ปรากฏการณ์ เลสเตอร์ ซิตี้ กับความเชื่อทางศาสนา

สื่อต่างประเทศตีข่าวกิจกรรมของพระพรหมมังคลาจารย์หรือ "เจ้าคุณธงชัย" หรือพระอีกหลายรูป หลายกลุ่มที่เดินทางไปปฏิบัติกิจนิมนต์ในสโมสร สำหรับแฟน ๆ ในไทยที่ติดตามน่าจะรู้กันดีอยู่แล้วว่า เจ้าคุณธงชัยมอบผ้ายันต์ปลุกเสกพร้อมกับ "ให้พร" นักเตะด้วยวิธีที่หลากหลาย

จากทีมที่หนีตกชั้น มาสู่ทีมที่รอดตกชั้น จนแปรสภาพเป็นทีมลุ้นแชมป์ในช่วงปลายฤดูกาลต่อมา แม้จะไม่สามารถหาคำตอบอย่างชัดเจน หรือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่พิสูจน์ผลกระทบต่อทีม แต่สิ่งที่ปรากฏคือการเปลี่ยนแปลงสถานะของทีม

การมองกิจกรรมที่เกิดขึ้นในฐานะ "วัฒนธรรม" น่าจะนิยามได้ว่า สิ่งที่เกิดคือการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับ "แนวคิดทางศาสนา" ความเชื่อเฉพาะด้านเหล่านี้มีอยู่ในแวดวงกีฬามานาน กีฬาหลายประเภทเริ่มเห็นถึงอิทธิพลและความเชื่อมโยงบางอย่างที่ส่งผลต่อการแข่ง พร้อมเริ่มวางมาตรการบริหารจัดการ


ปรากฏการณ์ เลสเตอร์ ซิตี้ กับความเชื่อทางศาสนา

อันที่จริงแล้ว องค์กรกีฬาหลายแห่งพยายามนิยามชนิดกีฬาที่ดูแลเป็นพื้นที่เปิดกว้างสำหรับผู้แข่งขันที่หลากหลายอย่างเท่าเทียม โดยลดสิ่งกีดกั้นให้มากที่สุด นี่คือหลักการหรือแนวคิดพื้นฐานของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือฟีฟ่า ซึ่งเป็นผู้ควบคุมดูแลการแข่งฟุตบอลรายการใหญ่ทั้งหลายในโลก

อย่างไรก็ตาม สมาชิกบอร์ดผ่านกฎในการประชุมสามัญเมื่อปี 2014 ห้ามผู้เล่น "แสดงข้อความบนเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์พื้นฐาน ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับการเมือง, ศาสนา ไปจนถึงข้อความส่วนตัว"

ภาพกาก้า เทพบุตรลูกหนังชาวบราซิลเลียน คุกเข่าในท่าแสดงความเคารพ ขณะที่สวมเสื้อที่มีข้อความเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางศาสนา ถ้าเกิดขึ้นอีก ฟีฟ่าสามารถพิจารณาบทลงโทษได้

กฎการควบคุมนี้ถูกผ่านเพื่อหวังลดแนวโน้มความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น เมื่อความเชื่อส่วนบุคคลของบางคนกระทบต่อความเชื่อของคนอีกกลุ่มหนึ่ง ถ้าเร่งความเร็วมาดูเหตุการณ์ที่เกิดล่าสุดในการแข่งฟุตบอลชิงแชมป์เอเชีย รุ่นอายุต่ำกว่า

23 ปี เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา สหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย หรือเอเอฟซี สั่งห้ามทีมชาติไทยนำพระเครื่องห้อยที่ตาข่ายประตู แถมกำชับสื่อมวลชนห้ามสัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้อีก โดยให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

ในสายตาขององค์กรที่ดูแลควบคุมการแข่ง ความเชื่อเหล่านี้ยังเป็นที่ยอมรับได้เมื่ออยู่นอกสนาม แต่องค์กรที่ดูแลการแข่งไม่ต้องการเสี่ยงเกิดความขัดแย้งทางความเชื่อ จึงมีแนวโน้มว่าอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อส่วนบุคคลอาจถูกจำกัดจากพื้นที่ทำการแข่งขันมากขึ้นเรื่อย ๆ จากการจำกัดขององค์กรผู้ดูแล

ตามภาพจำของคนส่วนใหญ่ โลกตะวันตกมักถูกมองว่าเป็นโลกสมัยใหม่ ซึ่งแยกความเชื่อส่วนบุคคลเชิงสิ่งเหนือธรรมชาติกับสิ่งที่พิสูจน์ได้ออกจากกัน แต่ก่อนหน้าการแข่งซูเปอร์โบว์ล ปี 2014 มีผลสำรวจออกมาว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันร้อยละ 50 เชื่อว่า การแข่งกีฬามีพลังงานเหนือธรรมชาติเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งน่าจะฉายภาพว่าแม้แต่คนดูยังมีความเชื่อว่า "สิ่ง" ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อของตัวเองทั้งบันดาลหรือสาปแช่งผลที่เกิดกับการแข่งได้

ไม่ว่าแต่ละคนจะมีความเชื่อส่วนบุคคลอย่างไร สิ่งต่าง ๆล้วนมาจบลงที่การแข่งขันในยุคใหม่ ซึ่งความเชื่อที่หลากหลายถูกควบคุมจากองค์กรผู้จัด แต่สิ่งที่น่าคิดอีกมุมคือมีข้อสังเกตและงานวิจัยทางมานุษยวิทยาที่มองว่า "กีฬา" เองกลับแทบจะมีสถานะไม่ต่างจาก "ศาสนา" เองด้วยซ้ำ แม้แต่เซ็ปป์ แบล็ตเตอร์ อดีตประธานฟีฟ่าที่มีคดีติดตัว ยังเคยให้สัมภาษณ์ว่า ฟีฟ่ามีอิทธิพลไม่น้อยไปกว่าประเทศ หรือความเชื่อทางศาสนาด้วยซ้ำ

การที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเกี่ยวข้องกับกีฬา หรือไปถึงขั้นเป็นแฟนของทีมใดทีมหนึ่ง แฟนของนักกีฬาคนใดคนหนึ่ง คุณลักษณะของทีมทั้งแบบรูปธรรมและนามธรรม การปฏิบัติ การติดตามทำกิจกรรมมักเป็นอิทธิพลต่อผู้ที่ติดตาม การเข้าถึงและมีส่วนร่วมอย่างเข้มข้นบางครั้งเมื่อมีอารมณ์หรือความเห็นต่าง ถ้าสถานการณ์ไปเกินควบคุมมักเกิดปรากฏการณ์ปะทะกันขึ้นทั้งในและนอกสนาม

นั่นคือเหตุผลที่ต้องมีการบริหารจัดการและให้พื้นที่กับความหลากหลายให้อยู่ในขอบเขต ซึ่งทุกวันนี้วงการกีฬาหลายรายการเริ่มหันมาดูแลจัดการพื้นที่ในการแข่งมากขึ้น


Cr.prachachat

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์