ค พอสเป็ค โดยที่นักเตะหนุ่มวัย 23 มี ชาล คาดเลช ลูกชายของ มิโรสลาฟ คาดเลช กัปตันทีมเช็ก ชุดยูโร 96 เป็นกำลังเสริม พร้อมกับ มิฮาล คาดเล็ค เป็นหนึ่งในสมาชิกทีมชาติชุดต่ำกว่า 20 ปี ที่ได้รองแชมป์ฟีฟ่า เวิลด์คัพ เมื่อปี พ.ศ. 2007 และอีกคนหนึ่งในทีมชุดนี้ซึ่งเลื่อนขึ้นมาเป็นใหญ่คือ ดาวยิง มาร์ติน เฟนิน ซึ่งจะเป็นคู่แข่งของมิลาน บารอส ในการลงเล่นคู่กับ แยน โคลเลอร์ ผู้มากประสบการณ์ ดารารุ่นเก๋าอีกคนหนึ่งที่ยังติดเป็นกำลังสำคัญ คือ นักเตะวัย 35 โทมัส กาลาเซ็ค

ในแดนกลาง ทีมเช็กจะมี โทมัส โรซิคกี ของอาร์เซนอล เป็นกัปตันและหัวใจของทีม ในรอบคัดเลือกมาตลอด โดยมี ยาโรสลาฟ พลาซิล นักเตะที่หวังว่าจะมาแทน พาเวล เนดเวด ได้เป็นคู่ขา โดยมี ยาน โพลัค เป็นกองกลางตัวรับ และ เดวิด ยาโรลิม เป็นกองกลางตัวรุก

อย่างไรก็ดี ล่าสุดกับข่าวคราวของ โรซิคกี ที่บาดเจ็บที่หัวเข่านั้น รุนแรงเกินกว่าจะเยียวยาให้หายทัน การแข่งขันในรอบสุดท้าย จนเจ้าตัวเองออกมายอมรับว่า โอกาสของเขานั้นหมดลงไปแล้ว กระนั้นก็ดี เช็ก ก็มีข่าวดีที่ว่า พาเวล เนดเวด กองกลางจอมเก๋าจากยูเวนตุส กำลังตัดสินใจว่าจะกลับมาช่วยชาติดีหรือไม่ ในสัปดาห์หน้า แต่จากเสียงเรียกร้องของหลาย ๆ ฝ่าย น่าจะทำให้ เนดเวด วัย 35 ปี เปลี่ยนใจกลับมารับใช้ชาติ ในยูโร 2008 นี่อีกครั้งก็เป็นได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ก็จะทำให้เช็กยังคงแข็งแกร่ง และเป็นทีมที่ต้องจับตามองในทัวร์นาเมนต์นี้อีกทีมหนึ่ง.

     โค้ช : คาเรล บรุคเนอร์

     แม้ว่าในตอนเป็นนักฟุตบอล เอาจะไม่มีผลงานที่โดดเด่นมากนัก แต่เมื่อหันมาทำหน้าที่โค้ช เขาก็มีผลงานที่ดีเด่นมาตลอด โดยเริ่มรับงานที่บ้านเกิดกับซิกมา โอโลมุช และนำทีมเป็นแชมป์ลีกเชโกสโลวาเกียในปี 1984 และพาทีมเข้าถึงรอบก่อนรองชนะเลิศยูฟ่าคัพ 1991/92 ก่อนจะพ่ายให้กับยอดทีมอย่าง รีล มาดริด หลังจากนั้นเขาไปทำทีมให้กับเอฟเค เออร์โนวิช และอินเตอร์ บราติสลาวา ของสโลวาเกีย ก่อนจะกลับมาอยู่กับ โอโลมุชใหม่ในปี 1995 และพาทีมเป็นรองแชมป์ลีกของสาธารณรัฐเช็กจนกระทั่งถูกเรียกตัวเข้ามาช่วยทีมชาติเช็กในปี 1997

     เขาเริ่มงานด้วยการเป็นโค้ชทีมชาติอายุต่ำกว่า 21 ปี และนำทีมคว้าแชมป์ยูฟ่าที่สวิตเซอร์แลนด์ในปี 2002 หลังจากนั้นเขาได้เข้ารับคุมทีมชาติชุดใหญ่ ต่อจาก โจเซฟ โชวาเนค และช่วยทำให้สาธารณรัฐเช็กมีผลงานที่โดดเด่นมาโดยตลอด ทั้ง ๆ ที่เป็นประเทศเล็ก ๆ มีประชากรเพียง 10 ล้านคนเท่านั้น และสำหรับฟุตบอลยูโร 2008 คราวนี้เชื่อว่าสาธารณรัฐเช็กน่าจะเป็นทีมเต็งอีกทีมหนึ่ง และด้วยฝีมือของคาเรล บรุคเนอร์ พวกเขาน่าจะผ่านรอบแรกไปได้ และเป็นทีมที่ต้องติดตามผลงานอีกทีมหนึ่ง.

โกลเดนเพลเยอร์ : โจเซฟ มาโซปุสท์

เพื่อเป็นการฉลอง ยูฟ่าจูบิลี สมาพันธ์ฟุตบอลแห่งชาติยุโรป ได้ขอให้ทุกประเทศสมาชิก เสนอชื่อผู้เล่นที่โดดเด่นที่สุดของประเทศในรอบ 50 ปี และสาธารณรัฐเช็กได้เลือก “โจเซฟ มาโซปุสท์”

พวกเราคงจะจำได้ว่า พาเวล เนดเวด เคยได้รับตำแหน่งนักฟุตบอลยอดเยี่ยมของยุโรป ในปี 2003 เช่นเดียวกัน โจเซฟ มาโซปุสท์ ก็เคยได้ตำแหน่งนี้เมื่อปี 1962 ในยุคที่มียอดผู้เล่นอย่าง อัลเฟรโด ดิ สเตฟาโน, เรมอนด์ โคปา, ฟรานซิสโก เจนโต ร่วมสมัย

มาโซปุสท์ เกิดเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 1931 และเริ่มเล่นฟุตบอลกับทีมเล็ก ๆ อย่าง บานิค มอสท์ และได้ร่วมกับทีมในลีกสูงสุด เอฟเค เทปลิเซ เมื่ออายุ 19 ปี ในตำแหน่งฮาล์ฟซ้าย อีก 2 ปีต่อมา เขาก็ได้เข้าร่วมทีมทหารบกของเชโกสโลวาเกีย คือ ดูคลา ปราก ในตำแหน่งกองกลางจอมทัพ และพาทีมคว้าแชมป์โลกถึง 8 ครั้ง ในช่วงเวลานั้น เชโกสโลวาเกีย ยังปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ และห้ามนักฟุตบอลออกไปเล่นต่างประเทศจนกว่าจะมีอายุมากแล้ว มาโซปุสท์ จึงต้องอยู่กับ ดูคลา ปราก ถึง 16 ปี ก่อนจะออกไปเล่นในเบลเยียมกับ โมเลนบีค เมื่ออายุ 37 ปีแล้ว

เขาติดทีมชาติเชโกสโลวาเกีย 63 ครั้ง โดยเริ่มต้นในแมตช์กับฮังการี ในปี 1954 เขาได้ลงเล่นฟุตบอลโลกปี 1958 และฟุตบอลยูโรปี 1960 ซึ่งทีมชาติเชโกสโลวาเกียได้อันดับ 3 แต่ผลงานที่โดดเด่นที่สุดของเขาเกิดขึ้นในฟุตบอลโลก 1962 ที่ชิลี

เชโกสโลวาเกีย มีผลงานที่ยอดเยี่ยมมาก จนได้เข้าชิงชนะเลิศกับ บราซิลที่ ซานติเอโก เมื่อ 17 มิถุนายน 1962 และเป็นยอดกองกลาง มาโซปุสท์ที่ยิงให้ทีมขึ้นนำในนาทีที่ 16 ก่อนที่จะพ่ายให้แก่บราซิล 3-1 ได้แค่รองแชมป์

แม้ว่าจะเล่นในตำแหน่งกองกลาง แต่มาโซปุสท์ ก็สามารถยิงประตูสำคัญ ๆ ได้เป็นจำนวนมาก เขาสามารถเล่นได้คล่องแคล่วทั้งเท้าซ้ายและขวา ทำให้โดดเด่นมากในการเลี้ยงลูกหลบหลีกผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามเข้าไปยิงประตู จนได้รับสมญาว่า “มาโซปุสท์ สลาลม” เขายังได้รับการยกย่องมากในการผ่านบอลที่แม่นยำ และความมุ่งมั่นในการเล่นที่สูงยิ่ง รวมทั้งการช่วยกระตุ้นเพื่อนร่วมทีมให้รวมพลังกันต่อสู้อย่างไม่ย่อท้อ

เมื่อออกนอกประเทศในปี 1968 เขารับตำแหน่ง ผู้เล่น-โค้ช และพาทีมโมเลนลีค เลื่อนชั้นขึ้นสู่ดิวิชั่นหนึ่งของเบลเยียมได้สำเร็จ หลังเลิกเล่นฟุตบอลอาชีพ เขากลับไปเป็นโค้ชกับ ดูคลา ปราก และต่อมาพาทีม ซโปรยอฟกา เบรอโน เป็นแชมป์ลีกเช็กในปี 1978 และเข้ารับงานคุมทีม ชาติเชโกสโลวาเกียในปี 1980.

รายชื่อนักเตะทีมชาติสาธารณรัฐเช็กที่คาดว่าจะติดทีมไปออสเตรีย-สวิตเซอร์แแลนด์

ผู้รักษาประตู : ปีเตอร์ เช็ก (เชลซี/อังกฤษ), ยาโรเมียร์ บลาเซ็ค (สปาร์ตา ปราก), มาเร็ค เช็ก (วลาดิวอสต็อค/รัสเซีย)

กองหลัง : ซเดเน็ค กรีเกรา (ไอแอกซ์ อัมสเตอร์ดัม/ฮอลแลนด์), มาเร็ค ยานคูลอฟสกี (เอซี มิลาน/อิตาลี), มาร์ติน ยิราเน็ค (สปาร์ตัก มอสโก/รัสเซีย), ราโดสลาฟ โควัค (สปาร์ตัก มอสโก/รัสเซีย), ดาวิด โรเซนัล (ปารีส แซงต์-แชร์กแมง/ฝรั่งเศส), โทมัส อูฟาลูซี (ฟิออเรนตินา/อิตาลี)

กองกลาง : โทมัส กาลาเซ็ค (เนิร์นแบร์ก/เยอรมนี), ยาโลสลาฟ พลาซิล (โมนาโก/ฝรั่งเศส)
ยาน โพลัค (เนิร์นแบร์ก/เยอรมนี), โทมัส โรซิคกี (อาร์เซนอล/อังกฤษ), ลิบอร์ ซิออนโก (กลาสโกว์ เรนเจอร์ส/สกอตแลนด์), ดาเนี่ยล พูดิล (สโลวาน ลิเบอเรช), มาเร็ค มาเตยอฟสกี (มลาดา โบเลสลาฟ), มาร์ติน อบราฮิม (สลาเวีย ปราก), ดาวิด ยาโรลิม (ฮัมบวร์ก/เยอรมนี), ราโดสลาฟ โควัช (สปาร์ตัก มอสโก/รัสเซีย), ลูบอส เปชกา (อเลมาเนีย อาคเคน/เยอรมนี)
โทมัส ซิวอก (สปาร์ตา ปราก ), พาเวล เนดเวด (ยูเวนตุส/อิตาลี)

กองหน้า : แยน โคลเลอร์ (โมนาโก/ฝรั่งเศส), มิลาน บารอส (โอลิมปิก ลียง/ฝรั่งเศส), ดาวิด ลาฟาตา (ออสเตรีย เวียนนา/ออสเตรีย), มาเร็ค คูลิค (สปาร์ตา ปราก), มาร์ติน เฟนิน (ไอน์ทรัค แฟรงก์เฟิร์ต/เยอรมนี), ลิบอร์ ซิออนโก (เอฟซี โคเปนเฮเกน/เดนมาร์ก), ยีรี สตาจเนอร์ (ฮันโนเวอร์ 96/เยอรมนี), สตานิสลาฟ วาลเชค (อันเดอร์เลชท์/เบลเยียม)


กรีซ : บทพิสูจน์ของแชมป์ยูโร 2004

กลุ่ม D

โปรแกรมการแข่งขัน : รอบแรก
10 มิ.ย.2008 กรีซ - สวีเดน 01.45 น.
14 มิ.ย.2008 กรีซ - รัสเซีย 01.45 น.
18 มิ.ย.2008 กรีซ - สเปน 01.45 น.

ผลงานในรอบคัดเลือก
แข่ง 12, ชนะ 10, เสมอ 1, แพ้ 1, ได้ 25, เสีย 10, แต้ม 31

วัน/เดือน/ปี 2 กันยายน 2549, สถานที่ เยือน, คู่แข่งขัน ชนะ มอลโดวา, สกอร์ 1-0
วัน/เดือน/ปี 7 ตุลาคม 2549, สถานที่ เหย้า, คู่แข่งขัน ชนะ นอร์เวย์, สกอร์ 1-0
วัน/เดือน/ปี 11 ตุลาคม 2549, สถานที่ เยือน, คู่แข่งขัน ชนะ บอสเนีย, สกอร์ 4-0
วัน/เดือน/ปี 24 มีนาคม 2550, สถานที่ เหย้า, คู่แข่งขัน แพ้ ตุรกี, สกอร์ 1-4
วัน/เดือน/ปี 28 มีนาคม 2550, สถานที่ เยือน, คู่แข่งขัน ชนะ มอลตา, สกอร์ 1-0
วัน/เดือน/ปี 2 มิถุนายน 2550, สถานที่ เหย้า, คู่แข่งขัน ชนะ ฮังการี, สกอร์ 2-0
วัน/เดือน/ปี 6 มิถุนายน 2550, สถานที่ เหย้า, คู่แข่งขัน ชนะ มอลโดวา, สกอร์ 2-1
วัน/เดือน/ปี 12 กันยายน 2550, สถานที่ เยือน, คู่แข่งขัน เสมอ นอร์เวย์, สกอร์ 2-2
วัน/เดือน/ปี 13 ตุลาคม 2550, สถานที่ เหย้า, คู่แข่งขัน ชนะ บอสเนีย, สกอร์ 3-2
วัน/เดือน/ปี 17 ตุลาคม 2550, สถานที่ เยือน, คู่แข่งขัน ชนะ ตุรกี, สกอร์ 1-0
วัน/เดือน/ปี 21 พฤศจิกายน 2550, สถานที่ เหย้า, คู่แข่งขัน ชนะ มอลตา, สกอร์ 5-0
วัน/เดือน/ปี 21 พฤศจิกายน 2550, สถานที่ เยือน, คู่แข่งขัน ชนะ ฮังการี, สกอร์ 2-1

สถิติในฟุตบอลยูโรทั้งหมดที่ผ่านมา
เล่น 100, ชนะ 48, เสมอ 19, แพ้ 33, ยิงได้ 146, เสีย 115

ข้อมูลจำเพาะ

กัปตันทีม : อังเจลอส บาซินาส
อันดับโลกล่าสุด : 11
ผลงานดีที่สุดในยูโร : แชมป์ 2004
ผลงานในการแข่งขันรอบสุดท้าย
1960 -ไม่ได้เข้าร่วม, 1964 ถอนตัวจากรอบคัดเลือก, 1968 ไม่ผ่านรอบคัดเลือก, 1972 ไม่ผ่านรอบคัดเลือก, 1976 ไม่ผ่านรอบคัดเลือก, 1980 รอบแรก, 1984 ไม่ผ่านรอบคัดเลือก, 1988 ไม่ผ่านรอบคัดเลือก, 1992 ไม่ผ่านรอบคัดเลือก, 1996 ไม่ผ่านรอบคัดเลือก, 2000 ไม่ผ่านรอบคัดเลือก, 2004 แชมป์, 2008 เข้ารอบสุดท้าย

กรีซ เจ้าของแชมป์ฟุตบอลยูโร 2004 ตั้งความหวังที่จะป้องกันแชมป์ไว้ให้ได้ และแสดงให้เห็นว่าคว้าแชมป์ยูโร 2004 มาได้ด้วยฝีมืออย่างแท้จริง ด้วยการลงเล่นรอบคัดเลือกกลุ่ม C คว้าแชมป์กลุ่มมาได้ด้วยคะแนน 31 จากการเล่น 12 นัด เป็นคะแนนสูงสุดเหนือทุกทีมในรอบคัดเลือก

กรีซ เริ่มรอบคัดเลือกได้อย่างยอดเยี่ยม ด้วยการชนะ 3 นัดรวดโดยไม่เสียประตูเลย แต่กลับพลาดท่าพ่ายตุรกีในบ้านอย่างน่าผิดหวังถึง 1-4 ทั้งที่ยิงนำไปก่อนตั้งแต่นาทีที่ 5 ด้วยประตูของ โซติริออส คีร์เกียกอส แต่พวกเขาก็มิได้เสียขวัญและกลับมาเอาชนะได้ 7 นัดจาก 8 นัดที่เหลือโดยพลาดการคว้าชัยชนะเพียงนัดเดียว ในการออกไปเยือนนอร์เวย์และเสมอ 2-2 ในแมตช์ที่ คีร์เกียกอส ยิงคนเดียวทั้ง 2 ประตู โดยทำคะแนนได้เข้ารอบแน่นอนตั้งแต่เล่นไปเพียง 10 นัดเท่านั้น และดาวยิง คีร์เกียกอส ซึ่งลงเล่นเต็มเวลาทั้ง 12 นัด 1,080 นาที โชว์ฟอร์มได้โดดเด่นโดยตลอด

ในยูโร 2004 กรีซผ่านรอบคัดเลือกเข้าสู่รอบสุดท้ายได้เป็นผลสำเร็จเป็นครั้งที่สองในประวัติศาสตร์ โดยคว้าอันดับ 1 ของกลุ่มได้จากชัยชนะ 6 นัดเสมอ 2 ดีกว่าเพื่อนร่วมกลุ่มที่น่าเกรงขามอย่างสเปน และยูเครน แต่มีผลงานใน 4 นัดสุดท้าย ชนะคู่ต่อสู้ได้แค่ 1-0 ทั้ง 4 นัดพวกเขาจึงได้ไปเล่นรอบสุดท้ายที่โปรตุเกสแบบม้านอกสายตา แม้จะเริ่มต้นเปิดสนามได้ด้วยการเอาชนะเจ้าภาพโปรตุเกส 2-1 แต่ก็เป็นที่ 2 ของกลุ่มในรอบแรก ต้องเข้าไปพบอดีตแชมป์ฝรั่งเศสในรอบก่อนรองชนะเลิศพวกเขาพลิกความคาดหมายเอาชนะได้ 1-0 ด้วยประตูของ อันเกลอส ชาริสเตอัส ในนาทีที่ 65 และยิงเอาชนะสาธารณรัฐเช็ก ได้อีกในรอบรองชนะเลิศ ด้วยประตูซิลเวอร์โกลของ ตรายานอส เดลลาส นาทีที่ 105 และสุดท้ายคว้าแชมป์มาครองด้วยการพิชิตเจ้าภาพโปรตุเกส 1-0 จากประตูของ ชาริสเตอัส ในนาทีที่ 57

อย่างไรก็ดีหลังจากฉลองแชมป์กันอย่างยิ่งใหญ่ กรีซกลับมาเล่นรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก 2006 อย่างไร้ชีวิตชีวา เอาชนะได้ 6 เสมอ 3 แพ้ 3 ได้ 21 คะแนน เข้าเป็นที่ 4 ของกลุ่ม ตกรอบ อดไปเล่นรอบสุดท้ายที่ เยอรมนีอย่างน่าเสียดาย

ก่อนยูโร 2004 กรีซเคยได้เข้าถึงรอบสุดท้ายมาเพียงครั้งเดียวเมื่อปี 1980 ได้สร้างสถิติชนะมากที่สุดเหนือฟินแลนด์ 8-1 ในรอบคัดเลือก.

กลยุทธ์ของทีมกรีซ

ทีมชุดยูโร 2008 ของเรห์ฮาเกล เปลี่ยนรูปโฉมไปจากชุด แชมป์ยูโร 2004 อย่างมาก โดยยังคงเหลือผู้เล่นเก่าอยู่เพียงครึ่งทีม โดยเฉพาะกัปตันทีม ธีโอโดรอส ซาโกรากิส ได้แขวนสตั๊ดไปแล้ว

ในช่วงของการแข่งขันรอบคัดเลือก เรห์ฮาเกล เลือกใช้ระบบ 4-3-3 แต่มีแผนจะปรับเป็น 4-4-2 ในรอบสุดท้าย เพื่อเพิ่มความ แข็งแกร่งในเกมรับเพราะต้องเจอกับคู่ต่อสู้ที่น่ากลัวทั้งสิ้น

ในตำแหน่งผู้รักษาประตู อันโตนิออส นิโคโปลิดิส ยังคงได้รับความไว้วางใจให้เป็นมือ 1 โดยมี คอนสแตนตินอส ชาลกิอัส เป็นตัวเลือกที่ไว้ใจได้ไม่แพ้กัน สองกองหลังคู่กลาง มี ตรายานอส เดลลาส กับ โซติริออส คีร์เกียกอส ซึ่งเล่นตลอดเวลาครบทุกเกมในรอบคัดเลือก เป็นตัวจริงที่ค่อนข้างแน่นอน แบ๊กขวายังคงเป็น จอร์กาส ไซตาริดิส ส่วนแบ๊กซ้ายน่าจะตกเป็นของ วาสซิริส โตโรซิดิส โดยมีเพื่อนร่วมทีมโอลิมเปียกอส พาราสเกวาส อันต์ซาส และ คริสตอส ปาตซาตโซกลู เป็นกำลังเสริมได้ทุกตำแหน่งในแดนหลัง

กองกลางตัวรับ น่าจะตกเป็นของกัปตันทีม อันเกลอส ชาริส เตอัส และคอนสแตนตินอส คัตซูรานิส ซึ่งเล่นคู่กันมาตั้งแต่ยูโร 2004 โดยมี จอร์จอส คารากูนิส เป็นกองกลางตัวรุกซึ่งเล่นเกมเคาน์เตอร์แอท แทคได้ดี ทั้งยังยิงประตูได้เฉียบคมอีกด้วย

ในแดนหน้านั้น เรห์ฮาเกล มีขุมกำลังให้เลือกอย่างเหลือเฟือ ได้แก่ ยอนนิส อมานาติดิส, นิโคลออส ลิเบโรปูลอส, สเตลิออส ยานนาโคโปลอส, อันเกลอส ชาริสเตอัส และ จอร์จอร์จ ซามาราส


     โค้ช : ออตโต เรห์ฮาเกล 


     ออตโต เรห์ฮาเกล ยอดโค้ชชาวเยอรมัน ที่พวกเรารู้จักกันดี จากผลงานพาทีมคว้าแชมป์ บุนเดสลีกาหลายครั้งจนได้รับสมญาว่า “คิง ออต โต” เข้ารับงานคุมทีมชาติกรีซเมื่อเดือนสิงหาคม 2001 แม้แฟนบอลและผู้สันทัดกรณีทั้งหลายจะเชื่อฝีมือของเรห์ฮาเกล แต่ก็มีน้อยคนมากที่คิดว่าเขาจะพาทีมกรีซซึ่งเป็นทีมรองบ๊วย มาตลอดให้ประสบความสำเร็จได้ โดยเฉพาะเมื่อเขาเริ่มงานคุมทีม ครั้งแรกแพ้ฟินแลนด์ถึง 1-5 แต่ “คิง ออตโต” มิได้ย่อท้อ ทำการปรับปรุงทีม อย่างหนักทั้งการเคี่ยวเข็ญนักเตะรายบุคคล การเคร่งครัดในระเบียบวินัย และการฝึกกลยุทธ์ใหม่ให้ทีมทำให้เขาพาทีมผ่านรอบคัดเลือกยูโร 2004 ได้สำเร็จและทำผลงานที่ชาวกรีกทั้งมวล จะไม่มีวันลืมได้เลยนั่นคือการคว้าแชมป์ยูโร 2004 มาครอง

     แม้ว่านักเตะกรีซทั้งหลายจะฟอร์มฝืด หลังการฉลองแชมป์ จนตกรอบคัดเลือกฟุตบอลโลก 2006 เรห์ฮาเกล ก็สามารถนำกรีซกลับมาใหม่อย่างน่าเกรงขาม ด้วยการปรับปรุงทีมอย่างขนานใหญ่ จนผ่านรอบคัดเลือกยูโร 2008 ได้อย่างสวยงามและตัวเขาเอง ก็สามารถสร้างสถิติใหม่ ด้วยการคุมทีมชาติกรีซครบ 75 นัดในนัดสุดท้ายของรอบคัดเลือกยูโร 2008 ทำลายสถิติที่ อัลเคทาส พานากูลิอาส ทำไว้ที่ 74 นัด

ออตโต เรห์ฮาเกล เคยลองเล่นฟุตบอลอาชีพ กับ แฮร์ธา เบอร์ลิน และไกเซอร์สเลา เทิร์น ในช่วงปี 1960-70 และเริ่มงานโค้ชกับสโมสรคิคเกอร์ส ออฟเฟนบัค ตามด้วย แวร์เดอร์ เบรเมน, โบรุสเซีย ดอร์ตมุนด์, อาร์มีเนีย บีเลเฟลด์ และฟอร์จูนา ดุสเซลดอร์ฟ ซึ่งเขาพาทีมครองแชมป์เยอรมันคัพได้สำเร็จในฤดูกาล 1979/ 80 จากนั้นจึงกลับไปคุมทีมเบรเมนซึ่งตกไปอยู่ลีกาสอง ในปี 1981 ครั้งนี้เขาอยู่กับทีมยาวนานถึง 14 ปีพาทีมขึ้นสู่บุนเดสลีกา และคว้าแชมป์บุนเดสลีกา ได้ 2 ครั้งในฤดูกาล 1986/87 และ 1992/93 คว้า เยอรมันคัพ 2 ครั้ง 1990/91 และ 1993/94 คัพ วินเนอร์สคัพ 1991/92 หลังจากนั้นเขาถูกดึงตัวมาอยู่กับสโมสรยักษ์ใหญ่บาเยิร์น มิวนิก และพาทีมเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศ ยูฟ่าคัพ 1995/ 96 แต่กลับถูกปลดออกจากทีมโดยกะทันหัน เขากลับมาลบรอยแค้นได้อย่างรวดเร็วด้วยการคุมทีมไกเซอร์สเลาเทิร์น คว้าแชมป์บุนเดสลีกา 1997/98 แบบหักปากกาเซียน และลาออกจากทีมในที่สุดเมื่อเดือนตุลาคม 2000 ก่อนจะมารับงานคุมทีมชาติกรีซในอีก 10 เดือนต่อมาเรห์ฮาเกลนับเป็นคนแรก ในวงการฟุตบอลเยอรมนีที่ได้อยู่กับทีมสโมสรในฐานะนักเตะและในฐานะโค้ชรวมกันแล้วเกิน 1,000 แมตช์ ในบุนเดสลีกา.


ดาราทองของกรีซ : วาสซิลิส ฮาตซิพานากิส


แฟนบอลชาวไทยคงมีน้อยมากที่จะรู้จัก ฮาตซิพานากิส เนื่องจากเขามีชื่อเสียงในช่วง 20-30 ปีก่อน และมีชีวิตการเล่นฟุตบอลที่น่าเสียดายเป็นอย่างยิ่งทั้งที่มีฝีเท้าเป็นที่ยอมรับ และได้รับการยกย่องว่ามีลีลาการเลี้ยงลูกหลบหลีกคู่ต่อสู้ที่สวยงาม และมีประสิทธิภาพมากที่สุดในประวัติศาสตร์ฟุตบอลของกรีซ

เขาเกิดในดินแดนของสหภาพโซเวียตรัสเซีย เมื่อเดือนตุลาคม 1954 ในครอบครัวของชาวกรีกอพยพ และมีฝีเท้าโดดเด่นตั้งแต่วัยเด็ก จนเป็นที่สนใจของสโมสรพาคตากอร์ ในทัชเคนท์ (ปัจจุบันอยู่ในอุซเบกิสถาน) แต่สมาคมฟุตบอลสหภาพโซเวียตขณะนั้นกำหนดว่านักฟุตบอลอาชีพในดิวิชั่น 1 ของประเทศจะต้องเป็นผู้มีสัญชาติโซเวียตเท่านั้น สโมสรจึงกดดันครอบครัวของเขาอย่างต่อเนื่องให้ขอใช้สัญชาติโซเวียต จนพ่อแม่ของเขายินยอมในที่สุด เขาได้เริ่มอาชีพฟุตบอลกับสโมสรพาคตากอร์ เมื่ออายุ 17 ปี และติดทีมชาติอายุต่ำกว่า 19 ปี ของโซเวียตอย่างรวดเร็วและติดทีมชาติชุดใหญ่ในเวลาต่อมา เขาได้ลงเล่นให้ทีมชาติสหภาพโซเวียตในรอบคัดเลือกฟุตบอลโอลิมปิก 1976 ซึ่งโค้ชทีมชาติ คอนสแตนติน เบสคอฟ ยกย่องฝีเท้าของเขาว่า ในตำแหน่งตัวรุกทางซ้าย ฝีเท้าของเขาจะเป็นรองก็แต่ โอเล็ก บล็อกกิน ผู้ยิ่งใหญ่ของโซเวียตเท่านั้น

อย่างไรก็ดี เขาตัดสินใจครั้งสำคัญ หันหลังให้ฟุตบอลลีก โซเวียต มาลงเล่นในสโมสรของกรีซ ดินแดนบ้านเกิดของบิดาเมื่ออายุเพียง 21 ปี โดยเซ็นสัญญากับสโมสร ไอรากลอส ในเมืองเธสซาโลนิกิ และลงเล่นนัดแรกเมื่อเดือนธันวาคม 1975 ท่ามกลางแฟนบอลเต็มความจุของสนาม

เขาเป็นนักฟุตบอลยอดนิยมของสโมสร และเป็นที่รักของแฟนบอลมาก จนสโมสรไม่กล้าขายเขาให้กับทีมอื่นที่ยื่นข้อเสนอเข้ามามากมาย ทั้ง ลาซิโอ, อาร์เซนอล, ปอร์โต และสตุตการ์ต เพราะกลัวแฟนบอลจะประท้วงและเลิกสนับสนุนสโมสร เขาจึงอยู่กับไอรากลอส ยาวนานถึง 16 ปี และจบชีวิตค้าแข้งอาชีพ ในแมตช์มิตรภาพกับสโมสรบาเลนเซียในวันเกิดครบอายุ 37 ปี เมื่อตุลาคม 1991

ฮาตซิพานากิส นับว่าโชคไม่ดีเป็นอย่างยิ่ง เพราะได้ลงเล่นให้ทีมชาติกรีซเพียงครั้งเดียว ในแมตช์มิตรภาพกับโปแลนด์เดือนพฤษภาคม 1976 ในกรุงเอเธนส์ แต่หลังจากนั้นฟีฟ่าก็แจ้งว่าเขาไม่สามารถเล่นให้ทีมชาติกรีซได้ เพราะเคยลงเล่นให้ทีมชาติสหภาพโซเวียตมาแล้ว

แม้จะไม่มีโอกาสเล่นในระดับชาติ แต่ฝีเท้าของเขาก็เป็นที่ยอมรับว่าอยู่ในระดับโลก โดยได้รับเกียรติเชิญเข้าร่วมทีมดาราโลกเคียงข้างกับ ฟรานซ์ เบคเคนบาวร์, มาริโอ เคมเปส, เควิน คีแกน, และ โดมินิก โรเชตู พบทีม นิวยอร์ก คอสมอสที่มีเปเล่นำทีม ในกรุงนิวยอร์ก เมื่อมิถุนายน 1984.

รายชื่อนักเตะทีมชาติกรีซที่คาดว่าจะติดทีมชาติไปออสเตรีย-สวิตเซอร์แลนด์



ผู้รักษาประตู :
อันโตนิออส นิโคโปลิดิส, คอนสแตนตินอส ชาลกิอัส, อเลกซานดรอส ทีซอร์วาส

กองหลัง : พาราสเกวาส อันต์ซาส, โซติริออส คีร์เกียกอส, โซคราเตส ปาปาสตาโธปูลอส, คริสตอส ปาตซาตโซกลู, จอร์กาส ไซตาริดิส, วาสซิริส โตโรซิดิส, ตรายานอส เดลลาส, ยอนนิส กูมาส, นิคอส สไปโรปูลอส, ลูคัส วินตรา

กองกลาง : สเตลิออส ยานนาโคโปลอส, จอร์จอส คารากูนิส, คอนสแตนตินอส คัตซูรานิส, อเลกซานดรอส ทีโซลิส

กองหน้า : ยอนนิส อมานาติดิส, อันเกลอส ชาริสเตอัส, ธีโอฟานิส เกคาส, จอร์จอร์จ ซามาราส, นิโคลออส ลิเบโรปูลอส, ดิมิทรอส ซัลปินกิดิส


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์