เมื่อเวลาเดินช้าที่โอลด์แทรฟฟอร์ด

ถึงจะผ่านมา 2-3 วันแล้ว ศึกดาร์บี้แมตช์แห่งเมืองแมนเชสเตอร์เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาก็ยังน่าจะเป็นหัวข้อสนทนาในหมู่แฟนบอลไม่จบไม่สิ้น โดยเฉพาะสาวกทีม แมนเชสเตอร์ ซิตี้ หรือแม้กระทั่งแฟนๆ ลิเวอร์พูล ที่อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า...

ประตูชัยของ ไมเคิล โอเว่น ซึ่งเกิดขึ้นในเวลา 95 นาที 26 วินาที ของเกมเตะที่โอลด์แทรฟฟอร์ดนั้น เป็นการได้ประโยชน์จากการ "ทดเวลาบาดเจ็บ" ที่โอเวอร์เกินเหตุของกรรมการหรือไม่?

ที่สำคัญกว่านั้นคือ หลายคนอดไม่ได้ที่จะตั้งข้อสังเกต (อย่างที่เคยทำมาแล้วหลายครั้ง) ว่าไอ้ที่ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน กุนซือผีแดงชอบคุยว่าลูกทีมตัวเองมักจะยิงประตูช่วงท้ายๆ เกมได้บ่อยกว่าทีมไหนๆ ในโลกนั้น เป็นเพราะ "มิติเวลา" ที่สนามโอลด์แทรฟฟอร์ดมักจะช้ากว่าพื้นที่อื่นๆ ของโลกด้วยหรือเปล่า!?!

ว่าแล้ว เดอะ การ์เดี้ยน หนังสือพิมพ์ดังเมืองผู้ดีจึงรวบรวมข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับ "มิติเวลา" ของเกมเหย้าที่โอลด์แทรฟฟอร์ดในศึกพรีเมียร์ลีกย้อนหลังไปตั้งแต่ฤดูกาล 2006-07 มาท่านผู้อ่านใช้วิจารณญาณในการตัดสินกันเอง

จากการรวบรวมข้อมูลมา 3 ฤดูกาลเศษๆ พบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจว่า ในกรณีที่ปีศาจแดงไม่ได้เป็นฝ่ายนำคู่แข่งในช่วง 90 นาที โดยเฉลี่ยแล้วกรรมการมักจะทดเวลาบาดเจ็บเกินเวลาที่ผู้ตัดสินที่ 4 แจ้งไว้กว่า 1 นาที ผิดกับตอนที่ทีมเป็นฝ่ายขึ้นนำ

โดยใน 12 เกมที่แมนฯยูเป็นฝ่ายตามหรือสองทีมเสมอกันหลังหมด 90 นาที กรรมการจะทดเวลาบาดเจ็บเฉลี่ยแล้ว 257.17 วินาที ขณะที่ 48 เกมซึ่งปีศาจแดงเป็นฝ่ายนำหลังครบ 90 นาที กรรมการจะทดเวลาบาดเจ็บโดยเฉลี่ย 191.35 วินาทีเท่านั้น

เฉพาะฤดูกาล 2006-07 ฤดูกาลเดียว ผู้ตัดสินทดเวลาบาดเจ็บที่โอลด์แทรฟฟอร์ดตลอดฤดูกาลเฉลี่ยแล้ว 194.53 วินาที แต่หากนับเฉพาะ 4 เกมที่เจ้าถิ่นไม่ได้นำอยู่ จะมีการทดเวลาเฉลี่ยถึง 217.25 วินาที ซึ่งฤดูกาลนั้น แมนฯยูได้ประตูชัยในช่วงทดเวลาบาดเจ็บถึง 15 นัดด้วยกัน

ฤดูกาลต่อมา ระยะห่างของช่วงทดเวลาบาดเจ็บระหว่างเกมที่แมนฯยูนำกับตามหรือเสมอยิ่งเพิ่มมากขึ้น
โดยเกมที่นำจะมีอัตราเฉลี่ยการทดเวลาบาดเจ็บ 178.29 วินาที ขณะที่เกมซึ่งตามหรือเสมอจะมีเวลาเฉลี่ย 254.5 วินาที ส่วนฤดูกาลที่แล้วตัวเลขเป็น 187.71 วินาที (เกมที่นำ) กับ 258.6 วินาที (เกมที่ตามหรือเสมอ)

สำหรับฤดูกาลล่าสุด จากเกมเหย้าที่เล่นไปแล้ว 3 นัด ในเกมที่แมนฯยูเป็นฝ่ายนำ 2 นัด มีอัตราเฉลี่ยการทดเวลาบาดเจ็บ 304 วินาที ส่วนเกมเมื่อวันอาทิตย์ซึ่งสองฝ่ายเสมอกัน 3-3 ขณะเข้าสู่ช่วงทดเวลาบาดเจ็บนั้น กรรมการ มาร์ติน แอตกินสัน ปล่อยให้เล่นกันต่อถึง 415 วินาที หรือเกือบ 7 นาที จากที่ผู้ตัดสินที่ 4 ชูป้ายบอกให้ทดแค่ 4 นาทีเท่านั้น

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ มาร์ก ฮิวจ์ส ผู้จัดการทีมแมนฯซิตี้ออกมาบ่นว่า รู้สึกเหมือนโดน "ปล้น" คะแนนซึ่งควรจะได้จากผลเสมอกันในเกมนั้น อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ ฟุตบอล 365 พยายามวิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากอีกมุมมองหนึ่ง ด้วยคำอธิบายเดียวกับที่ฮิวจ์สได้จาก อลัน ไวลีย์ ผู้ตัดสินที่ 4 ข้างสนามในวันนั้น

นั่นคือหลัง เคร็ก เบลลามี่ กองหน้าเรือใบสีฟ้า ยิงประตูตีเสมอให้ทีมเยือนได้ในวินาทีสุดท้ายของเวลาปกตินั้น กว่าที่ผู้เล่นแมนฯซิตี้จะฉลองประตูกันเสร็จ กว่าจะนำบอลมาตั้งที่กลางสนามเพื่อเขี่ยลูกเริ่มเล่น ก็กินเวลาไปกว่า 1 นาทีแล้ว และต้องไม่ลืมว่าการเปลี่ยนตัวผู้เล่นนั้น ตามกติกาจะต้องบวกเวลาทดเพิ่มไปอีก 30 วินาทีด้วย ซึ่งเฟอร์กี้ส่ง ไมเคิล คาร์ริค ไปแทน แอนเดอร์สัน ในนาที 93 จึงต้องทดเวลาเพิ่มเข้าไปอยู่แล้ว

ที่สำคัญที่สุดคือ ป้ายที่ผู้ตัดสินที่ 4 ชูข้างสนามนั้น คือตัวเลขที่ระบุว่า กรรมการจะต้องทดเวลาบาดเจ็บ "อย่างน้อย" กี่นาที ไม่ใช่ "ไม่เกิน" กี่นาที ดังนั้น ถึงจะเกินไปก็ไม่ผิดกฎแต่อย่างใด

ยังมีข้อมูลน่าสนใจอีกอย่างที่ไม่ควรมองข้าม นั่นคือในช่วงเวลาเดียวกับที่เดอะ การ์เดี้ยน ทำการรวบรวมข้อมูลนั้น เมื่อเปรียบเทียบเวลาเฉลี่ยที่กรรมการทดให้ในการเล่นเกมเหย้าของแมนฯยู (ไม่จำกัดว่าสถานการณ์การแข่งขันจะเป็นเช่นไร) กับอีก 3 ทีมยักษ์ใหญ่ของลีกแล้ว ปรากฏว่า ปีศาจแดงเป็นทีมที่ได้ทดเวลาบาดเจ็บน้อยที่สุดต่างหาก!

การทดเวลาบาดเจ็บเฉลี่ยที่โอลด์แทรฟฟอร์ดตั้งแต่ฤดูกาล 2006-07 อยู่ที่ 205 วินาที ขณะที่เวลาเฉลี่ยที่สนามแอนฟิลด์ของ ลิเวอร์พูล เป็น 210 วินาที มากกว่านั้นคือ สนามเอมิเรตส์ สเตเดียม ของ อาร์เซน่อล และสูงสุดคือ สแตมฟอร์ดบริดจ์ ของ เชลซี ซึ่งคิดเป็นเวลาเฉลี่ย 229 วินาทีด้วยกัน

...ดังนั้นคำอธิบายที่ดีที่สุดสำหรับความ "โชคดี" ของแมนฯยูในประเด็นนี้จึงอาจอยู่ที่พวกเขาเป็นทีมที่รู้จักฉกฉวยผลประโยชน์จากความโชคดีนั้นได้มากกว่าทีมไหนๆ ก็เป็นได้!


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์