10+1เรื่องฉาวในฟุตบอลโลก

10.เกาหลีใต้ 14 – อิตาลี 11 (เกาหลีใต้ : 2002)

ไม่รู้เป็นความเจ้าเล่ห์รู้มาก หรือเป็นคราวเคราะห์ของอิตาลีกันแน่ ที่ทำตัวเองเข้ารอบมาเป็นที่ 2 ในสาย G ซึ่งถือว่าเป็นสายค่อนข้างอ่อน
มีสิทธิ์เข้าเป็นที่ 1 ของสายได้สบาย ๆ

เมื่อเป็นที่ 2 ของสาย ก็เลยต้องมาเจอกับเกาหลีใต้เจ้าภาพ ที่ 1 ของสาย D ซึ่งถ้าไม่นับความเป็นเจ้าภาพที่มีกองเชียร์หนุนหลังแล้ว ก็แทบมอง
ไม่ออกเลยว่า เกาหลีใต้จะเอาอะไรมาสู้อดีตแชมป์โลกอย่างอิตาลีได้

แต่เมื่อลงสนามสู้กันจริง ๆ อิตาลีถึงได้รู้ว่า ไม่ใช่แค่เสียงกองเชียร์ กับกรรมการที่อาจเป่าเข้าข้างเจ้าภาพไปบ้างเท่านั้น แต่มันเป็น “เกมอัปยศ”
นัดหนึ่งในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลก ที่ผู้ตัดสิน ไบรอน โมเรโน ชาวเอกวาดอร์ ร่วมกับผู้ช่วยผู้ตัดสินอีกสองคน ได้ร่วมกันทำให้เกมกีฬาแห่งศักดิ์ศรี
อย่างฟุตบอลโลก กลายเป็นกีฬามวยปล้ำ ที่นึกจะทำอะไรก็ได้ อยากเป่าฟาวล์ช่วยเจ้าภาพตอนไหนก็ทำ อยากให้ได้เปรียบตอนไหนก็ปล่อย จน
นักเตะอิตาลีแทบบ้า ไม่เป็นอันทำอะไร เพราะต้องคอยทะเลาะกับกรรมการแทบตลอดเวลา เป็นผลให้เกาหลีใต้เล่นได้เป็นชิ้นเป็นอัน จนตามตีเสมอ
ได้ในนาทีสุดท้าย ต้องต่อเวลาพิเศษ ใช้ระบบโกลเด้นโกลด์ ใครยิงเข้าก่อนชนะไปเลย

ไคลแม็กซ์สำคัญมาอยู่ที่ช่วงนี้เอง เมื่อ ฟรานเชสโก ตอตติ ลากเดี่ยวเข้าไปหาประตู แล้วถูกทำฟาวล์ในเขตโทษ แทนที่จะได้จุดโทษ ผู้ตัดสิน
ไบรอน โมเรโน กลับชักใบเหลืองใบที่ 2 เป็นใบแดง ไล่ตอตติ ออกจากสนาม โทษฐานหาว่าพุ่งล้มแล้วในที่สุด เกาหลีใต้ก็ช็อกโลก (โดยมีผู้ตัดสิน
หรืออาจมี * * *ร่วมด้วยช่วยช็อค) สังหาร “ประตูทอง” เอาชนะ อิตาลี ไปได้ 2-1 (แถมยังมา “ช็อค” แบบเดิมกับสเปนในรอบต่อมาอีก)

ผลจากเกมนัดนี้ สร้างความบาดหมางให้กับสองประเทศเป็นอย่างมาก ถึงขั้นสโมสรต่าง ๆ ในอิตาลี “บอยคอต” ไม่ให้นักเตะเกาหลีใต้ค้าแข้ง โดย
มีคนระดับผู้นำ นายกรัฐมนตรี หนุนหลัง เพราะท่านนายกฯแกก็มีส่วนเกี่ยวพันกับวงการฟุตบอลอิตาลีด้วย ส่วนผู้ตัดสินตัวแสบชาวเอกวาดอร์นั้น
ไม่ต้องพูดถึง อิตาลีขึ้นบัญชีดำห้ามเข้าประเทศ แค้นจัดมาก


9.ประตูมรณะ (สหรัฐ :1994)

เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นในเกมการแข่งขัน แต่เป็นผลสืบเนื่องจากเกม ที่ อันเดรียส เอสโคบาร์ กองหลังทีมชาติโคลัมเบีย สกัดบอลพลาดเข้าประตู
ตัวเอง ในนัดที่เจอกับสหรัฐอเมริกา ผลการแข่งขันวันนั้นจบลงด้วยสหรัฐ
ชนะ โคลัมเบีย 2-1 โคลัมเบียตกรอบแรก

หลังกลับบ้านเกิด ในคืนวันที่ 2 กรกฎาคม 1994 เอสโคบาร์เดินออกจากบาร์แห่งหนึ่ง พยานในเหตุการณ์ให้การกับตำรวจว่า คนร้ายที่ดักซุ่มอยู่
นอกบาร์ได้ตะโกนคำว่า Gol (Goal-ในภาษาอังกฤษ) ก่อนจะกระหน่ำยิงเอสโคบาร์จนเสียชีวิตคาที่

เหตุการณ์นี้สร้างความตกตะลึงกับแฟนบอลทั่วโลก เพราะคาดไม่ถึงว่า แค่ความผิดพลาดในเกมกีฬาเกมหนึ่ง ถึงกับต้องฆ่าแกงกันอย่างป่าเถื่อนขนาดนี้
เลยหรือ ซึ่งสื่อมวลชนหลายประเทศได้เจาะข่าววิเคราะห์ว่า ความตายของเอสโคบาร์ น่าจะเกิดจาก “คำสั่งเก็บ” ของมาเฟียยาเสพติดของ
โคลัมเบีย ซึ่งมีเครือข่ายครอบคลุมไปถึงกิจการพนันผิดกฎหมายด้วย เพราะโกรธแค้นที่เอสโคบาร์มีส่วนทำให้ “เสียเงินพนัน” ก้อนโต

ตำรวจโคลัมเบียสามารถจับคนร้ายที่สังหารเอสโคบาร์ได้ ชื่อนายอุมเบอร์โต มูนอซ เจ้าหน้าที่ รปภ.แห่งหนึ่ง มูนอซให้การว่า เขายิงเอสโคบาร์ด้วย
ความโกรธแค้นชั่ววูบ (ที่ยิงเข้าประตูตัวเอง) ไม่ได้มีผู้บงการสั่งฆ่าแต่อย่างใด แม้ตำรวจไม่ปักใจเชื่อ แต่ก็ไม่สามารถสาวไปถึงผู้บงการได้

มูนอซถูกตัดสินจำคุก 43 ปี ได้ลดโทษกึ่งหนึ่งฐานสารภาพ เหลือจำคุก 26 ปี แต่ข่าวล่าสุด เขาได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระแล้ว เมื่อเดือนตุลาคม 2005
รวมชดใช้กรรมอยู่ในตาราง 11 ปี


8.ศอกกลับของเลโอนาร์โด (สหรัฐ :1994)

รอบสองของฟุตบอลโลก 94 บราซิลโคจรมาเจอกับสหรัฐเจ้าภาพ ในวันชาติของสหรัฐเสียด้วย ใคร ๆ ก็คิดว่าสมันน้อยอย่างสหรัฐ ไม่แคล้วจะโดน
มหาอำนาจลูกหนังแดนแซมบ้ายำเละ แต่รูปเกมในวันนั้นกลับเป็นไปอย่างสูสี สหรัฐสร้างความลำบากใจให้บราซิลเกินคาด

ในช่วงใกล้จะหมดครึ่งแรก แท็บ รามอส นักเตะสหรัฐ เข้าไปพัวพันจะแย่งบอลอยู่ด้านหลัง เลโอนาร์โด กองกลางฝีเท้าดีของบราซิล ยึกยัก
เกาะแกะกันอยู่ริมเส้น แล้วอยู่ไม่อยู่เลโอนาร์โดก็ชักศอกกลับใส่รามอสเต็มขมับ ล้มลงไปกองทั้งยืน จะเจตนาทำร้ายคู่ต่อสู้หรือไม่อย่างไรไม่รู้
แต่ผล
ก็คือ แท็บ รามอส กะโหลกศีรษะร้าว อาการเป็นตายเท่ากัน ต้องนำส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน

แม่ไม้มวยไทยสไตล์บราซิลของเลโอนาร์โด ทำให้เขาถูกใบแดงไล่ออกจากสนาม และฟีฟ่าก็ได้ประกาศบทลงโทษขั้นรุนแรง ไม่เคยมีใครเจอมา
ก่อนในฟุตบอลโลก คือห้ามลงแข่ง 8 นัด ซึ่งหมายถึงว่าเลยแมทช์ในฟุตบอลโลกไปอีก ต่อให้บราซิลได้เข้าชิง (ซึ่งก็ได้เข้าชิงจริง ๆ ได้แชมป์ด้วย)
เลโอนาร์โดก็หมดสิทธิ์ลงสนาม

ทางด้าน แท็บ รามอส ที่ทุกคน (รวมถึงตัวเลโอนาร์โด) ต่างเป็นห่วงว่าจะรอดชีวิตจากอาการขั้นโคม่านี้หรือไม่ ปรากฏว่ารามอสรอดตายเฉย แถม
ยังกลับมาเป็นปกติ เล่นฟุตบอลได้เหมือนเดิม


7.หัตถ์พระเจ้า (เม็กซิโก : 1986)

คงไม่ต้องบรรยายอะไรมากสำหรับช็อตสะท้านโลกช็อตนี้ ซึ่งนอกจากจะเกิดกระแสวิจารณ์ถึงความ “เจ้าเลห์” ของยอดนักเตะแดนละตินผู้นี้ ยังเกิด
กระแส “เหยียด” ผู้ตัดสินจากโลกที่สามตามมาอีก โดยว่ากันว่า ผู้เล่นในสนามเห็น คนดูในสนามเห็น คนดูทั่วโลกเห็น มีไม่เห็นอยู่คนเดียวคือ
กรรมการ อาลี เบนนาเซอร์ ชาวตูนีเซีย

แต่จะว่าไปแล้ว ความอื้อฉาวกระฉ่อนโลกของช็อตเด็ดช็อตนี้ ไม่ได้เกิดจาก “การตัดสินที่ผิดพลาด” ไปเสียทั้งหมด แต่เป็นเพราะ “คนทำ” คือ
นักเตะหมายเลขหนึ่งของโลกเวลานั้น และ “คนที่ถูกทำ” ก็คือประเทศคู่ปรับที่เพิ่งก่อสงครามแย่งกรรมสิทธิ์เหนือหมู่เกาะฟอล์คแลนด์ กันมาหยก ๆ

เมื่อยักษ์ชนยักษ์ เหตุการณ์ไม่ปกติที่เกิดขึ้นในเกม ก็พลอยเป็น “เหตุการณ์ยักษ์” ตามไปด้วย
เหมือนลูกกระเด้งคานของคู่ชิงปี 1966 นั่นแล

ลองนึกดูเล่น ๆ ว่า ถ้าเกิดนายอะไรสักอย่างทีมชาติอียิปต์ ทำลูกแบบนี้ในนัดที่เจอกับซาอุดิอารเบีย ก็คงมีคนพูดถึงไม่กี่วัน หรืออาจไม่พูดเลยก็ได้

นึกถึงช็อตนั้นแล้วยังทึ่งไม่หาย คนอะไรจะ “เจ้าเล่ห์” มืออาชีพขนาดนั้น ถ้าสังเกตจากภาพช้า จะเห็นว่า หลังจากชกลูกเข้าประตูแล้ว มาราโดนา
หันหลังวิ่งกลับทันที เหลือบไปมองผู้ช่วยผู้ตัดสินแวบหนึ่ง แล้วก็มองไปทางผู้ตัดสินอีกแวบหนึ่ง ก่อนจะทำท่ากระโดดดีใจอย่างเนียนสุด ๆ


6.ผู้รักษาประตูมีสิทธิ์ป้องกันตัวเอง (สเปน : 1982)

โทนี่ ชูมัคเกอร์ นายทวารทีมชาติเยอรมัน กระโดดเข้าป้องกันประตูพร้อม ๆ กับ “ป้องกันตัวเอง” อีท่าไหนไม่รู้ ทำเอา พาทริก บาติสตอง กองหลัง
ทีมชาติฝรั่งเศส ถึงกับ ฟันหัก 3 ซี่ สลบเหมือดคาสนาม ต้องนำขึ้นเฮลิคอปเตอร์พาส่งโรงพยาบาลอย่างเร่งด่วน อาการหนักถึงต้องนอนในห้องไอซียู
หลายวัน โชคดีที่ไม่ตาย

ชูมัคเกอร์ได้รับฉายานามเป็นนายทวาร “จอมโหด” ทันที จากการเข้าชาร์จเพื่อนร่วมอาชีพรุนแรงเกินกว่าเหตุ และท่าทีการให้สัมภาษณ์ในภายหลัง
ที่ดูเหมือนจะไม่ยี่หระต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเลยแม้แต่น้อย เขากล่าวว่าเป็น “สิทธิ์” ของผู้รักษาประตูในการป้องกันตัวเอง
ชูมัคเกอร์ เป็นผู้รักษาประตูทีมชาติเยอรมันที่ได้เข้าชิงฟุตบอลโลกถึง 2 ครั้งติดกัน ในปี 82 และ 86 แต่ก็ชวดแชมป์ไปทั้ง 2 ครั้ง เขาให้สัมภาษณ์ว่า
จะกลับมาชูถ้วยบอลโลกให้ได้ในบอลโลกครั้งต่อไป แต่ความฝันก็พังทลาย เยอรมันได้เป็นแชมป์ฟุตบอลโลกในปี 1990 แต่ไม่มีชูมัคเกอร์
เพราะในปี 1987 ชูมัคเกอร์ได้เขียนหนังสือชีวประวัติตัวเอง ซึ่งเนื้อความบางส่วนได้ “แฉ” ว่า มีนักเตะในบุนเดสลีกากว่า 90% ที่เคยเสพยา ข้อกล่าวหา
นี้สร้างความไม่พอใจให้นักเตะ/ผู้เกี่ยวข้องในวงการฟุตบอลเยอรมันทุกคน กระทั่งตัวชูมัคเกอร์เองก็ถูกต่อต้านจนเล่นในบุนเดสลีกาไม่ได้ ต้องหนี
ไปเล่นในตุรกี ตั้งแต่นั้นมา เขาก็ไม่มีชื่อในสารบบนักฟุตบอลทีมชาติ
เยอรมันอีกเลย

อ้อ...โม้มาตั้งนาน ลืมบอกว่า ลูกนั้นกรรมการให้เป็นลูกเตะจากเส้นประตูครับ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากนักเตะเซ่อซ่าคนหนึ่งวิ่งไปชน
กับผู้รักษาประตูและ “เกือบตาย(ฟรี)”


5.คนรวยทำอะไรก็น่าเกลียด (สเปน : 1982)

ในการแข่งขันรอบแรกสาย D ระหว่างฝรั่งเศส กับคูเวต ขณะฝรั่งเศสนำอยู่ 3-1 และ อแลง กีแรส บุกเข้าไปยิงประตูที่ 4 ให้ฝรั่งเศส โดยนักเตะ
คูเวตหยุดเล่นเพราะคิดว่าเป็นลูกฟาวล์ ทันทีที่กรรมการชาวรัสเซีย มิโรสลาฟ สตูปาร์ เป่าให้เป็นประตู ชีค ฟาฮิด อัล-อาเหม็ด อัล-ซาบาห์ พระอนุชา
ของเจ้านครคูเวต ผู้ดำรงแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลของคูเวต ได้เดินลงไปประท้วงในสนาม และขู่จะนำนักเตะวอล์คเอาท์ออกจากสนาม หาก
กรรมการไม่กลับคำตัดสิน

ท่านชีคยืนประท้วงอยู่เป็นเวลานาน และไม่มีใครกล้าไป “นำตัว” ออกมา เพราะเกรงใจในความเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง แม้หลายฝ่ายจะพยายามเจรจา
ขอร้อง ท่านก็ไม่ยอม ทรงพระยืนอยู่อย่างนั้น จนในที่สุดผู้ตัดสินสตูปาร์ก็แก้ปัญหาด้วยวิธีที่ทุกคนคาดไม่ถึง นั่นคือ กลับคำตัดสิน ยกเลิกประตูนั้น
ชีค ฟาฮิด จึงยอมเสด็จออกจากสนาม

ผลการแข่งขันวันนั้น ฝรั่งเศสก็มาได้ประตูที่ 4 อยู่ดี ชนะไป 4-1 และผลการกระทำของผู้ตัดสิน มิโรสลาฟ สตูปาร์ ฟีฟ่าได้ประกาศลงโทษด้วยการยึด
ใบอนุญาตการเป็นผู้ตัดสินของฟีฟ่าทันที

ส่วนชีค ฟาฮิด ฟีฟ่าได้ลงโทษปรับไป 8,000 ปอนด์ ซึ่งดูจะไม่ระคายขนหน้าแข้งของเชื้อพระวงศ์ที่ว่ากันว่ารวยติดอันดับโลกคนนี้เลย

ชีค ฟาฮิด นอกจากจะเป็นนายกสมาคมฟุตบอลของคูเวตแล้ว ยังมีตำแหน่งเป็นถึงประธานสภาโอลิมปิคเอเชีย พระองค์สิ้นพระชนม์ในปี 1990
ในเหตุการณ์อิรักบุกยึดคูเวต


4.เยอรมัน-ออสเตรีย : เกมซูเอี๋ย? (สเปน : 1982)

ที่เห็นเลี้ยงบอลอยู่นี้คือ ราบาห์ มัดเจอร์ ดาวยิงแอลจีเรีย ผู้ “เด็ดปีกอินทรี” จนกลายเป็นที่มาของแมทช์อัปยศคู่เยอรมัน-ออสเตรีย

ในบรรดาแมทช์พลิกล็อคช็อคโลกในฟุตบอลโลก ต้องนับเกมที่เยอรมันตะวันตกแพ้แอลจีเรีย 1-2 ด้วยแน่นอน และผลจากนัดนั้น ทำให้เยอรมัน
กลายเป็นเสือลำบาก ต้องเอาชนะใน 2 นัดที่เหลือให้ได้ เพราะทีมร่วมสายอีก 2 ทีม แอลจีเรีย และ ออสเตรีย ก็ทำคะแนนเบียดสู้กันมา โดยในกลุ่มนี้
แพ้ชนะกันใน 3 ทีมไขว้กันไปมา โดยมีชิลีเป็นหมูให้เขมือบ แพ้รวดทั้ง 3 นัด

ในนัดสุดท้ายของแอลจีเรีย สามารถเอาชนะ ชิลีไปได้ 3-2 ทำให้แอลจีเรียมี 4 แต้ม ยิงได้ 5 เสีย 5 ส่วนเยอรมันกับออสเตรีย จะพบกันเป็นนัดสุดท้าย
ของรอบแรกในวันต่อมา โดยเยอรมัน แข่ง 2 ชนะ 1 แพ้ 1 มี 2 แต้ม ยิงได้ 5 เสีย 3 ส่วนออสเตรีย แข่ง 2 ครั้ง ชนะรวด ยิงได้ 3 ไม่เสียประตู
ดูตามรูปการก่อนแข่ง เยอรมันเอาชนะแค่ 1 ลูกก็จะได้เข้ารอบไปกับออสเตรียทันที แต่ถ้าเอาชนะเกิน 3 ลูกออสเตรียจะตกรอบ แอลจีเรียเข้ารอบแทน
(ถ้ามาดูสถิติตรงนี้ แอลจีเรียจะเจ็บใจตัวเองมาก เพราะนัดสุดท้าย ยิงนำชิลีไปถึง 3-0 แต่มาโดนยิงคืน 2 ลูกในช่วงท้ายเกม)

หากจะคาดการณ์ว่าเยอรมันมีสิทธิ์เข้ารอบ เพราะการเอาชนะออสเตรียนั้นมีความเป็นไปได้อยู่แล้ว-ไม่แปลก ใคร ๆ ก็คิดเช่นนั้น แต่ในเกมการแข่งขัน
วันนั้น แม้เกมจะจบลงด้วยเยอรมันเอาชนะออสเตรียไปได้ 1-0 จูงมือกันเข้ารอบ (ตามความน่าจะเป็น) แต่ต้องถือว่าเป็น “เกมอัปยศ” นัดหนึ่ง
เพราะหลังจากเยอรมันยิงเข้าในนาทีที่ 10 ทั้งสองฝ่ายก็แทบจะ “เดินเล่น” เคาะบอลกันไปมาอยู่อย่างนั้น

อาจพูดได้ว่า มีเพียงนัดเดียวในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลก ที่ผู้ชมทั้งสนามส่งเสียงโห่ตลอดการแข่งขัน และมีบางรายนำธงชาติของทั้งสองทีมมาเผาประณาม

หลังจบการแข่งขัน แอลจีเรีย ยื่นหนังสือประท้วงต่อฟีฟ่าอย่างเป็นทางการ เรียกร้องความเป็นธรรม ให้ลงโทษปรับทั้ง 2 ทีมตกรอบ ฐานเล่นบอลซูเอี๋ย
แต่ฟีฟ่าไม่ยอมทำตามข้อเรียกร้องนั้น

“ความเป็นธรรม” ที่ฟีฟ่ามอบให้ (?) ก็คือ ออกกฎใหม่ว่า ในการแข่งขันนัดสุดท้ายของรอบแรกต่อจากนี้ไป ทุกคู่จะต้องลงเตะในวันเดียวกัน
เวลาเดียวกัน!!!!

แอลจีเรียจึงกลายเป็นผู้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับวงการกีฬา (แต่ตัวเองไม่ได้ใช้) ไม่ต่างจาก ฌอง มาร์ค บอสแมน ผู้ต่อสู้เพื่อปลดแอกสัญญา
ทาสนักฟุตบอล หรือ คิม ดุก กู นักมวยเกาหลีใต้ที่ต้องเอาชีวิตตัวเองสังเวย เพื่อให้เกิดกำหนดยกใหม่ จาก 15 เป็น 12 ยก นั่นเอง


3.เปรูล้มบอล? (อาร์เจนตินา : 1978)

เป็นอีกครั้งต่อจากปี 1974 ที่รอบสองของฟุตบอลโลกไม่ใช้ระบบ “น็อคเอาต์” แต่ใช้วิธีแบ่งเป็น 2 กลุ่ม เตะแบบพบกันหมดในกลุ่ม ทีมคะแนนสูงสุด
ได้เข้าชิงชนะเลิศ โดยอาร์เจนตินาเจ้าบ้าน ต้องมาอยู่กลุ่มเดียวกับคู่ปรับตลอดกาล บราซิล (ทั้ง 2 ทีมได้ที่ 2 จากรอบแรก) ร่วมกับ โปแลนด์และ
เปรู ทีมได้ที่ 1 จากรอบแรก (บอลโลกครั้งนี้แปลก ทีมเต็งทุกทีมได้ที่ 2 ในกลุ่มหมด ทั้งเยอรมัน ฮอลแลนด์)

ทั้งบราซิลและอาร์เจนตินา ต่างทำผลงานได้ดี เก็บชัยชนะเหนือคู่แข่งได้ เมื่อมาเจอกัน ก็เสมอกันไป 0-0ในนัดสุดท้ายนั้น บราซิลแข่งก่อน เอา
ชนะโปแลนด์ไปได้ 3-1 ทำให้บราซิลแข่ง 3 นัด ชนะ 2 เสมอ 1 ยิงได้ 6 เสีย 1 ส่วนอาร์เจนตินา แข่งไป 2 นัด ชนะ 1 เสมอ 1 ยิงได้ 2 ลูก ไม่เสียประตู
ซึ่งหมายความว่า นัดสุดท้ายของอาร์เจนตินา จะต้องเอาชนะเปรู 4 ลูกขึ้นไป ถึงจะได้เข้าชิงชนะเลิศ

ดูตามรูปการแล้ว โอกาสเข้าไปชิงชนะเลิศของอาร์เจนตินาค่อนข้างริบหรี่ เพราะทีมระดับเปรู ที่มีดาวเด่นอย่าง ธีโอฟิเลียว คูบิลญาส ถึงแม้จะตก
รอบไปแล้ว และมีความเป็นไปได้ที่จะแพ้อาร์เจนตินา ก็ไม่น่าจะโดนถลุงถึง 4-5 ลูก

แต่เมื่อเกมการแข่งขันเริ่มขึ้น กลิ่นไม่ดีก็โชยมา เพราะเปรูปล่อยให้อาร์เจนตินาบุกอยู่ฝ่ายเดียว จนยิงได้ถึง 6 ประตู ล้มบอลหรือไม่-ไม่รู้ แต่เสียง
นินทาด่าทอก็ตามมาเซ็งแซ่

ในบรรดา “เสียงนินทา” นั้น มีอยู่ 2 อย่างที่น่าสนใจ คือหนึ่ง นินทากันว่า ผู้รักษาประตูของเปรูนัดนั้น มีเชื้อสายอาร์เจนตินา เป็นไปได้หรือไม่ว่า.......?
และอีกอย่าง ปากหอยปากปูก็เมาธ์กันสนั่นว่า ผู้นำเผด็จการของอาร์เจนตินาได้ต่อสายตรง “คุยเรื่องลับ” กับผู้นำเปรู แลกกับความช่วยเหลือบางอย่าง

จริงเท็จประการใดไม่รู้ รู้แต่ว่างานนี้คนบราซิเลียนช้ำใจสุดขีด และชาวอาร์เจนไตน์ชื่นมื่นกันถ้วนหน้า


2.ประตูปริศนาแห่งศตวรรษ (อังกฤษ : 1966)

เป็นที่เล่าขานสืบต่อกันมาถึงปัจจุบัน กับลูกยิงชนคานกระทบพื้นของเจฟฟ์ เฮิร์ส ดาวยิงทีมชาติอังกฤษ ในนัดชิงชนะเลิศ กับเยอรมันตะวันตก
ว่าลูกนั้น “ข้ามเส้น” ไปหรือยัง ผู้ตัดสินเป่าให้ลูกนั้นได้ประตู ทำให้อังกฤษขึ้นนำเยอรมัน 3-2 ในช่วงต่อเวลาพิเศษ ท่ามกลางการประท้วงของ
นักเตะเยอรมัน

อังกฤษมายิงได้อีก 1 ประตู ชนะไป 4-2 ได้ฉลองแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งแรกและครั้งเดียวในบ้านตัวเอง ท่ามกลางความคลางแคลงใจของคนทั่วโลก
กับลูกยิงปริศนาของ เจฟฟ์ เฮิร์ส ซึ่งต่อมาก็ได้มีการนำภาพรีเพลย์มาวิเคราะห์ จนสรุปได้ว่า ลูกนั้น “ยังไม่ข้ามเส้น”

จากกรณีศึกษาลูกยิงปริศนาสะท้านโลก หลายฝ่ายได้ออกมาเรียกร้องให้ฟีฟ่านำเทคโนโลยีมาช่วยตัดสินลูกปัญหา ไม่ว่าจะเป็นลูกล้ำหน้า การทำ
ฟาวล์ในเขตโทษ หรือดูรีเพลย์ในลูกที่ไม่แน่ใจว่าเข้าหรือไม่เข้า แต่จากวันนั้นจนถึงบัดนี้ กินเวลา 40 ปีเต็ม ฟีฟ่าก็ยังคง “ไม่นำพา” ไม่ยอมให้นำ
เทคโนโลยีเข้ามาช่วยตัดสิน ซึ่งก็นินทากันว่า เพราะฟีฟ่าไม่ต้องการให้เกิดการท้าทายอำนาจกรรมการ ซึ่งก็คือท้าทายอำนาจฟีฟ่านั่นเอง


1.สมรภูมิซานติอาโก (ชิลี : 1962)

ในการแข่งขันรอบแรกระหว่างชิลี เจ้าบ้าน กับ อิตาลี สื่อมวลชนได้ให้นิยามเกมนัดนี้ว่า “Battle of Santiago” เลียนชื่อสงครามกลางเมืองในอดีต
เพราะเตะกันดุเดือดรุนแรง ราวกับโกรธกันมาแต่ชาติปางก่อน

กรรมการ เคน แอสตัน ชาวอังกฤษ กล่าวว่า ไม่สามารถควบคุมเกมการแข่งขันได้เลย เพราะทั้งสองฝ่ายตั้งใจจะ “เล่นคน” มากกว่าเล่นบอล ใน
เกมนี้ มีนักเตะอิตาลีถูกไล่ออกจากสนาม 2 คน ดั้งจมูกหักเพราะพิษกำปั้นอีก 1 คน

ผลจบลงด้วยชัยชนะของเจ้าบ้าน 2-0 และต้องใช้กำลังคุ้มกันนำนักเตะอิตาลีออกจากสนาม


และล่าสุดกับ เฮดบัทสะท้านโลกของซีดาน (เยอรมัน : 2006)

ในเกมที่มีความกดดันอย่างสูง อย่างรอบชิงฟุตบอลโลก2006 ทำให้กัปตันทีมชาติฝรั่งเศสอย่าง ซีเนอดีน ซีดานทำสิ่งที่ไม่น่าเชื่อเกิดขึ้น

จากกรณีอื้อฉาวที่ ซิซู ซีเนอดีน ซีดาน มิดฟิลด์จอมทัพของ ตราไก่ ฝรั่งเศส เจตนาใช้หัวพุ่งชนหน้าอกของ มาร์โก มาเตรัซซี กองหลังทีมชาติ
อิตาเลียน กระเด็นลงไปกองกับพื้น จนถูก โฮราซิโอ เอลิซอนโด้ ผู้ตัดสินชาวอาร์เจนตินา ชักใบแดงไล่ออกจากสนามในนาทีที่ 110 ก่อนที่ฝรั่งเศส
จะพ่ายการดวลจุดโทษต่ออิตาลี 3-5 หลังการเล่นในเวลา 120 นาทีเสมอกัน 1-1 ได้เพียงรองแชมป์โลก ซึ่งถือเป็นการปิดฉากอาชีพพ่อค้าแข้งที่
ขมขื่นของซีดาน ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นนักเตะที่ดีที่สุดในโลกนับตั้งแต่สิ้นยุคของ ดิเอโก้ มาราโดนา นั้น

ก่อนที่จะได้รับใบแดง ตลอดเกมการแข่งขันนัดนี้ ซีดาน ถูกนักเตะอิตาลีตามไล่ตอดไล่เตะ และใช้วาจาถากถางมาโดยตลอด ซึ่งถือเป็นแท็คติก
เล็กๆ น้อยๆ ของนักเตะอัซซูรี่ ที่ทราบดีอยู่แล้วว่า ซีดานเป็นนักเตะที่ค่อนข้างอารมณ์ร้อน หากถูกยั่วมากๆ ก็จะโมโหทำให้เล่นไม่ออก ซึ่งหาก
นักเตะอิตาลีสามารถทำให้ซีดานโกรธได้ งานของพวกเขาในการคว้าแชมป์โลกก็จะง่ายขึ้น

นอกจากนี้ โดเมเนช ยังออกมาระบุว่า สาเหตุที่ซีดานต้องถูกใบแดงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นจากที่ หลุยส์ เมดินา คันเตเลโญ่ ผู้ตัดสิน
ที่ 4 ชาวสเปน ดูภาพช้าจากจอมอนิเตอร์แล้วไปฟ้อง โฮราซิโอ เอลิซอนโด้ เนื่องจากผู้ตัดสินและผู้ช่วยผู้ตัดสินในสนามมองไม่เห็นเหตุการณ์ดังกล่าว
ซึ่งถือว่าผิดกฎของฟีฟ่า ที่ไม่อนุญาตให้ผู้ตัดสินดูภาพช้าเพื่อประกอบการตัดสินใจ

ด้าน จิอันลูก้า ซามบร็อตต้า แบ็คขวาของอิตาลี กล่าวว่า เขาไม่แปลกใจที่ซีดานกระทำเรื่องนี้ขึ้น เพราะตอนที่เคยร่วมค่าย ม้าลาย ยูเวนตุส ด้วยกัน
ก็เห็นซีดานออกอาการโมโหแบบนี้มาแล้วหลายครั้ง

                                            ภาพและข้อมูลจากwww.lentee.com



เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์