ยังไม่สาย!!!ลำลึกเหตุการณ์ 6ตุลา

สุริวงค์ เอื้อปฏิภาน : 6ตุลาฯกับประชาธิปัตย์

คอลัมน์ สถานีคิดเลขที่12 (ที่มา:มติชนรายวัน 5 ต.ค.2555)



ในทุกๆ ปี เมื่อตรงกับวันที่ 6 ตุลาคม จะต้องมีการจัดงานรำลึกถึงผู้คนที่ถูกเข่นฆ่าปราบปรามในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2519 รวมทั้งรำลึกถึงอุดมการณ์ของคนหนุ่มสาวในยุคสมัยนั้น

สำคัญที่สุดเพื่อเน้นย้ำพฤติกรรมเลวร้ายของผู้มีอำนาจ ในการเข่นฆ่าประชาชนที่ชุมนุมประท้วงทางการเมือง

แน่นอนว่าเหตุการณ์แบบนี้ จะไม่มีการบันทึกเอาไว้ในหน้าประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการ

เพราะเป็นการกระทำอันโหดร้ายจากกลุ่มผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ย่อมต้องการให้ความจริงในวันนั้นสูญสลายหายไป

แต่สำหรับผู้คนที่ผ่านความเป็นความตายในวันนั้น ยุคสมัยนั้น ยากจะลืมเลือน

อย่างน้อยต้องรวมตัวกันจัดงานเพื่อรำลึกถึงวัน 6 ตุลาฯอย่างต่อเนื่องในทุกปี เป็นการร่วมเขียนเรื่องราวเอาไว้ไม่ให้เลือนหายไป

อีกทั้งเป็นการรำลึกถึงคนที่ต้องสละชีวิตไปเพื่อตอกย้ำเจตนารมณ์ต่อสู้เพื่อความถูกต้องในบ้านเมืองให้ดำเนินต่อไป

รวมทั้งต้องไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์ผู้มีอำนาจสั่งฆ่าประชาชนในทางการเมืองอีก

แม้ว่า 6 ตุลาฯ 2519 จะแตกต่างจากเหตุการณ์อื่นๆ เพราะมีการวางแผนเอาไว้ล่วงหน้า เพื่อจะกวาดล้างขบวนการฝ่ายก้าวหน้าให้สิ้นซาก

ขณะที่ 14 ตุลาคม 2516 หรือ 17 พฤษภาคม 2535 นั้น เป็นการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงที่เกิดจากการควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ และการไม่ยอมถอยจากอำนาจของคนสั่งปราบ

อันที่จริง 10 เมษายน-19 พฤษภาคม 2553 ก็ไม่ต่างจาก ปี 2516 และ ปี 2535 สักเท่าไร

แต่เพราะคนสั่งปราบมีสภาพจิตใจอัน ผิดปกติ กว่าทุกเหตุการณ์ ยังไม่มีความรู้สึกสำนึกรับผิดชอบ การดิ้นรนต่อสู้เพื่อปกปิดความจริงจึงยังดำเนินอยู่อย่างไม่ถดถอย

จนกล่าวกันว่า 14 ตุลาฯก็มีทหารพราน เหตุพฤษภา 35 ก็มีขบวนการมอเตอร์ไซค์ เหมือนกับเรื่องชายชุดดำในวันนี้

แต่จะมีหรือไม่มี อันที่จริงไม่ใช่สาระสำคัญของการสอบสวนคดีฆ่าประชาชนผู้ชุมนุม

ชายชุดดำจะมีหรือไม่มี ก็ไม่เกี่ยวกับการกระทำอันผิดพลาดของภายใต้คำสั่ง ศอฉ.จนคนตาย 98 ศพ

ถ้าจะปราบชายชุดดำ แล้วคนถือหนังสติ๊ก บั้งไฟ ขวดน้ำมัน ตายไปเกือบร้อย

จะเป็นเหตุผลที่ช่วยกลบเกลื่อนความผิดได้หรือ

มีประเด็นที่น่าสนใจพูดถึง ในการรำลึกถึง 6 ตุลาฯ 2519 นั่นคือบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นรัฐบาลในขณะนั้น ซึ่งเป็นรัฐบาลที่เต็มไปด้วยความอ่อนแอ ไม่มีบทบาทใดๆ เลยในการยับยั้งแผนการกวาดล้างนักศึกษาประชาชน

ปล่อยให้เกิดกระบวนการใช้เครือข่ายวิทยุและสื่อฝ่ายขวา สร้างเรื่องป้ายสีนักศึกษา แล้วนำไปสู่การฆ่า

พอเขาฆ่ากันเสร็จ ก็ถูกคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินไล่ออกจากอำนาจ

จึงไม่น่าแปลกใจที่วิเคราะห์กันเอาไว้ว่า ประชาธิปัตย์คือพรรคการเมืองที่เป็นเด็กดีของระบบการเมืองอันล้าหลังมาโดยตลอด

ยิ่งกว่านั้น ถัดมาอีก 30 กว่าปี

เด็กรุ่นหลังของประชาธิปัตย์ก้าวขึ้นมาเป็นรัฐบาลด้วยวิธีการอันพิสดาร แล้วก็เกิดเหตุการณ์ 98 ศพ

เป็นเด็กดีที่พัฒนาไปยิ่งกว่าปี 2519 เสียอีก

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์