10 การเทคโอเวอร์พลิกชะตาชีวิต


 ช่วงเวลาแห่งความวุ่นวายของ ลิเวอร์พูล เกี่ยวกับเรื่องการเทคโอเวอร์สโมสร ทำให้ตอนนี้ หงส์แดง ต้องเจอกับสถานการณ์ที่ยุ่งยากพอสมควร แต่ก็อย่างว่าในวงการลูกหนังการเปลี่ยนแปลงเจ้าของเป็นเรื่องปกติอยู่แล้ว แต่การเปลี่ยนแปลงจะนำมาสู่ความเจริญหรือย่อยยับอันนี้ก็แล้วแต่ฝีมือการบริหารของแต่ละคน วันนี้ขอยกตัวอย่าง 10 การเทคโอเวอร์ ที่พลิกชีวิตแต่ละสโมสรกันเลยดีกว่า
 


10) เซอร์ เอลตัน จอห์น (วัตฟอร์ด 1976)
             พวกคุณพร้อมไหม พวกคุณพร้อมที่จะเลื่อนชั้นหรือเปล่า ? ป๋าแอ๋วแห่งวงการเพลงเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกลูกหนังว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้ของสโมสรวัตฟอร์ด เขามีโอกาสได้เติมเต็มความฝันในวัยเยาว์ด้วยการซื้อทีมรัก และท่านเซอร์ถั่วดำ ก็ได้พบกับช่วงเวลาที่แสนดีกับ แตนอาละวาด โดยมี แกรมแฮม เทย์เลอร์ ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการทีม และด้วยมั่นสมองของเขาสามารถนำ วัตฟอร์ด ขึ้นจากดิวิชั่น 4 (เดิม) มาสู่ดิวิชั่น 1 (พรีเมียร์ลีก ปัจจุบัน) ภายในเวลาเพียง 5 ปีเท่านั้น นอกจากนี้ เทย์เลอร์ ยังช่วยให้สโมสรแห่งนี้จบซีซั่นในอันดับ 2 เป็นรอง ลิเวอร์พูล มหาอำนาจลูกหนังในขณะนั้น ทั้งที่พวกเขาเพิ่งขึ้นชั้นมาสู่ลีกสูงสุดเพียงแค่ซีซั่นแรกเท่านั้น ซึ่งนั่นเป็นช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของสโมสรแห่งนี้ หลังจากนั้นไม่นานในปี 1987 เซอร์เอลตัน ก็ตัดสินใจขาย วัตฟอร์ด ในปี 1987 แต่ก็กลับมายังทีมรักอีกครั้งในอีก 10 ปีหลังจากนั้น โดยนั่นแท่นประธานกิตติมศักดิ์ตลอดชีวิต ที่สำคัญเมื่อเร็วๆ นี้ สุดยอดนักร้อง-นักเปียโนเมืองผู้ดี เพิ่งจะขึ้นคอนเสิร์ตการกุศลเพื่อหาเงินทุนให้กับทีมรักสำหรับซื้อนักเตะใหม่เข้ามาเสริมทีม

 





9) จิจี้ เบคาลี่ (สเตอัว บูคาเรตส์ 2003)
           จิจี้ เบคาลี่ เข้ามาเทคโอเวอร์ สเตอัว บูคาเรสต์ ยอดทีมแห่งลีกโรมาเนีย ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เมื่อปี 2003 หลังจากนั้นก็มีเทรนเนอร์ 13 รายที่โดนจ้างและปลดออกไปในช่วงระหว่างที่เขาเข้ามาควบคุมสโมสรแห่งนี้ ซึ่งก็มีชื่อของ จอร์จี้ ฮาจี้ ตำนานจอมทัพทีมชาติโรมาเนียรวมอยู่ด้วย โดย ฮาจี้ ถึงกลับตบะแตกออกมาตำหนิ เบคาลี่ ว่าเป็นคนที่ชอบเข้ามาก้าวก่ายการทำทีมและส่งผลเสียกับผลงานของสโมสรในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ภายใต้อำนาจในมือของ เบคาลี่ ทัพ สเตอัว บูคาเรตส์ คว้าแชมป์ลีก 2 สมัย แต่เรื่องที่แสบสันต์จนเป็นที่ตอกย้ำความเพี้ยนของเจ้าของสโมสรรายนี้ เห็นจะเป็นภาพวาดตัวเขาในฐานะพระเยซู โดยมีบรรดานักเตะสเตอัว ห้อมล้อมในฐานะลูกศิษย์ด้วย สำหรับปัจจุบัน มาริอุส ลาคาตุส อดีตดาวยิงทัพ ผีดิบ ทำหน้าที่กุมบังเหียน ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 ที่เขากลับมาคุม สเตอัว และเป็นนายใหญ่คนที่ 4 ในซีซั่นนี้ โดยภารกิจหลักของเจ้าตัวก็คือการนำทีมคว้าแชมป์ลีก หรือไม่ก็โดยไล่ออกอีกครั้ง !






8) โซคราติส โกคาลิส (โอลิมเปียกอส 1993)
           เขาเข้ามาเทคโอเวอร์ โอลิมเปียกอส ในปี 1993 ซึ่งเป็นช่วงที่สโมสรแห่งนี้อยู่ในช่วงวิกฤติอย่างมาก โดย โซคราติส ทำงานอย่างหนักด้วยการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของสโมสร และนำทีมกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง และพวกเขาได้แชมป์ลีกครั้งแรก ในซีซั่น 1996-97 หลังจากนั้นก็เป็นพวกเขาที่ยึดครองอำนาจในลีกเทพนิยายโดยกวาดแชมป์ลีกมาอีก 11 ครั้ง นอกจากนี้ มหาเศรษฐีชาวกรีซ ยังได้ขายหุ้นใหญ่ของตัวเองเพื่อทำธุรกิจเดินเรือ Vangelis Marinakis ในช่วงซัมเมอร์ แต่ก็ยังคงมีหุ้นอยู่กับ โอลิมเปียกอส 13 เปอร์เซ็นต์ และก็ยังคงดำรงตำแหน่งประธานสโมสรต่อไป
 






7) มานูเอล รุยซ์ เดอ โลเปรา (เรอัล เบติส 1992)
            โลเปรา ก้าวเข้ามาเพื่อปกป้องทีมอันเป็นที่รัก ในช่วงต้นยุค 90 เมื่อพวกเขาใกล้จะร่วงตกชั้นไปในระดับดิวิชั่น 3 ของวงการลูกหนังเมืองกระทิงดุ เขาทุ่มเงินเพื่อปรับปรุงสโมสร รวมทั้งยังสร้างสถิติโลกด้วยการคว้าตัว เดนิลสัน ดาวเตะทีมชาติบราซิล ในปี 1998 มาร่วมทีม ส่วนไฮไลต์ที่สำคัญที่สุดของ เบติส คงหนีไม่พ้นการเข้ารอบแบ่งกลุ่ม ศึกยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก และคว้าแชมป์ โกปา เดล เรย์ ในช่วงระหว่างที่ โลเปรา ดำรงตำแหน่งประธาน อย่างไรก็ตาม เจ้าตัวกลายเป็นที่ไม่พอใจของแฟนบอลบางกลุ่มหลังทีมต้องสุ่มเสี่ยงต่อการตกชั้น และการตัดสินใจอย่างหาญกล้าด้วยการเปลี่ยนชื่อสนามเป็นชื่อตัวเอง สุดท้าย โลเปรา ตัดสินใจขายสโมสรด้วยราคา 18 ล้านยูโร คิดเป็นเงินไทยยุคค่าเงินบาทแข็งตัวประมาณ 720 ล้านบาท พร้อมกับระบุเงื่อนไขแกมบังคับให้คงชื่อสนามเอาไว้เหมือนเดิม สำหรับปัจจุบันเขากำลังโดนสอบสวนจากข้อกล่าวหาทำธุรกิจไม่ชอบมาพากลในช่วงระหว่างที่ดำรงตำแหน่งประธานชั่วคราว และลังเลที่จะขายหุ้นของตัวเองออกไป จนกลายเป็นข้อสงสัย
 






6) แซม แฮมแมม (วิมเบิลดัน 1981)
             คำนิยามของกลุ่ม เครซี่ แก๊งค์ น่าจะเปรียบได้กับนิยาย ซินเดอเรลล่า เมื่อพวกเขาก้าวขึ้นมาอยู่บนจุดสูงสุดด้วยการคว่ำ หงส์แดง ลิเวอร์พูล 1-0 ที่สนามเวมบลีย์ คว้าแชมป์เอฟเอ คัพ ในปี 1988 ความสำเร็จในครั้งนั้นจะไม่เกิดขึ้นเลยหาก แฮมแมม ไม่ควักกระเป๋าทุ่มเงินมหาศาลเพื่อซื้อหุ้นใหญ่เพื่อคุม วิมเบิลดัน ในช่วงระยะเวลา 7 ปีแห่งความบ้าคลั่งที่เขาทำหน้าที่ประธานสโมสร วิมเบิลดัน กลายสภาพจากทีมที่อยู่ต่ำติดดิน จนก้าวขึ้นมาคว้าแชมป์ เอฟเอ คัพ ได้อย่างยิ่งใหญ่ ที่สำคัญ แฮมแมม เป็นหนึ่งในผู้สร้างตำนานที่แสนน่าจดจำเกี่ยวกับการรับน้องใหม่ยามที่สโมสรดึงผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาทั้งการเผาเสื้อผ้า รวมทั้งการทำลายห้องแต่งตัวของคู่แข่ง ล่าสุด แฮมแมม เข้าไปสร้างความวิบัติเมื่อเขาเข้าไปเทคโอเวอร์ที่ คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้







5) เซลยิโก้ ราซนาโตวิช อาร์คาน (เอฟเค โอเบลิช 1996) 
           บางทีการเทคโอเวอร์ที่ดูจะมีความขัดแย้งมากที่สุดคงหนีไม่พ้นการเข้าควบคุมสโมสรของผู้นำสุดโหด เซลยิโก้ ราซนาโตวิช ซึ่งมีฉายาว่า อาร์คาน ที่เทคโอเวอร์ เอฟเต โอเบลิชในปี 1996 ช่วงเริ่มต้นพวกเขาสร้างประวัติศาสตร์ในฐานะทีมเล็กในเบลเกรดที่สามารถคว้าแชมป์ลีกได้ในฤดูกาล 1997-98 และได้สิทธิ์ไปเล่นในแชมเปี้ยนส์ ลีก แต่สุดท้ายก็โดน สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) ปฏิเสธไม่ให้ร่วมแข่งขัน เนื่องจากพวกเขามีส่วนเกี่ยวพันกับ ซัดดัม ฮุสเซน ผู้นำเผด็จการอิรัก (เสียชีวิตไปแล้ว) นอกจากนี้ยังมีการกล่าวอ้างว่าบรรดาสโมสรคู่แข่งของพวกเขาต่างขาแข้งสั่นเตะบอลไม่เป็นเนื่องจากโดนขู่ฆ่า ในช่วงระหว่างที่ อาร์คาน นั่งแท่นประธานสโมสรแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม ท่านผู้นำจอมโหด ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งในปี 1998 และหลังจากที่ประสบความสำเร็จคว้าแชมป์ลีก 1 สมัย โอเบลิช ก็ถึงคราวสาละวันเตี้ยลงเรื่อยๆ จนร่วงตกชั้น ขณะที่ผู้นำสุดเหี้ยมก็โดนลอบสังหารสิ้นชีวาวายวอดที่โรงแรมในเบลเกรด ปี 2000





4) มัสซิโม่ โมรัตติ (อินเตอร์ มิลาน 1995)
             มัสซิโม่ โมรัตติ เป็นบุตรชายของ อันเจโล่ โมรัตติ อดีตประธานสโมสรอินเตอร์ผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งในยุคของ อัลเจโล่ ผู้พ่อนั้นอินเตอร์ได้ครบทุกโทรฟี่ทั้ง สคูเด็ตโต้, อิตาเลีย โคปป้า และยูโรเปี้ยน คัพ และถือเป็นยุคทองของพวกเขา


              ด้านโมรัตติ จูเนียร์ เติบโตมาในฐานะอินเตอริสต้าที่เฝ้าดูช่วงเวลาอันหอมหวานของ อินเตอร์ เมื่อก้าวเข้ามารับตำแหน่งประธานสโมสรต่อจาก เอร์เนสโต้ เปรเญกรินี่ ในปี 1995 พี่ท่านก็ประกาศจะพาทีมคว้าแชมป์ต่างๆให้ได้เหมือนที่ อันเจโล่ ผู้พ่อทำไว้ โมรัตติ ได้ชื่อว่าเป็นประธานสโมสรที่ร่ำรวยและใจร้อนที่สุดคนหนึ่งของยุโรป ด้วยเม็ดเงินจากการทำธุรกิจน้ำมัน อินเตอร์ทำลายสถิติโลกในตลาดนักเตะไปถึง 2 ครั้งภายในเวลา 2 ปี ในการซื้อ โรนัลโด้ และ คริสเตียน วิเอรี่ เสริมเขี้ยวเล็บให้กับทีม


             อย่างไรก็ตาม อินเตอร์ ตกอยู่ในสภาพย่ำแย่ลงไปอีก เมื่อเกิดแรงต้านจากแฟนบอลอุลตร้า โมรัตติ จึงจำยอมลงจากตำแหน่งและอยู่ในสถานะเจ้าของทีม โดยมี สุภาพบุรุษเนรัซซูรี่ อย่าง จาชินโต้ ฟัคเค็ตติ ขึ้นรับตำแหน่งแทน


              จุดเปลี่ยนสำคัญของ อินเตอร์ เกิดขึ้นในยุคของ ฟัคเค็ตติ ตำนานเนรัซซูรี่เข้ามาสะสางปัญหาภายใน ปรับเปลี่ยนระบบการบริหารงาน สร้างปรัชญาการทำทีมใหม่ ฯลฯ เมื่อผู้นำมีความสุขุมขึ้น ผู้ร่วมงานคนอื่นๆก็สามารถแสดงความสามารถได้อย่างเต็มที่ รวมไปถึง โมรัตติ ที่ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆจาก ฟัคเค็ตติ กระทั่งปี 2006 ฟัคเค็ตติ อาการทรุดหนักจากโรคมะเร็งและเสียชีวิตอย่างสงบ โมรัตติ จึงกลับมาเป็นหัวเรือใหญ่อีกครั้ง


              โมรัตติ จัดเป็นเนรัซซูรี่เลือดเข้มข้น เขามีความสนิทสนมกับผู้นำกลุ่มอุลตร้า ครั้งหนึ่งที่ อินเตอร์ ได้รับชัยชนะ โมรัตติ ทำสัญลักษณ์มือแสดงความขอบคุณไปยังอัฒจันทร์ฝั่งตรงข้าม สิ่งนั้นทำให้เขาถูกวิจารณ์อย่างมาก เนื่องจากแฟนบอลอุลตร้าส่วนใหญ่มักก่อปัญหาและมีพฤติกรรมรุนแรง แต่สำหรับ โมรัตติ มันก็ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่าการขอบคุณแฟนบอลที่มอบความรักแก่เขา และเขาก็รักแฟนบอลเหล่านั้นเช่นกัน ที่สำคัญ โมรัตติ คือคนที่เสียสละทุกอย่างเพื่อ อินเตอร์ และความรักที่มีให้ต่อสโมสรแห่งนี้ ได้ส่งผลตอบแทนเขาด้วยการเห็น งูใหญ่ ผงาดคว้าทริปเบิ้ลแชมป์ เมื่อฤดูกาลที่ผ่านมา ซึ่งไม่เคยมีสโมสรในลีกเมืองมะกะโรนีเคยทำได้มาก่อน







3) ตระกูล อันเญลลี่ (ยูเวนตุส 1923)
              ตระกูลอันเญลลี่ มีความผูกพันอย่างใกล้ชิดกับ ม้าลาย มาตลอด 80 ปี บริษัทผลิตรถยนต์ยี่ห้อ เฟียต เข้ามาเทคโอเวอร์สโมสรในปี 1923 พร้อมกับได้ เอดูอาร์โด้ อันเญลลี่ เป็นคนแรกของตระกูลที่ก้าวขึ้นมาเป็นประธานสโมสร ต้องยอมรับว่านับตั้งแต่ที่ตระกูลอันเญลลี่เข้ามาดูแล ยูเวนตุส พวกเขาประสบความสำเร็จมากมายโดยคว้าแชมป์ลีกเมืองมะกะโรนี 5 สมัยติดต่อกันในช่วงระหว่างปี 1930-1935 ที่สำคัญ เบียงโคเนรี่ ยังเป็นทีมที่คว้าแชมป์กัลโช่ เซเรีย อา มากที่สุดด้วย แม้ช่วงหลายปีที่ผ่านมาตระกูลอันเญลลี่ จะไม่ได้ทำหน้าที่บริหาร ยูเวนตุส แต่ล่าสุด อันเดรีย อันเญลลี่ ได้นั่งเก้าอี้ประธานสโมสรในเวลานี้





2) ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ (เอซี มิลาน 1986)
              ทั้งรักและทั้งเกลียด นิยามง่ายๆของสาวก รอสโซเนรี่ ท่านนายกรัฐมนตรี ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่ เป็นผู้ทรงอิทธิพลในวงการสื่อ เขาเข้ามาบริหารทีมในปี 1986 และนำ มิลาน กลายร่างเป็นสโมสรที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกช่วงปลายทศวรรษที่ 80 - ต้นทศวรรษที่ 90 อย่างไรก็ตาม การที่ แบร์ลุสโคนี่ ไม่ยอมทุ่มเงินซื้อนักเตะในช่วงซัมเมอร์ที่ผ่านมา ทำให้แฟนบอลแสดงความไม่พอใจ และยิ่งกรณีขาย ริคาร์โด้ กาก้า จอมทัพทีมชาติบราซิล ยิ่งทวีคูณความโกรธมากขึ้นหลายเท่า อย่างไรก็ตาม การที่ ท่านผู้นำอิตาลี ยอมควักกระเป๋าดึง ซลาตัน อิบราฮิโมวิช และ โรบินโญ่ สองสตาร์ระดับโลกมาสู่ถิ่นซาน ซิโร่ ทำให้อารมณ์เดือดของแฟนบอลค่อยๆ ทุเลาลงไปบ้าง และหลังจากนำ มิลาน ประสบความสำเร็จอย่างมากมาย พี่ท่านก็ลุยสนามการเมืองและได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี






1) โรมัน อบราโมวิช (เชลซี 2003)
               มหาเศรษฐีพันล้านชาวรัสเซีย ก้าวเข้ามาสู่การเปลี่ยนแปลง เชลซี อย่างแท้จริง หลังจากที่ สิงโตน้ำเงินคราม เป็นเพียงแค่สโมสรดังในลีกเมืองผู้ดี และไม่เคยมีเกียรติประวัติประดับบารมีมากนัก แต่เมื่อ อบราโมวิช เข้ามาซื้อสโมสรในปี 2003 และนั้นคือยุคทองของพวกเขา โดย เสี่ยหมี ไม่ได้แต่ทุ่มเงินซื้อนักเตะระดับโลกมาร่วมทีมเท่านั้น แต่เขายังดึงตัว โชเซ่ มูรินโญ่ กุนซือชาวโปรตุกีส เข้ามากุมบังเหียน และก็ไม่ผิดหวังเมื่อ เฮียมู นำทีมคว้าแชมป์ลีก 2 สมัย แต่หลังจากหมดเยื้อใยต่อกัน อบราโมวิช ก็ตัดสินใจใช้งาน คาร์โล อันเชลอตติ นายใหญ่ชาวอิตาเลียน และแค่ฤดูกาลแรก เชลซี ก็ได้เป็นดับเบิ้ลแชมป์ ซึ่งเป็นครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์ของสโมสร และตอนนี้เหลือแค่เพียงเกียรติประวัติในศึกยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก เท่านั้น ที่พวกเขายังไม่เคยได้สัมผัส ที่สำคัญไปกว่านั้น ตอนนี้ เชลซี ไม่ใช่แค่ทีมดังหรือทีมชั้นนำเท่านั้น แต่ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจลูกหนังเฉกเช่น แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ลิเวอร์พูล และ อาร์เซน่อล แล้ว งานนี้ต้องขอบคุณมันนี่ของ อบราโมวิช จริงๆ






เครดิต สยามกีฬา 

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์