ประวัติศาสตร์ โอลด์ แทรฟฟอร์ด สนามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอังกฤษ

กว่าหนึ่งศตวรรษที่แล้ว โอลด์ แทรฟฟอร์ด เป็นเพียงผืนแผ่นดินว่างเปล่าบนนิคมอุตสาหกรรม แทรฟฟอร์ด พาร์ค แต่ทุกวันนี้แปรสภาพเป็นหนึ่งในสนามฟุตบอลชั้นดีที่สุดในโลกของเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ และนี่คือเรื่องราวทั้งหมดของ โรงละครแห่งความฝัน หรือ Theatre of Dream

 

ย้อนกลับไปในอดีตตอนที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ยังใช้ชื่อเดิมว่า นิวตัน ฮีธ พวกเขาเป็นเพียงสโมสรฟุตบอลเล็กๆ ทีมหนึ่งและได้เข้าร่วมแข่งขัน ฟุตบอลลีก ในปี 1892 และมีสนามเหย้าที่เข้าขั้นแย่ที่สุดอย่าง นอร์ท โร้ด ในมอนซอลล์ ซึ่งสนามมีสภาพราวกับปลักโคลน และห้องแต่งตัวก็อยู่ห่างไกลออกไปกว่าครึ่งไมล์ที่ผับ ทรีคราวน์ส แต่ปัจจุบันสโมสร แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีสนามที่ทันสมัย มีสาธารณูปโภค ที่ช่วยอำนวยความสะดวกแบบครบวงจร อีกทั้งพลพรรคปีศาจแดง สามารถแต่งตัวให้พร้อมก่อนลงสนามได้โดยไม่สร้างความแตกตื่นให้กับลูกค้าในผับท้องถิ่นอีกต่อไป



การย้ายสนามจาก นอร์ท โร้ด สู่ แบงค์ สตรีท นั้นสภาพสนามไม่แตกต่างกันมากนักและถูกวิพากษ์วิจารณ์กันว่าพื้นสนามนั้นย่ำแย่มาก ประธานสโมสร จอห์น เดวี่ส์ จึงได้ตัดสินใจย้ายห่างจากตัวเมืองไปอีก 5-6 ไมล์ ที่นั่นคือ แทรฟฟอร์ด พาร์ค ย่านชานเมือง แมนเชสเตอร์ และเขาได้เรียกสนามแห่งใหม่ของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ว่า โอลด์ แทรฟฟอร์ด



ในปี ค.ศ. 1909 เดวี่ส์ ยอมควักเงินจำนวน 60,000 ปอนด์ เพื่อซื้อที่ดินแปลงหนึ่งใน แทรฟฟอร์ด ปาร์ค และเนรมิตให้กลายบ้านแห่งใหม่ของสโมสร สนาม โอลด์ แทรฟฟอร์ด มีความจุผู้ชมได้สูงถึง 80,000 คน และเปิดประตูต้อนรับแฟนบอลเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1910 แต่ก็เป็นความทรงจำที่ไม่ค่อยดีนักเมื่อทีมพ่ายให้กับ ลิเวอร์พูล 4-3 ในช่วงนั้นแฟนบอลส่วนใหญ่ต้องยืนดูเกมการแข่งขัน แต่ก็ถือเป็นสังเวียนฟาดแข้งที่ให้ความสะดวกสบาย แฝงด้วยความหรูหราโดยไม่มีสนามแห่งใดในยุคเดียวกันจะเทียบเท่าได้ ไม่ว่าจะในเรื่อง เก้าอี้พับเก็บได้ มีห้องจิบน้ำชา และคนคอยบริการชี้ทาง พาไปหาที่นั่ง มีห้องเล่นเกม มีโรงยิม และอ่างอาบน้ำขนาดยักษ์ สำหรับนักเตะด้วย

 

หลังจากรองรับฝูงชนมากหน้าหลายตามาเป็นระยะเวลา 30 ปี โอลด์ แทรฟฟอร์ด ก็ห่างหายจากเกมลูกหนังอยู่เกือบ 1 ทศวรรษเต็มๆ รวมถึงฟุตบอลลีก ต้องหยุดชะงักหลังเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1939 จากนั้นในคืนวันที่ 11 มีนาคม ปี ค.ศ. 1941 โอลด์ แทรฟฟอร์ด ก็ต้องพังทลายลงหลังโดนกองทัพอากาศของเยอรมัน ทิ้งระเบิดใกล้ๆ กับนิคมอุคสาหกรรม แทรฟฟอร์ด พาร์ค ระเบิดหลายลูกตกลงที่สนาม โอลด์ แทรฟฟอร์ด อัฒจันทร์ เมน สแตนด์ ถูกทำลายย่อยยับ เช่นเดียวกับตัวพื้นสนามก็ได้รับความเสียหาย ไปด้วย หลังสิ้นสุดสงครามรัฐบาลอังกฤษ ได้มอบเงินให้กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จำนวน 22,278 ปอนด์ เพื่อบูรณะสนามขึ้นใหม่ ระหว่างนั้นเอง ทีมปีศาจแดงต้องย้ายไปเล่นที่ เมน โร้ด สนามของทีม แมนเชสเตอร์ ซิตี้ นานถึง 4 ปี

 

แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ต้องการสนามใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมเพื่อรองรับผู้ชมจำนวน 120,000 คน ให้ได้ แต่ท้ายที่สุดแล้ว พวกเขาไม่มีงบประมาณพอที่จะก่อสร้างได้ ซึ่งทำได้เพียงแค่สร้าง เมน สแตนด์ ขึ้นใหม่แทนที่ของเดิมที่ถูกทำลายเท่านั้น ในวันที่ 24 สิงหาคม ปี ค.ศ. 1949 ทีมปีศาจแดงได้กลับมายังถิ่นของพวกเขาอีกครั้ง ท่ามกลางฝูงชนกว่า 41,000 คน และสามารถเอาชนะ โบลตัน วันเดอเรอร์ส ได้ในเกมนัดแรกของรอบ 10 ปีที่กลับมาเล่น ณ สนามแห่งนี้

โอลด์ แทรฟฟอร์ด เริ่มสว่างไสวนับตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1957 เมื่อ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ได้สิทธิเข้าร่วมการแข่งขันฟุตบอลยุโรป เกมกลางสัปดาห์ซึ่งต้องเล่นในช่วงเย็น นั่นหมายถึงพวกเขาต้องมีไฟสนาม และเกมนัดแรกภายใต้แสงไฟคือก็คือเกมลีก เมื่อ 25 มีนาคม ปี ค.ศ. 1957 ในขณะที่ทีใหญ่อย่าง รีล มาดริด คือทีมแรกจากยุโรปที่มาเล่นภายใต้ไฟสนามใหม่ชั้นยอดที่นี่



แฟนบอลรุ่นเก๋าคงยังจำได้ดีกับนักเตะชื่อ บัสบี้ เบบส์ และคงจะจำได้อีกเช่นกันถึงความรู้สึกที่เปียกปอนไปด้วยเม็ดฝนพร้อมๆ กับนักเตะในสนาม เพราะอัฒจันทร์ สเตรตฟอร์ด เอนด์ ชื่อดัง ไม่มีแม้หลังคาไว้บังแดดบังฝน จนกระทั้งใน ปี ค.ศ. 1959 การจัดแข่งขันฟุตบอลโลก ณ สนาม โอลด์ แทรฟฟอร์ด ทำให้สนามได้รับการปรับปรุงให้ทันสมัยมากขึ้นในช่วงยุค 60 อัฒจันทร์แบบแคนติลิเวอร์ (แบบอย่างต้นกำเนิดของอัฒจันทร์ในปัจจุบันที่ไม่ต้องใช้เสาค้ำยันให้บังทัศนียภาพในเกมการแข่งขัน) ถูกเปิดใช้ใน ปี ค.ศ. 1964 ด้วยงบประมาณในก่อสร้างจำนวน 350,000 ปอนด์ ขณะที่แฟนบอลของ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เริ่มเพิ่มมากขึ้นตามความจุของสนาม

ประเพณีการยืนเชียร์เกมการแข่งขันฝั่ง สเตรตฟอร์ด เอนด์ มาถึงจุดสิ้นสุดลงใน ปี ค.ศ 1992 เมื่อมันถูกบูรณะใหม่และแทนที่ด้วยเก้าอี้นั่ง จนกระทั่งใน ปี ค.ศ. 1994 สนาม โอลด์ แทรฟฟอร์ด ก็กลายเป็นสนามที่นั่งทั้งหมดครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยที่ความจุสำหรับแฟนบอลกลับลดลงไป ดังนั้นความจุแค่ 43,000 ที่นั่ง ย่อมไม่เพียงพอแน่ต่อความต้องการของแฟนบอลที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหานี้ อัฒจันทร์ ฝั่ง นอร์ท สแตนด์ ก็ถูกปรับปรุงใหม่ในฤดูกาล 1995/96 ถึงตอนนั้นความจุของสนามเท่ากับ 56,387 ที่นั่ง แต่มีแฟนบอลอีกจำนวนหนึ่ง ไม่พอใจเกี่ยวกับสแตนด์ใหม่นี้กับความสูงในระดับ 48 เมตร



แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มีสนามใหญ่ที่สุดในประเทศอังกฤษ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยกับค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น 28 ล้านปอนด์ ยูฟ่า ซึ่งเป็นองค์กรควบคุมเกมฟุตบอลของยุโรป เรียก โอล์ด แทรฟฟอร์ด ว่าเป็นสนามที่ดีที่สุดในอังกฤษ และใช้รองรับเกมการแข่งขันฟุตบอลยูโร 96 ถึง 5 นัด แต่ด้วยความสำเร็จในช่วงทศวรรษที่ 90 จำนวนแฟนบอลที่ต้องการเข้าชมเกมมีมากขึ้น ปลายฤดูกาล 1999/2000 อัฒจันทร์ฝั่ง อีสต์ สแตนด์ ได้ถูกปรับปรุงใหม่จนสามารถเพิ่มความจุผู้ชมเป็น 61,000 ที่นั่ง หลังจากนั้นต้นฤดูกาล 2000/01 อัฒจันทร์ฝั่ง สเตรตฟอร์ด เอนด์ ก็ได้ถูกปรับปรุงใหม่เช่นกันโดยเพิ่มที่นั่งเป็น 2 ชั้น จนกระทั่งปัจจุบันความจุของสนามสุทธิคือ 68,217 ที่นั่ง มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาสโมสรฟุตบอลทั้งหมดในเกาะอังกฤษ

แผนการขยายความจุผู้ชมของสนาม โอล์ด แทรฟฟอร์ด ในอนาคตคือ 90,000 ที่นั่ง ที่มุมสนามทั้ง 2 มุม ของอัฒจันทร์ฝั่ง นอร์ท สแตนด์ ต่อกันกับ สเตรตฟอร์ด เอนด์ และ อีสต์ สแตนด์ โดยที่อัฒจันทร์ฝั่ง เซาธ์ สแตนด์ นั้นการขยายความจุเป็นไปได้ยากเพราะอยู่ใกล้กับทางรถไฟ ซึ่งเคยมีผู้เสนอให้ขยายโดยสร้างอัฒจันทร์ชั้นที่ 3 คร่อมทางรถไฟ ซึ่งต้องใช้เทคโนโลยีทางวิศวกรรมสมัยใหม่และมีค่าใช่จ่ายที่สูงมาก แต่ด้วยจำนวนแฟนบอลที่เพิ่มขึ้นมากมายจากทั่วทุกมุมโลก ทุกคนต่างปารถนาจะมาชมเกมการแข่งขัน ณ โรงละครแห่งความฝัน รูปลักษณ์ของ โอล์ด แทรฟฟอร์ด ในอนาคตอาจจะเปลี่ยนไป ...ไม่แน่ว่าอาจเป็นสนามฟุตบอลแห่งแรกในโลกที่มีอัฒจันทร์คร่อมรางรถไฟ...นับว่ามหัศจรรย์จริงๆ

เรื่องโดย เบคแก้ว Red Army Fanclub

Credit : RedArmyFC.Com


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์