เกาะติด ยูโร 2008 เยอรมนี & โครเอเชีย

เยอรมนี : รอบแรก น่าผ่านได้แบบไม่มีปัญหา




กลุ่มบี


โปรแกรมการแข่งขัน

8 มิ.ย. 2008 เยอรมนี - โปแลนด์ 01.45 น.
12 มิ.ย. 2008 โครเอเชีย - เยอรมนี 23.00 น.
16 มิ.ย. 2008 ออสเตรีย - เยอรมนี 01.45 น.

ผลงานในรอบคัดเลือกยูโร 2008
เล่น 12, ชนะ 8, เสมอ 3, แพ้ 1, ยิงได้ 35, เสีย 7, คะแนน 27

วัน/เดือน/ปี 2 กันยายน 2549, สถานที่ เหย้า, คู่แข่งขัน ชนะไอร์แลนด์, ผล 1-0
วัน/เดือน/ปี 6 กันยายน 2549, สถานที่ เยือน, คู่แข่งขัน ชนะซานมารีโน, ผล 13-0
วัน/เดือน/ปี 11 ตุลาคม 2549, สถานที่ เยือน, คู่แข่งขัน ชนะสโลวาเกีย, ผล 4-1
วัน/เดือน/ปี 15 พฤศจิกายน 2549, สถานที่ เยือน, คู่แข่งขัน เสมอไซปรัส, ผล 1-1
วัน/เดือน/ปี 24 มีนาคม 2550, สถานที่ เยือน, คู่แข่งขัน ชนะสาธารณรัฐเช็ก, ผล 2-1
วัน/เดือน/ปี 2 มิถุนายน 2550, สถานที่ เหย้า, คู่แข่งขัน ชนะซานมารีโน, ผล 2-1
วัน/เดือน/ปี 6 มิถุนายน 2550, สถานที่ เหย้า, คู่แข่งขัน ชนะสโลวาเกีย, ผล 2-0
วัน/เดือน/ปี 8 กันยายน 2550, สถานที่ เยือน, คู่แข่งขัน ชนะเวลส์, ผล 2-0
วัน/เดือน/ปี 13 ตุลาคม 2550, สถานที่ เยือน, คู่แข่งขัน เสมอไอร์แลนด์, ผล 0-0
วัน/เดือน/ปี 17 ตุลาคม 2550, สถานที่ เหย้า, คู่แข่งขัน แพ้สาธารณรัฐเช็ก, ผล 0-3
วัน/เดือน/ปี 17 พฤศจิกายน 2550, สถานที่ เหย้า, คู่แข่งขัน ชนะไซปรัส, ผล 4-0
วัน/เดือน/ปี 21 พฤศจิกายน 2550, สถานที่ เหย้า, คู่แข่งขัน เสมอเวลส์, ผล 0-0

เยอรมนี เป็นทีมแรกที่เก็บคะแนนผ่านรอบคัดเลือกเข้าสู่รอบสุดท้ายโดยทำได้ตั้งแต่นัดที่ 9 ซึ่งออกไปเสมอไอร์แลนด์ 0-0 เมื่อ 13 ต.ค. 2550 โดยสามารถทำสถิติชนะมากที่สุดในการแข่งขันยูโร โดยเอาชนะซานมารีโนได้ 13-0 เมื่อ 6 ก.ย. 2549 จากประตูของลูคัส โพดอลสกี ยิงได้ 4 ประตู เป็นนักเตะเยอรมนีคนที่ 2 ต่อจาก เกิร์ด มุลเลอร์ ที่ยิงแอลเบเนียได้ 4 ประตู เมื่อปี 1967

ผลงานของเยอรมนียังดูไม่น่าประทับใจนัก เพราะในนัดที่ 4 ทำได้แค่เสมอไซปรัส 1-1 และหลังจากได้คะแนนพอเข้ารอบแล้วพวกเขาดูจะขาดความมุ่งมั่น ปล่อยให้สาธารณรัฐเช็กบุกมาเอาชนะได้ถึงบ้านที่มิวนิก 3-0 และจบแมตช์สุดท้ายในบ้านเสมอเวลส์ 0-0 เข้าเป็นแค่ที่ 2 ของกลุ่ม ตามหลังสาธารณรัฐเช็ก 2 คะแนน


ผลงานในฟุตบอลโลก 2006

เยอรมนีเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2006 ได้เข้ารอบสุดท้ายโดยอัตโนมัติ ลงเล่นรอบแรกชนะรวด 3 นัด เหนือคอสตาริกา 4-2 โปแลนด์ 1-0 และเอกวาดอร์ 3-0 รอบสองเอาชนะสวีเดน 2-0 และรอบก่อนรองเสมอกับอาร์เจนตินาในเวลา 1-1 ต้องดวลลูกจุดโทษตัดสินและเอาชนะได้ 4-2 แต่ในรอบรองชนะเลิศกลับพลาดท่าพ่ายให้กับอิตาลี 0-2 ได้แค่อันดับ 3 เอาชนะโปรตุเกส 3-1 โดยที่ มิโรสลาฟ โคลเซ ดาวยิงของทีมยิงประตูสูงสุดของทัวร์นาเมนต์ 5 ประตู คว้ารางวัลนักเตะเท้าทองมาครอง

ผลงานในยูโร 2004

เยอรมนีผ่านรอบคัดเลือกเป็นที่ 1 ของกลุ่ม ชนะ 5 เสมอ 3 ทิ้งห่างอันดับ 2 สก๊อตแลนด์ถึง 4 คะแนน แต่ในรอบสุดท้ายที่โปรตุเกสกลับทำผลงานได้ไม่ดีเสมอเนเธอร์แลนด์ 1-1 เสมอลัตเวีย 0-0 และพ่ายสาธารณรัฐเช็ก 1-2 ตกรอบแรก ไปอย่างน่าผิดหวัง

ในช่วงที่ยังแยกประเทศ เป็นเยอรมนีตะวันออก และเยอรมนีตะวันตก นั้น เยอรมนีตะวันตกเคยเป็นแชมป์ยูโร 2 ครั้ง เมื่อปี 1972 และ 1980 และหลังจากรวม ประเทศเยอรมนีแล้วคว้าแชมป์ได้ 1 ครั้งในยูโร 96 ที่อังกฤษ เมื่อเอาชนะสาธารณรัฐเช็กที่เวมบลีย์ โดยแพทริค เบอร์เกอร์ ยิงลูกจุดโทษให้เช็กไปก่อนในนาทีที่ 59 และโอลิเวอร์ เบียร์โฮฟ ตีเสมอได้ก่อนหมดเวลา 17 นาที ต้องต่อเวลาและเป็น เบียร์โฮฟ ที่ยิงประตูโกลเดนโกล เอาชนะได้หลังต่อเวลาไปเพียง 5 นาที

หลังจากชนะเลิศยูโร 96 แล้ว เยอรมนีผ่านเข้ารอบสุดท้ายอีก 2 ครั้งติดต่อกันในยูโร 2000 และ 2004 แต่ไม่น่าเชื่อว่าไม่เคยเอาชนะใครได้เลย โดยรวมทั้งสองครั้ง 6 นัด เสมอ 3 แพ้ 3 ตกรอบแรกทั้งสองครั้ง ดังนั้นยูโร 2008 ครั้งนี้ พวกเขาจึงมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่งที่จะแก้ตัว เอาชนะคู่แข่งผ่านเข้าไปคัดแชมป์อีกครั้งหนึ่งให้ได้ ซึ่งเมื่อเจอคู่ต่อสู้ในรอบแรกแล้ว เยอรมนีน่าจะผ่านเข้าสู่รอบรองชนะเลิศได้ แต่คงต้องลุ้นกันทุกนัดแน่นอน

รวมผลงานใน ยูโร 11 ครั้ง เยอรมนีลงเล่น 110 นัด ชนะ 67 เสมอ 29 แพ้ 14 ยิงได้ 224 และเสีย 77 ประตู

กลยุทธ์การเล่นของเยอรมนี

แม้ว่า เจอร์เกน คลินสมันน์ จะลาออกจากตำแหน่งโค้ชไป หลังจบฟุตบอลโลก 2006 เปิดทางให้ โยอัคคิม เลิฟ ขึ้นมาคุมทีมตั้งแต่เริ่มรอบคัดเลือก แต่ผู้เล่นส่วนใหญ่ยังคงเป็นชุดเดิม เสริมด้วยนักเตะมีผลงานเด่นในบุนเดสลีกาอีกจำนวนหนึ่ง

ในแดนหลัง คริสโตฟ เม็ตเซลเดอร์, เพอร์ เมอร์เตซัคเกอร์ และ ฟิลิปป์ ลาห์ม ยังน่าจะรักษาตำแหน่งตัวจริงไว้ได้ แต่ ลาห์ม อาจจะถูกโยกมาแทน อาร์เน ฟรีดริช ในตำแหน่งแบ๊กขวา และเปิดโอกาสให้ มาร์เซล แยนเซน ได้ลงเล่นเป็นแบ๊กซ้าย

ในแดนกลาง ทอร์สเทน ฟริงส์ จอมเก๋าจากแวร์เดอร์ เบรเมน จะยังติดทีมอยู่ ส่วน แบรนด์ ชไนเดอร์ จากไบเออร์ เลเวอร์คูเซน บาดเจ็บชวดติดทีมมาด้วย โดย มาชาเอล บัลลัค จะถูกดึงต่ำลงมาเป็นตัวคุมเกม ซึ่งจะทำให้โอกาสบุกขึ้นไปช่วยยิงประตูลดน้อยลง แต่จะทำให้เกมรับมีความมั่นคงยิ่งขึ้น ส่วนผู้เล่นริมเส้น บาสเตียน ชไวก์ สไตน์เกอร์ ที่ฟอร์มไม่ดีนักกับ บาเยิร์น มิวนิก จะยังคำทำหน้าที่เติมเกมริมเส้นด้านซ้ายต่อไป ส่วน ทิม โบรอฟสกี จะทำหน้าที่ทางด้านขวา

ในแดนหน้า มิโรสลาฟ โคลเซ ซึ่งมักเล่นได้ดีในการเล่นทีมชาติน่าจะได้เป็นตัวหลักในการเล่นระบบ 4-4-2 โดยอีกหนึ่งตำแหน่งคงต้องเลือกระหว่าง มาริโอ โกเมซ, ลูคัส โพดอสกี และ เคริน คูรานี โดย โพดอสกี อาจจะถูกดึงออก ไปเล่นริมเส้นทางซ้ายสลับกับ บาสเตียน ชไวน์สไตเกอร์

ในแดนกลางนั้น เลิฟ อาจสลับมาเล่นแบบโดยให้ โทมัส ฮิทเซิลสเพอร์เกอร์ เป็นตัวรับ ในกรณีที่ บัลลัค หรือ ฟริงส์ ไม่สมบูรณ์ แต่โดยทั่วไปแล้วเขาลงจะใช้ระบบมิดฟิลด์ตัวรับ 2 คน มากกว่า สำหรับผู้รักษาประตูการบาดเจ็บของ ติโม ฮิลเดอบรานด์ ไม่ติดทีมมาด้วย ทำให้ เยนส์ เลห์มันน์ น่าจะเป็นตัวจริงต่อไป.

ข้อมูลจำเพาะเยอรมนี
กัปตันทีม :
มิชาเอล บัลลัค
อันดับโลกล่าสุด : 5
ผลงานที่ดีที่สุดในยูโร : แชมป์ (1972, 1980, 1996)
ผลงานในฟุตบอลยูโรรอบสุดท้าย : 1960 - ไม่ได้เข้าร่วม, 1964 - ไม่ได้เข้าร่วม, 1968 - ไม่ผ่านรอบคัดเลือก, 1972 - แชมป์, 1976 - รองแชมป์, 1980 - แชมป์, 1984 - รอบแรก, 1988 - รอบรองชนะเลิศ, 1992 - รองแชมป์, 1996 - แชมป์, 2000 - รอบแรก, 2004 - รอบแรก, 2008 - เข้ารอบสุดท้ายในฐานะอันดับสองกลุ่ม D


    โค้ช : โยอัคคิม เลิฟ

     เขาเลื่อนขึ้นมาคุมทีมชาติเยอรมนีหลังการลาออกของ เจอร์เกน คลินส์มันน์ ซึ่งให้การสนับสนุน เลิฟ อย่างเต็มที่ โดยกล่าวว่าเขาเป็นมากกว่าผู้ช่วยของเขาในทีมชาติเยอรมนี และในความเป็นจริงแล้ว เลิฟก็มีบทบาทอย่างสูงในการกำหนดกลยุทธ์การเล่นและการเลือกตัวนักเตะลงสนาม

     ผลงานในรอบคัดเลือก ทำให้สมาคมฟุตบอลเยอรมนี ต่อสัญญาคุมทีมให้เขาไปจนถึงปี 2010 เพื่อให้มั่นใจว่าเขาคือผู้ที่จะนำทีมผ่านยูโร 2008 และฟุตบอลโลก 2010 ภายใต้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ของสมาคม 

โยอัคคิม เลิฟ หรือที่แฟนบอลเรียกกันว่าโยกี เคยเป็นนักบอล อาชีพกับสตุตการ์ต, ไฟสบวร์ก และไอน์ทรัค แฟรงก์เฟิร์ต ลงเล่นบุนเดสลีกา 57 นัด และลีกาสองอีก 181 นัด ในช่วงท้ายของชีวิตนักเตะเขาเริ่มงานโค้ชกับสโมสรวินเตอร์เธอร์ ในสวิตเซอร์แลนด์ และเมื่อแขวนสตั๊ดในปี 1995 ก็ได้เข้ารับงานโค้ชที่สตุตการ์ต ที่ซึ่งเขาใช้เวลาปีเดียวก็พาทีมม้าขาวคว้าแชมป์เดเอฟเบ โพคาล ฤดูกาล 96/97 และพาทีมเข้าถึงรอบชิงยูฟ่าคัพวินเนอร์สคัพ ในปีต่อมา แต่พลาดแชมป์ให้เชลซีไปในช่วงท้ายเพียง 0-1 เท่านั้น

เขาออกไปคุมทีมในออสเตรีย และพา แวคเกอร์ ติโรล แห่ง อินน์สบรูค คว้าแชมป์ออสเตรียนลีก ปี 2001/02 เข้าคุมทีมออสเตรีย เวียนนา และไปตุรกี คุมทีม เฟเนร์บาห์เช กับ อดานาสปอร์ ก่อนจะกลับมาช่วยทีมชาติเยอรมนี.

ดาราทองของเยอรมนี-ฟริตซ์ วอลเตอร์


หากจะเลือกยอดนักเตะในรอบ 50 ปี ของเยอรมนีคงมีหลายคนมากที่พวกเรานึกถึง และอยู่ในขั้นดาราทอง แต่เมื่อต้องเลือกเพียงหนึ่งเดียวสมาคมฟุตบอลเยอรมนีจึงตัดสินใจยกตำแหน่งนี้ให้กับ ฟริตซ์ วอลเตอร์ ซึ่งเราอาจจะไม่รู้จักเขาดีนัก เพราะเขาเป็นทีมชาติเยอรมนีผู้ยิ่งยงตั้งแต่ 50 ปีที่แล้ว

ฟริตซ์ วอลเตอร์ เกิดเมื่อปี 1920 และเริ่มเล่นฟุตบอลกับไกเซอร์สเลาเทิร์น ซึ่งเป็นสโมสรเดียวที่เขาเล่นตลอดอาชีพนักเตะ เขาได้ลงทีมใหญ่ตั้งแต่อายุ 17 ปี และติดทีมชาติเยอรมนีใน 2 ปีต่อมา โดยประเดิมทีมชาติด้วยการยิงแฮตทริก และในวันที่ 4 กรกฎาคม 1954 เขาก็ไปถึงจุดสุดยอดของชีวิตนักเตะ เมื่อเป็นกัปตันพาทีมชาติเยอรมนีคัดแชมป์ฟุตบอลโลกได้เป็นครั้งแรก ด้วยการเอาชนะฮังการี 3-2 ที่กรุงเบิร์น

วอลเตอร์ เป็นนักฟุตบอลที่มีพรสวรรค์ มีการเลี้ยงบอลที่โดดเด่นสามารถพาลูกหลบหลีกคู่ต่อสู้ได้อย่างสวยงาม มีการอ่านเกมที่ดีและมีความสามารถรอบตัว ทำให้ปรับเปลี่ยนการเล่นได้อย่างรวดเร็วและตัดสินใจเลือกใช้ลูกเล่นต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสมเสมอ

     “ฟรีดริช” ซึ่งเป็นชื่อที่เพื่อน ๆ นักบอลเรียกขานได้พัฒนาตัวเองจากนักล่าประตูมาเป็นตัวคุมเกม และผู้สั่งงาน เพื่อนร่วมทีมที่ได้รับการยอมรับทั้งในและนอกสนาม เซปป์ เฮอร์แบร์เกอร์ โค้ชทีมชาติซึ่งคุมทีมเยอรมนีอย่างยาวนาน ยกย่องให้เขาเป็นมือขวา ร่วมวางแผนการเล่นและเมื่อลงสนามแล้วพบกับเกมที่ไม่คาดหมายเพียงแค่ชำเลืองมองตาโค้ช กัปตันทีมวอลเตอร์ก็สามารถปรับรูปแบบการเล่นของทีมได้แล้ว ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ไม่มีเกมการแข่งขันระดับทีมชาตินานถึง 8 ปี ระหว่าง 1942-1950 และในช่วงปลายสงครามเขาถูกจับเป็นเชลยศึกโดยกองทัพรัสเซีย และถูกคุมตัวอยู่ในแคมป์ที่พรมแดนโรมาเนีย-รัสเซีย ซึ่งยามว่างจะมีการเล่นฟุตบอลระหว่างทหารรัสเซียกับเชลยศึกเสมอ เมื่อทหารรัสเซียผู้คุมค่ายกักกันเห็นการเล่นของวอลเตอร์จึงได้ดึงเขาไปร่วมทีมผู้คุมค่ายกักกันเพื่อแข่งกับทีมทหารรัสเซียทีมอื่น

เมื่อสิ้นสุดสงคราม มีการยกค่ายกักกันเชลยศึกกลับเข้าไปในดินแดนรัสเซีย นายพลอยู่ควบคุมค่ายซึ่งเป็นแฟนบอลตัวยง ได้ยินยอมให้ปล่อยตัววอลเตอร์ กลับบ้านได้เขาจึงกลับมาไกเซอร์สเลาเทิร์น และก่อสร้างทีมขึ้นใหม่ โดยรับหน้าที่เป็นทั้งโค้ช, ผู้เล่น, ผู้บริหาร, ผู้ดูแลสนาม, เจ้าหน้าที่การเงิน และผู้ช่วยเหลือในทุก ๆ ด้านของสโมสร ซึ่งในช่วงนี้เองที่เขาได้พบรักกับภรรยา ซึ่งทำหน้าที่เป็นล่ามให้กองทหารฝรั่งเศสที่เข้ามายึดครองไกเซอร์สเลาเทิร์น หลังสงคราม

เยอรมนีกลับมาเป็นสมาชิกฟีฟ่าใหม่ในปี 1950 และ 2 ปีต่อมาด้วยวัย 32 ปี เขาก็ประกาศอำลาทีมชาติหลังจากทีมพ่ายฝรั่งเศส 1-2 ที่ปารีส โดยเขาถูกโจมตีว่าแก่เกินไปแล้ว แต่อย่างไรก็ดีโค้ชเฮอร์แบร์เกอร์ สามารถชักชวนเขากลับมาร่วมทีมได้อีกครั้ง และทำให้เขามีโอกาสเป็นกัปตันพาทีมคว้าแชมป์โลก 1954 โดยในรอบแรกเยอรมนีพ่ายฮังการีมาถึง 3-8 เมื่อได้เข้าชิงกันอีก ทุกคนจึงยกให้ฮังการีซึ่งมีดาราดังอยู่จำนวนมากเป็นต่อ และเหตุการณ์ทำท่าจะซ้ำรอยเดิม เมื่อฮังการียิงนำไปก่อนถึง 2-0 แต่ แม็กซ์ มอร์ล็อค ยิงตีไข่แตกให้เยอรมนีตามด้วยลูกตีเสมอของ เฮลมุต ราห์น และก่อนหมดเวลา 6 นาที ราห์นก็ยิงประตูชัยให้เยอรมนีเอาชนะไป 3-2 คว้าแชมป์โลกครั้งแรก

ปีต่อมา วอลเตอร์ เลิกเล่นฟุตบอลอาชีพอีกครั้ง แต่ก็ถูกดึงตัวมาร่วมเล่นฟุตบอลโลก 1958 ด้วยวัยถึง 38 ปี เขาได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรงในเกมรอบรองชนะเลิศกับเจ้าภาพสวีเดนจนต้องเลิกเล่นฟุตบอลทีมชาติด้วยสถิติติดทีมชาติ 61 ครั้ง ยิงได้ 33 ประตู

ในปี 1959 เขาได้ลงเล่นแมตช์อำลากับไกเซอร์สเลาเทิร์น ที่ซึ่งเขาได้ร่วมทีมคว้าแชมป์ลีก ในปี 1951 และ 1953 หลังจากนั้นเขายังอุทิศตัวเพื่อวงการฟุตบอลทำงานให้มูลนิธิเซปป์ เฮอร์แบร์เกอร์ พร้อมกับการเป็นพ่อดูแลครอบครัวอย่างอบอุ่น เป็นตัวอย่างที่ดีแก่นักฟุตบอลรุ่นหลัง.


รายชื่อ ผู้เล่น




ผู้รักษาประตู :
เยนส์ เลห์มันน์ (อาร์เซนอล), โรเบิร์ต เอ็งเค (ฮันโนเวอร์ 96), เรเน อาดเลอร์ (เลเวอร์คูเซน)

กองหลัง : คริสโตฟ เม็ตเซลเดอร์ (รีล มาดริด), เพอร์ เมอร์เตซัคเกอร์ ( แวร์เดอร์ เบรเมน), ฟิลิปป์ ลาห์ม (บาเยิร์น มิวนิก), อาร์เน ฟรีดริช ( แฮร์ธา เบอร์ลิน), มาร์เซล แยนเซ่น (บาเยิร์น มิวนิก), เคลเมนส์ ฟริทซ์ (แวร์เดอร์ เบรเมน ), ไฮโค เวสเตอร์มันน์ (ชาลเก 04)

กองกลาง : มิชาเอล บัลลัค ( เชลซี), โธมัส ฮิตเซิลสแพร์เกอร์ (สตุตการ์ต), ไซมอน โรลเฟส (เลเวอร์คูเซน), ทอร์สเทน ฟริงก์ส ( แวร์เดอร์ เบรเมน), บาสเตียน ชไวน์สไตเกอร์ (บาเยิร์น มิวนิก), ปิออตร์ โทรชอฟสกี (ฮัมบูร์ก), ทิม โบรอฟสกี (แวร์เดอร์ เบรเมน), เจอร์เมน โจนส์ (ชาลเก 04), ดาวิด โอดอนคอร์ (รีล เบติส), มาร์โก มาริน (โบรุสเซีย มึนเชนกลัดบัค)

กองหน้า : มิโรสลาฟ โคลเซ (บาเยิร์น มิวนิก), ลูคัส โพดอลสกี (บาเยิร์น มิวนิก), มาริโอ โกเมซ (สตุตการ์ต), เควิน คูรานี (ชาลเก 04), โอลิเวอร์ นอยวิลล์ (โบรุสเซีย มึนเชนกลัดบัค), พาทริค เฮลเมส (โคโลญจน์)


โครเอเชีย : อย่างน้อย ก็น่าจะผ่านเข้ารอบสองไปได้


กลุ่มบี

โปรแกรมการแข่งขัน
8 มิ.ย. 2008 ออสเตรีย - โครเอเชีย 23.00 น.
12 มิ.ย. 2008 โครเอเชีย - เยอรมนี 23.00 น.
16 มิ.ย. 2008 โครเอเชีย - โปแลนด์ 01.45 น.

ผลงานในรอบคัดเลือกยูโร 2008
แข่ง 12, ชนะ 9, เสมอ 2, แพ้ 1, ได้ 28, เสีย 8, แต้ม 29

วัน/เดือน/ปี 6 กันยายน 2549, สถานที่ เยือน, คู่แข่งขัน เสมอ รัสเซีย, ผล 0-0
วัน/เดือน/ปี 7 ตุลาคม 2549, สถานที่ เหย้า, คู่แข่งขัน ชนะ อันดอร์รา, ผล 7-0
วัน/เดือน/ปี 11 ตุลาคม 2549, สถานที่ เหย้า, คู่แข่งขัน ชนะ อังกฤษ, ผล 2-0
วัน/เดือน/ปี 15 พฤศจิกายน 2549, สถานที่ เยือน, คู่แข่งขัน ชนะ อิสราเอล, ผล 4-3
วัน/เดือน/ปี 24 มีนาคม 2550, สถานที่ เหย้า, คู่แข่งขัน ชนะ มาซิโดเนีย, ผล 2-1
วัน/เดือน/ปี 2 มิถุนายน 2550, สถานที่ เยือน, คู่แข่งขัน ชนะ เอสโตเนีย, ผล 1-0
วัน/เดือน/ปี 6 มิถุนายน 2550, สถานที่ เหย้า, คู่แข่งขัน เสมอ รัสเซีย, ผล 0-0
วัน/เดือน/ปี 8 กันยายน 2550, สถานที่ เหย้า, คู่แข่งขัน ชนะ เอสโตเนีย, ผล 2-0
วัน/เดือน/ปี 12 กันยายน 2550, สถานที่ เยือน, คู่แข่งขัน ชนะ อันดอร์รา, ผล 6-0
วัน/เดือน/ปี 13 ตุลาคม 2550, สถานที่ เหย้า, คู่แข่งขัน ชนะ อิสราเอล, ผล 1-0
วัน/เดือน/ปี 17 พฤศจิกายน 2550, สถานที่ เยือน, คู่แข่งขัน แพ้ มาซิโดเนีย , ผล 0-2
วัน/เดือน/ปี 21 พฤศจิกายน 2550, สถานที่ เยือน, คู่แข่งขัน ชนะ อังกฤษ, ผล 3-2

โครเอเชียมีผลงานที่โดดเด่นมากในการแข่งขันรอบคัดเลือกฟุตบอล ยูโร 2008 โดยหลังจากเริ่มต้นออกไปเสมอรัสเซีย 0-0 พวกเขาเอาชนะติดต่อกัน 5 นัด รวมถึงการถล่มอังกฤษคู่แข่งสำคัญ 2-0 และเชือดชนะอิสราเอล 4-3 จากนั้นจึงเปิดบ้านเสมอกับรัสเซีย 0-0 อีกครั้ง ตามด้วยชัยชนะอีก 3 นัด แต่ในนัดรองสุดท้ายขณะออกไปเยือนมาซิโดเนีย และทำท่าว่าจะพบกับปัญหา ก็ได้รับทราบข่าวดีระหว่างพักครึ่งเวลาว่า รัสเซียออกนอกบ้านไปแพ้อิสราเอล ทำให้พวกเขาจะได้เข้ารอบแน่นอน ไม่ว่าผล 2 นัดสุดท้ายจะเป็นอย่างไร แต่การเล่นอย่างสบายใจก็ ทำให้พ่ายมาซิโดเนียไป 0-2 อย่างไรก็ดี จาก 11 นัดของพวกเขา ผลงาน ได้ 28 ประตู เสีย 6 ประตู เป็นสถิติที่ดีมากโดย เอดูอาร์โด ดา ซิลวา กองหน้าอาร์เซนอล ทำประตูได้สูงเป็นอันดับ 2 ของรอบคัดเลือกทุกทีมด้วย ผลงาน 10 ประตู นัดสุดท้าย 21 พฤศจิกายน 2550 ที่เวมบลีย์ โครเอเชีย ซึ่งมี 26 คะแนน เข้ารอบแน่นอนแล้ว เล่นกับอังกฤษซึ่งมี 23 คะแนน ขณะที่รัสเซียมี 21 คะแนน พบกับทีมต่ำชั้น ที่น่าจะเอาชนะได้ไม่ยาก ก็จะมี 24 คะแนน ดังนั้นอังกฤษทำแค่เสมอก็จะเฉือนรัสเซียด้วยประตูได้เสีย เข้ารอบไปได้ แต่ผลกลับออกมาช็อกแฟนบอลทั่วโลก เมื่ออังกฤษพ่ายให้กับโครเอเชียคาบ้าน 2-3 ตกรอบไปอย่างไม่น่าเชื่อ

ผลงานในฟุตบอลโลก 2006

โครเอเชียผ่านรอบคัดเลือก เป็นที่ 1 ของกลุ่มด้วยการชนะ 7 เสมอ 3 มีคะแนนเท่ากับสวีเดน แต่ดูผลการพบกันของทั้ง 2 ทีม โครเอเชียทำได้ดีกว่า จึงได้เป็นที่ 1 แต่รอบสุดท้ายที่เยอรมนี พวกเขากลับทำผลงานได้น่าผิดหวังเมื่อพ่ายบราซิล 0-1 ตามด้วยการเสมอกับทีมรองอย่างญี่ปุ่น 0-0 และปิดท้ายเสมอกับออสเตรเลีย 2-2 ในนัดที่ โจซิป ซิมูนิซ และดาริโอ ซิมิช ถูกไล่ออก ทำให้ตกรอบแรกไปตามระเบียบ

ผลงานในยูโร 2004

โครเอเชียเล่นรอบคัดเลือก ชนะ 5 เสมอ 1 แพ้ 2 เข้าเป็นที่ 2 ของกลุ่มตามหลังบัลแกเรีย 1 คะแนน และเฉือนอันดับ 3 เบลเยียม ซึ่งได้คะแนนเท่ากัน ด้วยผลงานที่ดีกว่าในการพบกันของทั้ง 2 ทีม จึงได้เล่นเพลย์ออฟกับสโลวีเนีย ซึ่งนัดแรกในบ้านซาเกร็บ แม้จะยิงได้ก่อนจาก ดาโด แปร์โซ ตั้งแต่นาทีที่ 5 แต่กลับถูก เออร์มิน ซีลัก ตีเสมอให้สโล วีเนียได้ นัดที่ 2 ที่ ลูบลานา พวกเขาจึงเสียเปรียบต้องเอาชนะ หรือเสมอ 2-2 ขึ้นไป แต่ยามคับขัน พวกเขาก็ทำได้ เมื่อ เฉือนชนะได้ 1-0 จากประตูของ ดาโด แปร์โซ ในนาทีที่ 60 ได้เข้ารอบสุดท้ายที่โปรตุเกส ซึ่งพวกเขาตกรอบแรกด้วยการเสมอสวิตเซอร์แลนด์ 0-0 เสมอฝรั่งเศส 2-2 และพ่ายอังกฤษ 2-4

หลังจากแยกประเทศออกจากอดีตยูโกสลาเวีย โครเอเชียก็ได้เข้ารอบสุดท้ายฟุตบอลยูโรในทัวร์นาเมนต์แรก ปี 1996 และสามารถผ่านเข้ารอบ 2 แต่พ่ายเยอรมนี 1-2 ตกรอบก่อนรองไป ครั้งต่อมายูโร 2000 พวกเขาไม่ผ่านรอบคัดเลือก ดังนั้นนับจนถึงจบรอบคัดเลือกยูโร 2008 ผลงานของโครเอเชียใน ยูโร มีสถิติลงเล่น 47 นัด ชนะ 28 เสมอ 11 แพ้ 8 ยิงได้ 86 เสีย 38 ประตู

กลยุทธ์การเล่นของโครเอเชีย

โครเอเชียเคยสร้างผลงานได้ดีที่สุดในฟุตบอลโลก 1998 โดยคว้าอันดับ 3 มาครอง แต่หลังจากนั้นพวกเขาก็ไม่สามารถเข้ารอบลึก ๆ ในทัวร์นาเมนต์สำคัญได้อีก ครั้งนี้จึงเป็นโอกาสพิสูจน์ฝีมือการคุมทีมของ สลาเวน บิลิช อีกครั้งหนึ่ง

เขาปรับแผนการเล่นจาก 3-5-2 มาเป็น 4-4-2 โดยใช้แบ๊กโฟร์ ที่มี โรเบิร์ต โควัช กับ ดาริโอ ซิมิช ยืนคู่กลาง ให้ เวดราน ชอร์ลูกา ของแมนเชสเตอร์ ซิตีเป็นแบ๊กขวา และ โจซิป ซิมูนิช เป็นแบ๊กซ้าย ส่วนมิดฟิลด์จะมีกัปตันทีม นิโก โควัช ยืนต่ำ และให้ดาวรุ่งวัย 22 ลูกา โมดริช เป็นตัวรุก นิโก ครานชาร์ น่าจะได้เล่นด่านแรก และ ดานิเยล พรานยิช ลงทางปีกซ้าย โดยมีดาราเก่าอย่าง ดาริโอ เซอร์นา เป็นตัวเลือกทางปีกขวา เสริมด้วยดาวรุ่งอย่าง เยอร์โก เลโก และ ออกเยน วูโคเยวิช

ในแดนหน้า เอดูอาร์โด ดา ซิลวา พลาดโอกาสลงเล่น เพราะอาการบาดเจ็บทำให้ มลาเดน เพทริช น่าจะได้เป็นตัวยืน โดยมี อิวิกา โอลิช เป็นตัวเลือกอันดับ 1 ที่จะได้มายืนคู่กัน แต่พวก เขายังมี อิกอร์ บูดาน, นิโคลา คาลินิช และ อิวาน คลาสนิช ของ แวร์เดอร์ เบรเมน ที่กลับมามีฟอร์มโดดเด่นอีกครั้ง หลังจากไปผ่าตัดเปลี่ยนไตมาทั้งสองข้าง เป็นตัวเลือก.

ข้อมูลจำเพาะโครเอเชีย

กัปตันทีม : นิโก โควัช
อันดับโลกล่าสุด : 10
ผลงานที่ดีที่สุดในยูโร : รอบก่อนรองชนะเลิศ (1996)
ผลงานในฟุตบอลยูโรรอบสุดท้าย : 1960 ถึง 1992 - ไม่ได้เข้าร่วม เป็นส่วนหนึ่งของประเทศยูโก สลาเวีย, 1996 - ควอเตอร์ไฟนัล, 2000 - ไม่ผ่านรอบคัดเลือก, 2004 - รอบแรก (อันดับสามของกลุ่ม B), 2008 - เข้ารอบสุดท้ายในฐานะที่หนึ่งกลุ่ม E

     โค้ช : สลาเวน บิลิช

     สลาเวน บิ ลิช เป็นนักเตะที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด คนหนึ่งของโครเอเชีย เขาเริ่มอาชีพนักเตะในตำแหน่งกองหลังกับ ไฮจ์ดุก สปลิต ด้วยวัย 18 ปี และหลังจากอยู่ กับทีม 6 ปีเต็ม ก็ได้ ย้ายไปเล่นในเยอรมนี กับ คาร์ลสรูห์ ในบุนเดส ลีกา เมื่อปี 1993 จนถึง มกราคม 1996 บิลิช ก็ได้ไปเล่นในอังกฤษกับ เวสต์แฮม ยูไนเต็ด ด้วยสถิติค่าตัวสูงสุดของสโม สร 2.3 ล้านยูโร พร้อมกับติดทีม ยูโร 96 เข้า ถึงรอบก่อนรองชนะเลิศ เขาติดทีมชาติโครเอเชีย 44 ครั้ง และเป็นหนึ่งในทีมที่ได้อันดับสามฟุตบอล โลก 1998 

เขาย้ายกลับบ้านมาเล่นใน ไฮจ์ดุก สปลิต อีกครั้งในปี 1999 พร้อมกับเล่นกีตาร์ให้วงเฮฟวีเมทัล ชื่อ รอว์เบา ด้วย จนถึงปี 2002 เขาจึงหันมาจับเป็นโค้ชให้กับทีมรัก ไฮจ์ดุก สปลิต ด้วยวัยแค่ 33 ปี 

ในปี 2004 เขาได้รับมอบหมายให้คุมทีมชาติ อายุต่ำกว่า 21 ปี และพาทีมเข้าไปเล่นเพลย์ออฟกับ เซอร์เบียและมอนเตเนโกร อดีต ยูโกสลาเวียด้วยกัน บิลิช ไม่สามารถอยู่คุมทีมได้ในการเล่นทั้งนัดเหย้า-เยือน เพราะต้องเข้าโรงพยาบาลทำการผ่าตัดหลังที่บาดเจ็บ และทีมพ่ายเซอร์เบีย ไม่ได้ไปเล่นรอบสุดท้ายฟุตบอลยูโร ชุดอายุต่ำกว่า 21 ปี ในปี 2006

หลังจากหายป่วย ก็ได้รับข่าวดี เมื่อถูกแต่งตั้งขึ้นเป็นโค้ช ทีมชาติโครเอเชียในเดือนกรกฎาคม 2006 ด้วยวัยเพียง 37 ปี และพาทีม ซึ่งตกรอบแรก ฟุตบอลโลก 2006 ที่ เยอรมนี ผ่านรอบคัดเลือกยูโร 2008 ไปสู่รอบสุดท้ายได้อย่างสวยงาม อย่างไรก็ดี การต้องอยู่ร่วมสายกับทีมเต็งอย่างเยอรมนี, “เจ้าภาพ” ออส เตรีย และโปแลนด์ งานของบิลิช คงจะไม่ง่ายนัก แต่เชื่อว่าเขาน่าจะพาทีมผ่านเข้ารอบสองได้ชนิดใจหายใจคว่ำทีเดียว.

ดาราทองของโครเอเชีย : ดาวอร์ ซูเคอร์

ยอดดาวยิงผู้โด่งดังที่สุดของโครเอเชีย เริ่มอาชีพนักเตะกับทีมบ้านเกิด เอ็นเค โอซิเยก ซึ่งเขายิงได้ 40 ประตู จาก 91 เกม และเป็นดาราในทีมชาติยูโกสลาเวีย อายุต่ำกว่า 21 ปี ในฟุตบอลเยาวชนโลกของฟีฟ่า ปี 1987 ด้วยผลงานการยิง 6 ประตู เขาย้ายไปอยู่กับดินาโม ซาเกร็บ ในปี 1989 ในขณะมีอายุได้ 21 ปี และมีผลงานที่ยอดเยี่ยมทำได้ 34 ประตู ใน 2 ปี จึงได้รับความสนใจจากต่างชาติ และได้ไปเล่นในสเปน กับ เซบีญา ใน ปี 1991

5 ปีกับ เซบีญา เขายิงได้ถึง 76 ประตู และมีฟอร์มการเล่นที่โดดเด่น จนถูกดึงตัวไปอยู่กับ “ราชันชุดขาว” รีล มาดริด ในปี 1996 ช่วงเวลา 3 ปี ที่มาดริด นับเป็นเวลาทองของ ซูเคอร์ เขามีผลงานยิงได้ 24 ประตู จาก 38 นัด และร่วมทีมแชมป์ ยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีกในปี 1997/98

จากมาดริด ซูเคอร์ วัย 31 ปี ย้ายมาเล่นในอังกฤษกับอาร์เซนอล และเวสต์แฮม ยูไนเต็ด ทีมละ 1 ฤดูกาล จากนั้นขึ้นไปเล่นในเยอรมนีกับ 1860 มิวนิก และที่นี่เขาทำประตูที่ 200 จากการเล่นในลีกของทุกประเทศรวมกันได้ทั้งหมด เดือนเมษายน 2002 เขาอยู่กับ 1860 มิวนิก 2 ปี ก่อนจะประกาศอำลาอาชีพค้าแข้งด้วยวัย 35 ปี หลังกรำศึกฟุตบอลอาชีพมานานถึง 19 ปีเต็ม

ซูเคอร์ ได้รับรางวัลรองเท้าทองคำจากการเป็นดาวยิงสูงสุด 6 ประตู จาก 7 เกม ในฟุตบอลโลก 1998 ที่ฝรั่งเศส และนำโครเอเชียคว้าอันดับ 3 แต่ในรอบคัดเลือกยูฟ่า ยูโร 2000 นัดสุดท้าย โครเอเชีย ชิงกันเข้ารอบกับยูโกสลาเวีย ซูเคอร์ ยิงประตูได้ แต่กรรมการไม่ให้เป็นลูกได้ประตู ทำให้โครเอเชียตกรอบ อดไปเล่นรอบสุดท้าย ซูเคอร์ ได้ร่วมทีมไปฟุตบอลโลก 2002 รอบสุดท้าย แต่ได้ลงเพียงนัดเดียว และประกาศเลิกเล่นทีมชาติหลังจากนั้นด้วยสถิติติดทีมชาติ 68 ครั้ง ยิงได้ 45 ประตู

ปัจจุบัน ซูเคอร์ มีโรงเรียนสอนฟุตบอลของตนเอง เป็นเอเย่นต์ให้นักเตะและลงเล่นฟุตบอลเป็นครั้งคราว เขายังมีความรักและผูกพันกับเกมฟุตบอล และมีความสุขที่ได้ทำงาน โดยเฉพาะการเปิดโรงเรียนสอนเยาวชนรุ่นหลัง เป็นสิ่งที่เขาภูมิใจไม่แพ้รางวัลดาราทองที่เคยได้รับมา.


รายชื่อ 23 นักเตะทีมชาติโครเอเชีย ที่จะไปออสเตรีย-สวิตเซอร์แลนด์



ผู้รักษาประตู :
สติเป เปลติโกซา (สปาร์ตัก มอสโก), มาริโอ กาลิโนวิช (พานาธิไนกอส), เวดราน รุนเย (ล็องส์)

กองหลัง : เวดราน ชอร์ลูกา (แมนเชสเตอร์ ซิตี), ดาริโอ ซิมิช (เอซี มิลาน), โรเบิร์ต โควัช (โบรุสเซีย ดอร์ตมุนด์), โจซิป ซิมูนิซ (แฮร์ธา เบอร์ลิน), ดาริโอ คเนเซวิช (ลิวอร์โน), เฮอร์โวเย เวยิช (ทอม ทอมส์ค)

กองกลาง : นิโก โควัช (ซัลซ์บวร์ก), ดาริโอ เซอร์นา (ชัคเตอร์ โดเนตส์ค), ลูกา โมดริช (ทอตแนม ฮอตสเปอร์), นิโก ครานชาร์ (ปอร์ตสมัธ), เยอร์โก เลโก (อาแอส โมนาโก), ดานิเยล พรานยิช (ฮีเรนวีน), อิวาน ราคิติช (ชาลเก 04), ออกเยน วูโคเยวิช (ดินาโม ซาเกร็บ), นิโคลา โปคริวัช (อาแอส โมนาโก)

กองหน้า : มลาเดน เพทริช (โบรุสเซีย ดอร์ตมุนด์), อิวิกา โอลิช (ฮัมบวร์ก), อิกอร์ บูดาน (ปาร์มา), อิวาน คลาสนิช (แวร์เดอร์ เบรเมน), นิโคลา คาลินิช (ไฮจ์ดุก สปลิต)


เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์