ปรัชญาแห่งจอมคน โดย ก็องโต้

แม้สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เกมพรีเมียร์ลีก อังกฤษ จะโดนพายุหิมะถล่มจนต้องเลื่อนโปรแกรมกันระนาว และยังไม่รู้ว่าวิกฤตการณ์อากาศในเมืองผู้ดีจะมีทีท่าสงบลงเมื่อไร แต่ยังมีอีกงานเลี้ยงฉลองที่ไม่ได้จางหายไปพร้อมกับความเหงาหงอยเทศกาล เว้นวรรค ของเกมลูกหนัง นั่นก็คือพิธีเถลิงบัลลังก์ความยิ่งใหญ่ระดับตำนานของชายที่ชื่อว่า เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน


ตำนานของตำนาน นี่คือคำที่อาจจะเป็นสรรพนามของ ชายรุ่นดึก รายนี้ หลังจากก้าวผ่านความสำเร็จครั้งแล้วครั้งเล่า ทุกยุค ทุกสมัย แม้กาลเวลาจะกระชากตีนกาให้หยิกยุ่งเหยิงมากมายเพียงใด แต่สำหรับชื่อของ ปรมาจารย์ลูกหนังผู้นี้ ไม่เคยตกยุคตกรุ่น แม้แต่เสี้ยววินาทีเดียว


ครับผมกำลังพูดถึง สถิติ ที่รังสรรค์ขึ้นจาก ท่านเซอร์ (อีกแล้ว) ซึ่งสามารถบรรลุโสดาบันกลายเป็นกุนซือที่คุมทีมยาวนานสุดตลอดกาลของ สถาบันลูกหนังแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไปเป็นที่เรียบร้อย ด้วยการก้าวผ่านสถิติเดิมของปรมจารย์รุ่นคุณปู่ผู้ล่วงลับนาม เซอร์ แม็ตต์ บัสบี้


ด้วยระยะเวลา 24 ปี 1 เดือน และ 14 วัน หน้าประวัติศาสตร์ของกุนซือแห่งรั้วโอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ก็ได้แปรเปลี่ยนไปอีกครั้ง และก็จะเป็นเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ตราบใดที่กระทาชายผู้นี้ยังไม่ตายคาเก้าอี้ ดังที่กูรูหลายสำนักมักนำพูดกัน ยามใดก็ตามที่มีข่าวลือเล็ดรอดออกมาว่า ป๋า กำลังจะคิดรีไทร์ (อันนี้ผมขอยกมือเห็นด้วย)


เชื่อว่าบทความสดุดี ความดีความชอบของ ท่านเซอร์ ที่ปลูกฝังและรังสรรค์ความดีงามนานับประการให้แก่สังเวียนผืนผ้าใบ โดยเฉพาะในแง่ของ สถิติ และการผ่านร้อนผ่านหนาวในช่วงที่ผจญภัยในโลกแห่งลูกหนังของชายผู้นี้ คงจะไหลมาเทมาจนนับไม่ถ้วน ดั้งนี้ผมจึงขออนุญาตินำสิ่งที่เป็น เอกลักษณ์ ที่เป็น อัตลักษณ์ จาก ปรัชญา การทำงานของกุนซือรายนี้ มาขยายความกันดีกว่า


ว่าแล้วหากจะนำ ปรัชญา การทำงานของ ผู้วิเศษชาวสกอตต์ ผู้นี้มาชี้แจงคงต้องขอแบ่งเป็นเรื่องๆ มาชำแหละน่าจะเข้าใจง่ายกว่า จะมีอะไรบ้าง ไปติดตามกันได้เลยครับ


กล้าได้กล้าเสีย


ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าชื่อของ เฟอร์กี้ คงจะไม่ดังคับฟ้าขนาดนี้ หากชะตาชีวิตของเขาไม่ขึ้นอยู่กับความ เสี่ยง นับตั้งแต่ 4 ปีแรกที่เข้ามาทำงานในรั้วโอลด์ แทร็ฟฟอร์ด และไม่เคยพาทีมตราปีศาจ พุ่งชนความสำเร็จแม้แต่รายการเดียว นับได้ว่าเขาคือคนที่ ดวงแข็ง เอาการ ก่อนปลดล็อกนำถ้วย เอฟเอ คัพ มาประดับตู้ใชว์ เมื่อปี 1990 และจากนั้นก็อย่างที่รู้ๆ กันว่านับจากนั้น โทรฟี่ต่างๆ ก็ไหลมาเทมาจนนับไม่ถ้วน


นอกจากสไตล์การแก้เกมที่เน้นความ เสี่ยง เข้าแลก แถมยังได้ผลชะงัดมานับไม่ถ้วนแล้ว การวัดดวงทุ่มซื้อนักเตะราคาแพงระยับหรือแม้กระทั่ง โนเนม มาปั้นบนถนนดวงดาวแห่งโรงละคร ก็จัดได้ว่าสายตาของ กุนซือผู้นี้ ไม่เป็น 2 รองใคร อาทิเช่น อิริค คันโตน่า, ปีเตอร์ ชไมเคิ่ล, พอล อินซ์, รอย คีน, รุด ฟาน นิสเตลรอย, คริสเตียโน่ โรนัลโด้ หรือแม้กระทั่งว่าที่สตาร์คนใหม่นามว่า หลุยส์ นานี่...? 


อยู่ได้ด้วย ระบบ


นอกจากความเฮี้ยบในการทำงานแล้ว สิ่งหนึ่งซึ่งเป็นที่โจษจัณฑ์จากฝีไม้ลายมือของ จอมคนเลือดวิสกี้ คงหนีไม่พ้นการวาง ระบบการเล่น ซึ่งเป็นระเบียบแบบแผนชัดเจนนับตั้งแต่ก้าวเข้ามาอยู่ในรั้วโอลด์ แทร็ฟฟอร์ด ตั้งแต่ปี 1986


สไตล์การเล่นในแบบฉบับของ ป๋า นั้นไม่มีอะไรซับซ้อน หรือจะเรียกกันให้กระแดะหน่อยว่า “Back to Basic” เน้นเคะตามช่อง - บอลจังหวะเดียว หรือ วัน ทัช – เพรสซิ่งทั่วทั้งสนาม – โจมตีฉับไว – ใช้ประโยชน์จากเกมทางกราบให้มากที่สุด และที่สำคัญคือ ห้ามใช้โอกาสเปลือง สูตรสำเร็จง่ายๆ แค่นี้แหละครับ เท่าหลักสูตรวิชาจากสำนัก ท่านเซอร์


พูดน่ะมันง่ายครับ แต่ทำจริงใครว่าหมู ดูอย่างบรรดาแข้งที่เหลวเป๋วไม่เป็นท่าอย่าง ฮวน เซบาสเตียน เวรอน, ดีเอโก้ ฟอร์ลัน, เคลแบร์สัน ต่อให้ฝีเท้าเจ๋งแค่ไหน หากปรับตัวเข้ากับระบบของ “ป๋า” ไม่ได้ ก็ต้องม้วนเสื่อกลับบ้านมานักต่อนักแล้ว


ยอมหักแต่ไม่ยอมงอ


หรือจะเอา? อาจเป็นคำสบถที่แปลเป็นภาษาไทย จากปากบรมครูผู้นี้ ยามใดที่รู้สึกว่ากำลังถูกต่อต้านจากใครซักคน ไม่ว่าจะใหญ่ระดับบอร์ดบริหาร, แข้งระดับเสาหลัก, หรือแม้แต่นักเตะลูกรัก หากมีเหตุใดไม่ชอบมาพากล เขาพร้อมที่จะลงมือขั้นเด็ดขาดทันที


คงไม่มีกุนซือผู้ใดที่ได้รับอำนาจแบบ เบ็ดเสร็จ ไปกว่า เฟอร์กูสัน อีกแล้ว แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ คำว่า “บารมี” หรือสิ่งที่เรียกว่า ออร่า ต้องอยู่ในระดับอภิมหาประลัยเท่านั้นครับ?


คนแล้วคนเล่าที่ถูก ป๊ะป๋า อันเชิญออกจากโรงละครแห่งดวงดาว ต่างมีเส้นกราฟชีวิตที่ไม่ค่อยน่าพิศมัยนัก ยกตัวอย่างเช่น ลี ชาร์ป, ยาป สตัม, รุด ฟาน นิสเตลรอย และเดวิด เบ็คแฮม


ขนาดพี่เบิ้มของสโมสรอย่าง ตระกูลเกลเซอร์ ก็คงไม่กล้าอุกอาจทำอะไรขวางหูขวางตากุนซือเฒ่าผู้นี้ เพราะคงรู้ว่าหากเหตุการณ์ออกมารูปนั้นจริง กองเชียร์ ปีศาจแดง จะยืนอยู่ข้างใคร


สถาบันลูกกรอกคะนอง


นับตั้งแต่เริ่มดาหน้าพุ่งชนความสำเร็จช่วงต้นทศวรรษ ’90 ชื่อของผู้เล่นชุด โกลเด้น เจเนอร์เรชั่น ก็ยังคงติดหูอยู่คู่วงการมาจนถึงทุกวันนี้ ไล่มาตั้งแต่ ไรอัน กิ๊กส์, แกร์รี่-ฟิล เนวิลล์, พอล สโคลส์, นิกกี้ บัตต์ และ เดวิด เบ็คแฮม ฯลฯ


แข้งระดับตำนานเหล่านี้ล้วนเป็นผลิตผลที่สำเร็จวิชาลูกหนังจากสถาบัน ลูกกรอกคะนอง ทั้งสิ้น นี่ยังไม่นับคนอื่นๆ ที่ไปได้ดิบได้ดีกับ สถาบันลูกหนังแห่งอื่นทั่วเกาะอังกฤษ


นอกจากการพัฒนาศาสตร์ทางด้านลูกหนังแล้ว อคาเดมี่ในรั้ว ปีศาจแดง ยังได้ปลูกฝังสิ่งที่หาไม่ได้ง่ายๆ จากสถาบันอื่น ทั้ง แรงกระหายในชัยชยะ, ความเคารพรักต่ออู่ข้าวอู่น้ำ, ความรักใคร่กลมเกลียวกันแบบพี่น้อง และที่ขาดไม่ได้คือการสอนให้เป็นคนดีต่อสังคม ซึ่งต่อมา เจ้าหนู เหล่านี้ก็กลายเป็นดาวค้างฟ้าประดับวงการมานับไม่ถ้วน


ก็องโต้


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์