ไมเคิล แจ๊กสัน กับบางความทรงจำของโลกกีฬา


โชว์หยุดโลกในซุปเปอร์โบว์ล ครั้งที่ 27
แม้จะผ่านพ้นไปร่วม 1 สัปดาห์ การจากไปของ "ราชาเพลงป๊อป" ไมเคิล แจ๊กสัน เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ก็ยังคงเป็นข่าวดังตามสื่อต่างๆ และยังเป็นความสูญเสียที่ยากจะทำใจสำหรับแฟนเพลงทั่วโลก

ภายหลังข่าวการเสียชีวิตอย่างกะทันหันของนักร้องผู้เป็นตำนาน ก็มีเสียงสะท้อนจากโลกกีฬามากมายเพื่อแสดงความเสียใจต่อการจากไปในครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเหล่านักเทนนิสชั้นนำของโลกซึ่งมีโอกาสพบปะผู้สื่อข่าวอย่างสม่ำเสมอขณะที่การแข่งขัน วิมเบิลดัน กำลังดำเนินไปในขณะนี้

เราจึงได้รับรู้ประสบการณ์ในวัยเยาว์ของ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ยอดนักหวดชาวสวิสซึ่งเคยเดินทางไปสนามกีฬาที่บ้านเกิดกับพี่สาวช่วงแจ๊กสันไปเปิดการแสดง แต่ทำได้แค่ยืนฟังเสียงเพลงอยู่นอกสนามเพราะไม่มีบัตรเข้าไปดูข้างใน

อันที่จริงหากจะเอ่ยถึงความเกี่ยวพันระหว่าง ไมเคิล แจ๊กสัน กับโลกกีฬา หลายคนอาจคิดว่าไม่น่ามีอะไรเกินเลยไปกว่าในแง่ความเป็น "ศิลปิน" และ "แฟนเพลง" ในลักษณะเดียวกับเรื่องราวของเฟเดอเรอร์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว แจ๊กสันยังมีบทบาททั้งทางตรงและทางอ้อมกับโลกกีฬาหรือต่อชีวิตนักกีฬาบางคนอยู่ไม่น้อยทีเดียว

การคาบเกี่ยวครั้งสำคัญระหว่างแจ๊กสันกับโลกกีฬาย่อมไม่พ้นเรื่องราวของ ซุปเปอร์โบว์ล ครั้งที่ 27 เมื่อปี 1993 ซึ่งซุปเปอร์สตาร์นักร้องผิวสีมาเปิดการแสดงในช่วงพักครึ่งเวลาโดยผู้ว่าจ้างมีวัตถุประสงค์หลักให้แจ๊กสันดึงผู้ชมไว้กับสถานีไม่ให้ย้ายช่องหนีไปไหนในช่วง 12 นาทีนั้น

การที่แจ๊กสันได้รับเลือกให้โชว์ช่วงพักครึ่งเวลาเพียงลำพังทั้งที่ซุปเปอร์โบว์ลหนก่อนๆ มักจะมีศิลปินมาแสดงมากกว่า 1 คน (หรือ 1 วง) เสมอ ย่อมยืนยันถึงชื่อเสียงและสตาร์เพาเวอร์ของเขาได้เป็นอย่างดี

แจ๊กสันกับกีฬาอเมริกันฟุตบอลที่ไม่คุ้นเคย



แจ๊กสันเปิดตัวอย่างเท่ด้วยการยืนนิ่งหลายนาทีท่ามกลางเสียงกรี๊ดสนั่นหวั่นไหวจากผู้ชม ก่อนจะเริ่มโชว์ด้วยเมดเลย์เพลง "แจม,บิลลี่, จีน" และ "แบล๊ค ออร์ ไวต์" และปิดท้ายด้วยหนึ่งในเพลงฮิตตลอดกาล "ฮีล เดอะ เวิลด์" ที่มีโปรดักชั่นอลังการทั้งเด็กๆ นักร้องประสานเสียง 3,500 ชีวิต และวีทีอาร์กิจกรรมการกุศลทั่วโลกของแจ๊กสัน

ตัว "โชว์" ว่ายอดเยี่ยมแล้ว เบื้องหลังโชว์และผลตอบรับที่ตามมาอาจกล่าวได้ว่าน่าทึ่งยิ่งกว่าเสียอีก เพราะซุปเปอร์โบว์ล ครั้งที่ 27 นับเป็นหนแรกที่เรตติ้งผู้ชมถ่ายทอดโชว์ช่วงพักครึ่งเวลาสูงกว่าเรตติ้งผู้ชมการแข่งขันครึ่งเวลาแรกเสียอีก โดยมีการเก็บสถิติว่าเฉพาะชาวอเมริกันอย่างเดียวต่างพร้อมใจกันเปิดโทรทัศน์ไปยังช่อง เอ็นบีซี เพื่อชมการถ่ายทอดสดโชว์ของแจ๊กสันมากถึง 135 ล้านครัวเรือน
ส่วนเรตติ้ง 45.1 ของตลอดการแข่งขันถือเป็นเรตติ้งผู้ชมกีฬาทางโทรทัศน์มากสุดตลอดกาลเป็นอันดับ 10 ทีเดียว

ไม่ใช่แค่นั้น สถานีคู่แข่งอย่าง ฟ็อกซ์ ที่ปีก่อนหน้านั้นจัดผังรายการมาดึงเรตติ้งแข่งกับโชว์ช่วงพักครึ่งเวลาของซุปเปอร์โบว์ล ครั้งที่ 26 ยังตัดสินใจไม่จัดโปรแกรมพิเศษใดๆ มาสู้กับแจ๊กสัน และนับตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา ซุปเปอร์โบว์ลแต่ละครั้งมักต้องคัดสรรศิลปินระดับ "เอ-ลิสต์" มาโชว์คั่นเวลาทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น ไดน่า รอส, สตีวี่ วอนเดอร์ส, คริสติน่า อากีเลร่า, แอโรสมิธ, ยูทู, ชาเนีย ทเวน, พอล แม็คคาร์ทนีย์, โรลลิ่ง สโตนส์, พรินซ์ บรู๊ซ สปริงทีน และอีกมากมาย

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งเกี่ยวกับ "คิง ออฟ ป๊อป" และซุปเปอร์โบว์ลก็คือเขาไม่ใช่แฟนอเมริกันฟุตบอล ไม่รู้เรื่องการแข่งขันรายการนี้เลย แต่ถึงอย่างนั้น เชื่อหรือไม่ว่า ไมเคิล แจ๊กสัน คนนี้นี่แหละที่อยู่เบื้องหลัง (แบบอ้อมโลก) ความสำเร็จของทีมคนชนคน นิวอิงแลนด์ แพ็ตทริออตส์ เจ้าของแชมป์ซุปเปอร์โบว์ลปี 2001, 2003 และ 2004!?!

เรื่องมีอยู่ว่า บิลลี่ ซุลลิแวน อดีตเจ้าของทีมแพ็ตทริออตส์ และเจ้าของสนามเหย้า ฟ็อกซ์โบโร่ เอาเงินไปลงทุนกับทัวร์คนเสิร์ต วิคตอรี่ส์ ทัวร์ ของแจ๊กสันเมื่อปี 1994 แล้วเกิดขาดทุนจนล้มละลาย จำเป็นต้องขายกิจการใช้หนี้ในปี 1988 ทีมแพ็ตทริออตส์ที่ไม่เคยประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ในยุคซุลลิแวนก็ถูกขาย 3 ทอด ก่อนจะไปลงเอยในมือของ บ๊อบ คราฟต์ เจ้าของคนปัจจุบัน (คราฟต์ซื้อสนามไปตั้งแต่ปี 1988 ก่อนจะซื้อทีมในปี 1994) และเป็นคราฟต์คนนี้เองที่ดึง บิล เบลิชิค ยอดโค้ชมาคุมทีม ก่อนพาแพ็ตทริออตส์สู่ยุคทองที่ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อนในประวัติศาสตร์

...จึงกลายเป็นบทสรุปอย่างมีอารมณ์ขันสำหรับหลายๆ คนว่า ถ้าไม่มีไมเคิล แจ๊กสัน ก็คงไม่มีนิวอิงแลนด์ แพ็ตทริออตส์ ในวันนี้เป็นแน่!

นอกจากความเกี่ยวเนื่องแบบกว้างๆ ดังที่กล่าวไปแล้ว ราชาเพลงป๊อปผู้ล่วงลับยังมีบทบาทกับชีวิตนักกีฬาเป็นรายคนมากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่กรณี อาจจะเป็นบทบาทเล็กๆ อย่างการที่นักกีฬาหลายคนเลียนแบบท่าเต้นอมตะ มูนวอล์ก หลังทำคะแนนได้ เช่น โดโนแวน แม็คแน็บบ์ ควอเตอร์แบ๊คทีมฟิลาเดลเฟีย อีเกิ้ลส์ หรือ บาส ซาเวจ กองหน้าทรานเมียร์ โรเวอร์ส ที่ฉลองการพังประตูด้วยท่าเต้นมูนวอล์กจนกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของตัวเองไปแล้ว (หาคลิปท่าเต้นของทั้งคู่ดูได้ทางยูทูบนะขอรับ)

หรืออาจมีบทบาทสำคัญอย่างในกรณีของ โคบี้ ไบรอันต์ ซุปเปอร์สตาร์นักบาสซึ่งเพิ่งนำทีมแอลเอ เลกเกอร์ส คว้าแชมป์เอ็นบีเอฤดูกาลล่าสุด โดยไบรอันต์เป็น 1 ใน 17 นักเขียนรับเชิญของนิตยสาร ไทม์ ที่ร่วมย้อนรำลึกความทรงจำของพวกเขาต่อเพื่อนผู้จากไปอย่างไม่มีวันกลับผู้นี้

ไบรอันต์บอกว่า แจ๊กสันเป็นเพื่อนที่ดีและจริงใจมากๆ คนหนึ่ง ครั้งหนึ่งตอนที่เขาบอกว่ากำลังจะแต่งงาน แจ๊กสันรีบเสนอให้ยืมสวนขนาดใหญ่ที่บ้านให้จัดพิธีเพื่อความเป็นส่วนตัว (แต่สุดท้ายไบรอันต์ก็ไม่ได้ยืมเพราะอยากทำพิธีในโบสถ์มากกว่า) นอกจากนี้ แจ๊กสันยังทำให้เขาติดหนังคลาสสิคสมัยก่อน โดยเฉพาะหนังของดารานักเต้น เฟร็ด แอสแตร์ ด้วย

แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่ไบรอันต์ได้รับจากแจ๊กสันคือ "แรงบันดาลใจ" ที่ทำให้เขามีวันนี้ได้นั่นเอง...

"เขาจะบอกผมเสมอว่า "อย่ากลัวที่จะแตกต่าง" บางครั้งเวลาเรามีแรงผลักดันคิดอยากทำอะไรที่มันแปลกกว่าชาวบ้านเขา ก็อาจโดนคนรอบข้างดึงกลับมา พยายามทำให้เราเป็น "คนธรรมดา" เหมือนคนอื่นๆ แต่เขาจะบอกว่า "ไม่เป็นไรหรอก อยากทำอะไรก็ทำไปเลย อย่าไปคิดว่าทำแล้วจะออกนอกลู่นอกทางสิ" แล้วเขาก็ให้หนังสือผมมาเล่มนึง เรื่อง "โจนาธาน ลิฟวิงสตัน ซีกัล" ซึ่งมันใช่ตามที่เขาบอกเลยครับ"

...นั่นคือความจริงที่อาจมีคนทราบไม่มากนักว่า ชีวิตของนักยัดห่วงแห่งยุคคนนี้ นอกจากจะมี "เอ็มเจ" (ไมเคิล จอร์แดน) เป็นแรงบันดาลใจแล้ว ยังมีอีกหนึ่ง "เอ็มเจ" (ไมเคิล แจ๊กสัน) เป็นแรงผลักดันอีกด้วย!

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์