นานาเรื่องราว โดย..นาร์ซีส์ซัส : สังเวียนแข้งในยุโรป กับผู้ป่วยโรคหัวใจ

นานาเรื่องราว โดย..นาร์ซีส์ซัส : สังเวียนแข้งในยุโรป กับผู้ป่วยโรคหัวใจ








แต่ไหนแต่ไรมา หากจะพูดถึงเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นในสนามฟุตบอล รวมไปถึงในสนามกีฬาประเภทอื่นๆแล้ว เราๆท่านๆก็มักจะนึกไปถึงเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นจากการปะทะกันของแฟนๆจอมซ่าส์เป็นส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นนอกหรือในสนามก็ตาม ซึ่งจากบทเรียนที่เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้งในอดีต ทำให้บรรดาผู้เกี่ยวข้องต่างเตรียมความพร้อมและหามาตรการป้องกันเหตุการณ์เหล่านี้กันอย่างเต็มที่ ซึ่งดูเหมือนว่าค่อนข้างจะได้ผลดี แม้จะยังมีเหตุการณ์ปะทะเดือดให้เห็นกันอยู่บ้างประปราย

 


อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้นั้นมีหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคืออาการหัวใจวายกะทันหัน ซึ่งอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ทั้งกับบรรดาแฟนๆบนอัฒจันทร์ หรือแม้กระทั่งกับบรรดาพ่อค้าแข้งที่ล้มฟุบคาสนามจากอาการหัวใจวายจนเสียชีวิตเป็นตัวอย่างให้เห็นมาแล้วหลายราย ไล่มาตั้งแต่ มาร์ก-วิเวียง โฟเอ้ กองกลางทีมชาติแคเมอรูน ที่จากไปท่ามกลางความตกตะลึงของแฟนบอลในศึก ฟีฟ่า คอนเฟเดอเรชั่นส์ คัพ ที่ฝรั่งเศส, มิคลอส เฟเฮอร์ ดาวเตะทีมชาติฮังการีของ เบนฟิก้า มาจนถึง อันโตนิโอ ปวยร์ต้า ปีกดาวโรจน์ของ เซบีย่า
 

แต่จะมีสักกี่สโมสรในทวีปยุโรป ที่ให้ความสำคัญกับการเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันในลักษณะนี้อย่างจริงๆจังๆ       
 

จากผลสำรวจโดยครอบคลุมทั่วทั้งทวีปยุโรปของวารสาร European Heart Journal นั้น ระบุว่าสนามฟุตบอล รวมถึงสนามกีฬาประเภทต่างๆในทวีปยุโรป 190 แห่งนั้น มีถึงกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่มีอุปกรณ์และขั้นตอนดำเนินการที่ดีเพียงพอในการรับมือกับอาการหัวใจวายที่อาจเกิดขึ้นในหมู่ผู้ชมในระหว่างเกมการแข่งขัน โดยสังเวียนแข้งเหล่านั้นไม่มีเครื่องกระตุ้นหัวใจ ซึ่งการมีอุปกรณ์เหล่านี้อยู่ในสนามถือว่ามีความสำคัญมาก เนื่องจากอาการของโรคหัวใจอาจคร่าชีวิตของผู้ป่วยได้ภายใน 3-5 นาทีเท่านั้น
 

การสำรวจดังกล่าว พบว่าสังเวียนแข้งใน เซอร์เบีย และ กรีซ มีความพร้อมแย่ที่สุดในการรับมือกับอาการหัวใจวาย ขณะที่สนามของบรรดาทีมใน อิตาลี และ นอร์เวย์ ถือว่ามีอุปกรณ์และขั้นตอนดำเนินการที่ดีที่สุด ซึ่งทำให้พวกเขามั่นใจได้เลยว่าบรรดาแฟนบอลของสโมสรจะปลอดภัยเมื่อเข้ามาดูเกมการฟาดแข้งสนาม
 

และจากผลการสำรวจ ระบุว่าทั่วทั้งทวีปยุโรปนั้น จะมีคนหัวใจวายในสนามฟุตบอลเฉลี่ยแล้ว 77 ครั้งต่อ 1 ฤดูกาล ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือว่าไม่ใช่สิ่งที่เหนือความคาดหมาย เนื่องจากเกมลูกหนังสามารถทำให้แฟนบอลมีอารมณ์ร่วมถึงขีดสุด และอาจทำให้เกิดอาการหัวใจวายได้อย่างไม่ยากเย็นอยู่แล้ว


 


ข้อมูลเรื่องการเตรียมรับมือกับอาการหัวใจวายของสังเวียนแข้งในเยอรมัน
 

สมาคมฟุตบอลของ 10 ประเทศในยุโรป ประกอบไปด้วย สหราชอาณาจักร (อังกฤษ กับ สกอตแลนด์), ฝรั่งเศส, อิตาลี, สเปน, สวีเดน, กรีซ, นอร์เวย์, เซอร์เบีย, ออสเตรีย และ ฮอลแลนด์ ได้ทำการศึกษาเรื่องเหล่านี้ร่วมกัน ด้วยการตั้งคำถามถึงขั้นตอนในการช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคหัวใจ รวมถึงเรื่องของอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น แต่การขอทราบข้อมูลเรื่องการเตรียมพร้อมรับมือกับอาการหัวใจวายของสนามฟุตบอลในเยอรมัน กลับเป็นเรื่องที่ยากเย็นอย่างเหลือเชื่อ
 

เราพยายามหลายครั้งที่จะขอข้อมูลเรื่องนี้จากผู้เกี่ยวข้องใน เดเอฟเบ (สหพันธ์ฟุตบอลเยอรมัน) แต่เรากลับไม่ได้ในสิ่งที่เราต้องการเลย เคล้าส์-ปีเตอร์ เมลล์วิก ผู้เชี่ยวชาญเรื่องโรคหัวใจชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นผู้ร่วมดำเนินการจัดการศึกษาร่วมกันของบรรดาสมาคมลูกหนังในยุโรป ระบุ แถมเรายังไม่ได้รับทราบเหตุผลว่าทำไม เดเอฟเบ ถึงไม่ยอมให้ข้อมูลเรื่องนี้กับเราด้วย สิ่งที่ผมสามารถบอกได้คือ ผมทราบจากการติดต่อกับเจ้าหน้าที่สนามโดยตรง ว่ามีสนามในเยอรมันอยู่ 3 แห่งเท่านั้น ที่มีความพร้อมอยู่ในขั้นที่ดีที่จะให้การปฐมพยาบาลผู้มีอาการหัวใจวายในสนาม
 

3 สนามที่ เมลล์วิก เอ่ยถึง คือสนาม เจอร์รี่ เวเบอร์ ในเมืองฮัลเล่ เวสต์ฟาเล่น, ชูโก้ อารีน่า ในเมืองบีเลเฟลด์ และ เอเนอร์กี้ทีม อารีน่า ในเมืองพาเดอร์บอร์น ซึ่งทั้ง 3 สนามอยู่ในแคว้น นอร์ธ-ไรน์ เวสต์ฟาเลีย ทั้งหมด
 

และ เดเอฟเบ ก็ยังไม่ออกมาพูดถึงเรื่องนี้อีกเช่นเคย


 


ต้องทำอะไรสักอย่าง
 

ในจำนวนสนามกีฬาทั่วยุโรปนั้น มีมากกว่า 1 ใน 3 ที่ไม่มีแผนการปฐมพยาบาลที่เหมาะสมเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งเจ้าหน้าที่จาก European Heart Journal ที่ทำการสำรวจเรื่องนี้ ระบุว่า บรรดาสโมสรต่างๆจำเป็นต้องเริ่มหันมาสนใจการให้การปฐมพยาบาลที่ถูกต้องกับบรรดาผู้ที่เข้ามาชมเกมการแข่งขันในสนามได้แล้ว
 

ศาสตราจารย์ แมตส์ บอร์เจสสัน จากมหาวิทยาลัยโกเตนเบิร์ก ในประเทศสวีเดน ซึ่งเป็นแกนนำในการศึกษาเรื่องการปฐมพยาบาลผู้มีอาการหัวใจวายในสนามกีฬา กล่าวว่า ถ้าคุณดูข้อมูลจากการศึกษาของเราซึ่งน่าจะเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดแล้วนั้น คุณจะเห็นได้ว่าการที่บรรดาสโมสรชั้นนำซึ่งมีศักยภาพในด้านการเงินที่ดี แต่กลับไม่มีการเตรียมการในเรื่องนี้ที่ดีเพียงพอนั้น มันน่าจะเป็นเพราะพวกเขาไม่ใส่ใจ มากกว่าที่จะไม่มีทุนทรัพย์มากพอ
 

ขั้นตอนแรกที่เราต้องดำเนินการคือ สมาคมโรคหัวใจแห่งยุโรป (European Society of Cardiology) ต้องเตรียมพร้อมที่จะให้คำแนะนำกับสโมสรต่างๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในเวลานี้ บอร์เจสสัน ระบุ
 

ส่วนโฆษกของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟ่า) รายหนึ่ง เผยว่าองค์กรลูกหนังยุโรปได้ให้คำแนะนำทั่วไปในการให้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น รวมถึงอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินในสนาม ให้กับบรรดาเจ้าหน้าที่ของสังเวียนแข้งที่จัดการฟาดแข้งในรายการที่อยู่ภายใต้การดูแลของ ยูฟ่า ไปแล้ว แต่มันก็ขึ้นอยู่กับสมาคมฟุตบอลของแต่ละประเทศ ที่จะออกกฏเพื่อให้มีการเตรียมพร้อมในการช่วยชีวิตแฟนบอลในสนาม ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินเพิ่มขึ้นกันเอาเอง


 
นาร์ซีส์ซัส



src=http://www.siamsport.co.th/_PicOther/O100316I8R5N.jpg
นักเตะอย่าง มาร์ก-วิเวียง โฟเอ้ ก็เคยเสียชีวิตคาสนามมาแล้ว



src=http://www.siamsport.co.th/_PicOther/O100316J3R7R.jpg
ดานี่ ฆาร์เก้ ก็เป็นอีกกรณีที่เป็นผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจคาสนาม

ที่มา : siamsport.com


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์