บิลลี่ เมอเรดิธ ผู้วาดตัวVบนอกผีแดง

ชุดใหม่ของปีศาจแดง

ตั้งแต่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด
 
ถอยชุดแข่งขันใหม่ที่จะใส่ลงสนามในเกมลูกหนังเมืองผู้ดีที่กำลังจะเปิดฉากในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ก็เรียกเสียงฮือฮาจากแฟนบอลได้ไม่น้อยกับการฉีกแนวเดิมๆ
จากสีแดงพื้นๆ เป็นการเพิ่มเติมตัว "วี" (V) สีดำบริเวณยอดอกเข้าไป

ชุดใหม่ล่าสุดของปีศาจแดงโดยการออกแบบของผู้ผลิตชุดกีฬารายใหญ่อย่าง ไนกี้ ก่อให้เกิดปฏิกิริยาจากเหล่า "เด็กผี" มากมายหลายหลาก
บ้างรู้สึกแปลกๆ และไม่ชอบใจตัววีใหญ่ๆ ที่เพิ่มเข้ามา ส่วนบางคนก็เฉยๆ ขณะที่จำนวนไม่น้อยรู้สึกชอบพร้อมกับมีเหตุผลประกอบอีกต่างหาก

แฟนบอลคนหนึ่งเขียนในบล็อกของตัวเองว่า
 
เขาชอบเสื้อลายใหม่ของแมนฯยูเพราะมันให้ความรู้สึกว่า "ทันสมัย" และ "มีระดับ" ไปพร้อมๆ กัน ที่สำคัญนี่ยังเป็นไอเดีย "ย้อนยุค" กลับไปเมื่อปี 1909 หรือ 100 ปีก่อนหน้านี้
ซึ่งปีศาจแดงประสบความสำเร็จคว้าแชมป์ เอฟเอคัพ เป็นครั้งแรกจากทั้งหมด 11 สมัยอีกด้วย

"มันให้กลิ่นอายของประวัติศาสตร์ครับ เพื่อที่ทุกๆ ทีมที่แข่งกับแมนฯยูจะจดจำไว้ว่าปีศาจแดงเจ๋งขนาดไหน และที่สำคัญยิ่งกว่าคือการระลึกได้ว่าเราเจ๋งอย่างนั้นมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว!"

ก่อนหน้าไนกี้และผีแดงจะกอบโกยเงินมหาศาลเป็นตัวเลข 8-9 หลักจากการขายเสื้อชุดใหม่นี้ เดอะ ซัน ได้พาเราย้อนรำลึกถึง บิลลี่ เมอเรดิธ ผู้ร่วมสร้างประวัติศาสตร์ยุคแรกเริ่มของแมนฯยู และเป็นเจ้าของไอเดียตัววีบนอกเสื้อของพวกเขา...

ชุดที่เมอเรดิธออกแบบเมื่อปี 1909

เมอเรดิธเป็นนักฟุตบอลสายเลือดเวลส์ ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในนักเตะ "ซุปเปอร์สตาร์" ยุคแรกของวงการลูกหนังเมืองผู้ดี โดยสร้างชื่อจนเป็น "ตำนาน" กับทั้ง 2 สโมสรแห่งเมืองแมนเชสเตอร์ เขาลงสนามให้ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในตำแหน่งกองหน้า เล่น 339 นัด ยิงไป 129 ประตู ระหว่างปี 1894-1906 ก่อนจะย้ายไปอยู่กับแมนฯยูระหว่างปี 1906-1921 โดยมากจะเล่นเป็นปีก ลงสนาม 303 นัด ยิงไป 35 ประตู

และก่อนหน้าจะมี ไรอัน กิ๊กส์ เขาคนนี้คือเจ้าของฉายา พ่อมดชาวเวลส์ ผู้เป็นที่จดจำจากภาพการวิ่งไปตามปีกซ้ายขวาของสนามพร้อมคาบไม้จิ้มฟันไว้ในปากนั่นเอง

ก่อนจะกลายเป็น "ฮีโร่" เมอเรดิธเริ่มต้นชีวิตนักเตะไม่ค่อยสวยหรูนัก แรกเริ่มเดิมทีเขาทำงานเป็นชาวเหมือง ก่อนผันตัวเองไปเตะลีกฟุตบอลระดับล่าง แล้วจึงได้รับโอกาสเซ็นสัญญากับเรือใบสีฟ้าในปี 1894 เมื่อประสบความสำเร็จในฐานะดาวยิงจนเป็นที่ชื่นชอบคลั่งไคล้ของแฟนๆ ได้ 1 ทศวรรษ พ่อมดชาวเวลส์ก็ถูกกล่าวหาว่าติดสินบนคู่แข่งในปี 1904 และโดนลงโทษแบนถึง 18 เดือน

2 ปีต่อมาเขาย้ายไปอยู่กับปีศาจแดงและได้ค่าเหนื่อย "สูงลิบ" ถึงสัปดาห์ละ 4 ปอนด์ หรือตีราคาได้เท่ากับ 298 ปอนด์ (16,700 บาท) ในปัจจุบัน!

สิ่งที่ทำให้เมอเรดิธโดดเด่นแตกต่างเพื่อนนักเตะร่วมยุคเดียวกัน นอกจากพรสวรรค์เชิงลูกหนังอันโดดเด่นแล้ว บุคลิกความเป็นคนโผงผางกล้าคิดกล้าพูดก็ทำให้เขามีบทบาทในวงการฟุตบอลนอกเหนือจากการแข่งขันอยู่ไม่น้อยทีเดียว

บิลลี่ เมอเรดิธ

เขามีสายสัมพันธ์อันดีกับบริษัทผู้ผลิตเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬาและใช้เวลาในวันว่างนั่งออกแบบชุดแข่งขันให้กับต้นสังกัดของตัวเอง

และเป็นเมอเรดิธคนนี้เองที่เสนอดีไซน์ตัววีบนยอดอกของทีมแมนฯยูเพื่อใช้ลงสนามในเกมเอฟเอคัพ รอบชิงชนะเลิศ เมื่อปี 1909 เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสน เนื่องจากคู่ชิง บริสตอล ซิตี้ ก็สวมเสื้อสีแดงเช่นกัน (และในยุคนั้น สโมสรต่างๆ จะมีชุดแข่งแบบเดียวเท่านั้น ไม่ได้ทำออกมาหลายแบบเพื่อเกมเหย้า-เยือนเหมือนในปัจจุบัน) โดยชุดที่เขาออกแบบจะเป็นตัววีสีแดงบนเสื้อสีขาว

ลินดา แบลร์ นักจิตวิทยาเมืองผู้ดีแสดงทรรศนะว่า
 
ตัววีบนอกเสื้อตามแนวคิดของบิลลี่ เมอเรดิธ อาจหมายถึง "วิคตอรี่" (victory) ซึ่งหมายถึงชัยชนะ แต่ขณะเดียวกันมันก็ช่วยขับเน้นกล้ามเนื้อบริเวณยอดอกของนักกีฬาสื่อถึงพละกำลังและความแข็งแกร่ง อีกทั้งตัววีสีแดงน่าจะเป็นลางดีให้ได้รับชัยชนะด้วย

นอกจากภารกิจ "ดีไซเนอร์" ดังกล่าวแล้ว พ่อมดเวลส์ยังรับหน้าที่หัวเรือใหญ่ในการตั้งสหภาพนักเตะเพื่อเรียกร้องและต่อรองกับ สมาคมฟุตบอลอังกฤษ (เอฟเอ) ซึ่งต่อมาสหภาพนักเตะตามไอเดียของเมอเรดิธค่อยๆ ก่อร่างสร้างฐานอันมั่นคงจนกลายเป็น สมาคมนักฟุตบอลอาชีพ (พีเอฟเอ) นั่นเอง

แต่นิสัยไม่ยอมใครของพ่อมดเวลส์ก็ย้อนกลับมาทำร้ายเจ้าตัวเองในหลายๆ วาระ เนื่องจากเขามักมีปากเสียงกับผู้จัดการทีมจนลงเอยด้วยการวอล์กเอ๊าต์จากสนามหลายครั้ง นอกจากนี้ ยังเป็นหัวโจกในการขอขึ้นค่าตอบแทนจากต้นสังกัด แถมยังต่อต้านพวกผู้หญิงที่ชอบดูบอลอีกต่างหาก

หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 1 เมอเรดิธกลับไปเป็นนักเตะของแมนฯซิตี้อีกครั้ง ก่อนผันตัวเป็นโค้ชให้ทีมแมนฯยูในปี 1931 แต่กลับไม่ประสบความสำเร็จในงานกุนซือ และค่อยๆ หายหน้าไปจากประวัติศาสตร์ลูกหนังในที่สุด

จากอดีตนักเตะซุปเปอร์สตาร์แถวหน้าของวงการ บิลลี่ เมอเรดิธ จบชีวิตลงในปี 1958 ด้วยวัย 83 ปี อย่างคนสิ้นไร้ไม้ตอก และถูกฝังอย่างโดดเดี่ยวไม่มีแม้ป้ายสุสาน กระทั่งเวลาล่วงเลยไปหลายปี ทั้งแมนฯยูไนเต็ด แมนฯซิตี้ พีเอฟเอ และสมาคมฟุตบอลแห่งชาติเวลส์ จึงร่วมเป็นเจ้าภาพจัดพิธีรำลึกคุณูปการหลายอย่างที่ "พ่อมดชาวเวลส์" เคยสร้างไว้ พร้อมจัดทำป้ายหลุมศพให้อย่างสมเกียรติ

แต่หลายคนเชื่อว่า เมื่อลีกลูกหนังเมืองผู้ดีเปิดฤดูกาลใหม่ และแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด สร้างผลงานยิ่งใหญ่ในเสื้อที่เมอเรดิธเป็นคนร่างต้นแบบเอาไว้เมื่อ 1 ศตวรรษที่แล้ว นั่นน่าจะเป็นการสดุดีที่น่าประทับใจที่สุดสำหรับอดีตฮีโร่ชาวเวลส์ผู้นี้แล้ว

เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์