10 สุดยอดหัวหอกแห่งเอเชีย

 

หลังจากที่มีการถกเถียงอยู่ในเว็บบอร์ดของ สหพันธ์ฟุตบอลเอเชีย (เอเอฟซี) กันอยู่นาน ว่าใครคือสุดยอดนายประตู, สุดยอดกองหลัง, สุดยอดกองกลาง และ สุดยอดกองหน้าตลอดกาลของทวีป ล่าสุด ได้มีการเปิดให้โหวดเลือกว่า ใครคือสุดยอดดาวยิงพันธุ์ถล่มประตูขนานแท้ ที่โลกลูกหลังฝั่งตะวันออก เคยมีมา



เอเอฟซี ได้ทำการเลือก 10 กองหน้าระดับตำนาน ที่เคยสร้างชื่อกระฉ่อนวงการลูกหนังเอเชีย มาให้บรรดาแฟนๆได้ทำการโหวตลงคะแนน ที่น่ายินดีคือ หนึ่งในนั้นมีชื่อของ เดอะ ตุ๊ก ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ดาวยิงหมายเลข 1 ตลอดการของทีมชาติไทยร่วมให้แฟนๆได้ลงคะแนนด้วย หากใครอยากเข้าไปโหวตให้หัวหอกขวัญใจชาวสยาม สามารถเข้าไปได้ที่ http://www.the-afc.com/en/home/ แต่ก่อนหน้านั้น มาดูกันว่า เครื่องจักรล่าสังหารที่องค์กรลูกหนังแห่งเอเชีย หยิบขึ้นมา มีใครกันบ้าง




ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน (ไทย)

เขาอาจไม่ได้รับการยอมรับจากการลงเล่นให้ยักษ์ใหญ่ของเอเชีย แต่เมื่อวัดกัน ปอนด์ต่อปอนด์แล้ว สถิติของ ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ทำให้เขากลายเป็นดาวยิงที่มีผลงานระเบิดตาข่ายมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์วงการฟุตบอลของเอเชีย




เดอะ ตุ๊ก ได้รับเลือกให้อยู่ในทีมรวมดาราเอเชีย 1982 และยังคงเป็นตำนานพ่อค้าแข้งของชาวไทย หลังกลายเป็นนักเตะคนแรกที่ได้ลงเล่นในลีกอาชีพที่เกาหลีใต้




เพชรฆาตหน้าหยก สร้างชื่อกับ ลัคกี้ โกลด์สตาร์ ระหว่างปี 1984-1986 พาทีมคว้าแชมป์ลีก ในปี 1985 พร้อมถล่มไป 12 ประตู




สำหรับทีมชาติ เขายิงไปถึง 103 ประตูจาก 129 เกม และกระหน่ำตาข่ายในนามสโมสรไป 314 ประตู ให้ ทหารอากาศ, ลัคกี้ โกลด์ สตาร์ และ ปาหัง เอฟซี ของ มาเลเซีย




ลูกเล่นที่เป็นเอกลักษณ์ของ ปิยะพงษ์ ที่ทำให้แฟนๆ ฮือฮาบ่อยครั้ง มาจาการเปิดบอล หรือยิงประตูด้วยลูกไขว้




มาเยด อับดุลลาห์ (ซาอุดิอาระเบีย)

มาเยด อับดุลลาห์ เป็นตำนานของวงการฟุตบอลเอเชียขนานแท้ ด้วยการมีสถิติถล่มประตูสุดเหลือเชื่อ เกินกว่า 500 ประตูให้กับทั้งสโมสรต้นสังกัด และในนามทีมชาติ ตลอดอาชีพการค้าแข้งที่ยาวนานกว่า 2 ทศวรรษ




ดาวเตะที่แสนซื่อสัตย์ ลงสนามให้กับ อัล นาเซอร์ ตลอดอาชีพบนเส้นทางลูกหนัง โดยเขากระหน่ำประตูให้สโมสรรักไปกว่า 300 ประตู ซึ่งช่วยให้ทีมในแดนเศรษฐีน้ำมัน ผงาดคว้าแชมป์ลีกสูงสุด 5 สมัย แชมป์ คิงส์ คัพ 4 สมัย แชมป์ฟุตบอล กัลฟ์ คัพ อีก 2 สมัย และแชมป์ เอเชี่ยน คัพ วินเนอร์ส คัพ อีก 1 สมัย นอกจากนั้น เขายังครองตำแหน่งดาวซัลโวลีก ซาอุฯ 6 ครั้ง แถมคว้ารองเท้าทองคำของฟุตบอลอาหรับ อีก 2 สมัยด้วยกัน




นอกเหนือจากผลงานอันโดดเด่นในนามสโมสรแล้ว เขายังพา ซาอุดิอาระเบีย ครองแชมป์ เอเชี่ยน คัพ อีก 2 สมัย ในปี 1984 และ 1988 เช่นเดียวกับการพยุงทีมผ่านเข้ารอบสุดท้าย ฟุตบอลโอลิมปิก เกมส์ 1984 และฟุตบอลโลก 1994 จนสุดท้ายแล้ว เขาได้รับการประกาศจาก เอเอฟซี ให้เป็นนักเตะแห่งศตวรรษ เมื่อปี 1999




ชา บุน-กุน (เกาหลีใต้)

ชา บุน-กุน เป็นหนึ่งในนักเตะนามกระเดื่องของฟุตบอลเอชีย จากการบุกเบิกหนทางสู่ความสำเร็จให้กับบรรดานักเตะรุ่นหลัง ด้วยฟอร์มการเล่นอันสุดยอด ระหว่างการค้าแข้งใน เยอรมัน ระหว่าง ทศวรรษที่ 70 - 80




หลังจากลงสนามให้ทีมทหารอากาศในเกาหลี ชา ย้ายไปเล่นให้ เอสวี ดาร์มสตัดต์ 1 เกม ก่อนโดน ไอน์ทรัค แฟรงค์เฟิร์ต คว้าตัวไปร่วมทีม




เขากลายเป็นนักเตะขวัญใจของ อินทรีแดงดำ ทันที และได้รับการขนานนามว่า ชา บูม จากการยิงอันทรงพลัง โดยเขาลงสนามให้ทีมดังเมืองเบียร์ไป 122 เกม กระซวกตาข่ายคู่แข่งไป 46 ประตู พาทีมคว้าแชมป์ ยูฟ่า คัพ เมื่อปี 1980 ได้สำเร็จ




หลังจากนั้น เขาย้ายไปค้าแข้งกับ ไบเออร์ เลเวอร์คูเซ่น เมื่อปี 1983 ลงสนามให้สังกัดใหม่รวม 185 เกม พร้อมเจาะตาข่ายคู่แข่ง 52 ลูก นอกจากนั้น เขายังคว้าเหรียญ ยูฟ่า คัพ มาคล้องคอเป็นสมัยที่ 2 ในปี 1988 อีกด้วย




ชา ยิงประตูในนามทีมชาติ 55 ประตู จาก 121 เกม ซึ่งเพียงพอต่อการครองตำแหน่งดาวซัลโวสูงสุดตลอดกาลของเกาหลีใต้ในเวลานี้




อาลี ดาอี (อิหร่าน)

ไม่มีบัญชีรายชื่อของยอดหัวหอกในเอเชีย ครั้งไหน ที่จะสมบูรณ์แบบไปได้ หากปราศจากชื่อของ อาลี ดาอี เครื่องจักรสังหารประตูชาวอิหร่าน




พลังสังหารของเขาได้รับการยอมรับให้เป็นสถิติระดับโลก จากการยิง 109 ประตู จาก 149 เกม ให้กับทีม เมลลี่ และช่วยให้ อิหร่าน มีโอกาสไปโชว์ฝีเท้าให้ฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย เมื่อปี 1998 และ 2006




ดาอี เป็นนักเตะอิหร่านคนแรกที่ไปค้าแข้งอาชีพในบุนเดสลีกา จากการย้ายไปร่วมทัพ อาร์มิเนีย บีเลเฟลด์, บาเยิร์น มิวนิค, แฮร์ธ่า เบอร์ลิน ก่อนกลับมาค้าแข้งในเอเชียอีกครั้ง กับ อัล-ชาบับ, ปิรูซี่, ชาบา แบ็ตเตอร์รี่ และ ไซปา




เหา ไห่ตง (จีน)
จากการกด 41 ประตู ใน 115 เกมกับทัพนักเตะแดนมังกร เหา ไห่ตง ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในสุดยอดกองหน้าเลือดอาตี๋




ดาวเตะจากซานตง เป็นกำลังสำคัญของทีมชาติจีน ในการตลุย เวิลด์ คัพ 2002 ซึ่งเป็นครั้งแรก และครั้งเดียว ที่ขุนพลลูกหนังจากหลังกำแพงเมืองจีน ได้อวดโฉมในเวทีลูกหนังโลก รอบสุดท้าย




เขายังประสบความสำเร็จในระดับสโมสร ยิงไป 19 ประตู จาก 48 เกม ให้กับ บ่าหยี เซิ่งบัง ก่อนย้ายไปถล่มประตูให้ ต้าเหลียน ชิด 78 ลูกใน 130 เกม โดยระหว่างนี้ เขาครองตำแหน่งดาวซัลโวของลีกบนแผ่นดินใหญ่ ได้ถึง 4 สมัย ในปี 1997,1998,2000 และ 2001




เหา ย้ายไปเล่นให้ เฉินตู เบลด เป็นสโมสรสุดท้าย หลังจากล้มเหลวกับการค้าแข้งให้ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ในลีกเมืองผู้ดี เพราะปัญหาอาการบาดเจ็บ จนไม่มีโอกาสสัมผัสกลิ่นสาบลีกของต้นกำเนินเกมลูกหนังแม้แต่นาทีเดียว




ซามี่ อัล จาเบอร์ (ซาอุดิอาระเบีย)

ซามี่ อัล จาเบอร์ เป็นหนึ่งในนักเตะที่มีความเป็นผู้นำสูงสุดของซาอุดิอาระเบีย เขาช่วยให้ทีมชาติผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลก รอบสุดท้ายถึง 4 ครั้งติดต่อกัน แถมยังมีชื่อเสียงโด่งดังในการเป็นดาวยิงที่มักกระหน่ำประตูสำคัญในช่วงท้ายเกมได้เสมอ




เขาลงเล่นให้ทีมชาติ 163 เกม ยิงได้ 44 ประตู ส่วนระดับสโมสร เขาลงสนามให้ อัล-ไฮลัล ยักษ์ใหญ่แห่งกรุงริยาดห์นานกว่า 10 ปี ทำได้ 184 ประตู จากการลงสนาม 305 เกม พร้อมคว้าแชมป์ลีก 6 สมัยด้วยกัน




นอกจากนั้น เขายังพา อัล-ไฮลัล คว้าแชมป์ เอเชียน คัพ (เอเอฟซี แชมเปี้ยนส์ลีก ในปัจจุบัน) 2 ครั้ง เช่นเดียวกับการผ่านเข้าไปยกถ้วย เอเซี่ยน ซูเปอร์ คัพ 2 สมัยเช่นเดียวกัน




ในฐานะนักเตะหัวใจสำคัญของทีมชาติซาอุดิอาระเบีย เขาพาทีมครองแชมป์ เอเอฟซี เอเชี่ยน คัพ 1996 รวมทั้งยิงประตูได้ในการลงเล่น เวิล์ด คัพ 1994,1998 และ 2006




คาซูโยชิ มิอูระ (ญี่ปุ่น)

คาซู เป็นซูเปอร์สตาร์ลูกหนังชาวญี่ปุ่นคนแรกที่สร้างชื่อให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ในช่วงปลาย ทศวรรษ 80 พร้อมๆกับการก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจฟุตบอลในเอเชียของนักเตะแดนปลาดิบ




เขาได้รางวัลนักเตะยอดเยี่ยมประจำทวีปเมื่อปี 1993 จากการเดินสายลงเล่นในทีมแถบละตินอเมริกา ก่อนย้ายกลับไปลงเล่นใน เจ-ลีก กับ เวอร์ดี้ คาวาซากิ พร้อมกับการโยกไปค้าแข้งกับ เจนัว ในกัลโช่ เซเรีย อาเป็นเวลา 1 ฤดูกาล




คิง คาซู มีผลงานโดดเด่นยามลงสนามให้ทัพนักเตะแดนซามูไร ด้วยการระเบิดตาข่าย 55 ลูก จาก 89 เกมที่ลงสนาม คว้าแชมป์ เอเอฟซี เอเชียน คัพ ต่อหน้าแฟนๆในบ้านเมื่อปี 1992 พร้อมได้รับการเลือกให้เป็นนักเตะทรงคุณค่าประจำทัวร์นาเม้นต์




เมื่อปี 2006 มิอูระ ในวัย 39 ปี ย้ายไปร่วมทัพ โยโกฮาม่า เอฟซี ก่อนได้ลงสนามไปกว่า 100 นัด แม้ส่วนใหญ่ต้องรับบทตัวสำรองจนถึงเวลานี้




พาค ดู-อิค (เกาหลีเหนือ)
พาค ดู-อิค นับเป็นคุณปู่ระดับฮีโร่ของบรรดาพ่อค้าแข้งเอเชีย เขาสร้างชื่อให้เป็นที่จดจำต่อหน้าแฟนบอลอังกฤษ ระหว่างฟุตบอลโลก 1966 เมื่อประตูของเขา ทำให้ เกาหลีเหนือ ที่ไม่มีใครรู้จัก เอาชนะยอดทีมอย่าง อิตาลี 1-0




จากการยิงเพียงประตูเดียว พาค ทำให้ลูกหนังเอเชีย ไปได้ไกลที่สุดเท่าที่เคยเป็นมา เมื่อผ่านเข้าถึงรอบ 8 ทีมสุดท้าย ในเกมลูกหนังระดับสูงสุด




หลังจากนั้น เขากลายมาเป็นโค้ชทีมชาติ และเมื่อไม่นานมานี้ เขาเป็นผู้ถือคบเพลิงโอลิมปิกส์ วิ่งในเกาหลีเหนือ ในเส้นทางสู่ ปักกิ่ง เกมส์ 2008


 



ฮัสซีน ซาอิด (อิรัก)

ฮัสซีน ซาอิด เป็นคนสำคัญของวงการฟุตบอลอิรัก จากการเป็นนักเตะที่ดีที่สุดของชาติ และตอนนี้รับบทบาทประธานสมาคมฟุตบอลอิรัก




ช่วงที่น่าสนใจในอาชีพของเขา คือการลงเล่นให้อิรัก ลงฟาดแข้งในฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย 1986  ซึ่งเป็นครั้งแรก และครั้งเดียวของชาติที่เต็มไปด้วยสงครามแห่งนี้




ซาอิด ที่เป็นนักเตะของ อัล-ตาลาบา ในบ้านเกิด ยังลงเล่นให้ อิรัก ใน โอลิมปิก เกมส์ 1980, 1984 และ 1988




เขายิงประตูรวมให้ทีมชาติทั้งสิ้น 63 ประตู ซึ่งเป็น 24 ประตู ในการพา อิรัก ลงสนามในศึก กัลฟ์ คัพ จนคว้าแชมป์มาครองได้ 2 ครั้ง




ก่อนหน้านั้น เขาทำให้หลายคนเชื่อว่า จะเป็นดาวเตะอนาคตไกล หลังคว้าตำแหน่งดาวซัลโว ในศึกฟุตบอลเยาวชนชิงแชมป์เอเชียที่ กรุงเทพ ในปี 1976 อย่างไรก็ดี แม้เขาไม่ได้คว้าแชมป์ในปีนั้น แต่ ซาอิด กับเพื่อนร่วมทีมครองเจ้าเอเชียรุ่นเล็กได้ในปีถัดมา




มัคซิม ชัตส์คิคห์ (อุซเบกิสถาน)

ชัตส์คิคห์ เป็นหนึ่งในกองหน้าที่น่ากลัวมากที่สุดในเอเชีย อดีตผู้เข้าท้าชิงนักเตะยอดเยี่ยมของ เอเชีย เพิ่งจบเส้นทางแห่งความสำเร็จ 10 ปี กับการค้าแข้งให้ ดินาโม เคียฟ ยักษ์ใหญ่แห่งยูเครน ด้วยการยิงไปทั้งสิ้น 142 ประตู จาก 328 เกม ที่ลงสนาม




จำนวนนี้ เป็นการยิงในลีก 97 ประตู จาก 215 เกม ครองตำแหน่งดาวซัลโวของลีกในปี 2000 ด้วยจำนวน 20 ประตู และ ปี 2003 ที่จำนวน 22 ประตู




เขากลายเป็นหัวหอกตัวหลักของทีมชาติ นับตั้งแต่ประเดิมสนามให้บ้านเกิด เมื่อปี 1999  และเพิ่งยิงประตูที่ 30 จาก 45 แมตช์ ในการลงสนามรับใช้ชาติ ทำลายสถิติเดิมของ เมียร์จาโลล คาซิมอฟ เรียบร้อย




ดาวยิงวัย 31 ปี ย้ายไป เคียฟ ในฐานะตัวแทนของ อังเดร เชฟเชนโก้ และกลายเป็นศูนย์หน้าที่ยิงประตูได้มากที่สุดเป็นอันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ของลีกยูเครน ตามหลัง เซอร์เก เรบรอฟ ที่ยิงไป 123 ประตู




ในซีซั่นนี้ เขาย้ายไปเล่นให้ โลโคโมทีฟ แอสตาน่า ในคาซัคสถาน และทำไปแล้ว 6 ลูก จาก 11 เกมที่ลงสนาม



ขอบคุณข่าวจาก คุณปลาดิบ ด้วยนะครับ


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์