1980s : “The Day That Football Died“ ( วันที่ลูกหนังไม่มีที่ว่างให้ฟุตบอล

1980s : “The Day That Football Died“ ( วันที่ลูกหนังไม่มีที่ว่างให้ฟุตบอล )







     อำลายุคนี้ที่อภินิหารดัทช์ฮีโร่ “ สามทหารเสือ “ ที่ร่ายคาถาโดย “ Frank Rijkaard “ , “ Ruud Gullit “ รวมถึง ศูนย์หน้าพรายกระซิบ เจ้าของบัลลงดอร์ 3 สมัย ควบด้วยยศกองหน้าที่ดีที่สุดของยุโรป “ Marco Van Basten “ โดยกลุ่มสามทหารเสือ โชว์ผลงานระดับมาสเตอร์พีช ในเวลาเพียงสามปี โดยในปี 1989 และ 1990 พวกเขาพาปีศาจแดงดำ เอซี มิลาน จุมพิตบิ๊กเอียร์ 2 สมัยติด โดยนี้เป็นครั้งสุดท้ายของถ้วย Uefa Champion League ที่แชมป์สามารถป้องกันแชมป์ได้จนถึงปัจจุบันนี้

     แต่จุดสูงสุดของชีวิตค้าแข้ง คือ การพาทีมฮอลแลนด์คว้าแชมป์ยูโรในปี 1988 อันเป็นถ้วยแรกและถ้วยเดียวของวงศ์ตระกูลดัทช์ และจากเกียรติภูมินั้น นำสู่บ่อเกิดคำว่าสามทหารเสือ เพราะในศกนี้เองรางวัลบัลลงดอร์ทั้งสามอันดับถูกพวกเขากวาดเรียบ นับเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวอีกเช่นกัน ที่มีนักเตะจากชาติเดียวกันทีมเดียวกันคว้าทั้งสามอันดับ นี้จึงเป็นเกลอทริโอที่ดีที่สุดของวงการลูกหนังอย่างไร้ข้อกังขา

     รีรันมาบอลโลก 1982 ที่สเปน ซึ่งในรอบแบ่งกลุ่ม อิตาลีเข้ารอบแบบเสมอรวด ต้องลุ้นเยี่ยวเหนียวถึงเกมสุดท้ายจากลูกได้เสีย โดยกองหน้าเพิ่มสกอร์ไม่ได้แม้แต่ประตูเดียว ซึ่งกองหน้าที่ถูกวิจารณ์หนักที่สุดคือผู้ที่เจอข้อหาล้มบอล ห้ามลงสนาม 2 ปี ทำได้เพียง ซ้อม ซ้อม และซ้อม เพียงแอบหวังเล็กๆว่าจะติดทีมชาติไปบอลโลก ซึ่งไม่มีใครเชื่อว่าเขาจะติดทีมชาติ เว้นแต่ผู้จัดการทีมอิตาลีขณะนั้น เขาผู้นั้นคือ “ Paolo Rossi “

     ผลงานที่งามหน้าของรอสซี่ในรอบแบ่งกลุ่ม ทำให้ผู้จัดการทีมอิตาลีถูกจวกไม่มีชิ้นดี ถึงการเลือกคนที่ไม่ได้ลับคมมา 2 ปีร่วมทีม ตรงนี้เองทำให้เกมหน้าที่เจอกับ “ บราซิลชุดดรีมทีม “ เปรียบเสมือนฟางเส้นสุดท้าย แต่ไม่น่าเชื่อว่าฟางเส้นเดียวนั้นจะก่อเปลวเพลิงเผาผลาญแซมบ้า 3-2 ด้วยแฮตทริกของเขา จนผ่านเข้ารอบสองที่เขาเครื่องติดเบิ้ลไปอีกสอง กระทั่งหลุดมาถึงนัดชิงชนะเลิศ ที่อิตาลีชนะเยอรมันไป 3-1 โดยประตูเบิกร่องมาจากรอสซี่เช่นเคย พาทีมผงาดคว้าแชมป์โลกสมัยที่ 3 อย่างพลิกล็อคมากที่สุดครั้งหนึ่ง

     ส่วนทางอาร์เจนติน่า แชมป์เก่า สะดุดปราชัยต่อ เบลเยียม แต่เป็นการเปิดม่านโชว์ตัวของ “ Maradona “






     ฟุตบอลโลกปี 1986 ที่เม็กซิโก ไฮไลท์อยู่ที่ มาราโดน่า อย่างแท้จริง โดยเฉพาะเกมกับอังกฤษที่อบอวนไปด้วยความตึงเครียด เหตุมาจากปี 1982 อาร์เจนติน่าประกาศสงครามส่งทหารนับหมื่น เข้ายึดหมู่เกาะฟอล์คแลนด์อันเป็นอาณานิคมของอังกฤษ โดยถือว่าแท้จริงคือหมู่เกาะของตนที่อังกฤษยึดครองมากว่าศตวรรษ ซึ่งผลสงครามนั้นอังกฤษสังเวยชาวอาร์เจนติน่า 775 ศพ ใน “ สงครามหมู่เกาะฟอล์คแลนด์ “

     ตำนานฟ้าขาวกล่าวว่า “ แชมป์โลกช่างมัน ขอได้อัดอังกฤษก็สาแก่ใจ “ สื่อถึงอุณหภูมิในเกมนั้นได้ดีเยี่ยม และก็เป็นดั่งฝัน เมื่อชัยชนะเป็นของฟ้าขาว 2-1 จากลูกยิงที่ดีที่สุดของบอลโลก ที่เขาลากโซโล่จากกลางสนามหลังหักไปห้าคนเข้าไปยิง รวมถึงการใช้มือชกบอลเข้าประตูเป็นหัตถ์ซาตานของขาวอังกฤษ แต่เป็น “ หัตถ์พระเจ้า “ ของชาวฟ้าขาว ที่นำทีมมารอบชิงชนะเลิศ สานต่อจนชนะเยอรมันเป้าหมายรอง 3-2 เป็นแชมป์โลกของมาราโดน่า และนั้นเป็นเปลวไฟดวงเดียวที่ขับไล่ความหนาวเหน็บแก่ชาวฟ้าขาว ท่ามกลางบ้านเมืองที่แสนบัดซบเต็มที

     ถ้วยอันทรงเกียรตินั้น กลายเป็นแรงส่งที่ยกระดับสถานะไปเป็นตำนานอย่างไม่อาจปฏิเสธ โดยหนึ่งวันก่อนปราชัย เซอร์ บ็อบบี้ ร็อบสัน แสดงทรรศนะว่า ผม ใช้เวลาทั้งวันในการคิดหาทางหยุด มาราโดน่า หลังจากเห็นทีมอื่น ๆ งัดทุกวิธีขึ้นมาใช้ แต่สุดท้ายก็ไม่สำเร็จ ผมบอกได้เลยว่าหากไม่มี มาราโดน่า อยู่ในทีมเสียคน อาร์เจนติน่า ก็หมดทางชนะ นี่แหละคือความเห็นของผม

     นอกจากนี้มาราโดน่ายังพาทีมอย่างนาโปลีคว้าแชมป์กัลโช่ 2 สมัยและยูฟ่าคัพอีก 1 สมัย เมเปิ้ลจึงรีไทร์เบอร์10 อุทิศสถาปัตยกรรมชิ้นเอกนี้ แต่กระนั้นเขาก็เคยเหลวแหลกสุดสถุนจากโคเคน ไร้คราบเสื้อเตี้ยที่น่าเกรงขาม และท้ายที่สุดคำถามโลกแตก ใครคือเบอร์หนึ่งระหว่างเขากับเปเล่ ก็ยังคงเป็นคำถาม แต่ที่จริงแท้คือหากเขาไม่ใช่คนนั้น เขาก็เป็นนักบอลคนเดียวของโลกที่มีคนนับถือเป็นพระเจ้า แห่ง “ ศาสนามาราโดน่า “

     ตามธรรมเนียมเรามาชมศึกชิงแชมป์ฟุตบอลยุโรปกันต่อ ที่สามปีแรกเป็นของแอสตันวิลล่าหนึ่งสมัย และ ” เครื่องจักรสีแดง “ ลิเวอร์พูลอีกสองสมัย ครั้งแรกจาก Bob Paisley ส่งปู่เข้าหอเกียรติยศฐานะหนึ่งเดียวที่คว้าแชมป์ยุโรปสามสมัย อีกสมัยเป็นของ Joe Fagan หนึ่งในสี่จาก Boot Room เช่นกัน ลีกอังกฤษจึงคว้าแชมป์ยุโรปเจ็ดสมัยจากแปดปีที่ผ่านมานับแต่ 1977 ถึง 1984 อาศัยเครื่องจักรสีแดงก็โซ้ยแหลกสี่สมัยแล้ว






     จนกระทั่งวันที่ 29 พฤษภาคม 1985 หนึ่งชั่วโมงก่อนควานหาแชมป์ยุโรป แฟนบอลสองฝ่ายตะโกนยั่วโมโห กระทั่งแฟนบอลลิเวอร์พูลโดนสิ่งของกระหน่ำใส่ จึงเข้ารุกฆาตแฟนบอลชาวอิตาเลียน เมื่อความวุ่นวายพ้นวิสัยควบคุม แฟนยูเวนตุสก็ดิ่งหนีไปทางกำแพงซึ่งได้พังทะลายลงทับร่างของพวกเขา แฟนบอล 39 รายสิ้นชีวาอยู่แห่งหนนั้น นับว่าเป็นวันแห่งคาวเลือด ในประเทศเบลเยี่ยม ณ ลานประหาร “ เฮย์เซล “

     ที่วรนุชกว่านั้นคือ ผู้จัดสุดทึ่มให้มีการแข่งขันต่อไป ท่ามกลางเสียงประท้วงของสองฝ่าย ซึ่งประวัติศาสตร์บงการชะตาเป็นชัยชนะแก่ยูเวนตุส 1-0 โดยลูกจุดโทษปัญหาของ “ Michel Platini “ ผู้เล่นเพียงคนเดียวที่สามารถคว้าบัลลงดอร์ได้สามสมัยติดและยิง 9 ประตูในบอลยูโร 1984 เพียงครั้งเดียว กลายเป็นแรงถีบเขาเป็นฮีโร่พาตราไก่คว้าแชมป์แรกในค่ำคืนแห่งความปิติ และครั้งนี้เขาก็เป็นฮีโร่พาทีมม้าลายคว้าแชมป์ยุโรปสมัยแรกเช่นเคย เพียงแต่ค่ำคืนนี้โหมโรงด้วยเสียงโหยหวนและน้ำตา






     โศกนาฏกรรมนี้ “ ฮูลิแกน “ ส่งกลิ่นไม่น่าพิศมัยแตะจมูกโลกครั้งแรก จนเอฟเอประกาศตัดตอนแบนสโมสรของอังกฤษไม่ให้เข้าร่วมการแข่งขันในยุโรป 5 ปี ส่วนลิเวอร์พูลในฐานะต้นสังกัดของแฟนบอลที่จุดชนวน โดนแบนเพิ่ม รวมไปถึงการรีไทร์ก่อนเวลาอันควรของ โจ ฟาแกน ที่ทำงานเพียงสองปี ดังนั้นตำแหน่งผู้จัดการทีม จึงสืบทอดโดย “ Kenny Dalglish “ คนสุดท้ายที่ทำทีมประสบสำเร็จในระดับสูง

     วันนั้น “ The Day That Football Died “ คือคลื่นกระเพื่อมระลอกใหญ่ของลิเวอร์พูลถึงวันนี้ ซึ่งมองในแง่คำสบถจากพวกขี้แพ้อย่างผม หากฟาแกนผู้เข้าชิงแชมป์ยุโรปสองปีติดยังอยู่ เขาคงปูรากฐานตามเจตนารมณ์แชงคลีย์ เหมือนที่เพลสลีย์สานุศิษย์ของ Boot Room ทำเป็นพิธีกันมา เครื่องจักรสีแดงก็จักผลิตแชมป์ยุโรปหรือล่าอาณานิคมหลั่งไหลสู่เมอร์ซี่ไซด์ไม่ขาดตอน อันแฝงนัยยะซ่อนเร้นว่า ดัลกลิชคงสืบสันดานช่วงใช้ชื่อพรีเมียร์ลีก ถ้าเข้าข้างตัวเองสุดโต่งแล้วไซร้ หงส์แดงคงแกร่งใช่ดูแคลนและกอดถ้วยพรีเมียร์สักถ้วยให้แลชม

     ท้ายสุดผมจึงขอปุจฉาถึงบรรดาฮูลิแกนในคราบเดอะค็อปค่ำนั้นว่า วันที่คุณเห็นทีมที่คุณอ้างว่ารัก..ไม่สิ..

     “ วันที่ลิเวอร์พูลแพ้วูล์ฟคาแอนฟิลด์ ผมไม่รู้ว่าคุณรู้สึกอย่างไร แต่ไม่สงสารพวกเราเดอะค็อปบ้างหรอครับ “





โดย : The White-ซ็อคเกอร์ซัค

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์