สุดยอดดาวเตะระดับตำนานในศึกฟุตบอลโลก



ศึกฟุตบอลโลกทุกครั้ง มักจะมีเพชรเม็ดงามแจ้งเกิด จนกลายเป็นตำนานของทัวร์นาเม้นต์ และนี่คือ 9 นักเตะ ที่ได้ฝากเพลงแข้งอันสุดอัศจรรย์กับศึกเวิลด์คัพที่ผ่านมา...



เปเล่ (บราซิล)

Posted
เปเล่ ไข่มุกดำแห่งบราซิล

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า ดาวเตะเจ้าของฉายา ไข่มุกดำ รายนี้เปรียบเสมือนกับเป็น สัญลักษณ์ประจำศึกฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย โดยเปเล่หรือชื่อเต็มๆว่า เอดิสัน อรันเตส โด นาสซิเมนโตได้ชื่อว่าเป็นนักเตะเพียงคนเดียวในโลกที่สามารถคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้ถึง 3 สมัย

แชมป์ฟุตบอลโลกสมัยแรกของเปเล่ได้มาในปี 1958 ที่สวีเดน โดยในฟุตบอลโลกครั้งนั้น เปเล่ได้สร้างสถิติอันน่าจดจำไว้หลายประการด้วยกัน เช่น การเป็นเจ้าของสถิติผู้ทำประตูในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่มีอายุน้อยที่สุดด้วยวัยเพียง 17 ปีกับ 239 วันในนัดที่ทีม แซมบ้า บราซิล เฉือนเอาชนะทีม มังกรแดง เวลส์ ได้ 1-0 ในรอบก่อนรองชนะเลิศ

ไม่เพียงเท่านั้น เปเล่ยังเป็นเจ้าของสถิติผู้เล่นอายุน้อยที่สุดที่ทำแฮ็ตทริกได้ในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในนัดที่บราซิลถล่มฝรั่งเศส 5-2 ในรอบรองชนะเลิศปี 1958 ก่อนที่จะสร้างสถิติอีกครั้งด้วยการเป็นผู้เล่นอายุน้อยที่สุดที่ได้ลงสนามในรอบชิงชนะเลิศด้วยวัยเพียง 17 ปีกับอีก 249 วันเมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ปี 1958 ซึ่งนัดดังกล่าวเปเล่โชว์ฟอร์มเหมาคนเดียว 2 ประตูช่วยให้บราซิลทุบเจ้าภาพ สวีเดนไป 5-2 คว้าแชมป์ฟุตบอลไปครองได้เป็นสมัยแรกขณะที่ตัวเปเล่เองก็ทำได้ถึง 6 ประตูจากการลงสนามเพียง 4 นัดในทัวร์นาเมนต์ดังกล่าว

หลังจากนั้น เปเล่ยังช่วยให้บราซิลได้แชมป์ฟุตบอลโลกอีกถึง 2 สมัยในปี 1962 ที่ชิลี และในปี 1970 ที่เม็กซิโก ก่อนที่ราชาลูกหนังโลกผู้นี้จะประกาศอำลาทีมชาติบราซิลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 18 ก.ค. ปี 1971 โดยเปเล่มีสถิติยิงได้ถึง 77 ประตูจากการรับใช้ทีมชาติ 92 นัด



เลฟ ยาชิน (สหภาพโซเวียต)

Posted เลฟ ยาชิน กับชุดแข่งสีดำอันเป็นเอกลักษณ์


เลฟ ยาชิน นายทวารจากสหภาพโซเวียตรายนี้ ได้รับการยกย่องให้เป็นผู้รักษาประตูที่ยอดเยี่ยมที่สุดตลอดกาลของโลกจากฟอร์มการเล่นอันยอดเยี่ยมของเขาในศึกฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายทั้ง 3 สมัย คือในปี 1958,1962 และ 1966

แม้ยาชินจะไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสกับตำแหน่งแชมป์ฟุตบอลโลกแม้แต่ครั้งเดียว แต่นายทวารซึ่งติดทีมชาติสหภาพโซเวียตทั้งสิ้น 78 นัดรายนี้ ก็เป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้ทีมคว้าอันดับที่ 4 ในฟุตบอลโลก 1966 ที่อังกฤษ รวมถึงตำแหน่งแชมป์ฟุตบอลยุโรปปี 1960

ก่อนหน้านั้นยาชินเกือบต้องหันหลังให้วงการฟุตบอลอย่างถาวรเมื่อปี 1953 หลังจากที่เขาสามารถคว้าแชมป์ในการแข่งขันฮอกกี้น้ำแข็งได้ในระดับประเทศ รวมทั้ง ยังเบื่อหน่ายกับการต้องตกเป็นตัวสำรองให้กับอเล็กเซ โคมิช ในทีมดินาโม มอสโก อย่างยาวนาน แต่หลังจากที่โคมิชได้รับบาดเจ็บ ยาชินจึงมีโอกาสลงสนามมากขึ้นและเขาก็สามารถโชว์ฟอร์มได้อย่างยอดเยี่ยมจนก้าวขึ้นไปเป็นนายทวารตัวจริงให้กับทีมชาติโซเวียตได้ในเวลาต่อมา

และสิ่งหนึ่งที่แฟนฟุตบอลทั่วโลกมิอาจลืมเลือนนอกเหนือจากผลงานการเซฟประตูเป็นพัลวันแล้ว คือ การที่ยาชินจะใส่ชุดสีดำลงทำหน้าที่เป็นปราการด่านสุดท้ายให้กับทีมเสมอจนกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวและเป็นที่มาของฉายา ปลาหมึกยักษ์สีดำ ของเขานั่นเอง



ยูเซบิโอ (โปรตุเกส)

Posted ยูเซบิโอ ดาวดังของทีมโปรตุเกส

ดาวเตะเชื้อสายโมซัมบิกเจ้าของสถิติยิง 41 ประตูจาก 64 นัดให้กับทีมชาติโปรตุเกส รายนี้สามารถแจ้งเกิดได้อย่างเต็มตัวในศึกฟุตบอลโลกปี 1966 ที่อังกฤษ โดยเขาสามารถทำได้ถึง 9 ประตูในทัวร์นาเมนต์ดังกล่าวจนคว้ารางวัลดาวซัลโวสูงสุด หรือ รองเท้าทองคำ มาครองได้ และถือเป็นนักเตะเชื้อสายแอฟริกันคนแรกของโลกที่ได้รับรางวัลดังกล่าว

หนึ่งในเกมที่ดาวเตะเจ้าของฉายา เสือดำแห่งโมซัมบิก หรือชื่อเต็มว่า ยูเซบิโอ ดา ซิลวา เฟร์ไรรา โชว์ฟอร์มได้สุดยอดที่สุดในศึกฟุตบอลโลกบนแผ่นดินอังกฤษ คือ เกมในรอบก่อนรองชนะเลิศที่โปรตุเกสพบกับตัวแทนจากทวีปเอเชียอย่างเกาหลีเหนือ

ในเกมนัดดังกล่าวยูเซบิโอ ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นนักเตะที่ดีที่สุดบนแผ่นดินยุโรปในเวลานั้นก็พิสูจน์ให้ผู้ชม 51,780 คน ในสนาม กูดิสัน พาร์ค ในเมืองลิเวอร์พูลได้ประจักษ์แก่สายตาว่าเขามีดีเพียงใด ด้วยการเหมาซัดคนเดียว 4 ประตูในนาทีที่ 27,43,56,และ 59 ช่วยให้โปรตุเกสซึ่งตามหลังเกาหลีเหนืออยู่ 3-0 เป็นฝ่ายพลิกกลับขึ้นมานำ 4-3 อย่างน่าอัศจรรย์ ก่อนที่โปรตุเกสจะมาพังประตูปิดท้ายได้จากโชเซ เอากุสโต ปีกจอมพลิ้วของทีมในนาทีที่ 80 ทำให้โปรตุเกสชนะไปแบบสุดมัน 5-3 ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศต่อไป

แม้ยูเซบิโอจะไม่อาจช่วยให้โปรตุเกสคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกได้ แต่ขณะเดียวกันก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าผลงานของเขาในศึกฟุตบอลโลกที่อังกฤษได้ทำให้ชื่อเสียงของนักเตะผู้นี้กลายเป็นตำนานที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงจวบจนปัจจุบัน


โยฮัน ครัฟฟ์ (เนเธอร์แลนด์)



Posted โยฮัน ครัฟฟ์ เทพเจ้าลูกหนังของทัพอัศวินสีส้ม

โยฮัน ครัฟฟ์ มีชื่อเต็มว่า เฮนดริก โยฮันเนส ครัฟฟ์ เริ่มสร้างชื่อเสียงมาตั้งแต่สมัยที่เขาก้าวขึ้นมาเล่นให้กับทีมชุดใหญ่ของอาแจ๊กซ์ อัมสเตอร์ดัมอย่างเต็มตัวในปี 1964 ก่อนที่เขาจะพาทีมคว้าแชมป์ลีกสูงสุดของเนเธอร์แลนด์ได้ถึง 8 สมัย, แชมป์ดัตช์ คัพ 5 สมัย รวมถึงการพาทีมครองแชมป์ยูโรเปียน คัพ 3 สมัยซ้อนระหว่างปี 1971-73 ก่อนจะย้ายไปค้าแข้งกับทีม เจ้าบุญทุ่ม บาร์เซโลนา แห่งสเปนในเวลาต่อมา ส่วนในระดับทีมชาตินั้น ครัฟฟ์มีสถิติยิงได้ 33 ประตูจากการลงสนามรับใช้ทีมชาติเนเธอร์แลนด์ทั้งสิ้น 48 นัด

แม้ครัฟฟ์และทีมชาติเนเธอร์แลนด์จะทำได้แค่ตำแหน่งรองแชมป์ในศึกฟุตบอลโลก 1974 ซึ่งเป็นศึกฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายครั้งแรกและครั้งเดียวของครัฟฟ์หลังพ่ายแพ้ต่อเจ้าภาพคือทีม อินทรีเหล็ก เยอรมนีตะวันตกไป 2-1 ในรอบชิงชนะเลิศ แต่ฟอร์มการเล่นอันยอดเยี่ยมในศึกฟุตบอลโลกครั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งลีลา ครัฟฟ์ เทิร์น หรือการตอกลูกส้นไขว้หลังและพลิกตัวหมุนกลับไปเอาบอล พร้อมสลัดตัวประกบของครัฟฟ์ได้กลายเป็นเทคนิคที่บรรดานักเตะรุ่นหลังทุกคนพยายามลอกเลียนแบบมาจนถึงทุกวันนี้ แม้ครัฟฟ์จะได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในนักเตะระดับตำนานของโลกเพียงไม่กี่คนที่ไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสถ้วยแชมป์ฟุตบอลโลกก็ตาม



ฟรานซ์ เบ็คเคนบาวเออร์ (เยอรมนีตะวันตก)

Posted เบ็คเคนบาวเออร์ชูถ้วยแชมป์ฟุตบอลโลกปี 1974

แดร์ ไกเซอร์ ในภาษาเยอรมันเป็นคำที่หมายถึง จักรพรรดิ์ และการที่ใครจะได้รับการยกย่องถึงขั้นนั้นย่อมหมายถึงบุคคลดังกล่าวต้องมีคุณสมบัติเหมาะสมอย่างแท้จริง สำหรับในกรณีของเบ็คเคนบาวเออร์อาจกล่าวได้ว่า ผลงานในสนามของเขานั้นเทียบได้กับการเป็นจักรพรรดิ์ของวงการลูกหนังทีเดียว

เบ็คเคนบาวเออร์ได้รับการยกย่องให้เป็นนักเตะเกมรับผู้สามารถเล่นเกมรุกได้ดีที่สุดตลอดกาล แม้เขาจะเป็นผู้เล่นในตำแหน่งสวีปเปอร์ หรือที่ภาษาเยอรมันเรียกว่าลิเบอโร ซึ่งเป็นกองหลังตัวสุดท้ายที่ดูแลเกมรับอยู่ด้านหน้าของผู้รักษาประตู แต่เบ็คเคนบาวเออร์ยังได้ชื่อว่าเป็นผู้เล่นคนสำคัญที่จะคอยเริ่มต้นเปิดเกมรุกโต้กลับใส่ทีมคู่แข่งได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย

ในศึกฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายปี 1966 ทีมเยอรมันตะวันตกของเขาสามารถทะลุเข้าสู่รอบชิงชนะเลิศได้สำเร็จโดยต้องพบกับทีมเจ้าภาพ คือ อังกฤษ ซึ่งแม้ทีมเยอรมันตะวันตกจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไปในช่วงต่อเวลาพิเศษ 4-2 แต่เขาก็ได้รับตำแหน่งดาวรุ่งยอดเยี่ยมของทัวร์นาเมนต์เป็นรางวัลปลอบใจ

อย่างไรก็ตาม ในอีก 8 ปีต่อมา คือ ศึกฟุตบอลโลกปี 1974 ที่เยอรมนีตะวันตกเป็นเจ้าภาพ เบ็คเคนบาวเออร์ในฐานะกัปตันทีมสามารถพาทีมเอาชนะเนเธอร์แลนด์ได้ 2-1 ในรอบชิงชนะเลิศ และกลายเป็นกัปตันทีมคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้ชูถ้วยฟุตบอลโลกใบใหม่ หรือถ้วย ฟีฟ่า เวิลด์ คัพ หลังจากที่ถ้วยใบเก่า คือ จูลส์ ริเมต์ ตกเป็นกรรมสิทธิ์ถาวรของบราซิลที่ได้แชมป์ 3 สมัยไปเมื่อ 4 ปีก่อนหน้านั้น



แกร์ด มุลเลอร์ (เยอรมนีตะวันตก)

Posted แกร์ด มุลเลอร์ เพชฌฆาตมะขามข้อเดียวของทีม อินทรีเหล็ก

ดาวเตะหุ่นมะขามข้อเดียวจากเมืองเบียร์รายนี้เป็นเจ้าของสถิติการทำประตูอันยอดเยี่ยม 68 ประตูจากการรับใช้ทีมชาติ 62 นัดรวมถึงการเป็นเจ้าของสถิตินักเตะที่ทำประตูในศึกฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้สูงที่สุดจากการลงเล่นในฟุตบอลโลกเพียง 2 สมัย คือ ทำได้ 10 ประตูในศึกฟุตบอลโลก 1970 ที่เม็กซิโก และอีก 4 ประตูในปี 1974 ในบ้านเกิดของตัวเอง ซึ่งสถิติดังกล่าวยืนยงมานานถึง 32 ปี ก่อนจะถูกทำลายลงโดยโรนัลโด ดาวยิงทีมชาติบราซิลในศึกฟุตบอลโลกปี 2006

แม้มุลเลอร์จะถูกทำลายสถิติการเป็นผู้ยิงประตูสูงสุดในศึกฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายไปแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า มุลเลอร์เป็นกองหน้าระดับโลกที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคนหนึ่งในช่วงทศวรรษ 1970 และหลายคนถึงกับระบุว่า ทีมชาติเยอรมันตะวันตกคงไม่มีทางคว้าแชมป์ฟุตบอลยุโรปปี 1972 และแชมป์ฟุตบอลโลกปี 1974 ได้หากปราศจากดาวยิงร่างท้วมจากสโมสร เสือใต้ บาเยิร์น มิวนิกรายนี้



ดิเอโก อาร์มันโด มาราโดนา (อาร์เจนตินา)

Posted ดิเอโก มาราโดนา ตำนานหัตถ์พระเจ้า


มิดฟิลด์ตัวรุกและกองหน้าตัวต่ำเจ้าของส่วนสูงเพียง 163 เซนติเมตรรายนี้ลงเตะในศึกฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายให้กับทีมชาติ ฟ้าขาว อาร์เจนตินาถึง 4 สมัยเริ่มตั้งแต่ฟุตบอลโลก 1982 ที่สเปน,1986 ที่เม็กซิโก,1990 ที่อิตาลี,และฟุตบอลโลก 1994 ที่สหรัฐอเมริกา

แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ศึกฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายในปี 1986 บนดินแดนจังโก้นั้นถือเป็นทัวร์นาเมนต์ที่ เสือเตี้ย แสดงผลงานได้อย่างน่าประทับใจที่สุดโดยเขาทำได้ถึง 5 ประตู และเป็นกำลังสำคัญที่ช่วยให้ทีมอาร์เจนตินาคว้าแชมป์มาครองได้เป็นสมัยที่ 2 ต่อจากในปี 1978 ที่ตัวเองเป็นเจ้าภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานการเหมายิงคนเดียว 2 ประตูรวมทั้งประตูสุดอื้อฉาว (หัตถ์พระเจ้า)ในเกมรอบก่อนรองชนะเลิศที่อาร์เจนตินาเอาชนะทีม สิงโตคำราม อังกฤษได้ 2-1

อย่างไรก็ตาม แม้มาราโดนาจะไม่อาจช่วยให้อาร์เจนตินาป้องกันแชมป์ไว้ได้ในศึกฟุตบอลโลกปี 1990 ที่อิตาลี และยังมีเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวยาเสพติดระหว่างร่วมแข่งขันฟุตบอลโลก 1994 ที่สหรัฐฯ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มาราโดนาได้กลายเป็นนักเตะระดับตำนานที่สร้างความประทับใจให้กับผู้คนทั่วโลก และถือเป็นดาวเตะจากทวีปอเมริกาใต้ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงมากที่สุดนับตั้งแต่หมดยุคของเปเล่แห่งบราซิลเป็นต้นมา



โรนัลโด (บราซิล)

Posted โรนัลโด ผู้ทำประตูสูงสุดในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย

โรนัลโด หลุยส์ นาซาริโอ เด ลิมาเจ้าของสถิติยิง 62 ประตูจากการรับใช้ทีมชาติบราซิล 97 นัดได้ชื่อว่าเป็นกองหน้าระดับตำนานของศึกฟุตบอลโลกอย่างแท้จริงเพราะนอกจากเขาจะเป็นสมาชิกทีมชาติบราซิลชุดที่คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกมาครองได้ถึง 2 สมัยในปี 1994 ที่สหรัฐอเมริกาและในปี 2002 ที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นแล้ว โรนัลโดยังเป็นเจ้าของสถิติดาวเตะที่สามารถทำประตูในศึกฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายได้สูงที่สุดตลอดกาลอีกด้วยจากผลงานการยิง 15 ประตูจากการลงเล่นในฟุตบอลโลกรวม 4 สมัยซึ่งเป็นการทำลายสถิติเดิม 14 ประตูที่อยู่ยงคงกระพันมานานของแกร์ด มุลเลอร์ แห่งเยอรมนีตะวันตก ไปได้อย่างงดงาม โดยสถิติดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่โรนัลโดทำประตูที่ 3 ของตัวเองได้ในศึกฟุตบอลโลกปี 2006 ที่เยอรมันในนัดที่บราซิลเอาชนะกานาได้ 3-0 ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย



ซีเนอดีน ซีดาน (ฝรั่งเศส)

Posted ซีเนอดีน ซีดาน จอมทัพแห่งทีม ตราไก่


ซีเนอดีน ยาซิด ซีดาน จอมทัพดีกรีทีมชาติฝรั่งเศสเชื้อสายแอลจีเรีย เจ้าของสถิติยิง 31 ประตูจากการลงสนามรับใช้ทีม ตราไก่ ทั้งสิ้น 108 นัดรายนี้ ติดทีมชาติอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อ 17 ส.ค. 1994 โดยลงเล่นเป็นตัวสำรองในเกมนัดกระชับมิตรกับสาธารณรัฐเชกซึ่งซีดานลงสนามมายิงคนเดียว 2 ประตูในเกมนัดดังกล่าวช่วยให้ฝรั่งเศสตามตีเสมอได้เป็น 2-2 เมื่อจบเกม หลังจากที่โดนนำห่างไปก่อนถึง 2-0

อย่างไรก็ตาม ซีดานสามารถแจ้งเกิดให้กับตัวเองได้อย่างเต็มตัวในฐานะดาวเตะระดับเวิร์ลด์คลาส ในศึกฟุตบอลโลกปี 1998 ที่ฝรั่งเศสรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพ จากลีลาในการครองบอลที่เหนียวแน่นและมีการผ่านบอลอย่างชาญฉลาด รวมถึงการทำประตูที่ยอดเยี่ยม จนหลายคนกล่าวว่าฝรั่งเศสไม่มีทางได้แชมป์ฟุตบอลโลกในปีนั้น ซึ่งเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งแรกและครั้งเดียวของพลพรรคนักเตะจากแดนน้ำหอม หากปราศจากดาวเตะรายนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานการเหมาทำคนเดียว 2 ประตูของซีดานในเกมนัดชิงชนะเลิศในนาทีที่ 27 และ 45 ที่ช่วยให้ฝรั่งเศสถล่มทีมเต็งจ๋าอย่างบราซิลไปขาดลอยถึง 3-0

แม้ผลงานของทีมชาติฝรั่งเศสในศึกฟุตบอลโลกอีก 2 ครั้งต่อมา คือในปี 2002 ที่เกาหลีใต้และญี่ปุ่นซึ่งฝรั่งเศสมีอันต้องจอดป้ายเพียงแค่รอบแรกแบบพลิกความคาดหมาย และในปี 2006 ที่เยอรมนี ซึ่งฝรั่งเศสทำได้แค่ตำแหน่งรองแชมป์จะไม่โดดเด่นเหมือนกับในศึกฟุตบอลโลกปี 1998 แต่ซีดานก็ยังได้รับการยกย่องให้เป็นนักเตะที่ดีที่สุดของฝรั่งเศสนับตั้งแต่สิ้นสุดยุคของมิเชล พลาตินี เป็นต้นมา




http://www.thairath....ent/sport/84665

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์