บอลโลกกู้โลก

เรื่องนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับเจ้าแห่งอุปกรณ์กีฬาอย่าง "ไนกี้" ที่มีความคิดสร้างสรรค์ที่จะใช้ "บอลโลก" มา "กู้โลก"

ความคิดนี้เกิดขึ้นบนพื้นฐานที่อยากจะลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อมที่มีต่อโลก การลด กำจัดสารพิษและขยะ จึงเป็นเป้าหมายต้น ๆ ในการออกแบบและผลิตผลิตภัณฑ์

การกู้โลกครั้งนี้ ไนกี้นำเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยที่สุดในประวัติศาสตร์ของวงการฟุตบอล มาแปรสภาพ "ขวดพลาสติก" ขยะร้อยปีที่ไม่ยอมย่อยสลาย มาเปลี่ยนแปลงเป็น "ชุดฟุตบอลรักโลก" ให้กับทีมชาติทั้ง 9 อย่าง บราซิล เนเธอร์แลนด์ โปรตุเกส อเมริกา เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เซอร์เบีย และสโลวีเนีย

ขยะขวดพลาสติกจากญี่ปุ่น ไต้หวัน ถูกรวบรวมนำมาชำระล้าง แกะป้ายฉลาก แล้วนำไปย่อยเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย ก่อนจะถูกหลอมและนำไปทำเป็นเส้นด้ายเพื่อผลิตเป็นผืนผ้าโพลีเอสเตอร์อีกที โดยเสื้อแต่ละตัวจะใช้ขวดพลาสติกในการทำราว 8 ขวด

วิธีการนี้นอกจากจะช่วยกำจัดขยะได้ระดับหนึ่งแล้ว ยังช่วยประหยัด และลดการใช้พลังงานได้ถึง 30%

ชุดเหล่านี้ไม่เพียงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ยังเปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพตามสไตล์ไนกี้ ด้วยการใช้การทอแบบ Double Knit ที่จะทำให้เนื้อผ้าเงางาม และสามารถยืดขยายได้มากขึ้น 10% เบากว่าเดิม 13% เพิ่มการไหลเวียนของอากาศได้มากขึ้นถึง 7% ช่วยรักษาอุณหภูมิของร่างกาย ทำให้ผู้สวมใส่รับรู้ถึงความแห้งและเย็นสบาย ดูดซับและระบายอากาศได้ดี ด้วยรูเล็ก ๆ ที่เจาะด้วยแสงเลเซอร์ถึง 200 รู ทางด้านข้างของเสื้อ และแถบเอวของกางเกง พร้อมป้องกันการฉีกขาดด้วยนวัตกรรม Halo อีกด้วย

ผลจากแนวความคิดและการลงมือทำชุดฟุตบอลทั้ง 9 ชาตินี้ ทำให้ไนกี้สามารถกำจัดขยะขวดพลาสติกไปได้มากมายถึง 254,000 กิโลกรัม คิดเป็นจำนวนทั้งสิ้นราว 13 ล้านขวด หรือถ้าคิดเป็นพื้นที่ก็จะอยู่ที่ราวสนามฟุตบอล 29 สนาม และถ้านำมาเรียงต่อกันก็จะมีระยะทางถึง 3,000 กิโลเมตร ยาวกว่าแนวชายฝั่งของแอฟริกาใต้ ประเทศเจ้าภาพมหกรรมฟุตบอลโลกครั้งนี้เสียอีก

นี่แหละเป็นอีกหนึ่งในความพยายาม "กู้โลก" ที่แอบเกิดขึ้นในมหกรรมฟุตบอลโลกครั้งนี้

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์