Home Grown กฏนี้เพื่ออคาเดมี่

เมื่อกระทู้นี้ถูกแต่งเติมด้วยคอมเม้นท์ของ พี่เบน ฟริคิก เมื่อไหร่ นั่นหมายความว่า เดอะ คอลัมนิสต์ ซีซั่น 2 มุ่งหน้าสู่จุดสิ้นสุดอย่างเป็นทางการ !!

ตามสัญญา.. 15 วัน ที่สองบทความ และกระทู้นี้ จะถูกตรึงไว้ที่หน้าแรก เพื่อให้สมาชิกทุกท่านชื่นชมกับความวิจิตรของจินตนาการ ของงานเขียน 2 งานที่ได้อันดับสูงที่สุดใน เดอะ คอลัมนิสต์ 2

เชิญรับชมได้ครับ !!!



บทความของแชมป์คอลัมนิสต์ Daveza

Home Grown กฏนี้เพื่ออคาเดมี่

ต้องบอกว่าออกกฏกันมาชนิดที่ตั้งตัวกันแทบไม่ทันเลยทีเดียวสำหรับกฏ Home Grown ที่ทางเอฟเอประกาศบังคับใช้ในซีซั่นหน้าของ EPL ก่อนอื่นเรามาทำความเข้าใจกันก่อนว่า กฏ Home-Grown มีเนื้อหาอย่างไรบ้าง ทำไมกฏนี้ ถึงได้ทำให้หลายๆทีมถึงกับตาเหลือก และตกอกตกใจไปตามๆกัน ดังนี้

นักเตะ Home Grown คือ ใครก็ได้ที่ฝึกซ้อมฟุตบอลโดยระบบอาชีพในประเทศอังกฤษหรือเวลส์ เป็นระยะเวลา 3 ปี(เป็นอย่างน้อย) ในช่วงอายุก่อน 21ปี โดยไม่ต้องสนใจสัญชาติของตัวนักเตะ

ถ้าเอาตามความหมายข้างต้น นักเตะ Home-Grown นี้ มันก็ไม่เชิงว่าเป็นนักเตะในประเทศซะทีเดียว แต่เป็นนักเตะที่มาจากประเทศไหนก็ได้ ที่ได้มีโอกาสฝึกซ้อมฟุตบอลอาชีพในอังกฤษหรือเวลส์เป็นเวลาอย่างน้อย 3 ปี ก่อนอายุ 21 นั่นคือ การที่คุณจะได้สิทธิ์เป็นนักเตะ Home Grown คุณต้องมาฝึกลูกหนังที่อังกฤษหรือเวลส์ อย่างช้าที่สุด ตอนอายุ 18 ปี และเมื่อถึงตอนที่คุณอายุ 21 คุณจะได้สิทธิ์เป็นนักเตะ Home Grown ทันที

ประเด็นนี้น่าจะชัดเจนในระดับหนึ่งว่า FA ออกกฏนี้มาเพื่อ สนับสนุนให้อคาเดมี่ของแต่ละสโมสร ผลิตนักเตะดาวรุ่งด้วยตัวเองมากขึ้น แทนการใช้เงินซื้ออย่างไม่ลืมหูลืมตา ในจุดนี้ถือว่าเป็นอะไรที่มันไม่ได้บังคับเยอะนะครับ ก็คือถ้าคุณเป็นผู้จัดการทีม คุณก็เรียกนักเตะเยาวชนอายุน้อยๆมาปั้นๆๆๆๆ ต่อเนื่องสามถึงสี่ปี และพอเค้าอายุ 21 คุณก็สามารถใช้งานเขาในฐานะนักเตะ Home Grown ได้ จุดนี้ น่าจะเป็นการแสดงศักยภาพของอคาเดมี่ของแต่ละสโมสรว่า มีความสามารถในการปั้นเด็กได้มากแค่ไหน

สาระสำคัญอีกอย่างหนึ่งของกฏ Home Grown ก็คือ การลงทะเบียนนักเตะ จะลงทะเบียนกันสองช่วงคือ สิ้นเดือนสิงหาคม(ตลาดซัมเมอร์ปิด) กับ สิ้นเดือนมกราคม(ตลาดหน้าหนาวปิด) โดยจะลงทะเบียนนักเตะได้ 25 คน ซึ่งในโควต้า 25 คนนี้ กฏอย่างแรกก็คือ นักเตะคนนั้นอายุเกิน 21 ปีไปแล้ว โดยที่นักเตะในกลุ่มโควต้า 25 คนนี้จะแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก คือกลุ่มที่สามารถเป็นนักเตะ Home Grown ได้ ซึ่งในจำนวนนี้ แต่ละทีมต้องส่งชื่อไป 8 คน ตัวอย่างของนักเตะในกลุ่มนี้คือ เชส ฟาเบรกาส ที่ย้ายมาร่วมทีมอาร์เซน่อลตั้งแต่อายุ 16 ปี จนตอนนี้อายุ 22 ปี และเคยฝึกลูกหนังกับอาร์เซน่อลมาเกิน 3 ปีก่อนอายุ 21 ปีแล้ว ดังนั้น ในซีซั่นหน้า อาร์เซน่อลสามารถลงทะเบียนเชสในฐานะนักเตะ Home Grown ได้

ส่วนอีก 17 คนที่เหลือ ก็จะเป็นโควต้านักเตะของสโมสรที่อายุเกิน 21 ปี และไม่ได้เป็นนักเตะ Home Grown ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นนักเตะตัวหลักๆที่เป็นชาวต่างชาติของแต่ละสโมสร ที่ย้ายทีมมาในช่วงที่อายุเกิน 21 ไปแล้ว เช่น ดร็อกบา, ตอร์เรส เป็นต้น
นอกจากนี้ แต่ละทีมยังสามารถลงทะเบียนนักเตะที่อายุต่ำกวา 21 ปี ไว้เป็นโควต้าพิเศษได้ โดยที่นักเตะในกลุ่มนี้ จะไม่รวมกับโควต้า 21 คน และแต่ละทีมสามารถเรียกใช้งานนักเตะจากลุ่มนี้ได้ เหมือนกับนักเตะในโควต้า 25 คน ซึ่งโควต้าในส่วนนี้ จะมีไว้สำหรับดาวรุ่งอายุน้อยๆ ให้ได้มีส่วนร่วมกับทีมชุดใหญ่มากขึ้น

ดูจากคำจำกัดความและความหมาย ต้องบอกว่ากฏ Home-Grown นี้ ถือเป็นมิติใหม่ที่น่าสนใจทีเดียว เพราะว่าเป็นกฏที่จะช่วยลดการซื้อขายนักเตะแบบบ้าเลือดลงได้ในระดับหนึ่ง โดยจะให้แต่ละสโมสรนั้น ให้ความสำคัญต่อระบบอคาเดมี่ของสโมสรตัวเองกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งทุกวันนี้ มีน้อยทีมมากที่จะให้ความสำคัญกับนักเตะดาวรุ่งจากอคาเดมี่ การบังคับใช้กฏ Home Grown นี้ น่าจะช่วยเพิ่มความสำคัญและการแข่งขันกันระหว่างอคาเดมี่ของแต่ละสโมสรได้มากขึ้น เพราะว่าต่อไปในอนาคต นักเตะ Home Grown จะกลายเป็นกำลังสำคัญต่อสโมสรมากกว่าเป็นแค่นักเตะดาวรุ่งธรรมดาๆก็เป็นได้ ดังเช่นที่ลิเวอร์พูลปั้นโอเว่นกับเจอร์ราร์ด เชลซีกับจอห์น เทอร์รี่ เป็นต้น

ต่อไปในอนาคต เราคงได้เห็นการแข่งขันที่มากยิ่งขึ้นระหว่างอคาเดมี่ของแต่ละสโมสร ในการปั้นตัวนักเตะขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในสโมสร และปริมาณนักเตะ Home Grown ในทีมนี่แหละ จะเป็นตัวบ่งบอกได้ในระดับหนึ่งว่า สโมสรของคุณนั้น ประสบความสำเร็จในการผลิตดาวรุ่งและปั้นเด็กมากน้อยเพียงใด ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยพัฒนาวงการลูกหนังได้อีกทางหนึ่งด้วย

แต่กฏ Home Grown นี้ก็ถือว่ายังมีจุดอ่อนอยู่ ถ้ากฏนี้มีการใช้ ในอนาคต การซื้อขายใน EPL จะเปลี่ยนวิถีการซื้อขายไป จากการไล่ซื้อตัวหลักๆของแต่ละสโมสร จะกลายเป็นการไล่ตบเด็ก และ ไล่ซื้อนักเตะ HG แทน ถ้าเป็นแบบนั้นจริง ราคาค่าตัวนักเตะในอังกฤษ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงพอสมควรทีเดียว ค่าตัวนักเตะ HG น่าจะถูกโก่งมากขึ้นอย่างแน่นอน รวมถึงการไล่แต๊บเด็กเพื่อที่จะกลายพันธุ์เป็นนักเตะ Home Grown จะสูงยิ่งขึ้น ทั้งๆที่ในตอนนี้ ประเด็นการแต๊บเด็กได้ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก และฟีฟ่าก็ได้เข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้อย่างเด่นชัด

จากกรณีที่เชลซีถูกแบนจากตลาดเพราะซื้อกาแอล กากูต้ามา และฟีฟ่าตัดสินว่าเป็นซื้อขายที่ผิดกฏ และเชลซีก็ยื่นอุทธรณ์เรื่องนี้มาจนถึงปัจจุบัน มันก็อาจจะน่าเป็นห่วงว่า ถ้ากฏ Home Grown ได้ฤกษ์บังคับใช้ ทาง FA จะสามารถควบคุมสโมสรไม่ให้แต็บเด็กได้มากแค่ไหน เพราะฟีฟ่าและยูฟ่าเพ่งเล็งเรื่องนี้หนักซะด้วย แถมที่สำคัญ กฏ Home Grown ยังเปิดช่องให้แต็บเด็กมาฝึกเป็น HG ได้อีกตะหาก

แต่ที่แน่ๆ เมื่อกฏนี้ถูกนำออกมาใช้ มิติใหม่ของ EPL จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน .ซึ่งกฏนี้จะได้ผลขนาดไหนนั้น มันต้องใช้เวลาในการพิสูจน์นานพอสมควร แต่ถ้ามันได้ผลจริงๆ ก็ถือว่าคุ้มค้า ที่จะทำให้ฟุตบอลอังกฤษเกิดมิติใหม่ๆมากขึ้น การแข่งขันก็จะมีมากขึ้นอย่างแน่นอน แต่บทสรุปของการบังคับใช้กฏนี้ เราต้องดูกันยาวๆ ครับ ถึงจะเห็นกันอย่างชัดเจนว่า กฏนี้มันเหมาะสม และใช้ได้ผลตามวัตถุประสงค์หรือไม่

ซึ่งกฏ Home Grown นั้นจะทำให้วงการลูกหนังเกิดการพัฒนาขึ้นหรือไม่ เวลาเท่านั้นคือเครื่องพิสูจน์




บทความของรองแชมป์ Petrboat

วิธีการที่สวนทางกับแนวคิดของ Home Grown


ในวัยเด็กหลังจากที่ผมเริ่มหัดดูฟุตบอลเคยได้ยินนักพากษ์ชื่อดังอาทิ เอกราช เก่งทุกทาง หรือ สาธิต กรีกุล พูดกันติดปากว่า สหราชอาณาจักร บ่อยมากเลยเกิดอาการสงสัยว่ามันคืออะไร ?

ในไม่ช้าผมตรงดิ่งเข้าหาคุณพ่อและได้คำตอบทันทีว่ามันหมายถึง สหภาพที่มาจากการรวมตัวของ 4 ดินแดนได้แก่ 3 ชาติบนเกาะบริเตนใหญ่คือ อังกฤษ สกอตแลนด์ และ เวลล์ กับ ไอร์แลนด์เหนือ บนเกาะไอร์แลนด์..

1 ในสหราชอาณาจักรอย่างประเทศ อังกฤษ เปรียบได้กับมหาจักรพรรดิ์ของวงการณ์ฟุตบอลสโมสรยุโรปในเวลานี้.. ยอดทีมอย่าง แมนยูไนเต็ด เชลซี ลิเวอร์พูล และ อาร์เซน่อล ต่างเข้ารอบลึกๆ ในศึก ยูฟ่า แชมเปี้ยนสลีก กันไม่เว้นแต่ละปี

หากแต่มองเข้าไปให้มากกว่านี้คงสะดุดตาเล็กน้อย.. จะมีผู้เล่นสักกี่คนที่ทางสโมสรปั้นขึ้นมากับมือหาใช่อาศัยบารมีจากการเซ็นเช็กเงินสดหรือไม่ก็รูดปรื๊ดๆ เพื่อแลกกับ ซูเปอร์สตาร์ มาประดับทีม ?

ฟุตบอลสมัยใหม่มีอะไรที่มากกว่าลูกกลมๆ เพราะว่ากาลเวลาเปลี่ยนไปทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างต้องผันแปร.. ศาสตร์แห่งลูกหนังที่วัดกันแค่ศักยภาพในสนามถูกแทนที่ด้วย ธุรกิจ หรือไม่ก็ความสุขของคนรวย..

นักเตะดาวรุ่งส่วนมากมักจะมีเป้าหมายไปที่การยกระดับตนเองจากทีมท้องถิ่นเพื่อก้าวกระโดดสู่ทีมชั้นนำของประเทศ... วันเวลาผ่านไปแต่ช่วงที่กำลังวิวัฒนาการดันถูกขัดขาด้วยมือของกลุ่มผู้ลงทุนที่คาดหมายให้ เงิน เป็นสิ่งที่เรียกว่า พระเจ้า

อย่างไรก็ดี.. ทุกสิ่งทุกอย่างพอเกิดปัญหามันก็มีทางออกของมันแต่จะสมเหตุสมผลหรือไม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง.. โลกใบนี้ไม่มีอะไรที่เพอร์เฟคไปซะทุกอย่างเช่นเดียวกับ หยิน & หยาง ที่คือความมืดและแสงสว่างตรงข้ามกัน..

ทางเอฟเอเลือกหาแนวทางแก้ไขด้วยการใช้กฏ Home Grown หรือที่เรียกสั้นๆ ว่าพวกเด็กโตในบ้าน... แล้วไอ้กฏโฮมโกรวน์มันคืออะไรละ ? สำคัญหรือไม่และมีผลกระทบต่อทีมใหญ่ๆ มากขนาดไหน ?

เปรียบเทียบง่ายๆ เวลาเราจะทานอะไรให้ถูกปากคงไม่สนใจว่าจะของไทยหรือต่างประเทศขอแค่มัน สด ก็เพียงพอ.. กฏโฮมโกรวน์ไม่ได้บังคับว่านักเตะต้องสัญชาติใดขอเพียงแต่เน้นว่าต้องมาจากรากเง้าของสโมสรเท่านั้น..

แต่มันก็มีขีดจำกัดอยู่ที่ว่าพวกนักเตะในข่าย โฮมโกรวน์ ต้องเคยฝึกใน อังกฤษ หรือ เวลล์ อย่างน้อย 3 ปีก่อนจะอายุครบ 21.. กฏนี้จะเริ่มใช้ในฤดูกาลหน้าทำเอาพวกที่พึ่งย้ายเข้ามาเล่นในอังกฤษตอนอายุ 20 หรือ 21 ถึงขั้นซวยกันไป

ฟังดูแล้วเหมือนโหดร้ายแต่มันไม่ถึงขนาดนั้น.. ในการส่งรายชื่อผู้เล่น 25 คนเพื่อลงสังเวียนฟาดแข้งจะมีโควต้าให้สำหรับนักเตะที่ไม่ใช่เด็กโตในบ้าน 17 คนโดยที่เหลืออีก 8 คนต้องเป็นโฮมโกรวน์นั่นเอง..

ถ้านักเตะในข่ายโฮมโกรวน์มีนอกเหนือจากรายชื่อ 25 คนที่ส่งไปเราจะเสนอเพิ่มทีหลังก็ได้ถ้าหากมีมากพอแต่ต้องอายุต่ำกว่า 21 ปี...

แล้วเหล่าบรรดา บิ๊กโฟร์ มีใครบ้างละ ที่อยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว ???

เอาพวกที่ใช่ก็คงยกตัวอย่างได้ไม่ยาก.. แมนยูไนเต็ด มีปีกพ่อมดอย่าง ไรอัน กิ๊กส์.. เชลซี มีจอมทัพนาม แฟรงค์ แลมพาร์ด ที่เคยเป็นเด็กฝึกหัดมาก่อนตั้งแต่อยู่เวสต์แฮม.. ลิเวอร์พูล ไม่ต้องนึกถึงใครนอกจาก สตีเว่น เจอร์ราร์ด เช่นเดียวกับเจ้าของปลอกแขนกัปตันไอ้ปืนใหญ่ เชสก์ ฟาเบรกาส ของ อาร์เซน่อล..

ส่วนพวกที่ไม่ใช่คงไม่ต้องนึกไปไกลเพราะอยู่ใกล้แค่เอื้อมอย่างเช่น ดิดิเยร์ ดร็อกบา , เฟอร์นานโด ตอร์เรส ,โรบิน ฟาน เพอร์ซี่... นักเตะอังกฤษแท้ๆ อย่าง โอเว่น ฮาร์กรีฟส์ ก็คือหนึ่งในนั้นเพราะไปฝึกกับ บาเยิร์น มิวนิค ตั้งแต่เด็ก..

ที่กฏนี้ถูกนำมาใช้อย่างจริงจังก็คงเป็นเพราะ เสี่ยหมี โรมัน อบราโมวิช เข้ามาเทคโอเวอร์ เชลซี และผลาญเงินไปเยอะจนเป็นทีมชั้นนำของยุโรป... กอปรกับการที่ ชีคห์ มานซูร์ เข้ามาร่วมแจมด้วยการลงเรือใบสีฟ้าทำให้เลยเถิดไปกันใหญ่ว่ามันคือ ฟุตบอล หรือที่ระบายจิตใจด้วย เงิน ??

แกเร็ธ แบร์รี่ ที่เคยจงรักภักดีกับ แอสตัน วิลล่า มาอย่างยาวนานแต่กลับเลือกที่จะย้ายไปอยู่กับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ เพื่ออนาคตและการเงินที่ดีกว่าในภายภาคหน้า.. ถามว่าผิดไหม ?

แน่นอนว่าคำตอบคือไม่.. เช่นเดียวกับมหาเศรษฐีต่างๆ ด้วยเพราะว่ามันเป็นสิทธิ์ของเขา.. แต่กลับกันถ้าถามว่าถูกต้องตามหลักจรรยาบรรณหรือปล่าวคงแล้วแต่ว่าเราจะคิดอย่างไร..

กฏนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย.. จริงอยู่ว่ามันอาจจะทำให้สโมสรต่างๆ เน้นการปั้นนักเตะในอเคเดมี่ตนเองมากขึ้น... แล้วถ้าเกิดผู้เล่นที่นำมาขัดเกลาดันไม่ใช่เด็กในประเทศ อังกฤษ มันจะทำให้ดาวรุ่งของแดนผู้ดีโดนกลบรัศมีหรือไม่ ?

ในอนาคตไม่มีใครสามารถให้คำตอบที่เด่นชัดได้ว่าหาก ริโอ เฟอร์ดินานด์ หรือ จอห์น เทอร์รี่ เลิกเล่นทีมชาติไปแล้วจะหาผู้เล่นคนใดมาแทนในเมื่อเจอกระแส ของนอก บังมิดอยู่อย่างนี้..

มองไปอีกหน่อยถ้าจะแก้ไขด้วยกฏ โฮมโกรวน์ แล้วผมว่า 6 + 5 จากนโปเลียนลูกหนัง มิเชล พลาตินี่ มันไม่ดีกว่าหรือ ?? เน้นเจาะจงเลยว่า 11 ตัวจริงต้องมีผู้เล่นในประเทศของคุณ 6 คนแบบนี้ดูดีกว่าเยอะแถมมีผลพลอยได้ไปที่นักเตะ อังกฤษ โดยตรงแบบไม่อ้อมค้อม

เอาที่กำลังเป็นเรื่องราวใหญ่โตทันเหตุการณ์ก็คงต้องพูดถึงกรณีของ กาเอล กากูต้า ดาวรุ่งที่ เชลซี อุตสาห์ไปบังคับให้เจ้าตัวฉีกสัญญากับต้นสังกัดเก่าจนเป็นคดีห้ามซื้อนักเตะที่รอผลอุธรณ์จนถึงทุกวันนี้!

ถ้าหากเป็นอย่างที่กล่าวไว้จริง พอหลายทีมหันไปกินด็กมากขึ้นมันจะกลายเป็นว่ามีเงาของ กากูต้า ตามหลอกหลอนดาวรุ่งทั้งหลายจนสั่นกลัวและเกิดช่องว่างในจุดนี้ขึ้นมา..

สรุปแล้วผมเห็นด้วยในแนวคิดของเอฟเอว่าควรจะปรับปรุงนิยามของฟุตบอลซะใหม่.. ไม่ใช่ว่าคนรวยทำอะไรก็ไม่ผิดซึ่งเรื่องแบบนี้มันไม่ต่างอะไรกับการทำลายอนาคตของดาวรุ่งทั้งหลาย..

เพียงแต่มันขัดแย้งตรงวิธีการปฏิบัติโดยไม่นึกถึงผลลัพธ์ในบั้นปลายว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อจากนี้แล้วจะมาแก้ไขในภายหลังก็คงสายไปเสียแล้ว..

_________________

##### ได้รู้ความจริง ได้ยิ่งกว่าฟุตบอล อ่าน SoccerSuck #####


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์