5 ทศวรรษเกย์ไทย สังคมไทยเรียนรู้อะไรบ้าง เกย์นวลจันทร์ว่าไง







เรื่องเพศในสังคมปัจจุบันมีการถกเถียงกันมากขึ้น ทั้งเรื่องความแตกต่างอันหลากหลายที่คนไทยต้องเรียนรู้และยอมรับ ไม่ว่าจะเป็นหญิงรักหญิง หรือชายรักชาย

หนึ่งในรสนิยมทางเพศที่ใช้เรียก ชายรักชาย คือคำว่า เกย์ เริ่มเป็นที่รู้จักตั้งแต่ปี 2500 จนทุกวันนี้ผ่านมา 5 ทศวรรษแล้ว ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร จึงจัดการบรรยายวิชาการในชุดพหุวัฒนธรรมกับความหลากหลายทางเพศเรื่อง 5 ทศวรรษของวัฒนธรรมเกย์ไทย เราเรียนรู้อะไรบ้าง โดยดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ นักวิชาการและนักวิจัย ร่วมกับนายยาน เดอ ลินด์ ฟาน ไวน์การ์เดน ชาวฮอลแลนด์ นักศึกษาที่ทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเรื่อง การศึกษาเข้าใจความเปราะบางทางจิตสังคมและทางเพศของนักเรียนเกย์หรือไบ ที่จะสำเร็จการศึกษาระดับชั้น ม.6 หรือ ปวช. ในพื้นที่ชนบทของประเทศไทย

เริ่มกันที่ทศวรรษ 2500 คนไทยได้รู้จักกับคำว่า เกย์ ผ่านคดีฆาตกรรม ดาร์เรล เบอร์ริแกน เจ้าของและบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกเวิลด์ ในปี 2508 โดยเชื่อว่าเป็นฝีมือของคู่ขา สื่อนำเสนอว่า เกย์ หมายถึงโสเภณีชาย และ โฮโมเซ็กช่วล คือผู้ชายที่สมสู่กับผู้ชาย ชอบสมสู่กับกะเทยและเด็กหนุ่ม







ช่วงแรกสังคมไทยรับรู้ว่าเกย์เป็นผู้ชายขายตัว เป็นวัฒนธรรมตะวันตกที่ไม่ดี แต่แล้วเมื่อทศวรรษ 2510 เกย์มาพร้อมกับความทุกข์ เริ่มมีคอลัมน์ให้คำปรึกษาและหนังสือชีวิตเศร้าชาวเกย์ รวมไปถึงความเชื่อว่า ถ้าแต่งงานกับผู้หญิงจะทำให้หายเป็นเกย์ ดร.นฤพนธ์เล่า และบอกอีกว่า ต่อเนื่องมาในทศวรรษที่ 2520 ได้เกิดนิตยสารเกย์และบาร์อะโกโก้แห่งแรกชื่อว่า อพอลโล่ ซึ่งจะเห็นว่าสังคมเริ่มรับรู้มากขึ้นและมีการสัมมนา เกย์กับกฎหมาย ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนักวิชาการไทยมองว่า พฤติกรรมโฮโมเซ็กช่วล เป็นปัญหาสังคม และเป็นห่วงเยาวชนในการเลียนแบบพฤติกรรมที่ไม่ดี 

แม้สังคมไทยจะยังไม่ยอมรับเรื่องเกย์ แต่ธุรกิจต่างๆ กลับสวนทางแล้วเติบโตขึ้นเพื่อสนองความต้องการของคนกลุ่มนี้ ช่วงปี 2530 มีสถานประกอบการเกย์โดยเฉพาะเซาน่าที่ทำให้เซ็กซ์เข้าไปอยู่ในมวลชนเกย์ และถือเป็นยุคทองของบาร์เกย์อีกด้วย ดร.นฤพนธ์อธิบายเพิ่มเติมว่า เซาน่าบางแห่งอนุญาตให้มีเพศสัมพันธ์ในนั้น จึงเริ่มมีการรณรงค์ป้องกันโรคเอดส์ในชุมชน จากนั้นในช่วงปี 2540 เริ่มมีการตั้งสมาคมและองค์กรของเกย์ 

สำหรับทศวรรษ 2550 เป็นต้นมา เกย์เข้ามามีบทบาทในสังคมผ่านผลงานด้านการบันเทิง ในฐานะผู้สร้างสรรค์งานศิลปะแขนงต่างๆ แม้แต่การแสดงที่ตัวละคร เกย์ ปรากฏมากขึ้นบนจอโทรทัศน์ด้วยรูปร่างหน้าตาผ่านการทำศัลยกรรมและเล่นฟิตเนส และเริ่มมีไลฟ์สไตล์ที่พัฒนาเป็น เกย์สากล ทั้งการแต่งตัวและเข้าสังคม นอกจากนี้ เทคโนโลยียังเชื่อมสังคมเกย์ให้รู้จักกันง่ายขึ้น

แม้สังคมจะเปิดกว้างขึ้นแต่กลับมีความเหลื่อมล้ำในชุมชน เกย์ต้องมีความแมน เล่นกล้าม และมีลุคเชิดหยิ่ง ใครที่อ้วน แก่ หรือบ้านนอก จะไม่สามารถเข้ากลุ่มได้ จากที่ผ่านมาถึง 5 ทศวรรษจะเห็นว่าสังคมไทยเรียนรู้และยอมรับเกย์มากขึ้น แต่สิ่งที่สังคมไทยต้องเรียนรู้คือลบอคติเรื่องเพศ รวมถึงให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนที่จะแสดงออกถึงตัวตนและความคิด ดร.นฤพนธ์ทิ้งท้ายไว้ให้คิด

ขณะที่นายยาน เดอ ลินด์ ฟาน ไวน์การ์เดน เผยว่า แม้ว่าเกย์จะเป็นที่ยอมรับมากขึ้น แต่กลับไม่มีหลักสูตรที่สอนเรื่องความหลากหลายทางเพศ รวมถึงการป้องกันตัวเองขณะมีเพศสัมพันธ์ จึงเป็นสิ่งที่น่าห่วง โดยเฉพาะเด็กที่เป็นเกย์ซึ่งเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคเอดส์ 

ผ่านมา 50 ปีแล้ว ที่สังคมไทยรู้จักคำว่า เกย์ แต่เราเรียนรู้แล้วจริงๆ หรือ


 


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์